รายงานหน้า2 : ฝากการบ้าน‘รบ.ใหม่’ ลุยงานกระทรวง‘สังคม’

หมายเหตุ ข้อเสนอแนะและความเห็นถึงบุคคลที่จะมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงด้านสังคม ทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม
อดีตคณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังท้องถิ่นไท

ผมไม่เชื่อว่าจะมีใครปฏิเสธเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เพราะกระทรวงนี้เกี่ยวข้องกับคนหลายกลุ่ม ตั้งแต่เด็กเยาวชน ผู้หญิง ผู้สูงอายุ คนพิการ คนด้อยโอกาส รวมถึงเกี่ยวข้องกับเบี้ยสงเคราะห์ต่างๆ และเกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติ งบประมาณต่อปีก็เป็นหมื่นๆ ล้านบาท ฉะนั้นแม้จะดูเป็นกระทรวงเงียบๆ แต่ถือว่ามีผลประโยชน์สูงมาก
แต่ในแง่ของการทำงานเพื่อประชาชนในยุคปฏิรูปอย่างนี้ ผมไม่เห็นด้วยกับการจัดเรตกระทรวง เพราะคิดว่าทุกกระทรวงเท่ากัน คือต้องขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลให้ประสบผลสำเร็จ ซึ่งจะสำเร็จได้ ที่สำคัญคือต้องมีรัฐมนตรีที่มีคุณภาพ มีความรู้ ความเข้าใจ และความสามารถที่สังคมให้การยอมรับ ในการผลักดันให้เกิดการบูรณาการข้ามกระทรวง โดยเอาประเด็นเป็นตัวตั้งและขับเคลื่อน
อย่างคนที่จะมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม.ควรเข้าใจและมีความรู้ด้านสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ศาสตร์ชุมชน นิติศาสตร์ ตลอดจนศาสตร์การพัฒนาคน เช่น ต้องรู้เรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนทุกช่วงวัยว่าจะทำอย่างไร รู้เรื่องโครงสร้างประชากร ความเป็นอยู่ในปัจจุบัน เข้าใจเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความหลากหลายของมนุษย์ในปัจจุบัน เป็นต้น
กระทรวงด้านสังคมล้วนแต่มีความสำคัญไม่แพ้กระทรวงด้านเศรษฐกิจ อย่าง พม. กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงวัฒนธรรม 3 กระทรวงนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างคุณภาพชีวิตของมนุษย์ พัฒนาพลเมือง ดูแลการดำรงอยู่ของประชากรทุกช่วงวัยให้มีคุณภาพชีวิต
อย่างไรก็ตาม ฝากรัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม.คนใหม่ให้มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพประชากรทุกช่วงวัย การดูแลประชากรกลุ่มเปราะบาง ถูกทอดทิ้ง ตลอดจนจับแต่ละเรื่องในบทบาทหน้าที่ของ พม.ให้ลุ่มลึก เชื่อมโยงข้อมูลทางวิชาการด้านสังคมที่มีอยู่มากมายมา รองรับ อย่าใช้การเมืองพัฒนาสังคมจนสุดท้ายการพัฒนาต้องหยุดชะงัก
รวมถึงการเชื่อมโยงทำงานกับท้องถิ่น ด้วยการกระจาย อำนาจให้ท้องถิ่นปฏิบัติการได้ เพราะท้องถิ่นรู้สภาพปัญหาพื้นที่ดี ส่วน พม.ให้คอยกำกับติดตามตรวจสอบคุณภาพ จากปัจจุบันที่ พม.ยังรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางมากเกินไป
ผมก็ไม่แน่ใจว่าที่ พม.ไม่กระจายอำนาจเสียที อาจเพราะรัฐมนตรีสามารถคุมงบประมาณได้ง่ายกว่าการ กระจายท้องถิ่นหรือไม่

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และกรรมการปฏิรูประบบสาธารณสุข

