ลุ้นโผ ครม. ‘บิ๊กตู่’ นายกฯ ระทึก รบ. ไม่มี ม.44

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ นายชวน หลีกภัย เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร นายสุชาติ ตันเจริญ และ นายศุภชัย โพธิ์สุ เป็นรองประธาน เป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม
วันที่ 5 มิถุนายน นายชวนจะเรียกประชุมรัฐสภา เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 และบทเฉพาะกาลที่วางไว้
หมายความว่าในวันนั้น บุคคลที่อยู่ในบัญชีนายกฯของพรรคการเมืองที่มีเสียงเพียงพอ และได้รับการสนับสนุนจากรัฐสภาเกินกว่ากึ่งหนึ่งจะได้เป็นนายกฯ
มองตามรูปการณ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ในบัญชีชื่อนายกฯของพรรคพลังประชารัฐ
พรรคพลังประชารัฐและขั้วที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อรวมกับ ส.ว. 250 เสียงที่มาจากการคัดเลือกของ คสช.แล้ว
เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะได้รับการสนับสนุนให้เป็นนายกฯตามคาด
และเมื่อมีนายกฯ ต่อไปก็เป็นหน้าที่ของนายกฯที่จะคัดเลือกรัฐมนตรี

ความจริงแล้วการแบ่งสรรจัดการโควต้ากระทรวงและรัฐมนตรีดำเนินไปก่อนหน้าที่จะประชุมรัฐสภา
ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นหลังจาก กกต.ประกาศรับรองรายชื่อ ส.ส.มาตลอดหลายสัปดาห์ก็มาจากการจัดสรรโควต้ากระทรวงและเก้าอี้รัฐมนตรี
อาการของพรรคการเมืองไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา ที่แสดงทีท่าขัดขืนบ้าง แสดงอาการสงวนท่าทีในการร่วมรัฐบาลบ้าง
เหล่านี้ล้วนมีที่มาจากการต่อรองเพื่อให้ได้มาซึ่งกระทรวงและเก้าอี้รัฐมนตรีที่ฝ่ายตัวเองต้องการ
และด้วยเหตุที่พรรคพลังประชารัฐมีเสียงน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร และจำเป็นต้องพึ่งพิงพรรคการเมืองอื่น
ความหวังที่เคยคิดจะยึดกระทรวงสำคัญๆ เอาไว้หมดก็สลาย
อย่างน้อยที่สุดกระทรวงคมนาคมก็ต้องมอบให้พรรคภูมิใจไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงกระทรวงพาณิชย์ ต้องมอบให้พรรคประชาธิปัตย์
แม้ก่อนหน้านี้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่ม 3 มิตรของพรรคพลังประชารัฐจะหมายมั่นปั้นมือว่าจะนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีเกษตรฯ
แต่เมื่อถึงที่สุดแล้ว เก้าอี้ตัวนี้ก็ต้องมอบให้แก่พรรคประชาธิปัตย์
ทั้งนี้ก็เพื่อให้รัฐบาลเกิดขึ้น และขับเคลื่อนต่อไปได้

ปัญหาจากการแบ่งสรรโควต้ากระทรวงและการแบ่งสรรเก้าอี้รัฐมนตรีจึงม้วนกลับไปตกอยู่ในพรรคพลังประชารัฐ
เมื่อกระทรวงเกรดเอต้องแบ่งปันไปให้พรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาล กระทรวงและเก้าอี้ที่เหลือซึ่งต้องจัดสรรให้ “คนกันเอง” จึงน้อยลง
คสช.ยังคงต้องการกระทรวงกลาโหม และกระทรวงมหาดไทย
กลุ่มพลังเดิมในพรรคพลังประชารัฐมีความต้องการกระทรวงชั้นหนึ่ง ขณะที่พรรคพลังประชารัฐได้กวักมือเรียกกลุ่มพลังใหม่ๆ เข้ามาเสริมตอนเลือกตั้ง และมีความต้องการกระทรวงเกรดเอเช่นกัน
ดังนั้น เมื่อปรากฏว่ากระทรวงและเก้าอี้สำคัญลดน้อยถอยลง แรงกระเพื่อมจึงเกิดขึ้นจากภายใน
อย่างไรก็ตาม กระแสข่าวยืนยันว่า โควต้ากระทรวงและเก้าอี้รัฐมนตรีที่แบ่งสรร จากเดิมที่มีการประสานงานจากหลายทาง
สุดท้ายให้ประสานงานกับแกนนำพรรคพลังประชารัฐเพียงฝ่ายเดียว
แต่ทุกอย่างต้องผ่านการกลั่นกรองและเห็นชอบจาก พล.อ.ประยุทธ์ด้วย
ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ทุกอย่างมีผู้ตัดสินการจัดโผ ครม.จะได้ลงตัว
รัฐบาลใหม่จะได้เกิดขึ้นและขับเคลื่อนต่อไปได้

