ปรากฏการณ์ประชุมสภา อนุรักษนิยมVSหัวก้าวหน้า

หมายเหตุ – เป็นความเห็นต่อปรากฏการณ์ในวันเปิดประชุมรัฐสภา กรณี ส.ส.บางกลุ่มแต่งกายในชุดชาติพันธุ์หรือตามเพศสภาพ รวมไปถึงวิวาทะเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับการประชุม นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมออนไลน์ มีการมองว่าเป็นการสะท้อนภาพความขัดแย้งระหว่างกลุ่มอนุรักษนิยมและกลุ่มหัวก้าวหน้า


 

พนัส ทัศนียานนท์
อดีตสมาชิกวุฒิสภา

ปรากฏการณ์เรื่องการแต่งกายตามเพศสภาพหรือเหตุการณ์ต่างๆ ในการประชุมสภา มีความเกี่ยวโยงกัน เป็นการปะทะกันระหว่างความคิดเก่าและใหม่ หรือระหว่างกลุ่มอนุรักษนิยมและหัวก้าวหน้า เพราะกลุ่มความคิดเก่าจะรับไม่ได้ โดยเฉพาะเรื่องเพศสภาพ แต่ทางประธานสภาบอกว่าไม่มีข้อห้ามอะไร ที่ระบุว่าจะต้องแต่งกายตามเพศสภาพในการเข้าสภา

Advertisement

การแต่งกายตามกลุ่มชาติพันธุ์ ถ้าไม่มีข้อบังคับระบุว่า ห้ามก็มีสิทธิเต็มที่ ซึ่งไม่มั่นใจว่าข้อบังคับในสภาจะต้องแต่งกายด้วยชุดสูทหรือไม่ แต่คิดว่าไม่ใช่ เพราะเมื่อก่อนสมัยที่เป็น ส.ว.บางคนก็แต่งเครื่องแบบข้าราชการ อีกทั้งสมัยนั้นมีอยู่ 1 คนแต่งชุดลูกเสือก็ยังเข้าสภาได้ ไม่มีใครมาไล่

หากข้อบังคับไม่ได้กำหนดไว้ชัดแจ้งว่า จะต้องแต่งกายอย่างไร ต้องเป็นเครื่องแบบหรือเป็นชุดสากล ดังนั้น คำว่าแต่งกายสุภาพก็แต่งได้หมดทุกอย่าง บางคนมองว่าการแต่งกายไม่ตรงเพศสภาพจะเป็นการไม่เคารพสถานที่ ไม่เคารพสภาซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ คำถามคือ แล้วจะต้องแต่งกายอย่างไร ที่ทำให้สภามีความศักดิ์สิทธิ์ สภาศักดิ์สิทธิ์ด้วยตัวเองอยู่แล้ว คนที่ไม่เคารพความศักดิ์สิทธิ์นั้นก็เป็นความรับผิดชอบของตัวเขาเอง ไม่ได้ทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของสภาลดน้อยลงไป จึงอยู่ที่ว่าหากมีข้อบังคับกำหนดไว้ชัดเจนแล้วไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับนั้น จึงจะเรียกว่าผิด เจ้าหน้าที่ก็อาจไม่ยอมให้เข้าไปในสภาตั้งแต่แรก หรือเจ้าหน้าที่อาจจะเชิญออกถ้าหากประธานมีคำสั่ง

ส่วนการเสนอรองประธานสภาเป็นผู้หญิง ในสมัยที่เป็น ส.ว.ก็เสนอผู้หญิงกันเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเมื่อเลือกแล้ว สู้กันแล้วไม่ได้เป็นก็เท่านั้น และ ส.ว.ในยุคต่อมาก็มีผู้หญิงเป็นรองประธานสภา ในแง่ระหว่างเพศหญิงและชายสมัยนี้ดีขึ้นกว่าเมื่อก่อนมาก มีการยอมรับว่าทั้งสองเพศมีความเสมอภาคกันพอสมควร เพียงแต่อาจจะยังไม่ได้มากตามที่ฝ่ายสุภาพสตรีต้องการว่าสัดส่วนผู้หญิงน่าจะมากกว่านี้ เพราะสัดส่วนของ ส.ส. และ ส.ว.ในสภาปัจจุบัน สุภาพสตรีก็ยังมีจำนวนน้อยกว่าผู้ชาย

