รายงานหน้า2 : จัดตั้งรัฐบาลอลเวง ผุด‘การเมืองขั้วที่ 3’

หมายเหตุความเห็นของนักวิชาการกรณีพรรคการเมืองจับขั้วทางการเมืองเพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่เกิดการวิ่งเต้นต่อรองขอโควต้ารัฐมนตรีจนเกิดกระแสจับขั้วที่ 3 จนมีแนวโน้มว่าจะได้รัฐบาลที่มีเสียงปริ่มน้ำไร้เสถียรภาพ

ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร
คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.เชียงใหม่

ถ้าตั้งต้นว่าอยากให้ความขัดแย้งทางการเมืองที่เป็นมาสิบกว่าปีและถ่วงความเจริญของประเทศหลายอย่างหายไป จะสามารถมองได้ว่าควรแก้ปัญหาด้วยวิถีทางกลไกรัฐสภาอย่างประชาธิปไตย แต่ประเด็นคือ ภายใต้ธรรมเนียมของการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยโดยรัฐสภานั้น พรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมาก หรือพรรคที่ได้รับเสียงจากการเลือกตั้งมากที่สุด ในทางปฏิบัติควรเป็นพรรคที่ได้รับโอกาสจัดตั้งรัฐบาลก่อน แต่โดยหลักเกณฑ์ที่เราพูดถึงไม่ได้มีการบัญญัติไว้เป็นกฎหมายที่ชัดเจน ดังนั้น การเมืองไทยที่ผ่านมาจึงมีประวัติว่าพรรคที่ไม่ได้รับคะแนนเสียงอันดับ 1 แต่เป็นอันดับ 2 และอาศัยว่าพรรคใดพรรคหนึ่งสามารถจัดตั้งรัฐบาลก่อนได้ หากรวม
ฐานเสียงได้
หากกลับไปดูโจทย์แรก คือ ผลักการเมืองไทยออกจากวงจรความขัดแย้งในอดีต อุปสรรคสำคัญของรัฐสภาคือ หากจะใช้รัฐสภาแก้ปัญหา ต้องอาศัยใช้เสียงข้างมากก่อน แต่แนวโน้มในปัจจุบันที่มีความได้เปรียบ เสียเปรียบทางการเมือง การใช้พรรคที่มีเสียงข้างมากย่อมจะเป็นปัญหา ทางออกจริงๆ คือ ไม่ว่าจะเป็นเสียงข้างมาก หรือพรรคที่ได้เสียงเป็นอันดับ 2 สิ่งที่สังคมสนใจคือวุฒิภาวะของ 250 ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง ดังนั้น 250 คนตรงนี้ หากกลไกรัฐสภาแก้เรื่องพรรคอันดับ 1 หรือ 2 ไม่ได้ 250 ส.ว.จะทำอย่างไร แม้ว่าจะมาจากการแต่งตั้ง แต่ตัวเองมีหน้าที่แก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองโดยอาศัยกลไกของรัฐสภา ดังนั้น 250 ส.ว.ควรจำแนกทางเลือกกลไกรัฐสภาให้มาก แน่นอนว่า หน้าที่หลักของ ส.ว. 250 คน คือต้องตระหนักในหน้าที่ของตัวเอง ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบกลไกของรัฐสภา ถ้าไปโหวตเลือกพรรค จะโหวตเลือกได้เต็มที่หรือไม่ เพราะหากพูดอย่างภาษาสามัญทั่วไปแล้ว คนคาดหวังว่า ส.ว.จะเป็นสภาที่มีวุฒิภาวะ
ขั้วที่ 3 ตั้งได้ แต่จะเจอปัญหาเดิมคือเสียงปริ่มน้ำ และไม่ว่าจะเป็นขั้วที่ 1, 2, 3 อย่างปัจจุบันคือเสียงปริ่มน้ำทั้งหมด ทุกทางเลือกทำให้เสียงในระบบรัฐสภาไม่มั่นคง รัฐบาลล้มง่าย เพราะไม่ว่าจะเป็นทางเลือกไหน ขั้วไหนเสียงก็ไม่ขาดกัน โดยเฉพาะ 250 ส.ว.ยังเป็นเงื่อนไขของทุกเรื่องอยู่
ในอนาคตถ้ายังมองในขั้วที่ 1, 2, 3 อยู่ ขอตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลที่กำลังจัดตั้งหลังจากนี้จะเป็นรัฐบาลที่มีเสียงรัฐสภาสนับสนุนน้อย วงจรชีวิตค่อนข้างสั้น ไม่ค่อยมีเสถียรภาพ ทำให้โจทย์ทุกโจทย์ตั้งแต่การตั้งรัฐบาลก็ดี 250 ส.ว.ก็ดี ในอนาคตของ 250 ส.ว.จะไม่ได้เป็นแค่สภาที่เราคาดหวัง แต่จะเป็นสภาในการค้ำการดำรงอยู่ของรัฐบาลด้วย นี่เป็นภาระทางการเมืองใหม่ที่ไม่เคยคิดมาก่อนว่า ส.ว.จะมาทำหน้าที่
แบบนี้