ณ บัดนี้ คาดว่าการโหวตนายกรัฐมนตรีจะเกิดขึ้นในสัปดาห์หน้าที่จะถึงนี้ หลังจากนั้นนายกรัฐมนตรีจะเสนอชื่อ ครม.
เมื่อมีรัฐบาลชุดใหม่เกิดขึ้น อำนาจ ม.44 ที่เป็นเกราะคุ้มกันให้ พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช.มาตลอด 5 ปีจะเสื่อมมนต์
หาก พล.อ.ประยุทธ์ ได้เป็นนายกฯคนต่อไปตามคาด สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์จะต้องประสบคือการเผชิญหน้ากับปัญหาต่างๆ โดยไม่มี ม.44 เหมือนเดิม
ปัญหาที่ต้องเผชิญหน้า เริ่มตั้งแต่คดีความที่เกิดขึ้นในช่วง 5 ปีที่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นหัวหน้า คสช.และใช้อำนาจในการบริหาร
ปัญหาต่อมาคือปัญหาที่เป็นผลงานจากการบริหารประเทศมาตลอด 5 ปี
เป็นปัญหาสั่งสมทั้งเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม
ต่อมา คือการบริหารงานรัฐบาลใหม่ การผนวกนโยบายหาเสียงของพรรคการเมือง 20 พรรคให้เป็นหนึ่งเดียว
และการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลจากสภาผู้แทนราษฎร

Advertisement

การบริหารราชการแผ่นดินในขณะนี้ รัฐบาลมี สนช.เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ สมาชิก สนช.มาจากการแต่งตั้งของ คสช. จึงถูกมองว่าเป็นเพียงแค่ “สภาตรายาง”
ที่ผ่านมาจึงเห็น สนช.อภิปรายเอาใจ พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช.และได้เห็น สนช.ปรบมือให้นายกรัฐมนตรีตามที่นายกฯร้องขอ
แต่ต่อไปสภาผู้แทนราษฎรคงไม่ได้แสดงอาการเฉกเช่นเดียวกับ สนช.
สภาผู้แทนราษฎรมีทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน
ฝ่ายรัฐบาลย่อมอภิปรายชื่นชมการทำงานของรัฐบาล แต่สำหรับฝ่ายค้านแล้ว แน่นอนว่า ไม่ทำเช่นนั้นแน่
ยิ่งฝ่ายค้านมีทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคเพื่อชาติ และอื่นๆ ซึ่งมีฝีปากกล้า
ยิ่งน่าจับตาลีลาของฝ่ายค้านที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ และจับตาลีลาของฝ่ายรัฐบาลที่ต้องตอบคำถาม
ไม่ว่าจะเป็นการตอบกระทู้ การออกพระราชบัญญัติฉบับใหม่ๆ หรือการแก้ไขพระราชบัญญัติฉบับเดิม การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯ
รวมไปถึงการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ
ทุกๆ วาระในสภาล้วนน่าสนใจ เพราะคะแนนของฝ่ายรัฐบาลนั้นยังหนีไม่พ้นวิกฤต “เสียงปริ่มน้ำ”

น่าสนใจท่าทีของพรรคเพื่อไทยในระยะหลังๆ ก่อนจะมีการตั้งรัฐบาล
พรรคเพื่อไทยดำรงอยู่ในความสงบ ไม่คัดค้าน ไม่สร้างเงื่อนไข คล้ายดั่งว่าพรรคเพื่อไทยรอให้รัฐบาลชุดใหม่คลอดออกมาและเริ่มทำงาน
หลังจากนั้นพรรคเพื่อไทยจะค่อยๆ ทำหน้าที่ “ตรวจสอบ”
การเมืองในลำดับต่อไปจึงต้องลุ้นรายชื่อรัฐมนตรีที่จะมาคุมกระทรวงแต่ละกระทรวง
ต้องดูว่าชื่อชั้นที่มาคุมจะแก้ไขปัญหาปัจจุบันที่เกิดขึ้นได้มากน้อยเพียงใด
ต้องเฝ้าติดตามว่า รัฐบาลจะประสานนโยบายหาเสียงให้ออกมาเป็นนโยบายของรัฐบาลได้ไหม และเรียงลำดับอะไรก่อนและหลัง
ต้องติดตามการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านในสภา
ติดตามรับชมทุกๆ การประชุมสภา และรับฟังฝ่ายค้านถาม และฟังฝ่ายรัฐบาลตอบ
และติดตามทุกๆ โหวตในสภา ที่อยู่ในภาวะปกติ
อยู่ในภาวะที่ประเทศไทยไม่มี ม.44 คอยคุ้มครองป้องกันฝ่ายบริหารให้แคล้วคลาด เหมือนดั่ง 5 ปีที่ผ่านมาอีกต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image