นักวิชาการวิพากษ์ ส.ว.มีไว้ทำไม?

หมายเหตุคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาทางวิชาการหัวข้อ “สภา ส.ว. = สภา…?” ส.ว.มีไว้ทำไม? ส.ว.มีความจำเป็นหรือไม่? ส.ว.จะเชื่อมโยงกับประชาชนอย่างไร? ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม

วีระศักดิ์ เครือเทพ
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

สิ่งที่เห็นทุกวันนี้ ส.ว.ปัจจุบันเชื่อมต่อกันชัดเจนกับรัฐราชการที่ฝังรากลึกมายาวนานแล้ว ส.ว. 250+50 รายชื่อสำรอง จะเรียกชื่อว่าสภาอะไร สภาผัวเมีย สภาพวกพ้อง สภาเครือญาติ สภาพี่น้อง สภาร้อยนายพล หรือสภาผลัดกันเกา หากวิเคราะห์การแต่งตั้ง ส.ว.ชุดนี้ โดยใช้กรอบธรรมาภิบาล ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ใช้มาตลอด ประกอบด้วย 1.ความโปร่งใส 2.หลักนิติธรรม 3.ความคุ้มค่า และ 4.ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน

Advertisement

จะเห็นว่าเรื่องที่ 1 งาน ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ส.ว.มีหน้าที่กลั่นกรองและยับยั้งกฎหมาย ซึ่งไม่น่าเป็นห่วงเท่าไหร่ เพราะมีหลายองค์กรคอยช่วยดู แต่หน้าที่ที่เพิ่มมา คือ ดูเรื่องการขับเคลื่อนประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แต่เมื่อเห็นโฉมหน้าของ ส.ว.ชุดนี้ คำถามคือจะมีสมรรถนะพอที่จะขับเคลื่อนงานด้านต่างๆ หรือไม่ เพราะนอกจากนี้ยังมี ส.ว.พลเรือนอีก 146 คน ทั้งที่มาจาก สปช. สปท. ครม. และ คสช. และ ส.ว.หน้าใหม่อีก 84 คน ซึ่งล้วนเป็นอดีตข้าราชการกระทรวงต่างๆ ดังนั้นในภาพรวมกว่าร้อยละ 80 ส่วนใหญ่จะเก่งเรื่องการรบ การบังคับใช้กฎหมาย จับโจร ควบคุมและสั่งการ ซึ่งเมื่อแก้ปัญหาประชาชน ทักษะเหล่านี้ไม่มีความสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาหรือขับเคลื่อนประเทศ แม้แต่การแต่งตั้ง ส.ว.ยังเป็นรัฐรวมศูนย์ จากคนไม่กี่คนซึ่งถ้ามอง ส.ว.ชุดนี้ ในแง่ความรู้ความสามารถ ในเบื้องต้นก็ยังมองว่าไม่สอดคล้องอยู่ดี ที่มาของ ส.ว.ชุดนี้ก็ยังไม่หลุดพ้นจากกรอบเดิมคือระบอบอำมาตยาธิปไตย ที่ดำเนินมาจนถึงทุกวันนี้

เรื่องที่ 2 เงิน ส.ว.ได้อะไร เงินเดือนแสนกว่าบาท เป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่ยังมีภาระงบประมาณทั้งหมดอันเกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติหน้าที่ เพราะมีสิทธิตั้งผู้ช่วยซึ่งต้องจ่ายเงินเดือน มีการลงพื้นที่พบปะผู้คน สามารถเบิกค่าใช้จ่าย 1.5 ล้านบาท/คน/ปี บางคนสูงถึง 3 ล้านบาท/ปี ซึ่งรายจ่ายจริงสูงกว่านี้ รวมทั้งยังมีสวัสดิการรักษาพยาบาล เบี้ยประชุม กมธ. รวมแล้ว 5,538.75 ล้านบาท/ปี ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายขั้นต่ำที่ยังไม่รวมค่าสรรหา ส.ว.