Advertisement

กรณีที่ ส.ส.หญิงเฟซบุ๊กไลฟ์พาดพิงถึง ส.ส.อีกคนว่า ไม่มีมารยาทในการเข้าสภา โดยตำหนิในทำนองที่ว่า ลุกขึ้นมาพูดโดยไม่ขออนุญาตสภาก่อน เป็นการผิดข้อบังคับ หากถามว่าถูกหรือไม่ที่เขาวิจารณ์เช่นนั้น ก็คิดว่าถูก เพราะข้อบังคับของสภากำหนดไว้ว่า เวลาจะพูดในสภาต้องยกมือก่อน และประธานเรียกชื่อจึงจะลุกขึ้นมายืนพูดได้ แต่กรณีนี้ ส.ส.ลุกขึ้นมายืนโดยที่ประธานยังไม่ได้เรียกให้พูดได้ อาจไม่ได้ทำตามข้อบังคับแต่ประธานไม่ได้ว่าอะไร และไม่ได้ยืนยันให้นั่งลง เมื่อประธานให้พูดก็พูดได้ ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายกับการที่ลุกขึ้นและลืมขออนุญาตประธานก่อน จึงคิดว่าเป็นลักษณะของการบลั๊ฟว่าฉันเองเป็น ส.ส.มาก่อน รู้ข้อบังคับดี เธอไม่รู้เรื่อง เช่นนี้มากกว่า

ปัจจุบันกระแสโซเชียลมีเดียมีอิทธิพลอย่างมาก ถ้ากระแสโซเชียลมีความรู้สึกว่าข้างใดข้างหนึ่งผิดหรือไม่สมควร คนที่โดนโซเชียลวิจารณ์ก็คงจะไม่กล้าที่จะออกมาปะทะคารมต่อ ซึ่งฝ่ายที่ถูกต่อว่าก็ออกมาพูดแล้วว่า ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร มีเรื่องสำคัญกว่านี้ตั้งมากที่จะต้องทำ สรุปง่ายๆ คือเขาเห็นว่าเป็นเรื่องไร้สาระ ก็จบ เท่านั้นเอง

 

รศ.ดร.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์
อาจารย์ภาควิชารัฐศาสตร์
และรัฐประศาสนศาสตร์
คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์

มองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่ได้ใหญ่โตอะไร คนที่ทำให้เป็นประเด็นนั่นแหละทุเรศ เพราะไม่ได้มีแก่นสารสาระเท่าไร ทำไมถึงทำให้เป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาก็ไม่เข้าใจ

ประเด็นแต่งกายตามเพศสภาพหรือตามแต่งชาติพันธุ์เข้าประชุมสภา เขาอยากแต่งอะไรก็แต่งไปเถอะ ในเมื่อไม่ได้แก้ผ้าหรือใส่ชุดบิกินีเข้าไป ก็ถือว่าเรียบร้อยดี ไม่เห็นว่ามีปัญหาอะไร ทั้งนี้ บ้านเราอากาศร้อน พอใส่สูทแบบนักธุรกิจซึ่งก็ร้อน เสร็จแล้วก็ต้องเปิดแอร์เย็นๆ เปลืองอีก ไม่เข้าท่าเลย

ทั้งหมดนี้ยังสะท้อนเหตุการณ์ความวุ่นวายในสภา ซึ่งก็ล้วนไม่เป็นเรื่อง คงไม่ค่อยมีอะไรทำ ไม่ค่อยมีหัวคิดอะไร

รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ
คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
ม.ธรรมศาสตร์

ถ้านับแล้ว กระแสฝ่ายขวาที่เกิดขึ้นมาราว 10 ปีที่ผ่านมาโดนเด่นด้านการเมือง แต่สิ่งที่อยู่ลึกกว่าคือมิติวัฒนธรรม เพราะข้อเรียกร้องหรือความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมาจากการไม่ลงรอยกันระหว่างสิ่งที่อาจเรียกว่าระเบียบ อำนาจ ซึ่งถูกกำกับด้วยศีลธรรมหรือในเชิงวัฒนธรรม อันมาตามกฎเกณฑ์กติกาที่เรียกว่าประชาธิปไตย

