รายงานหน้า2 : วิพากษ์…สมการ‘พปชร.’ โหวตนายกฯก่อนตั้งรบ.

หมายเหตุ – ความเห็นของนักวิชาการกรณีที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เดินเกมจัดตั้งรัฐบาลโดยยื่นเงื่อนไขพรรคร่วมรัฐบาลต้องโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีก่อนและจะต้องอาศัยเสียงของ ส.ว.ร่วมด้วย จากนั้นค่อยฟอร์มรัฐบาลจัดสรรโควต้าเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ

ฐิติพล ภักดีวานิช
คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี

การที่ พปชร.เดินหน้าโหวตนายกฯ โดยอาศัยเสียง ส.ว.ไปก่อน ยิ่งตอกย้ำเรื่องการใช้กลไกทางรัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดอำนาจของ คสช.โดยให้ ส.ว.เข้ามามีอำนาจในการลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี และยังสะท้อนอีกว่าความจริงแล้ว คสช. หรือ พปชร.ไม่ได้ต้องการให้เป็นไปตามกลไกทางประชาธิปไตย และกลับคืนสู่ประชาธิปไตยจริงๆ เพียงแค่ใช้กระบวนการการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมในการสืบทอดอำนาจ และสร้างภาพลักษณ์ให้เป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ ซึ่งกระบวนการนี้ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าการเลือกตั้งหรือเสียงของประชาชนไม่ได้เป็นสิ่งที่ คสช.ให้ความสำคัญ เพราะถ้าดูโดยหลักการของการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยมีรัฐสภา พรรคที่มีความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลก็คือพรรคที่มีจำนวน ส.ส.มากที่สุด และ ส.ว.เอง เมื่อไม่ได้มาจาการการเลือกตั้งก็ควรจะลงคะแนนตามเจตนารมณ์ของประชาชน แต่สิ่งที่เห็นคือ ส.ว.ไม่ได้คำนึงถึงประชาชนเช่นกัน เพราะฉะนั้นการเดินหน้าของพลังประชารัฐเช่นนี้จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ แต่เป็นสิ่งที่ตอกย้ำให้ประชาชนได้รับรู้ว่าเสียงของประชาชนไม่ได้มีความสำคัญเท่ากับการสร้างกลไกเพื่อการสืบทอดอำนาจของ คสช.
สิ่งที่ พปชร.จะทำเป็นลักษณะของการกดดันพรรคขนาดกลาง ซึ่งขณะนี้ พปชร.ก็อาจจะคิดไปถึงทางเลือกคือเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย ซึ่งมีความเสี่ยงสูง เพราะอาจจะทำให้ช่วงเวลาการเป็นรัฐบาลสั้นลง แต่เรื่องการต่อรองทั้ง พปชร.
และประชาธิปัตย์ (ปชป.) ก็ไม่ได้คิดถึงเสียงของประชาชน เพราะ ปชป.เองก็ต้องการผลประโยชน์ มีการต่อรองเรื่องกระทรวง พปชร.เองก็ต้องการเสียงในสภา เพื่อที่จะให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ดังนั้น ในสมการของทั้งสองพรรคจึงไม่ได้มีประชาชนอยู่ตรงกลาง
อย่างไรแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ก็จะใช้อำนาจอยู่แล้ว การเลือกนายกฯก่อนหรือหลังก็ไม่มีนัยสำคัญมากนัก เพราะถึงแม้ว่าตกลงกันก่อน สุดท้ายทุกอย่างก็ต้องกำหนดโดย พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช.อยู่ดี อย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์เคยให้สัมภาษณ์ว่าต้องเลือกคนที่ทำงานกับเขาได้ ซึ่งสมมุติว่าประชาธิปัตย์ไม่พอใจและหันไปจับมือกับอีกขั้ว โอกาสการที่จะเป็นรัฐบาลก็มีน้อยมาก เพราะสิ่งที่เห็นคือ คสช.และ ส.ว.250 เสียง เป็นเหมือนเครื่องมือที่สร้างหลักประกันให้ พปชร.อยู่แล้วว่าอย่างไรก็ได้เสียงข้างมาก เพราะถ้า ส.ว.250 พปชร. ภูมิใจไทย พรรคอื่นๆ ที่มีในมือของ พปชร. ก็เกิน 376 เสียงแล้ว ดังนั้น ถึงแม้ ปชป.จะไม่ร่วมก็ไม่ได้มีนัยสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาล แต่จะมีนัยสำคัญในการทำงานของรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้ง ถ้าได้รัฐบาลเสียงข้างน้อย ซึ่งไม่แน่ว่าจะนำไปสู่การยุบสภาหรือไม่ เพราะการตีความกฎหมายต่างๆ ถูกบิดเบือนไปในหลายกรณี และกฎหมายไม่ได้ตีความบนเนื้อความของมันโดยตรง แต่เป็นการถูกตีความเพื่อที่จะให้ประโยชน์กับบางกลุ่มค่อนข้างมาก
ความจริงแล้วควรเป็นลักษณะของการเจรจากับพรรคร่วมและจัดตั้งรัฐบาล แต่ถ้าเป็นไปในรูปแบบนี้ สิ่งที่มองเห็นคือ การพร้อมที่จะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยของ พปชร.เป็นการพยายามสร้างแรงกดดันให้กับพรรคขนาดกลาง เพราะมี ส.ว.ในการเลือกนายกฯ ซึ่งความจริง พปชร.ก็อยากได้เสียงข้างมาก แต่สุดท้ายถ้ามีเท่านี้ก็ยังสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่จะเป็นรัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพอย่างแน่นอน

