รายงานหน้า 2 ‘เป็น-อยู่-คือ’รัฐบาลใหม่ เดินไปในอาการ‘ขากะเผลก’

หมายเหตุ – การประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน แม้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะชนะนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ไปด้วยคะแนน 500 : 244 แต่เมื่อหักคะแนนจาก ส.ว. จำนวน 249 เสียง เท่ากับได้รับเสียงจาก ส.ส. จำนวน 251 เสียง จากนี้เป็นความเห็นของนักวิชาการต่อการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลชุดใหม่กับคะแนนเสียง “ปริ่มน้ำ”


ผศ.ดร.ยอดพล เทพสิทธา
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

สถานการณ์การเมืองเสียงปริ่มน้ำสามารถทำงานได้ แต่นับว่าเสี่ยง และต้องไม่ลืมว่าการโหวตไม่ไว้วางใจไม่เกี่ยวข้องกับสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ทั้งนี้ คะแนนโอเวอร์ออลจริงๆ ต่างกันเพียง 7-8 เสียง ดังนั้น หากเกิดคนแตกแถวขึ้น 10 คน ก็ถือว่าจบ ทำงานยากขึ้น แต่รัฐธรรมนูญวางกลไกไว้ว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจเปิดให้ใช้สิทธิได้ปีละ 1 ครั้ง ซึ่งต้องเลือกในประเด็นสำคัญและต้องรอว่าบริหารแล้วผิดพลาดอย่างไร

ถามว่ารัฐบาลในอนาคตจะดำเนินตามธรรมเนียมปฏิบัติมากน้อยแค่ไหน เพราะที่ทำอยู่ก็ผิดธรรมเนียมปฏิบัติ เพราะที่ถูกต้องคือต้องให้เกียรติพรรคที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลก่อน แต่กลายเป็นว่าให้พรรคที่มีคะแนนอันดับ 2 เป็นหัวหอกจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งผิดธรรมเนียม

Advertisement

เชื่อว่ารัฐบาลใหม่อยู่ยาวแน่นอน ดีไม่ดีอาจครบเทอม หรือบวกไปอีก 8 ปี เนื่องจากกับดักรัฐธรรมนูญ 2560 ในบทเฉพาะกาลที่ผ่านการทำประชามติไปแล้ว พบว่าช่วง 5 ปีของการปฏิรูป ซึ่ง ส.ว.เองก็มีวาระ 5 ปี แต่รัฐบาลมีวาระ 4 ปี ทำให้รัฐบาลหมดอายุก่อน หมายความว่า ส.ว.ชุดนี้สามารถอยู่ได้ 2 รัฐบาล ดังนั้นต่อให้เสียงปริ่มน้ำแค่ไหน ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างไร ร่างกฎหมายสำคัญไม่ผ่าน หรือรัฐบาลลาออก ก็สามารถโหวตใหม่ได้ เพราะ ส.ว.ชุดที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เลือกมาสามารถโหวตนายกฯใหม่ได้ ขนาดโหวตเลือกนายกฯเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ยังไม่มีเสียงแตก ดังนั้น หากโหวตเลือกอีกจะเป็นอื่นได้อย่างไร

ประเด็นความไม่เป็นหนึ่งเดียวของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ส่งผลกับการทำงานในรัฐบาลใหม่แน่นอน เพราะอย่างที่บอกว่าธรรมเนียมปฏิบัติของรัฐธรรมนูญ ควรให้พรรคที่ได้คะแนนเสียงอันดับ 1 ตั้งรัฐบาลก่อน กลายเป็นพรรคที่มีคะแนนเสียงอันดับ 2 ซึ่งนอกจาก พปชร.จะมีคะแนนเสียงน้อยแล้ว ยังไม่มีเสียงสนับสนุนที่แท้จริงอีก เพราะคะแนนเสียงของพรรคเล็กกว่า 10 พรรค เกิดจากสูตรคำนวณที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญของ กกต. และได้มาจากการต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี

