รายงาน : พื้นที่การเมือง พานดอกไม้ ‘ไหว้ครู’ พื้นที่ วัฒนธรรม

พลันที่ภาพพานพุ่มดอกไม้เนื่องใน “วันไหว้ครู” ปรากฏขึ้น มีคนจำนวนไม่น้อยนึกถึงขบวนพาเหรดและการแปรอักษรในงาน “บอลประเพณี”

เท่ากับเป็นการส่งผ่านจาก “อุดมศึกษา” ลงมาถึง “มัธยมศึกษา”

แต่เมื่อเห็นในภาพนั้นเป็นทั้งภาพของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นทั้งภาพของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

เท่ากับเป็น “เงาสะท้อน” ในทาง “ความคิด”

Advertisement

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องในทาง “การเมือง” อย่างแน่นอน แต่เป็นการเมืองในเชิงความคิด เป็น “วัฒนธรรม”

อันสะท้อนเข้าไปในพื้นที่ทางการเมือง

จะมองว่าเป็นความสำเร็จในการ “ปักธง” ในทางรูปการจิตสำนึกก็ย่อมได้

Advertisement

ปฏิกิริยาในทางสังคมอันปรากฏผ่านการนำเสนอ “ข่าว” ของสื่อ และปฏิกิริยาอันมาจากบรรดาลุงๆ ป้าๆ
จะเป็นเครื่องวัดได้เป็นอย่างดี

นี่คือ ช่องว่างในความคิด ระหว่าง “ใหม่” กับ “เก่า”

สภาพย้อนแย้งเป็นอย่างยิ่งอันเกิดขึ้นและดำรงอยู่ดำเนินไปในสังคมก็คือ มีเสียงบ่นว่า การศึกษาของเราเน้นท่องจำ มากกว่าจะให้เด็กคิด

แม้กระทั่งค่านิยม 12 ประการก็เป็นเช่นนั้น

กระนั้น เมื่อนำเอา “ปฏิกิริยา” ต่อการแสดงออกของนักเรียนไม่ว่าจะที่หนองคาย ไม่ว่าจะที่พิษณุโลก ไม่ว่าจะที่ชัยนาท ไม่ว่าจะที่หอวัง

ก็จะต้องสัมผัสได้ในความ “แปลก” อย่างประหลาด

ไม่มีอะไรสะท้อนรูปธรรมในการใช้ “ความคิด” ของนักเรียนได้อย่างแหลมคมเท่ากับที่เห็นผ่านพานพุ่มดอกไม้ใน “วันไหว้ครู” อีกแล้ว

คำตอบก็คือ ทำไมต้องตระหนกตกประหม่าด้วยเล่า

คำตอบก็คือ ต้องการให้เด็กคิดแต่เด็กต้องคิดอย่างที่ผู้ใหญ่กำหนดเท่านั้น หากเมื่อใดเด็กพยายามแสดงความคิดอันเป็นของตนเอง

คนอย่างลุงเสรี คนอย่างป้าพรทิพย์ ก็บังเกิดความหงุดหงิด

ปรากฏการณ์พานพุ่มดอกไม้เนื่องใน “วันไหว้ครู” ชวนให้บังเกิดนัยประหวัดถึงปรากฏการณ์ของนักเรียนในห้วงหลังสถานการณ์เดือนตุลาคม 2516

เห็นได้จากพวกเขาออกหนังสือชื่อ “กด”

เห็นได้จากพวกเขาเริ่มตั้งข้อสงสัยต่อตำราเรียน ไม่ว่าจะในด้านประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะในด้านวรรณคดี

เป็นความเรียกร้องต้องการในเชิง “วิพากษ์”

มิใช่ยอมสยบไปในแบบเป็น “ผู้น้อย” คอยก้มประณมกร หากที่สำคัญเป็นอย่างมากคือการตั้งคำถามในความเหมาะสม

เพราะความคิดแบบนี้ละที่ผู้ใหญ่เกิดความหงุดหงิด

แล้วความหงุดหงิดในทางการเมือง ในทางความคิด ในทางวัฒนธรรมก็แปรออกมาเป็นความรุนแรงอย่างที่ได้เห็นกันในวันที่ 6 ตุลาคม 2519

นี่คือการวนเวียนอีกวาระหนึ่งในทางวัฒนธรรม การเมือง

คล้ายกับเมื่อมีการจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐ เมื่อมีการจัดตั้งพรรคเพื่อไทย หรือแม้กระทั่งพรรคอนาคตใหม่ นั่นเท่ากับเป็นการต่อสู้ทางการเมือง

แต่ลึกยิ่งไปกว่านั้น คือ การต่อสู้ทางวัฒนธรรม

การเมืองอาจจำกัดอยู่ที่การเลือกตั้ง การช่วงชิงอำนาจรัฐ แต่วัฒนธรรมดำรงอยู่ภายในปริมณฑลในทางความคิด

หากไม่ได้ชัยชนะทาง “ความคิด” ก็ยากที่จะได้ชัยชนะทาง “การเมือง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image