เรื่องที่ 3 คน ที่มาการสรรหาและการคัดเลือกไม่ชัดเจนว่าโปร่งใส อธิบายไม่ชัดเจน และพยายามปิดปากคนที่เห็นต่าง ในภาพรวมกระบวนการที่มาของ ส.ว.จึงไม่ค่อยสอดคล้องกับหลักการเท่าไหร่นัก ที่ยอมรับไม่ได้คือคนที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนออกมาแก้ต่าง เช่น คนที่ขาดประชุมแต่ยังได้มาเป็น ส.ว. ก็มีคนมาปกป้องว่าไม่ได้ขาด แค่ลาประชุม ซึ่งคนที่พูดก็เป็น 1 ใน ส.ว. ระบบคุณธรรมบิดเบือนไปขนาดที่เรายอมรับเรื่องผิดเป็นเรื่องที่ถูก อีกทั้งความหลากหลายของ ส.ว.ที่ต้องมีหลากหลายอาชีพ แต่สิ่งที่เห็นกลับมีลักษณะผูกขาด เป็นแค่การกระจุกกับคนบางพวกเท่านั้น เห็นข้อมูลชัดจากสิ่งที่เกิดขึ้น แม้บางส่วนมีข้อโต้แย้งว่ามีการทำประชามติมาแล้วและที่มาของ ส.ว.เป็นไปตามกรอบกฎหมายก็ตาม สรุปคือถ้าจะเรียกชื่อของสภาชุดนี้ ตามภาษาจีนแต้จิ๋ว คือ ตั้วเฮีย หมายถึงพี่ใหญ่ ที่คอยดูแลน้องๆ และน้องๆ ก็เกื้อหนุนให้ตั้วเฮีย ได้ดูแลปกครองความเรียบร้อยในกลุ่มมีประโยชน์แค่คงอำนาจฝ่ายรัฐไว้เท่านั้น

Advertisement

จากสิ่งที่เกิดขึ้น ส.ว.ทำให้เกิดคำถามตัวใหญ่ทางรัฐศาสตร์ เราพูดถึงรัฐในฐานะผู้ปกครอง ซึ่งเดินไปถึงจุดที่มีการไม่ไว้ใจผู้ปกครองว่าจะมีความชอบธรรม จึงสร้างระบบเพื่ือตรวจสอบผู้ปกครองเหล่านั้น โจทย์จึงอยู่ที่คน ที่มาดูผู้ปกครอง ซึ่งหวังว่าองค์กรเหล่านั้นจะคอยช่วยถ่วงดุล แต่กลับเห็นว่าอำนาจของรัฐขยายคลุมไปยังองค์กรต่างๆ แทบทั้งหมด จึงต้องช่วยกันคิดว่าการดูแลและให้อำนาจกับองค์กรต่างๆ ควรจะไปไกลขนาดไหน อีกเรื่องที่ต้องตระหนัก คือ ฝ่ายรัฐเริ่มมีทัศนคติที่ว่า อยากทำอะไรก็ทำได้ ซึ่งน่ากลัว เพราะไปสู่จุดที่ใกล้กับคำว่า Absolutism ภายใต้ชื่อ ประชาธิปไตย รัฐอยู่ในจุดที่ทำอะไรก็ได้ พูดมากนักก็หาอะไรมาปิดปาก หลังจากนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้ ดังนั้นต้องคอยดู อย่าให้ ตั้วเฮีย ทำอะไรได้ตามอำเภอใจ จริงๆ เราอาจไม่ต้องการอะไรซับซ้อน บางทีการใช้โครงสร้างอย่างง่าย แล้วให้อำนาจเหล่านั้นกลับมาที่ประชาชนจะดีกว่าหรือไม่