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

Advertisement

โดยมารยาทพรรคการเมืองที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนสูงสุด หมายถึงประชาชนเลือกตัวแทนเข้าไปนั่งในรัฐสภาสูงสุดแบบไม่มีข้อกังขา ควรได้รับสิทธิจัดตั้งรัฐบาล ทั้งนี้ ความพยายามตั้งรัฐบาลแข่งขันเป็นเรื่องปกติ แต่ต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของบ้านเมืองด้วย ที่บอกว่าฟังเสียงประชาชนนั้นฟังจริงไหม โดยเฉพาะกระบวนการที่อ้างป๊อปปูลาร์โหวตนั้นไม่เหมาะสมกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพราะจะสะเทือนต่อหลักการพื้นฐานบางประการ
สิ่งที่เกิดขึ้น คือ เสียง 115 กับ 136 วิ่งตั้งรัฐบาล ในระบอบประชาธิปไตยแบบนี้ซึ่งมีสภาผู้แทนราษฎรเป็นหัวใจของการบริหารประเทศ เพียงแต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตยสลึงเดียว หรือไม่เต็มบาท ให้อำนาจประชาชนเพียง 1 ใน 4 เท่านั้น ลองดูว่ากระบวนการที่ประชาชนเลือกผู้แทนเข้าไป แต่คนอีก 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช.มีอำนาจเลือกนายกฯได้ นี่เป็นปัญหาในการออกแบบรัฐธรรมนูญตั้งแต่แรก ยังไม่พูดถึงสูตรคำนวณของ กกต.ซึ่งยังเป็นปัญหาอยู่ และไม่เป็นที่ยอมรับเชื่อว่าพรรคการเมืองอันดับรองลงมาก็ไม่ยอมรับ นอกจากพรรคการเมืองที่ได้ประโยชน์
เมื่อออกแบบระบบแบบนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือความวุ่นวายในการจัดตั้งรัฐบาล เมื่อไม่ยอมรับฉันทานุมัติของประชาชนที่ส่งผ่านการเลือกตั้ง นอกจากนั้นยังมีความพยายามอื่นในการทำให้มีความผันแปรของคะแนนเสียงประชาชนผ่านกระบวนการคำนวณ ซึ่งสูตรก็เป็นปัญหา หากประกาศสูตรนี้ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งก็ไม่น่ามีปัญหา แต่เมื่อประกาศหลังการเลือกตั้ง ทำให้เกิดการได้เปรียบ เสียเปรียบอย่างชัดเจน ทำให้เกิดการพลิกผันอย่างที่เห็นว่าบางพรรคที่ได้คะแนนเพียง 30,000 กว่าคะแนน สามารถได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อโดยอ้างว่าไม่ให้คะแนนตกน้ำ ขณะที่บางพรรคการเมืองที่มีกว่า 500,000 คะแนน กลับเป็นคะแนนตกน้ำ นี่คือตัวอย่างหนึ่งของความผิดปกติของระบบเลือกตั้ง ระบบที่มาของสภาผู้แทนราษฎร และที่มาของรัฐบาลภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้
ประเด็นการเกิดขึ้นของขั้วที่ 3 ทางการเมืองนั้น หากมีคนที่ไม่รับกติกาว่าพรรคที่มีเสียงข้างมากอันดับ 1 จะได้รับสิทธิจัดตั้งรัฐบาลก่อน และตั้งรัฐบาลแข่งก็เป็นไปได้หมด ทั้งนี้ ควรกลับไปที่หลักพื้นฐานว่าตกลงแล้วเราควรให้สิทธิพรรคที่คะแนนเสียงรองลงมาตั้งรัฐบาลหรืออย่างไร แน่นอนว่าถ้ามี 2 ขั้ว ขั้วหนึ่ง 136 เป็นแกนนำ อีกขั้วหนึ่งคือ 115 เป็นแกนนำ คนที่บอกว่าเคารพและฟังเสียงประชาชนต้องตอบให้ได้ว่าจะเลือกฝั่งไหนเพราะอะไร แน่นอนว่าสิ่งที่เป็นปัจจัยประกอบคือความแตกต่างทางอุดมการณ์ หลักคิดการตอบรับเข้าร่วมหรือปฏิเสธเข้าร่วมรัฐบาล คงเป็นสิ่งที่แต่ละพรรคมีคำตอบชัดเจนให้ประชาชนอยู่แล้ว
ที่ผ่านมาในรอบหลายปี แม้จะบอกว่าประชาชนยังไม่มีวุฒิภาวะในการเลือกตั้ง แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดคือการเลือกตั้งครั้งนี้ การมี ส.ส.ของพรรคการเมืองที่เพิ่งจัดตั้งในจำนวนมหาศาล ตลอดจนพรรคการเมืองเก่าแก่ที่สุดยังแพ้ นี่เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าความเคลื่อนไหวซึ่งเป็นแรงกระเพื่อมบางประการในการจัดตั้งรัฐบาลภายหลัง เนื่องจากไม่เป็นไปตามกติกา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่

