รายงานหน้า2 : โค้งสุดท้าย‘ชิงจังหวะตั้งรบ.’ หวยจะออกพรรคไหน?

หมายเหตุความเห็นจากนักวิชาการถึงการชิงจังหวะรวบรวมเสียง ส.ส.จัดตั้งรัฐบาลของขั้วการเมืองต่างๆ ในสถานการณ์เสียงแต่ละฝ่ายปริ่มน้ำ และจะเป็นช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกประธานสภา ในวันที่ 24 พฤษภาคมนี้ ก่อนทูลเกล้าฯรายชื่อนายกรัฐมนตรี

ไชยันต์ รัชชกูล
คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยพะเยา

ในการชิงจัดตั้งรัฐบาลช่วงโค้งสุดท้ายนี้มีความเป็นไปได้ทุกทาง เหมือนกับการเล่นหมากรุกหรือเล่นไพ่ เราไม่มีทางรู้ว่าแต่ละฝ่ายจะเดินหมากอย่างไร เพราะมีปัจจัยที่ไม่รู้อีกหลายอย่าง เช่น พรรคภูมิใจไทย และประชาธิปัตย์ ก็ยังมีความไม่แน่นอน เพราะหากแน่นอนก็น่าจะออกมาพูดแล้วว่าจะร่วมกับขั้วใด แสดงว่า 2 พรรคนี้ จะต้องมีการต่อรองกันอย่างมากกับพรรคที่จะไปร่วมข้างใดข้างหนึ่ง ซึ่งไม่ได้เป็นข่าวให้ทราบ และอีกหนึ่งปัจจัยที่ไม่รู้คือ งูเห่าตามพรรคต่างๆ รวมทั้งในพรรคอนาคตใหม่ซึ่งก็มีโอกาสเกิดขึ้นด้วย เพราะเป็นที่ระแคะระคายว่าในพรรคอนาคตใหม่ก็มีคนมาติดต่อซื้อตัวเพื่อที่จะยกมือให้เช่นกัน

มีข่าวลือหรือข่าวจริงไม่ทราบว่าในการเลือกตั้ง 1 เขต มีการเตรียมตัวซื้อเสียงกันถึง 3 ระลอก เพื่อที่จะได้ 1 ที่นั่ง ใช้เงินประมาณ 70 ล้าน เป็นตัวเลขที่เยอะมาก แต่สมมุติว่าไม่จริง ตัวเลขไม่มากขนาดนั้น ก็ยังมีแนวโน้มคืออย่างน้อยประมาณ 30-50 ล้านบาท ดังนั้น การไปช้อนซื้อคนที่เป็น ส.ส.แล้ว ด้วยเงินจำนวน 30-50 ล้านบาท ก็เป็นไปได้ และง่ายกว่าการไปลงกับ ส.ส.ที่ต้องเสียเงินอย่างมากกว่าที่จะได้ 1 ที่นั่ง และเงินจำนวนนี้ไม่ใช่ธรรมดา หากลองมาซื้อเราก็อาจจะคิดหนักอยู่เหมือนกัน

Advertisement

ประเด็นก็คือ ยังมีไพ่ปิดอยู่อีกหลายใบ ทำให้คาดเดาได้ยาก มีแนวโน้มเป็นไปได้ทั้งหมด คือ 1.พรรคพลังประชารัฐตั้งรัฐบาล 2.พรรคเพื่อไทย กับ อนาคตใหม่ รวมกันตั้งรัฐบาล ก็มีความเป็นไปได้ แต่โดยส่วนตัวไม่เชื่อว่าจะให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นั่งเป็นนายกรัฐมนตรี คิดว่าเป็นเพียงการปล่อยข่าว เนื่องจากคนข้างในของพรรคเพื่อไทยไม่น่าจะยอม แม้ว่าอาจจะมีบางคนคิดเช่นนั้น แต่น่าจะตกลงกันอย่างนั้นไม่ได้ อีกแนวทางคือขั้วที่ 3 พรรคประชาธิปัตย์กับภูมิใจไทยจัดตั้งรัฐบาล แต่การจะให้ทั้ง 2 พรรคนี้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล หรือให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้า ภท.เป็นนายกฯ นั้น ก็เป็นไปไม่ได้อย่างยิ่ง

เพราะนายอนุทินเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ ขณะนี้ก็เลยเวลาตามสัญญาก่อสร้างมาแล้ว แต่ยังไม่แล้วเสร็จ จนมีการอะลุ่มอล่วยและยืดเวลาให้นั้น จากการเคยทำงานบริหาร ทำให้รู้ว่าสัญญาก่อสร้างมีการปรับเป็นรายวัน ถ้าหากงานไม่เสร็จและยิ่งล่าช้าก็จะยิ่งขาดทุนได้ เป็นเงินจำนวนมหาศาล คนควบคุมดูแลเรื่องการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ เป็นผู้เซ็นให้ว่าผ่อนผันหรือยืดเวลาก่อสร้างไปได้ก็คือรัฐบาลชุดปัจจุบัน ข้อนี้จึงเกิดคำถามว่านายอนุทินจะกล้าหักกับพรรคพลังประชารัฐหรือไม่

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ก็แตกเป็น 2 ฝ่าย ส่วนหนึ่งมีอย่างน้อยประมาณ 20 เสียงไม่โหวตให้พรรคพลังประชารัฐ เท่ากับว่าน้ำหนักไม่ค่อยไปทางนั้น แต่ขึ้นอยู่กับว่าพรรคพลังประชารัฐจะสามารถซื้องูเห่าจากพรรคอนาคตใหม่ได้เท่าไหร่ งูเห่าพรรคอนาคตใหม่มีจริง และมีแน่นอน แต่เรื่องจำนวนไม่มีใครทราบ

ดังนั้น ท่ามกลางบรรดาสิ่งคาดการณ์ไม่ถูก ยังมีสิ่งคาดการณ์ได้แน่ คือ พรรคประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย และอนาคตใหม่ ไม่สามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่เดาว่าพรรคเพื่อไทยจะได้เป็นแกนนำ เพราะคาดว่าน่าจะมีไพ่อีกหลายใบปิดอยู่

ถ้ามองเหมือนเกมหมากรุก แต่ละข้างต่างมีมูฟเมนต์ทำให้อีกฝ่ายแพ้ได้อย่างใกล้ชิดมาก (Very very close game) เดายากมาก แต่หากเดาก็เชื่อว่าพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ

หรืออาจจะมีอีกวิธี คือทำให้การเลือกตั้งในสภาผู้แทนราษฎรล้มเหลว แล้วไปให้ ส.ว.เลือก เช่นนั้นจะออกมาเป็นพรรคพลังประชารัฐ แต่ก็ยังต้องขึ้นอยู่กับวันที่ 24 พฤษภาคมนี้ด้วย ว่าเลือกประธาน ส.ว.ได้หรือไม่ สมมุติว่าเลือกประธานสภาเป็นคนของพรรคพลังประชารัฐ เขาก็สามารถจะปิดประชุมได้ หมายความว่าทำให้การประชุมครั้งนี้ หรือการเลือกตั้งครั้งนี้เลือกตั้งนายกฯไม่ได้ ถ้าหากว่าเสียงไม่พอก็ยากจะให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ และให้ ส.ว.ไปเข้าร่วมประชุม เพราะฉะนั้นจะเห็นว่ามีตัวแปรเยอะมาก ตั้งแต่เลือกประธานสภา เราเห็นแค่เพียงหน้าฉาก แต่ข้างหลังฉากวิ่งซื้อกันนั้น ไม่สามารถมองเห็นได้ จึงจะมีเรื่องให้เซอร์ไพรส์อีกจนนาทีสุดท้าย

 

 

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
รองคณบดี คณะรัฐศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในสถานการณ์การจัดตั้งรัฐบาล มี 3 ก้อนหลักชิงกันอยู่ ก้อนแรก คือ ฝ่ายรัฐบาลขณะนี้ หรือพรรคพลังประชารัฐ กำลังจัดตั้งรัฐบาลโดยมีพรรคการเมืองขนาดเล็กจำนวนหนึ่งร่วมด้วย และเป็นไปได้ว่ามีอีกกลุ่มหนึ่งจากพรรคประชาธิปัตย์ก็มุ่งไปร่วมทางนี้ ก้อนที่ 2 ฝั่งของเพื่อไทย ทราบดีว่าอยู่ระหว่างการจัดตั้งเช่นกัน และก้อนที่ 3 คือฝั่งของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พรรคอนาคตใหม่ (อนค.)