ส่วนการจะให้มี ส.ว.หรือไม่ ยังมองเป็น 2 ประเด็น คือ ตราบใดที่ ส.ส.เองเป็นสภาของคณาธิปไตย ก็จะยังมีปัญหาอยู่ แต่หากจะให้มีก็มีได้ แต่ต้องวางระบบให้ถูกต้องเหมาะสม ไม่ใช่ลักษณะทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน เพื่อมาถอนทุนคืน ออกกฎหมายเพื่ือประโยชน์พวกพ้องก็จะยังไม่เป็น ส.ส.ของพี่น้องประชาชน ช่วงระยะเปลี่ยนผ่านนี้จะมี ส.ว.ก็ย่อมได้ แต่ต้องไม่ใช่สภาญาติ ควรจะเป็นสภาที่มีผู้ทรงคุณวุฒิจริงๆ

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์
คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์

ย้อนประวัติศาสตร์ 3,000 ปี ยุคโรมันซีเนียร์ มีสภาซีเนต (วุฒิสภา) หรือสภาคนแก่ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะรวย มีอิทธิพล ทะเลาะกันเองในนั้น แต่มีอำนาจการปกครองที่เด็ดขาดในสาธารณรัฐโรมัน โดยประวัติศาสตร์เริ่มต้นแบบคิงดอม ต่อมากษัตริย์เป็นทรราชย์ จึงเปลี่ยนแปลงเป็นสาธารณรัฐ ซีเนตมีอำนาจสูงสุดจนมีการยึดอำนาจเปลี่ยนเป็นจักรวรรดิ จักรพรรดิ เป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จ มาจนกระทั่งล่มสลาย ทั้งหมดนี้ที่กล่าวมานี้เพื่อจะเท้าความถึงวุฒิสภา ที่อ้างตนว่าเป็นซีเนต ซึ่งความจริงเป็นเรื่องของอีลิท หรือสภาคนรวยและคนแก่

ย้อนมาเรื่องที่มาของ ส.ว. เมื่อ 200 ปีมาแล้ว หลังเสียกรุงศรีอยุธยาและกอบกู้ภายใน 1 ปี ในปี พ.ศ.2319 ประเทศสหรัฐอเมริกาเกิดใหม่ ปลดแอกจักรวรรดิอังกฤษได้สำเร็จ มีเรื่องวุ่นวายเรื่องการปกครองว่าจะใช้  รูปแบบไหน เมื่อตกลงได้แล้วประมาณปี 2337 ก็ใช้ฉบับนั้นฉบับเดียวและยังใช้ฉบับเดิมอยู่ ซึ่งของเรามีเป็นยี่สิบฉบับแล้ว ซึ่งสหรัฐเป็นรัฐรวม ประกอบด้วย 50 ประเทศที่มีความเป็นเอกราช ปกครองตัวเอง แต่เมื่อหลายประเทศมารวมกันโดยฉันทานุมัติ รัฐรวมจึงมีความจำเป็นที่ต้องมีสภาซีเนต สภานี้มีมลรัฐ 2 คนเท่ากัน ตอนจะร่างรัฐธรรมนูญหรือการจะมีกฎหมายต้องได้รับการเห็นจากชอบทั้ง 2 สภา ซึ่งมีเหตุผลที่เข้าใจได้
จึงเกิดเป็นวุฒิสภา แต่คำถามคือ เราเป็นรัฐเดี่ยวไม่ใช่รัฐรวม เพราะฉะนั้นจะมีวุฒิสภาไปเพื่ออะไร

การกลั่นกรองว่ากฎหมายนี้จะถูกต้องดีหรือไม่นั้น ทำให้นึกถึงโคลงโลกนิติ คนเลี้ยงเสือ จ่ายค่าอาหารให้เสือวันละ 1 บาท แต่โดนเบียดบังเสือไม่อ้วนเพราะคนเลี้ยงอมเงิน จึงตั้งผู้กำกับมาอีกคนเพื่อช่วยดู แต่เสือกลับผอมลงเพราะผู้กำกับแบ่งกินด้วย ตั้งจนคนครบ 4 คน เอาไปคนละสลึง สรุปเสือตาย ประชาชนกำลังจะตาย เพราะมีการกลั่นกรองเยอะเกินไป

ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์
คณะรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

คําว่า ส.ว.ในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่มีการประกาศแต่งตั้งไปเมื่อไม่นานมานี้ หากย้อนมองกลับไปปี พ.ศ.2435 สมัย รัชกาลที่ 5 มีการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน เริ่มมีกระทรวง ข้าราชการ ตามระบบการบริหาร ซึ่งเป็นผู้รองรับการบริหารงานการเมืองการปกครอง ถึงขนาดมีการส่งไปศึกษาต่างประเทศ เพื่อให้ทัดเทียมต่างประเทศ ไม่ตกเป็นอาณานิคมของชาติอื่น ในปีนั้นเกิดชนชั้นข้าราชการชัดเจนขึ้น ใน 40 ปีต่อมาปี พ.ศ.2475 เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยกลุ่มข้าราชการทหารและพลเรือน หรือคณะราษฎร หลายคนจบจากต่างประเทศ เห็นความเป็นประชาธิปไตย จึงนำมาสู่แนวคิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง และสำเร็จเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475

ตั้งแต่ พ.ศ.2475-2516 เรามีรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรก ซึ่งเป็นฉบับที่ 2 ของไทย มีสภาเดียว แต่มีสมาชิก 2 ประเภท คือ จากการเลือกตั้ง และจากการแต่งตั้ง เหตุผลเพราะราษฎรยังไม่คุ้นกับระบบใหม่ ซึ่งอาจได้คนที่มีคุณภาพไม่ดีพอ แต่คณะราษฎรก็ได้สัญญากับประชาชนไว้ว่า ส.ว. ที่ตั้งมาจะอยู่ไม่เกิน 10 ปีก็จะยกเลิก ซึ่งเหตุที่จำเป็นต้องมีวุฒิสภา เพื่อเป็นสภาพี่เลี้ยง เพราะกฎหมายที่ผ่านสภาล่างต้องผ่านสภาที่ 2 คือ ส.ว.ซึ่งก็อาจให้เหตุผลหักล้างเพื่อเหนี่ยวรั้งให้มีการทำงานอย่างรอบคอบ ถือเป็นผลดีประการหนึ่ง

ต่อมาในปี 2490-2500 เรามีการใช้รัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่กลับนำไปสู่การเลือกตั้งสกปรก แย่งชิงอำนาจ ในปีนั้นจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ทำให้เห็นว่าเป็นการปกครองแบบเผด็จการที่ค่อนข้างสมบูรณ์แบบ จนถึง 14 ตุลา 2516 วันที่ประชาชนทนไม่ไหว อยากให้มีรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย แต่ 3 ปีต่อมาก็กลับเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 อีก

ภาพรวม 2475 เรียกว่า ยุคราชาธิปไตย ชนชั้นนำพัฒนาตามลำดับจนแข็งแกร่งมากขึ้นจนปี 2475-2516 เรียกว่า คณาธิปไตย หลังจากนั้นอีก 40 ปีต่อมา ประมาณช่วงปี 2516-2517 หัวใจสำคัญของการเมืองการปกครองคือการแชร์อำนาจร่วมกัน ระหว่างข้าราชการกับพรรคการเมือง แต่พรรคการเมืองช่วงตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบันนำไปสู่ระบอบคณาธิปไตย ที่ใช้เงินเป็นใหญ่ในการได้มาซึ่งอำนาจรัฐ พรรคการเมืองที่จะสำเร็จได้ต้องมีนายทุนอยู่เบื้องหลัง ซึ่งต่อมาบางส่วนกลายเป็นเบื้องหน้า เมื่อเลือกตั้งเสร็จจึงเกิดการคอร์รัปชั่นกันมาก เช่นยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