 

Advertisement

ยอดพล เทพสิทธา
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.นเรศวร

การที่มีกระบวนการเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลของ พปชร.เป็นอะไรที่แปลก เพราะ พปชร.เป็นพรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส.เป็นอันดับ 2 น้อยกว่าเพื่อไทย โดยธรรมเนียมปฏิบัติจะให้พรรคการเมืองที่มีเสียงมากที่สุดเป็นผู้มีสิทธิก่อน จึงแปลกใจว่าทำไมทุกวันนี้เป็น พปชร.ที่เดินหน้าจัดตั้งรัฐบาล
ตามแนวทางนายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. ที่บอกว่า รัฐบาลเสียงข้างน้อยอยู่ได้ คือ พปชร.รวมกับเสียง ส.ว.โหวตนายกฯไปก่อน แล้วค่อยไปรวมเสียง ซึ่งตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้สามารถทำได้จริง แต่ผิดธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญ ที่ต้องให้พรรคที่ได้เสียงมากที่สุดเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลก่อน ซึ่งก็ยังไม่เห็นแววเคลื่อนไหวของพรรคเพื่อไทยกับ 7 พรรคแนวร่วม ปัญหาที่ตามมา คือ ไม่แน่ใจว่าการพูดว่ารัฐบาลเสียงข้างน้อยอยู่ได้ เป็นการพูดเพราะมีทางเลือกทางการเมืองแอบแฝงอยู่หรือไม่ แต่ในทางหลักการคือ ในโลกนี้ไม่มีรัฐบาลเสียงข้างน้อยในระบอบประชาธิปไตย ที่บอกว่าถึงแม้จะมีเสียงข้างน้อย แต่ก็การันตีให้ออก พ.ร.บ.งบประมาณได้ ซึ่งเป็นการเข้าใจผิด พ.ร.บ.งบฯ ถ้าไม่สามาถผ่านได้หรือยังไม่แล้วเสร็จ สามารถใช้งบประมาณของปีที่แล้วไปพลางก่อน แต่เมื่อพร้อมแล้วจะต้องออกได้ เมื่อโหวตไม่ผ่าน โดยธรรมเนียมปฏิบัติคือรัฐบาลลาออกทันที นี่คือกฎหมายสำคัญ หรือเป็นกฎหมายสำคัญอื่นๆ ถ้ารัฐบาลเสนอ โหวตแล้วแพ้ โดยธรรมเนียมปฏิบัติคือลาออก แต่เราไม่รู้ว่าใครจะอยู่หรือไม่อยู่
ตอนนี้ตอบไม่ได้ว่า พปชร.มี ส.ส.อยู่ในมือแล้วหรือไม่ เนื่องจาก ปชป.เองก็ไม่ฟันธง ถ้าเอาจำนวน ส.ส.มากดเครื่องคิดเลข 500 เสียงในสภา เป็นฝั่งของพรรคเพื่อไทย 246 คน เท่ากับว่ามี ส.ส.ที่ไม่ได้อยู่กับเพื่อไทยแน่ๆ 254 คน ถามว่า พปชร. มี 118 เสียง รวมกับเสียงพรรคเล็กที่เหลือเป็น 128 เสียง ซึ่งต่างกันมากกับ 246 เสียง และยังมีข่าวว่ากลุ่มสามมิตรจะมาอยู่กับเพื่อไทย และคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย ก็บอกว่าไม่เอาแล้ว จึงไม่มีอะไรการันตีว่า พปชร.