การจัดตั้งรัฐบาลเพื่อเรื่องพรรคการเมือง แต่การเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรและนายกรัฐมนตรี เป็นเรื่องสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. แม้รัฐธรรมนูญเปิดช่องให้ ส.ว. 250 คน มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรีได้ แต่ไม่ชอบธรรม โดยหลักการ พรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.มากที่สุดควรเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล เพราะมีความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย แม้ว่ามีการคำนวณ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์เอียงให้ 26 พรรคการเมืองเชื่อว่าไม่ส่งผลกระทบต่อการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคที่ได้ ส.ส.มากที่สุด
พรรคที่ได้ ส.ส.มากที่สุด ต้องเป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งรัฐบาล ไม่ใช่วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง แต่การจัดตั้งรัฐบาลอาจทำให้เสถียรภาพรัฐบาลง่อนแง่นพอสมควร ทางออกต้องหยุดสืบทอดอำนาจ หรือหลุดพ้นจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก่อนเป็นอันดับแรก เพราะถูกแทรกแซงมานาน ก่อนขยับเข้าสู่ประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ หรือเป็นไปตามความต้องการประชาชน
ส่วนการเมืองขั้วที่ 3 นอกเหนือจากเพื่อไทยและพลังประชารัฐแล้ว มันยังไม่ชัดเจน ไม่แน่ใจว่าจะเกิดได้หรือไม่ เพราะพรรคที่ประกาศและหาเสียงสนับสนุนประชาธิปไตย ต้องตระหนักถึงพันธสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน หรือสาธารณะ ว่าไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีก ถ้าบิดพลิ้วเพื่อหวังผลประโยชน์ทางการเมือง ถือเป็นการทำลายพรรคตัวเอง อาจได้รับผลกระทบการเลือกตั้งสมัยหน้า
กรณีพรรคพลังประชารัฐจัดตั้งรัฐบาลต้องพึ่งพาประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา เพื่อให้มีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น 3 พรรคสามารถขี่คอหรือต่อรองขอเก้าอี้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงเกรดเอกับพลังประชารัฐได้ ไม่เช่นนั้นอย่าหวังได้จัดตั้งรัฐบาล ส่วน กกต.ที่มีการแจกที่นั่ง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ให้พรรคเล็กนั้น ไม่เชื่อว่าพลังประชารัฐจะได้ ส.ส.ดังกล่าวทั้งหมด อาจมีบางพรรคไปร่วมกับเพื่อไทยก็ได้ ยิ่งเป็นพรรคเล็ก พลังประชารัฐไม่สามารถกำกับได้โดยง่ายเหมือนพรรคตัวเอง
ส่วนการเรียกร้องให้มีการขอพระราชทานนายกรัฐมนตรีจากคนนอกนั้น หากพรรคการเมืองไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ส่วนตัวไม่เห็นด้วย อาจทำให้เกิดปัญหามากขึ้น ไม่สามารถก้าวข้ามความขัดแย้งได้ เพราะรัฐสภาต้องมีฝ่ายค้าน เพื่อตรวจสอบและถ่วงดุลรัฐบาล รักษาผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก เชื่อว่าการเลือกนายกรัฐมนตรีจากสภาผู้แทนราษฎรทำได้อยู่ หากทุกฝ่ายตรงไปตรงมา ยึดผลประโยชน์ส่วนรวม และยอมรับเสียงส่วนใหญ่ที่มาจากประชาชนเท่านั้น

