บทนำ : กระทรวงด้านการศึกษา

ในระหว่างการเจรจาจัดตั้งรัฐบาล มีการกล่าวถึงกระทรวงที่นักการเมือง พรรคการเมืองต้องการ ส่วนมากเป็นกระทรวงเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณ โปรเจ็กต์ยักษ์ นอกนั้นได้แก่ กระทรวงที่มีผลต่ออำนาจการเมือง อาทิ มหาดไทย เกษตร ส่วนกระทรวงด้านวิชาการ อย่างกระทรวงศึกษาธิการ หรือกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. ไม่ได้อยู่ในการต่อรองของพรรคที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาล ทั้งที่เป็นกระทรวงที่ต้องดูแลการพัฒนาคุณภาพเยาวชน ซึ่งระยะหลัง มีการนำไปเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น

ปัญหาการศึกษาของชาติ และการพัฒนาเยาวชน ที่รอคอยการแก้ไขมีมากมายหลายเรื่อง ทั้งคุณภาพศึกษาในทุุกด้าน การสร้างสภาพแวดล้อมทางการศึกษา การอ่านหนังสือ ศึกษาหาความรู้รอบตัว การศึกษาทางด้านเทคโนโลยี ไปจนถึงบรรยากาศ วัฒนธรรม ค่านิยมในสถานศึกษา ได้แก่ การใช้ความรุนแรงในการรับน้องใหม่ การสร้างระบบ
ซีเนียริตี้ในสถานศึกษา บรรยากาศทางวิชาการ ประชาธิปไตยและเสรีภาพในสถานศึกษา ท่ามกลางความผันแปรของโลกยุคใหม่

นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการ ศธ.และรัฐมนตรีว่าการ อว. ต้องตั้งโจทย์ ทิศทางการพัฒนาให้รู้ทันความเปลี่ยนแปลง เมื่อได้โจทย์แล้ว กระบวนการทำงานจะตามมา ส่วนตัวอยากให้รัฐมนตรี 2 กระทรวงคิดให้รอบคอบและมีเป้าหมายชัดเจน ไม่ใช่โจทย์ของพรรคการเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่ตนกังวล เพราะแต่ละพรรคก็จะมีชุดนโยบายของตัวเอง เมื่อเข้ามาแล้ว ต้องหาวิธีปรับกลไกระบบราชการให้เห็นความสำคัญของความเปลี่ยนแปลง ปฏิรูประบบ ให้สอดคล้องกับปัจจุบัน ดูแลเรื่องระบบการสอบและการประเมินผล ให้เป็นระบบที่มีคุณภาพ สะท้อนถึงการพัฒนาการเรียนการสอนอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นระบบที่ยึดติดอยู่กับคะแนนสอบเช่นปัจจุบัน

เสียงสะท้อนจากนักวิชาการด้านการศึกษา ล้วนแต่ห่วงใยว่า พรรคการเมืองไม่ให้ความสำคัญกับกระทรวงด้านการศึกษา การบริหารงานทำได้ยาก สร้างการเปลี่ยนแปลงได้ยาก รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามารับหน้าที่ จะต้องตั้งโจทย์ปัญหาให้ถูกต้อง และสรรหาตัวบุคคลที่เหมาะสม โดยเริ่มต้นจากความสามารถทางด้านการบริหาร มากกว่าจะใช้ความสามารถทางด้านการเมือง เพื่อสร้างจุดเริ่มต้นในการแก้ไขปัญหาให้ได้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image