รายงานหน้า2 : ครม.วุ่น‘รื้อเก้าอี้รมต.’ ล้มดีล-เกลี่ยกระทรวงใหม่

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการกรณีสมาชิกรัฐสภาโหวตเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย จากนั้นเกิดความเคลื่อนไหวของพรรคพลังประชารัฐ แกนนำจัดตั้งรัฐบาลเพื่อล้มดีลเจรจารอบแรกกับพรรคประชาธิปัตย์และภูมิใจไทย โดยเกลี่ยกระทรวงใหม่ขอคืนกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงคมนาคม

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา

ในการจัดตั้งรัฐบาลที่อาศัยพรรคการเมืองจำนวนมาก นำโดยพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จำเป็นต้องนำตำแหน่งรัฐมนตรีจำนวนมากเพื่อกระจายผลประโยชน์ให้กับพรรคต่างๆ ที่เข้าร่วม เข้าใจว่าพรรค พปชร.ยังคงหวังตำแหน่งกระทรวงเกรดเอให้บุคคลในพรรค ซึ่งก็ไปกระทบต่อพรรคร่วมรัฐบาลจำนวนหนึ่งที่หวังต่อกระทรวงนั้นด้วย และนอกจากจะเป็นผลประโยชน์ทางการเมืองหรือกลุ่มทุนแล้ว ยังเป็นเรื่องของสัญญาประชาคมที่บรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ได้ให้ไว้กับประชาชนเมื่อตอนหาเสียง พรรคต่างๆ จึงจำเป็นต้องรับผิดชอบและขับเคลื่อนนโยบายผ่านกระทรวง ดังนั้น เมื่อไปกระทบกับกระทรวงที่พรรค พปชร.อยากจะได้ จึงเกิดการเมืองที่จัดสรรผลประโยชน์กันไม่ลงตัว และการเมืองของการต่อรองเกิดขึ้น
พปชร.ยอมเสียตำแหน่งประธานสภาให้กับทางประชาธิปัตย์ (ปชป.) เพื่อให้พรรคร่วมเหล่านี้ ได้ยกมือโหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี พอได้เป็นนายกฯ ความสัมพันธ์ทางอำนาจจึงเปลี่ยน อำนาจในการจัดสรรตำแหน่งจึงมาอยู่ในมือของ พปชร. และ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อเกิดการบิดพลิ้วไม่ได้จัดสรรตำแหน่งตามที่ตกลงกันไว้ ต่อไปพรรคร่วมอาจจะสร้างบัญหา และยิ่งทำให้รัฐบาลไร้เสถียรภาพ ถ้าพรรคร่วมรัฐบาลถอนตัวออกจากรัฐบาลก็จบ เวลาจะผ่านกฎหมาย ผ่านร่างนโยบายสำคัญๆ ถ้าเสียงทางพรรคร่วมไปสนับสนุนพรรคฝ่ายค้าน มันทำให้รัฐบาลอยู่ไม่ได้ และจะเกิดปัญหาในกระบวนการนิติบัญญัติด้วย
อย่าลืมว่ารัฐบาลมีเสียงปริ่มน้ำ หากพรรคใดพรรคหนึ่ง
ถอนตัวรัฐบาลก็ไปต่อไม่ได้ แม้ พปชร.จะมีเสียงข้างมาก แต่เป็นเสียงที่น้อยเกินกว่าจะจัดตั้งรัฐบาลด้วยตัวเองได้ จึงจำเป็นต้องกระจายผลประโยชน์แก่พรรคร่วม เหมือนเป็นการแก้เกมทางการเมือง เหมือนว่า พปชร.แพ้ทาง ปชป.ในเรื่องของประธานสภา แล้วตัวเองอยากจะเอาคืน แต่อย่าลืมไปว่าตัวเองเป็นรัฐบาลผสม ยิ่งเสียงแตกยิ่งไม่สามารถทำงานได้เลย ซึ่งค่อนข้างแตกต่างจากในสมัยพรรคเพื่อไทย (พท.) หรือพรรคไทยรักไทย (ทรท.) ที่เป็นรัฐบาลครองเสียงข้างมาก จึงมีอำนาจอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย มีเสียงในสภามากกว่า
ทางออกที่ดีที่สุด คือ ต้องยอมทำตามข้อตกลงที่เคยสัญญากันไว้ก่อนหน้านี้ที่จะให้พรรคร่วมรัฐบาลต่างๆ ได้ตำแหน่ง แล้วค่อยมาดูว่าหลังจากนี้ 3-5 เดือน การทำงานจะเป็นอย่างไร สอดคล้องกับนโยบาย สอดคล้องกับยุทธศาสตร์รัฐบาลหรือไม่ โดยสร้างเงื่อนไขการขอปรับรัฐมนตรีและการต่อรองเป็นระยะๆ นำมาปรับ ครม.ทีหลังได้ การต่อรองเป็นระยะๆ ทำให้รัฐบาลอยู่ได้ก็จริง แต่การเปลี่ยนเจ้ากระทรวงทำให้เกิดผลกระทบต่อนโยบายสาธารณะ ถ้าการเมืองไทยยังอยู่ในลักษณะแบบนี้ ผลที่กระทบหนักที่สุดจะอยู่กับประชาชนจากความไม่แน่นอนในการบริหารรัฐบาลอันเกิดจากการเปลี่ยนรัฐมนตรีบ่อยครั้ง แน่นอนว่า ยิ่งมีพรรคเยอะเท่าไรยิ่งมีโอกาสในการเปลี่ยนรัฐมนตรี เพื่อกระจายผลประโยชน์และรักษาเสถียรภาพของรัฐบาลเอาไว้ ในระยะต้นปีสองปีแรก คิดว่าเป็นเรื่องยากในการได้ผลประโยชน์อย่างเต็มที่ ดีไม่ดีอาจเป็นเช่นนี้ไปตลอดรัฐบาล