หากติดตามข่าวจะพบว่าเริ่มมีปัญหาแล้วว่า พปชร.ขอเอาโควต้าคืนมาก่อน ต่างกับอีกฝั่งหนึ่งที่เป็น 7 พรรค เพราะเขามีเป้าหมายแน่นอนที่ไม่เอา คสช. ดังนั้น ทั้ง 7 พรรคนี้จะต้องซัพพอร์ตซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ขณะที่พรรคพลังประชารัฐเกิดมาจากการเอาเก้าอี้รัฐมนตรีไปต่อรอง ดูได้จากการที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ยอมเข้าร่วมสักทีเพราะการเจรจาต่อรองเก้าอี้ไม่ลงตัว ปัญหาคือ เมื่อ พปชร.ไม่มีเสียงสนับสนุนที่แท้จริง และแต่ละพรรคที่รวบรวมมาก็มีนโยบายของตัวเอง เช่น นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย พูดชัดเจนว่าจะร่วมงานกับพรรคที่สนับสนุนนโยบายกัญชาของพรรค แต่หากตัวเองไม่ได้คุมกระทรวงสาธารณสุข แล้วรัฐมนตรีคนใหม่ไม่เอากัญชา นายอนุทินจะว่าอย่างไร เพราะนโยบายที่นำเสนอประชาชนกลับทำไม่ได้ ทั้งที่ตัวเองก็เป็นพรรคร่วมรัฐบาล นอกจากนี้ มีกลไกของรัฐธรรมนูญที่ทับซ้อนอีกชั้นหนึ่งคือ พรรคพลังประชารัฐถืออำนาจ มองเห็น หรือจับต้องได้ นั่นคือพลังของ 250 ส.ว. สิ่งนี้เรียกว่าเป็นรัฐมาเฟียหรือไม่

การได้นายกฯคนเดิมจะเป็นข้อดี ก็ต่อเมื่อมาจากกลไกที่ถูกต้อง ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์มาด้วยกลวิธีที่ไม่ถูกต้องตั้งแต่ครั้งแรกด้วยการรัฐประหาร และเมื่อรัฐประหารเข้ามาแล้วยังแต่งตั้งกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกลไกของรัฐ ทางกฎหมายและการเมืองทุกอย่าง ถือเป็นการเอาเปรียบคนอื่น ถามว่ากลไกตั้งแต่การโหวตเลือกนายกฯเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. หรือการเลือกตั้งตั้งแต่แรก ตลอดจนการทำประชามติ เรียกว่าเป็นประชาธิปไตยหรือไม่

ดังนั้น มีข้อดีแน่นอน ถ้านายกฯมาจากกระบวนการที่ถูกต้องตั้งแต่ต้นน้ำ แต่นี่ต้นน้ำก็ผิดแล้ว แถมยังนำใครก็ไม่ทราบมาเขียนกติกา เอาใครก็ไม่ทราบซึ่งตั้งมาเป็นกรรมการเพื่อตั้งคุณเป็นนายกฯ ดังนั้น ผลงานตลอด 5 ปี สามารถพิสูจน์ได้ว่าการได้นายกฯคนเดิมมีข้อดีหรือไม่ ส่วนตัวไม่ทราบว่าจีดีพีสูงขึ้นหรือต่ำลง แต่หนี้สาธารณะเราพุ่ง หมายความว่ารัฐบาลลงทุนกับโครงสร้าง มีเงินอัดฉีดกับภาครัฐลงไป แต่มีโครงการใดที่เป็นชิ้นเป็นอันหรือไม่

ถ้าเรามองในแง่การเมืองซึ่งมีสปอนเซอร์สนับสนุนพรรคการเมืองอยู่ ถามว่าจะมาสานต่อการทำงานหรือไม่ โดยพรรคการเมืองสามารถเข้าสู่อำนาจได้ก็เพราะต้องตอบแทนสปอนเซอร์เหล่านั้น ดังนั้น เมื่อมีสปอนเซอร์เยอะ แต่สปอนเซอร์ไม่ได้มีรอยัลตี้ในการผูกพันกับพรรคเดียว สมมุติว่ากลุ่ม ก. ผูกพันกับพรรคการเมืองหนึ่ง 10 ล้านบาท แต่อาจให้อีกพรรคหนึ่ง 20 ล้านบาทก็ได้ เพราะธุรกิจมีผลตอบแทนเสมอ ดังนั้น ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล โดยเฉพาะรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ในสภาพดังที่เห็น ก็ยังหาข้อดีไม่เจอเลย