อัษฎางค์ ปาณิกบุตร
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์

การจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากให้สำเร็จและมีเสถียรภาพ ทางออกคือทุกฝ่ายต้องเป็นสุภาพบุรุษเนื่องจากหลักการในระบอบประชาธิปไตย พรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลจะต้องมีเสียง ส.ส.เกินครึ่งให้ปลอดภัยในระดับ 280-300 คน ซึ่งจะทำให้ทุกฝ่ายทั้งในและต่างประเทศมองว่ารัฐบาลใหม่มีเสถียรภาพ ส่งผลดีด้านเศรษฐกิจการลงทุน การค้าขาย การท่องเที่ยว เพราะเกิดความเชื่อมั่น ขณะเดียวกันต้องทำให้เห็นว่ามีความสามารถในการบริหาร มากกว่าและดีกว่า 5 ปีที่ผ่านมา
การรวมเสียงเพื่อตั้งรัฐบาลในระดับ 280-300 เสียงจะต้องมีบางฝ่ายถอยออกไป ขณะที่มีกระแสข่าวว่าจะมีนายกฯคนนอก วันนี้ผู้มีอำนาจตัวจริงหรือมีใครกล้าให้ฝ่ายประชาธิปไตยตั้งรัฐบาลหรือไม่ โดยไปเจรจาเพื่อเอาภูมิใจไทยไปรวมเพราะถือเป็นตัวแปรหลัก บ้านเมืองน่าไปรอด โดยไม่ให้พลังประชารัฐไปร่วมรัฐบาลเพราะถือว่าสืบทอดอำนาจ ดังนั้น ถ้าจะเปลี่ยนตัวให้มีนายกฯคนกลาง ก็จะต้องเปลี่ยนแปลงให้คนเชื่อว่าจะไม่มีการสืบทอดอำนาจเกิดขึ้นและนายกฯคนกลางควรมีรัฐมนตรีติดมือมา 7-8 คนที่เจ๋งๆ มีความรู้ความสามารถจริงๆ ใช้เสียงในสภาให้เข้มแข็งในการทำหน้าที่ ส่วนกระแสการเมืองขั้วที่ 3 ผมยืนยันว่าไม่มี เพียงแต่ในระยะนี้ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา ยังไม่รับปากว่าจะไปรวมกับใคร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image