สิ่งที่เราเห็นคือ การขึ้นมาของกลุ่มที่เชื่อเรื่องระเบียบอำนาจศีลธรรมหรือวัฒนธรรม ตรงนี้เองที่ไม่ได้ปรากฏเฉพาะในส่วนการเมืองแบบปกติ แต่ปรากฏในด้านสังคมวัฒนธรรม มีลักษณะแข็งตัวและเป็นหนึ่งเดียว ทั้งมาตรฐานการแต่งกายด็กี มาตรฐานด้านศีลธรรมในเรื่องชีวิตครอบครัว กิริยามารยาทก็ดี ดังนั้น เมื่อเข้าไปสู่สภาแล้วจะเห็นความสอดรับกันระหว่างสิ่งที่เรียกว่าระเบียบการเมืองเชิงศีลธรรมที่ปรากฏผ่านการเมืองแบบปกติ กับสิ่งที่ปรากฏผ่านทางวัฒนธรรม ซึ่งจุดที่เราเห็นเสมือนกับข้อท้วงติงของอีกฟากหนึ่ง จะเห็นว่ามีทิศทางเดียวกัน

หรือเห็นได้ถึงการเป็นร่างทรง การเป็นตัวแทนของความคิดทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน ในลักษณะกลุ่มการเมืองเสมือนยึดหลักการประชาธิปไตย ก็จะน้อมรับกับคุณลักษณะทางวัฒนธรรมที่มีความแตกต่างหลากหลายมากกว่า เปรียบเทียบกับกลุ่มการเมืองที่เชื่อมั่นในเรื่องการเมืองแบบจารีต ในลักษณะแข็งตัวหรือไม่เปิดกว้างกับความแตกต่างหลากหลาย

กรณีของชุดชาติพันธุ์คือการปะทุขึ้นมาของสิ่งที่รัฐไทยเชื่อว่าตัวเองสามารถจัดการได้สำเร็จ คือความแตกต่างทางชาติพันธุ์หรือศาสนาที่ปะทุขึ้นมาในกลุ่มที่อาจจะไม่มีอันตรายทางการเมือง หรือทำไปแล้วไม่มีความสุ่มเสี่ยงทางการเมือง ซึ่งคือกับกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนน้อยที่รัฐเชื่อว่ารัฐจะจัดการได้ แต่เอาเข้าจริงแล้ว สิ่งที่จัดการไม่ได้ไม่ถูกแสดงออกมา เพราะถ้าแสดงออกมาแล้วจะเป็นอันตรายต่อตัวเอง แต่ไม่ใช่ว่าสิ่งนั้นจะไม่มี

กรณีของ ส.ส.หญิง จ.ราชบุรี สามารถแบ่งได้เป็น 2 ข้อ คือ 1.เราได้ระบบการเลือกตั้งครั้งนี้ที่พิกลพิการ แทนที่จะได้ ส.ส.ที่มีคุณภาพด้วยตัวของเขาเอง กลับได้ ส.ส.ที่ไม่มีคุณภาพมากนัก ลักษณะเดียวกันกับตัวนโยบายที่ถูกทำให้ลดความสำคัญลงไปเพรามีเรื่องอื่นเข้ามาจัดการ จึงนำมาสู่การแสดงออกซึ่งตัวตนของ ส.ส.แต่ละคนว่าจะทำอย่างไรให้เป็นที่รู้จัก โดยที่ไม่ต้องจำกัดว่าจะต้องรู้จักในลักษณะดีหรือไม่ดี จะเห็นได้จากกรณีของ ส.ส.ปัดเศษที่ได้เข้าสภามา 1 คน ซึ่งจะเห็นการนำเสนอตัวตนของเขาว่ามีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ในวัยเรียน ทำให้เห็นว่าการทำให้ตัวเองเป็นที่จดจำไม่ใช่เพียงเรื่องการปะทะด้านนโยบายหรือสิ่งที่จะแก้ปัญหาของประเทศ เนื่องจากต้องเจอด่านที่สกัดกั้นเอาไว้ ทำให้ ส.ส.ลดคุณภาพลง