ตั้งแต่ 2475 ยังไม่เป็นประชาธิปไตย เราเริ่มให้ความสำคัญกับการมีองค์กร เพื่อกำกับและตรวจสอบ นอกจากนี้ ยังมีองค์กรอิสระที่เริ่มตั้งขึ้นมาทั้ง กกต. มีหน้าที่กลั่นกรองให้ได้ ส.ส. ที่เข้ามาด้วยความถูกต้อง  มี ป.ป.ช.คอยตรวจสอบการทุจริต มี สตง.คอยตรวจสอบงบประมาณแผ่นดิน รวมถึงองค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ช่วงนั้นประเทศน่าจะพัฒนามาสู่ประชาธิปไตยมาขึ้น   แต่อำนาจที่แชร์กันกลับกลายเป็นรัฐบาลคณาธิปไตยมากขึ้นไปอีก ประชาชนจำนวนมากไม่พอใจนำมาสู่การรัฐประหาร ปี 2549 มาจนสู่การยึดอำนาจปี 2557 ของ คสช. จนถึงปัจจุบัน ซึ่ง 5 ปีที่ผ่านมากลับไปสู่คณาธิปไตย ส.ว.ชุดนี้สะท้อนให้เห็นความคิดแบบเดิมที่ต้องการเอาข้าราชการประจำ ทั้งนายทหารกว่าครึ่งเข้ามาในสภา น่ากังวลว่าใน 5 ปีต่อจากนี้จะแก้ปัญหาประเทศได้หรือไม่

ส.ว.ชุดนี้มีลักษณะ favouritism ซึ่งมีประเด็น 2 ลักษณะ คือ 1.การเล่นพรรคพวกจากวงศ์วานว่านเครือ และ 2.การเล่นพรรคพวกจากเพื่อนฝูง ซึ่งก็คือระบบอุปถัมภ์ กล่าวคือไม่ได้มีเพียงสายเลือดเดียวกันเท่านั้น แต่อาจมีสายสัมพันธ์ในรูปแบบอื่น เช่น เพื่อนฝูงร่วมสถาบัน ฯลฯ รวมๆ เรียกว่า ระบอบญาติมิตรธิปไตย หมายถึงผู้ใช้อำนาจสามารถเลือกใช้อำนาจตัวเองในการคัดเลือกคนสนิทหรือแม้กระทั่งหมอฟัน มาร่วมรับส่วนแบ่ง ให้โอกาสเพื่อนฝูงโรงเรียนรุ่นเดียวกัน เป็นการถ้อยทีถ้อยอาศัย แต่ใช้ทรัพย์สินของรัฐ หรืออีกประเภท สืบทอดอำนาจการเมืองจากรุ่นสู่รุ่น ยังมีสภาครอบครัว หรือสภาญาติพี่น้อง แทนที่จะเลือกผู้ทรงเกียรติ กลับเลือกญาติพี่น้องตัวเองมารับตำแหน่ง เอาลูกหรือภรรยามาเป็นเลขาหน้าห้องก็ยังมี

เมื่อเห็นภาพเช่นนี้ ต้องกลับมาดูว่าสถานะและการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภาคืออะไร ที่สำคัญคือ 1.ด้านนิติบัญญัติ ร่าง พ.ร.บ.ต่างๆ รวมถึงการแก้ไขกฎหมาย จะเห็นว่า ส.ว.ชุดนี้มีอำนาจอย่างมาก 2.การบริหารราชการแผ่นดิน มีอำนาจในการควบคุมตรวจสอบ 3.ด้านการให้ความเห็นชอบ 4.ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่า ตำแหน่งต่างๆต้องผ่านการแนะนำของ ส.ว. ซึ่งจะกลายเป็นการเอาพรรคพวกมาดำรงตำแหน่ง การตั้งญาติตัวเองจะตอบโจทย์ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว และอันตรายต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image