ยุทธพร อิสรชัย
รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

Advertisement

หากเกิดการผิดสัญญา มีโอกาสที่พรรคร่วมจะถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล แม้ว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะยังเดินต่อไปได้เพราะมีการโหวตนายกรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว และหลังจากนี้นายกรัฐมนตรีก็จะไปสรรหาคณะรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกิน 35 คน การจัดตั้งรัฐบาลก็จะเกิดขึ้นได้ เพียงแต่หลังจากนี้ไป กิจกรรมทางการเมืองต่างๆ ทั้งการแถลงนโยบาย การผ่านงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือการอภิปรายไม่ไว้วางใจอาจจะเกิดปัญหา จริงอยู่ว่ารัฐบาลอาจมีตัวช่วย เช่น ส.ว. หรือกลไกตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 143 ที่บอกว่าถ้า ส.ส.พิจารณางบประมาณไม่เสร็จใน 105 วัน ให้ถือว่าให้ความเห็นชอบและส่งต่อให้ ส.ว.พิจารณาให้แล้วเสร็จใน 20 วันได้ทันที ทั้งนี้ กิจกรรมเหล่านี้จะต้องมีการอภิปรายกันในสภา ซึ่งจะเกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างฝ่ายบริหารคือรัฐบาล กับฝ่ายนิติบัญญัติ หรือฝ่ายค้าน ทั้งพรรคเพื่อไทย อนาคตใหม่ และพรรคอื่นในขั้ว 7 พรรค แต่อีกด้านหนึ่งจะเห็นฝ่ายค้านอิสระทั้ง พรรคภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ มา สนับสนุนด้วย หรืออาจมีพรรคอื่นที่ได้ตกลงร่วมกันแล้วไม่เป็นไปตามนั้น ดังนั้น จะทำให้ภาพลักษณ์ความชอบธรรมทางการเมืองของรัฐบาลเกิดปัญหา ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นหากมีการล้มดีลกันจริง แต่โดยส่วนตัวมองว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมีการขยับปรับเปลี่ยนบางตำแหน่ง แต่ไม่น่าจะถึงขั้นล้มกระดาน พปชร.คงไม่กล้าทำถึงขนาดนั้น
ปัญหาตอนนี้มีสาเหตุสำคัญอยู่ 2 ประการ คือ 1.เกิดจากกติกา คือ ตัวรัฐธรรมนูญที่ทำให้เกิดภาวะเสียงปริ่มน้ำ อันเนื่องมาจากระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม หรือการให้ ส.ว.มาร่วมโหวตนายกฯ ทำให้เสียงในสภาบิดเบี้ยวไป และไม่สะท้อนถึงเจตจำนงทางการเมืองของประชาชน 2.พรรคการเมืองจำนวนไม่น้อยยังคงทำงานแบบล้าหลัง หมายความว่า 1.การทำงานการเมืองยังคงวนเวียนอยู่กับผลประโยชน์หรือโควต้ารัฐมนตรีของบางคน หรือบางกลุ่มในพรรค ทำให้การตัดสินใจไม่ได้ยึดโยงกับเจตจำนงของประชาชนที่เลือกพรรคการเมืองนั้นเข้าไปในสภา และ 2.พรรคการเมืองเหล่านี้มีการตัดสินใจที่ผูกกับบุคคลระดับแกนนำหรือบุคคลสำคัญของพรรคเพียงไม่กี่คน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวสมาชิก เมื่อสมาชิกพรรคไม่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ความเป็นพรรคที่มีฐานมาจากมวลชนและเชื่อมต่อกับสังคมก็ไม่เกิดขึ้น ทั้งกติกาและพรรคการเมืองที่ทำงานล้าหลังซึ่งยังคงวนเวียนอยู่กับเรื่องโควต้ารัฐมนตรีและผลประโยชน์ ทำให้เกิดการบิดเบี้ยวของโครงสร้างในระบบรัฐสภา สุดท้ายจะเกิดการต่อรองเป็นระยะ เก้าอี้รัฐมนตรีเป็นเพียงด่านแรก ยังมีด่านต่อไปอีกมากที่จะมีการต่อรองแบบนี้เกิดขึ้น