จะมีเสียงเกินกว่า 251 เสียง หากไม่นับอำนาจพิเศษในปัจจุบัน คือ ม.44 พปชร.ไม่มีแต้มต่ออะไรเลย เพราะต้องไม่ลืมว่าเป็นพรรคการเมืองที่ดูด ส.ส.จากพรรคอื่นเข้ามารวมกัน พปชร.ไม่สามารถที่จะชนะถล่มทลายเหมือนที่พรรคไทยรักไทยเคยทำได้ในการใช้พลังดูด จนชนะถล่มทลายและสามารถมาตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้โดยไม่ต้องมีการต่อรองกับพรรคอื่น
พปชร.ต้องยอมรับความจริงว่า 1.พปชร.ไม่ชนะการเลือกตั้ง คนที่ชนะคือเพื่อไทย 2.เสียงโดยลำพังไม่พอ 3.ในก๊วนของพรรคเองยังเคลียร์ไม่ลงตัว ถึงที่สุดแล้วจะดันทุรังโหวตนายกฯแล้วไปเอาพรรคขนาดกลาง อย่าง ปชป. และ ภท.มาร่วม คิดว่าเขาจะไม่รู้ทันหรือ ต้องไม่ลืมว่าถ้าเสียง ปชป. โหวตโดยไม่มีเอกภาพเมื่อไหร่ หรือถึงคราวโหวตไม่ไว้วางใจนายกฯ เกิด ปชป. และ ภท. มีคนแตกแถวแค่เพียง 8 คน คือจบทันที แต่ถึงอย่างไรแล้ว ถ้า ปชป.ไม่พอใจ พปชร. ก็คงไม่จับกับเพื่อไทย แต่อาจจะอยู่เป็นฝ่ายค้านอิสระ แบบที่มีการเสนอไว้
การยุบสภาเป็นไพ่ใบท้ายๆ ของ พปชร. ที่บอกว่าโหวตก่อนแล้วยุบสภานั้น ฝ่ายการเมืองไม่ได้มีใครกลัว และพรรคการเมืองส่วนมากรออยู่ เพราะเขารู้ว่าเลือกครั้งต่อไป พปชร.ไม่ได้เสียงเท่านี้แน่นอน ถ้าจะกลัวคือการยื้อ แล้วกลายเป็น พล.อ.ประยุทธ์อยู่ต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งตรงนี้มีข้อสัญญาออกมาแล้วว่าอยู่ต่อไม่ได้เพราะเลือกตั้งมาแล้ว ดังนั้นจึงเป็นเพียงแค่การบลั๊ฟ เพราะทันทีที่ยุบสภา คสช.จะจบทันที แล้วทุกคนจะรณรงค์ได้เต็มที่ โดยไม่มี ม.44 มาขวางจึงสงสัยว่า พปชร.จะกล้าทำอย่างที่พูดหรือไม่ เพราะราคาที่ต้องจ่ายค่อนข้างสูง
ตอนนี้ด้วยโครงสร้างของ พปชร. กำลังบีบให้ พปชร.เป็นพรรคการเมืองที่มี 118 เสียง แต่ต้องยอมฟังพรรคการเมืองที่มี 50 กว่าเสียง กล่าวคือไม่ใช่พรรคแกนนำที่ชี้นำได้อีกต่อไป เพราะเสียงปริ่มน้ำ ถ้าไม่มีเอกภาพตั้งแต่แรกก็จบ กลับกันกับ 7 พรรคแนวร่วมเพื่อไทย จะเห็นว่ายังไม่มีการต่อรองอะไรทั้งสิ้น เพราะเขารอให้เสียงมีเอกภาพก่อนแล้วค่อยไปคุยกัน แต่ พปชร.กลับกันเอาเก้าอี้รัฐมนตรีไปกระจายกันก่อน เมื่อไม่พอใจ การต่อรองไม่โหวตให้จึงเกิดขึ้น