2.ถึงแม้ว่า ส.ส.จะไม่มีคุณสมบัติมาก เช่น ส.ส.ปัดเศษที่ได้มา จึงทำให้ ส.ส.ที่ไม่มีคุณภาพโดยตัวของเขาเองได้รับการเข้ามาด้วย เมื่อคนเหล่านี้ไม่มีสิ่งที่จะขายได้ จึงต้องใช้คุณสมบัติที่อาจจะดูพิลึกพิลั่น แต่อย่างน้อยคนจดจำได้ขึ้นมาชู คล้ายกับเป็นการเกื้อกูล เอื้ออำนวย หรือโน้มน้าวให้อีกหลายคนปฏิบัติตัวตามเพื่อเป็นที่รู้จักในการเป็น ส.ส.ในสภา กรณี ส.ส.ราชบุรีคนนี้ก็น่าจะเป็นครรลองเดียวกัน โดยเฉพาะปัจจุบันสื่อโซเชียลขยายตัวเร็ว คนสามารถเข้าไปเล่นกับโซเชียลอย่างไรก็ได้ จึงขยายความไป

ด้วยบรรยากาศการเมืองเช่นนี้ จึงพาตัวเองเข้ามาและให้เป็นที่รู้จักโดยไม่ได้สนว่ารู้จักทางไหน จะเห็นได้ว่าตอนหลังมีการตั้งให้โหวตในแอ๊กเคาต์ของ ส.ส.หญิงผู้นั้น ปรากฏว่าได้ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ที่เห็นด้วย แต่ตัวเขาก็ไม่ได้ยี่หระอะไร เพราะบุคคลเหล่านี้ไม่ได้คาดหวังว่าจะเป็นที่จดจำในลักษณะไหน หรือตนจะมีคุณภาพเท่าไร ขอให้เป็นที่รู้จักและพูดถึงในสังคมก็พอ จึงต้องกลับมาโทษกฎเกณฑ์กติกาที่ทำให้การแข่งขันในเรื่องสาระสำคัญนั้น ไปไม่ได้ ถูกสกัดเอาไว้ จนสุดท้ายเราได้ ส.ส.ที่ไม่มีคุณภาพเข้ามา

ถวิลวดี บุรีกุล
ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา
สถาบันพระปกเกล้า

รัฐสภาเป็นสถานที่ที่ต้องแต่งกายและแสดงออกอย่างสุภาพ อย่างรัฐสภาต่างประเทศเขาแต่งกายตามชาติพันธุ์กันเลย บางประเทศก็แต่งกายแบบพื้นเมืองเลย ซึ่งเป็นการแสดงถึงตัวตนของเขาเลย เราต้องให้เกียรติ แต่ทั้งหมดต้องสุภาพ เคารพสถานที่ หากแต่งกายสุภาพ กิริยาสุภาพ ก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะฉะนั้นตราบใดที่แต่งกายสุภาพ กิริยามารยาท สุภาพ เรียบร้อย ถูกกาลเทศะ และให้เกียรติสถานที่ ก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร

สิ่งสำคัญสภาเป็นสถานที่สำคัญ การแต่งกายและกิริยาจึงสำคัญมากๆ และการที่คุณจะมาทำอะไรก็เป็นสิ่งสำคัญมากเช่นกัน เมื่อมาทำเพื่อประโยชน์ให้กับประชาชน การพูด การแสดงออกในสิ่งที่จะทำเพื่อประชาชนก็เป็นเรื่องที่ดี สามารถขายแนวคิด วิสัยทัศน์ได้ว่าจะทำอะไรบ้าง มีนโยบายอะไรบ้าง เพื่อให้ประชาชนหันมาสนใจ ซึ่งจะมีประโยชน์และสาระสำคัญมากกว่า การแสดงออกและสื่อสารอะไรออกมาที่ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image