ในระบบรัฐสภา นายกฯอยู่ในฐานะของการเป็นหัวหน้ารัฐบาล และอีกสถานะก็เป็นรัฐมนตรีคนหนึ่ง ดังนั้น ความสำเร็จของรัฐมนตรีในระบบรัฐสภาจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวนายกฯคนเดียว แต่จะต้องขึ้นอยู่กับทีมที่เข้ามาทำงานด้วย ซึ่งก็คือคณะรัฐมนตรีในส่วนต่างๆ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.คณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง 2.คณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ และ 3.คณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับสังคม จะพบว่าทางด้านความมั่นคง อย่างไรแล้วก็ต้องอยู่กับพรรคที่เป็นแกนหลักในการจัดตั้งรัฐบาล ทั้งกระทรวงมหาดไทย กลาโหม และรองนายกฯฝ่ายความมั่นคง ต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกับนายกรัฐมนตรี
ในขณะที่เศรษฐกิจวันนี้ก็เป็นปัญหาที่ใกล้ชิดกับปากท้องของพี่น้องประชาชน รัฐบาลชุดปัจจุบันที่กำลังจะหมดวาระก็ยังมีปัญหาที่คั่งค้างอยู่หลายเรื่อง เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์กลับมาอยู่ในวาระที่ 2 ก็ต้องสะสางปัญหาเหล่านี้ ดังนั้น กระทรวงเศรษฐกิจ คมนาคม พาณิชย์ อุตสาหกรรม และเกษตรฯ อย่างไรก็ต้องอยู่กับพรรคแกนหลัก แต่พรรคร่วมโดยเฉพาะพรรคขนาดกลางอย่างประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยก็ต้องการเก้าอี้ตัวนี้เช่นกัน เพราะความสำเร็จในการจัดตั้งรัฐบาลจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากไม่มี 2 พรรคนี้ จึงมีการต่อรองเกิดขึ้น
ผลกระทบคือการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล ในเรื่องเศรษฐกิจจะไม่มีเอกภาพ เนื่องจากประชาธิปัตย์ก็มีทีมเศรษฐกิจและทีมกระทรวงเกษตรฯของตน แต่เมื่อถึงเวลาแล้วพรรคใหญ่ก็ต้องดูเรื่องเศรษฐกิจทั้งหมด การเชื่อมต่อจึงเป็นไปได้ยากเพราะคนละทีมคนละพรรค เช่นเดียวกับการที่จะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และการพัฒนาเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ที่ต้องอาศัยเรื่องคมนาคม ถ้ากระทรวงคมนาคมไปอยู่กับภูมิใจไทย แนวทางการทำงานก็น่าจะเชื่อมต่อได้ยากเช่นกัน ในขณะที่กระทรวงทางด้านสังคมไม่น่าจะมีปัญหาเพราะเป็นการทำงานเฉพาะส่วน สามารถแบ่งเก้าอี้ให้พรรคขนาดเล็กได้
พลังประชารัฐถือว่าตนเป็นพรรคที่ใหญ่กว่าประชาธิปัตย์และภูมิใจไทย 2 เท่า ก็น่าจะอยากได้เก้าอี้มากกว่า เป็นการต่อรองภายในซึ่งมีความสัมพันธ์กับการต่อรองภายนอก สุดท้ายแล้วปัญหาน่าจะจบลงได้ด้วยการเจรจาพูดคุย พปชร.อาจไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการทั้งหมด พรรคร่วมก็เช่นกัน เพราะขณะนี้อยู่ในภายใต้สภาวะ 19 พรรค 40 กลุ่มการเมือง การต่อรองทั้งภายในและภายนอกมีมากมาย และการที่อยู่ในภาวะรัฐบาลผสมเชื่อว่าพลังประชารัฐจะยอมเสียบางกระทรวงซึ่งเป็นกระทรวงหลัก โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ เช่น กระทรวงคมนาคมและกระทรวงเกษตรฯ ให้กับพรรคภูมิใจไทยและประชาธิปัตย์

ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร
คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.เชียงใหม่

แน่นอนว่า การได้เก้าอี้รัฐมนตรีเป็นเรื่องการต่อรองผลประโยชน์ แต่ที่มากไปกว่านั้นคือพรรคการเมืองต้องการผลักนโยบายที่ตนเองได้หาเสียงไว้ ถูกนำไปใช้อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งความกังวลว่าอายุรัฐบาลอาจสั้น ทั้งนี้ คิดว่าอายุรัฐบาลใหม่ไม่ได้เป็นลักษณะครบ 4 ปี ดังนั้น การเข้าถึงนโยบายที่ลงไปสู่ฐานเสียงทางการเมือง โดยเฉพาะได้เก้าอี้มาเยอะมากที่สุด ใครลงมาทำก่อนได้ก่อน จึงเป็นเรื่องสำคัญ แม้กระทั่งบางพรรคที่ออกตัวแรงเป็นพิเศษ เช่น พรรคภูมิใจไทย ที่ชูนโยบายกัญชาเสรี การได้กระทรวงที่มาจากนโยบายของพรรคเป็นเรื่องต้นทุนและมีเดิมพันสูง เพราะเป็นฐานเสียงของเขาด้วย
ปัจจุบัน รัฐบาลยังมีปัญหาความชอบธรรมด้านการเมือง ทำให้เครื่องมือที่จะใช้เป็นพิเศษคือเรื่องเศรษฐกิจหรือปากท้องประชาชนมาลบภาพเหล่านั้น ดังนั้น หลักการจัดลำดับกระทรวงเกรดเอ ซึ่งพรรคพลังประชารัฐพยายามจะไปเอากระทรวงด้านความมั่นคง แต่อย่าลืมว่าท้ายที่สุดแล้วกระทรวงด้านความมั่นคงไม่สามารถอยู่ในอำนาจรัฐบาลได้ยาวนาน เพราะคนต้องการเรื่องปากท้อง นี่ยังไม่นับถึงการกระจายหรือผลัดเปลี่ยนเก้าอี้รัฐมนตรี เก้าอี้กรรมาธิการในรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งจะมีมากเป็นพิเศษ ตัวรัฐธรรมนูญนั้น ต้องกลับไปมองเรื่องการโหวตแยกของสมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติและสมาชิกวุฒิสภาด้วย เพราะรัฐธรรมนูญแบ่งแยกที่มาของนายกฯไว้แบบนี้ อีกทั้งการออกแบบระบบการเลือกตั้งที่ผ่านมาทำให้การแบ่งจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อเกิดความไม่สมดุลในบางระดับ
ในอนาคตสามารถตั้งรัฐบาลได้ แต่จะเป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพหรือไม่ เพราะนอกจากเสถียรภาพของพรรคร่วม ความไม่ลงรอยกัน ปัญหาการต่อรอง เรื่องการถกเถียงในสภา ที่สำคัญคือความรับผิดชอบในสภาของนายกรัฐมนตรีเอง ซึ่งต้องจับตาดูว่า ถ้านายกฯระบุว่าไม่ใช่การเมือง ไม่เข้าสภา แบบนั้นเรามีปัญหา ที่สำคัญคือเรื่องปากท้องจะเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ดูได้เลยว่ารัฐบาลจะล้มหรือไม่ อายุจะสั้นหรือยาว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image