เอกชัย ไชยนุวัติ
อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม

การปกครองในราชอาณาจักรไทย นับแต่ 24 มิถุนายน 2475 ได้ยึดถือระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยเลือกใช้ระบบรัฐสภา ซึ่งคล้ายคลึงกับสหราชอาณาจักร หมายความว่า ราษฎรซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย เลือกและตั้งผู้แทน คือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และผู้แทนเลือกหัวหน้าฝ่ายบริหารที่เรียกว่านายกรัฐมนตรี ระบบนี้จึงอยู่ได้ด้วยการถ่วงดุลกันระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ หมายความว่าฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลจะมีอำนาจอยู่ได้ด้วยความไว้วางใจของฝ่ายนิติบัญญัติเท่านั้น นั่นคือการเปิดอภิปรายเป็นการทั่วไป และอภิปรายไม่ไว้วางใจ ถ้าฝ่ายนิติบัญญัติลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลก็ไม่สามารถทำงานได้ ในขณะเดียวกัน ฝ่ายบริหาร (รัฐบาล) ก็มีอำนาจถ่วงดุลฝ่ายนิติบัญญัติ ที่เรียกว่าอำนาจยุบสภา เป็นอำนาจโดยแท้ของฝ่ายบริหาร นี่คือหลักการทั่วไปของระบบรัฐสภาในประเทศไทย ดังนั้นรัฐบาลปริ่มน้ำจะมีเสถียรภาพหรือไม่ ชัดเจนว่าไม่มีเสถียรภาพ เห็นได้จากเสียง 500 เสียง ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ถ้าลบ 249 แล้วก็จะเหลือแค่ 251 ซึ่งมี 1 เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนเท่านั้น แปลว่าทุกการเรียกนับองค์ประชุม ทุกการลงมติ วาระ 1 วาระ 2 วาระ 3 ส.ส.ทุกคน ต้องทำหน้าที่ ไม่สามารถลาป่วย ไม่สามารถเข้าห้องน้ำ ไม่สามารถทำภารกิจอื่นได้ทุกครั้ง ยังไม่รวมถึงบางมติ ที่ ส.ส.ไม่สามารถลงมติให้ตัวเองได้ เช่น ถ้าเปิดอภิรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีที่เป็น ส.ส.ด้วย จะลงมติไว้วางใจตนเองได้อย่างไร ก็ต้องหักเสียง 250 ลบ ส.ส.ที่เป็นรัฐมนตรีคนนั้นไป ดังนั้น สถานการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้ แน่นอนว่าตามรัฐธรรมนูญเราได้รายชื่อนายกรัฐมนตรีท่านใหม่แล้ว จากนี้ท่านก็จะไปรวบรวมพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อเป็นตัวแทนในการจัดตั้ง ครม. จากนั้นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทุกท่านต้องถวายสัตย์ปฏิญาณ และนำนโยบายของรัฐบาลไปแถลงต่อรัฐสภา จากนี้ประเทศไทยก็เดินหน้านับหนึ่ง ในการสิ้นสุดระบอบ คสช. แต่ว่าระบอบนี้จะแปลงมาเป็นรัฐบาลใหม่หรือไม่ ก็อยู่ที่ว่าจะนิยามคำว่าประชาธิปไตยอย่างไร

ส่วนระยะเวลาการอยู่รอดของรัฐบาลขึ้นอยู่กับผลงานทางการเมือง ว่าเมื่อได้เป็นรัฐบาลแล้วตอบสนองต่อประชาชนทุกหมู่เหล่าอย่างไร ไม่เฉพาะประชาชนที่เลือกพรรคที่จัดตั้งรัฐบาล เพราะรัฐบาลคือตัวแทนฝ่ายบริหารของปวงชนชาวไทย มีหน้าที่ต้องทำงานให้ทุกคนทั้งคนที่เลือกและไม่ได้เลือก

เรื่องความไม่เป็นหนึ่งอันเดียวกันของ พปชร. มีแน่นอน และเป็นเช่นนี้ทุกรัฐบาล คำถามตัวโตๆ ทางการเมือง จึงต้องดูที่ความสามารถของ (ผู้จัดการรัฐบาล) เช่น ในอดีต คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ หรือคุณสนั่น ขจรประศาสน์ เป็นผู้จัดการรัฐบาล ถ้ามีความสามารถคุมพรรคได้ รัฐบาลก็อยู่ได้นาน จึงต้องตั้งคำถามว่ารัฐบาลชุดนี้ใครคือผู้จัดการรัฐบาล

เมื่อรัฐบาลใหม่ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่แล้ว นายกรัฐมนตรีแม้จะเป็นท่านเดิมก็จะปฏิเสธไม่ได้ว่า ท่านคือนักการเมืองเฉกเช่นเดียวกับ คุณวัน อยู่บำรุง มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ คุณปิยบุตร แสงกนกกุล และคุณอนุทิน ชาญวีรกูล มาตรฐานการตรวจสอบต้องเป็นระดับเดียวกัน ไม่มีอำนาจพิเศษ ไม่มีอำนาจอื่นใดอีกแล้ว เป็นนักการเมืองที่ต้องถูกตรวจสอบได้ทุกกรณี

ส่วนจะมีปัญหาตามมาหรือไม่ ก็อยู่ที่การตอบคำถามต่อสื่อมวลชน ต่อสาธารณชน รวมทั้งคนที่ไม่สนับสนุนรัฐบาลด้วยว่าท่านทำงานเป็นไปตามที่หาเสียง ตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา เป็นไปด้วยความชอบธรรมและถูกกฎหมายหรือไม่


รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.พะเยา

ในแง่การทำงานจริงของรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ 1.การผ่านร่างงบประมาณ และกฎหมายต่างๆ จะต้องมีเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ซึ่งการผ่านกฎหมายแบบเป็นชี้ตายเช่นนี้จะเกิดขึ้นนานๆ ครั้ง ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก 2.การเป็น ส.ส. และการอยู่ในระบบรัฐสภา ถือเป็นอาชีพอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นคงไม่มี ส.ส.คนไหนที่อยากจะทุบหม้อข้าวตัวเอง สมาชิกพรรคการเมืองก็คงไม่อยากที่จะเลือกตั้งใหม่ เพราะอาจไม่ได้เหมือนครั้งนี้ เพื่อไทยก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้นต่างจะมีเหตุผลที่ประคับประคองรัฐบาลไป ส่วนรัฐบาลก็จะต้องคอยซาวเสียงว่าจะผ่านหรือไม่ผ่าน ซึ่งจะต้องต่อรองกันมากกับพรรคฝ่ายค้าน เช่น บางประเด็น งบประมาณบางรายการตัดออกบ้าง ยอมลดบ้าง คือต่อรองจนกระทั่งตกลงกันได้

การเลือกนายกรัฐมนตรีมีการพูดถึงงูเห่า เพราะฉะนั้นการที่จะผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะมีอีกกฎหมายที่ผ่านฉลุยจะต้องมี รวมทั้งกฎหมายที่ก้ำกึ่ง และ พ.ร.บ.ที่จะไม่ผ่าน เรื่องการต่อรองว่าจะซื้อไม่ซื้อก็ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ การเมืองเป็นเรื่องเดายาก แต่ส่วนตัวเดาว่ารัฐบาลนี้ไม่ล้มง่ายๆ แน่นอน ส่วนจะนานขนาดไหนตอบยาก แต่ที่คนคิดกันว่าเสียงปริ่มน้ำและรัฐบาลจะล้มภายใน 1-2 ปี คิดว่าไม่ใช่ เพราะ ส.ส.ทั้งสภา 500 คน เกิน 400 คน ที่ไม่อยากยุบสภา และไม่ใช่แค่ 400 คน ยังมีที่ปรึกษาและคนอื่นๆ รวมแล้วอย่างน้อย 2,000 คน ที่เกี่ยวข้องและมีผลกระทบถ้าสภาถูกยุบ ในจำนวนนี้ 1,500 คน ก็จะมีวิธีการ และให้เหตุผลเพราะไม่อยากให้เกิดการยุบสภา

ส่วนการที่ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐจะแตกสามัคคีกันนั้น มีโอกาสเกิดได้หากมีการแย่งตำแหน่งหรือเจรจากันข้างหลัง แต่จะแตกสามัคคีจนกระทั่งยุบสภาหรือไม่ โอกาสมีน้อยที่จะเป็นแบบนั้น หมายความว่า เราอาจจะทะเลาะกันเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่ว่าเราจะเห็นด้วยกันอย่างมาก หากจะมีการยุบสภาเกิดขึ้น เราไม่เห็นด้วย

อย่างน้อยที่สุดการที่มีรัฐบาลใหม่จะมีผลดีอย่างมากในเชิงเปรียบเทียบ คือดีกว่าสมัย คสช.อย่างมาก ถึงแม้ว่าจะมีคนบ่นก็ตาม เพราะการตั้งรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ไม่สามารถจิ้มใครได้ง่ายๆ ต้องมีการเจรจา มีการต่อรอง และรัฐสภาชุดนี้ไม่ว่าจะขวาอย่างไรก็ยังดีกว่า คสช.แน่นอน ไม่ได้บอกว่าวิเศษหรือดีเลิศ แต่ในเชิงเปรียบเทียบคือดีกว่าแน่นอน อาจจะมีความเห็นต่างไปจากโซเชียลมีเดีย แต่ดีแล้วที่เป็นอย่างนี้

การที่อำนาจตามมาตรา 44 หมดไป ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องเกรงใจอย่างมาก เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่คนที่ปราดเปรื่องอะไร จึงจะถูกกดดันรอบด้าน และจะไม่กักขฬะเหมือนเมื่อก่อน การที่จะเอากล้วยหอมขว้าง หรือต่อว่านักข่าว ต่อไปจะไม่มีอย่างนี้ ต้องเกรงใจทั้งคนในพรรคตัวเองในพรรคอื่นด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image