นี่คือ 3 ความเป็นไปได้หลัก โดยตัวแปรสำคัญจะอยู่ที่พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย ไม่ทราบว่าจะตัดสินใจอย่างไร และจะเอนเอียงไปทางไหน

ในความเป็นจริง โดยมารยาทแล้วพรรคได้คะแนนเสียงอันดับหนึ่งควรจะได้โอกาสในการจัดตั้งรัฐบาลก่อน จนกว่าจะชัดแจ้งว่าไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ จึงจะเป็นสิทธิของพรรคอื่นๆ

แต่เราจะเห็นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน เต็มไปด้วยความผันผวนของการประกาศคะแนนและการรับรองผลการเลือกตั้ง นำไปสู่ความไม่แน่นอนในระบบการเมือง นี่คือเรื่องสำคัญประการแรก ที่ส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาลดังที่เห็นตามสภาพปัจจุบัน

เพราะฉะนั้นหากจะบอกว่าพรรคไหนได้แน่ๆ ก็ไม่สามารถฟันธงได้ แต่จะเป็นใน 3 แนวทางที่กล่าวไป หรืออาจจะเป็นขั้วของพรรคประชาธิปัตย์กับภูมิใจไทย รวมตัวกันจัดตั้งรัฐบาลเอง ก็มีความเป็นไปได้ทั้งสิ้น

เพียงแต่ปัญหาใหญ่อยู่ที่ความท้าทายหลักในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้คือ ต่อให้พรรคเพื่อไทยสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็ยังจะต้องฝ่าด่านของ ส.ว. มีถึง 250 คน พูดง่ายๆ ว่า 250 คนนี้ เหมือนพรรคพลังประชารัฐส่วนขยาย ส่วนตัวไม่มั่นใจในความเป็นอิสระของคนกลุ่มนี้ว่าจะยอมเลือกพรรคได้เสียงสนับสนุนจากประชาชนหรือไม่ ข้อนี้ค่อนข้างน่ากังวล

แต่ในทางกลับกัน การบังคับให้ขานชื่อเรียงตัวรายบุคคลก็มีความน่าสนใจว่าจะทำให้ท่าทีของการลงคะแนนเปลี่ยนไปหรือไม่ อย่างไร

การที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ออกมาพูดว่าจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและนั่งเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น มองว่านายธนาธรค่อนข้างซีเรียส จะเห็นได้จากการประกาศของพรรคเพื่อไทย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ บอกว่าถึงตอนนี้ก็ไม่ขัดข้องหากให้พรรคอนาคตใหม่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ เพียงแต่เมื่อจัดตั้งแล้วคนกลุ่มนี้จะได้เสียงมากพอถึง 375 เสียงหรือไม่ เพราะไม่มั่นใจว่าพรรคพลังประชารัฐส่วนขยาย อีก 250 คน จะเลือกฝั่งไหน

พรรคใดก็ตามได้รับเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง คือ 250 เสียง ก็มีสิทธิเป็นรัฐบาล แต่พรรคการเมืองที่จะบริหารประเทศได้อย่างมีเสถียรภาพ ต้องมีอย่างน้อย 300 เสียงขึ้นไป เพราะในสภามีทั้งหมด 500 เสียง ในตอนโหวตนายกรัฐมนตรี ส.ว.มีสิทธิโหวตก็จริง แต่ในการบริหารประเทศ ส.ว.ไม่มีสิทธิโหวตร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร

ในการผ่านกฎหมาย ทั้งร่าง พ.ร.บ.ก็ดี หรือส่วนที่เกี่ยวกับกฎหมายทั่วไปก็ดี เพราะฉะนั้นการบริหารประเทศให้มีเสถียรภาพและราบรื่นจะต้องมี ส.ส.ในสภาไม่ต่ำกว่า 300 คน หรืออย่างน้อยสุด 270 คนขึ้นไป

270 นี้ก็เป็นตัวเลขที่ห้ามลา ห้ามขาด ตามธรรมชาติของมนุษย์เป็นไปได้ยาก ในทางกลับกัน ฝั่งจะมาจัดตั้งรัฐบาลโดยที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคพลังประชารัฐและพรรคพลังประชารัฐส่วนขยาย ก็มีความยากตรงที่คุณจะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image