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

Advertisement

ถือเป็นเรื่องปกติของการต่อรองในการร่วมรัฐบาล แต่สิ่งที่ไม่ปกติในเวลานี้ คือการต่อรองใช้เวลานานเกินไป ส่งผลต่อความเชื่อมั่น และเสถียรภาพของทางรัฐบาลที่กำลังจัดตั้งขึ้น ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะระบบการเมืองตอนนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อมิให้เสียงส่วนใหญ่มีอำนาจทางการเมือง ผลคือเกิดสภาวะสุญญากาศ หรือสภาวะที่รัฐบาลตกอยู่ในภาวะการต่อรองระหว่างพรรคการเมืองขนาดกลางและขนาดเล็กที่อาจกลับไปสู่รัฐบาลผสม ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย รัฐบาลผสมเป็นรัฐบาลที่ขาดเสถียรภาพ เต็มไปด้วยการต่อรอง โดยสภาพเช่นนี้เคยเกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2521 ซึ่งในช่วง 8-9 ปี แรกของรัฐธรรมนูญ รัฐบาลที่นำโดย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ คุมอำนาจได้เด็ดขาด ด้วยการสนับสนุนจากกองทัพอย่างเต็มที่ แต่เมื่อถึงช่วงเปลี่ยนผ่านหลังจาก พล.อ.เปรม ไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ก็ได้รับการเลือกตั้งขึ้นมา โดยเป็นรัฐบาลผสม แต่กองทัพไม่ได้เข้ามายุ่ง ทำให้เกิดสภาวะการแบ่งเป็นมุ้ง และต้องผลัดเปลี่ยนตำแหน่งรัฐมนตรีมาจากแต่ละมุ้งรายปี หรือสองปี จนช่วงท้ายที่การต่อรองผลประโยชน์ทางการเมืองของรัฐบาลผสมขัดแย้งต่อกองทัพ จึงเกิดรัฐประหาร โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ในที่สุด
ในขณะนี้ กองทัพค่อนข้างเป็นปึกแผ่น ที่สำคัญคือใครจะอยู่ในฐานะผู้มีอำนาจต้องมีฐานสนับสนุนจากกองทัพอย่างชัดเจน ซึ่งไม่แน่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมีฐานสนับสนุนเหมือนตอนเป็นผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) หรือมีอำนาจเหมือนที่ พล.อ.เปรม เคยมีตอนเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ และแม้ในทางวิชาการจะอยากให้ฝ่ายที่ได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชนโดยเสียงส่วนใหญ่ได้เป็นรัฐบาล แต่เอาเข้าจริงแล้ว พรรคที่มีแนวโน้มในการเป็นผู้นำรัฐบาลคือ พปชร. ซึ่งก็ขอให้อยู่รอดปลอดภัยก็แล้วกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image