Advertisement

ได้รวบรวมข้อมูลจากกรรมการปฏิรูประบบสาธารณสุข ซึ่งตกผลึกมา 5 ปีครึ่ง เป็นนโยบาย 4 ด้าน 10 ประเด็น 173 หัวข้อ คือ 1.รัฐมนตรีที่จะเข้ามาใหม่ต้องรับทราบสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ต้องไม่ให้ข้าราชการชี้นำว่าทำงานสำเร็จ เพราะจริงๆ แล้วไม่สำเร็จ 2.รัฐมนตรีต้องลงไปดูความจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ห้ามรับฟังรายงานตัวเลข หรือฟังว่าต่างประเทศชื่นชมอะไรบ้าง
3.ต้องรับทราบความจริงว่าระบบสาธารณสุขถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นเครื่องมือของนักการเมืองและข้าราชการประจำตลอด 17 ปีที่ผ่านมา นั่นคือเรื่องหลักประกันสุขภาพในการรักษา แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แต่ต้องไม่ลืมว่าในระบบสุขภาพจะต้องดูที่ระบบการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพเป็นสำคัญ ซึ่งขณะนี้ระบบป้องกันส่งเสริม
สุขภาพล้มเหลวโดยสิ้นเชิง กระทั่งความตระหนักด้านการป้องสุขภาพก็ล้มเหลว
4.การบริบาลสาธารณสุขซึ่งโรงพยาบาลรัฐเป็นผู้จัดให้ ไม่ว่าหมอ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทำงานมากหรือน้อยก็ไม่เหมือนโรงพยาบาลเอกชน คือได้ค่าตอบแทนเท่าเดิม ปัญหาที่หมักหมมทำให้ผู้ป่วยระยะเกือบเต็มขั้น หรือเต็มขั้น มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะเมื่อเต็มขั้นแล้ว อวัยวะมนุษย์จะล้มเหลว ยากต่อการบริบาลรักษา
5.ขาดกำลังคนที่มีความสามารถและมีประสบการณ์แก้ปัญหา พี่เลี้ยงหรือผู้ปฏิบัติงานที่เรียกว่าคนหน้าด่านไม่พอ เมื่อประชาชนเจอความแออัดในโรงพยาบาล ความไม่เพียงพอของกำลังคน ระบบการบริบาล ทำให้เสียเวลานาน คุณภาพก็ไม่ดี เวลาที่ใช้ในการตรวจรักษาก็ไม่มาก ทั้งหมดนำไปสู่การบาดหมางกันระหว่างผู้ป่วยกับผู้ให้การบริบาล ก่อให้เกิดความไม่ไว้วางใจกัน กระทั่งฟ้องร้อง
ที่กล่าวมาทั้งหมดต้องรื้อใหม่ ตั้งแต่การป้องกันในพื้นที่ ในชุมชน ตอนนี้มีการตั้งระบบสาธารณสุขมูลฐาน ไม่ว่าจะที่สถานีอนามัย หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) โดยกำลังจะมีหมอครอบครัวที่ได้รับการออกแบบให้รับมือกับโรคไม่ซับซ้อนและทำหน้าที่ป้องกัน ให้คำแนะนำผู้ป่วย ลงไปอยู่ในระดับชุมชน หมู่บ้าน
ทว่า ชุมชนเหล่านั้นเกือบสุกงอมแล้ว หมายความว่ามีโรคเกือบเต็มขั้น หรือเต็มขั้นแล้ว เมื่อหมอครอบครัวลงไปจึงไม่สามารถสร้างศรัทธาหรือแก้ปัญหาได้ ดังนั้น สิ่งที่เราต้องการคือบุคคลที่มีทักษะความสามารถจะเป็นพี่เลี้ยง หรือเป็นแนวหน้าจัดการพื้นที่ต่างๆ ได้ ซึ่งต้องลงไปถึง
อีกประการหนึ่งคือโรงเรียนแพทย์ หรือสถานฝึกอบรม โดยสถานฝึกอบรมเหล่านี้แข่งกันเรื่องวิทยาการล้ำหน้า เทคโนโลยีทันสมัย ซึ่งตอบโจทย์กับคนรวย แต่ไม่ตอบโจทย์ปัญหาในประเทศ
ต่อมาคือเรื่องปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ รวมถึงการใช้สารเคมี ตั้งแต่สารกันบูด สารกันเสีย ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง ซึ่งปะปนอยู่ในอาหาร สารเคมีเหล่านี้มีหลักฐานว่าทำให้เกิดโรค ตั้งแต่โรคเบาหวาน โรคตับ โรคไต โรคมะเร็ง โรคทางสมองต่างๆ ที่รักษายากหรือรักษาไม่ได้เลย
ดังนั้น เวลาดูที่ระบบสาธารณสุขจึงต้องดูควบรวมตั้งแต่จำนวนคนที่มีคุณภาพ โรงเรียนแพทย์ โรงเรียนพยาบาล รวมทั้งดูว่าแต่ละชุมชนต้องการอะไร ลงมาถึงตัวการทำร้ายสุขภาพประชาชน
ประเทศไทยประชาสัมพันธ์ว่าจะดูแลคนทั้งประเทศ แต่มีเงินอยู่น้อยนิด ฉะนั้น จึงเกิดการตั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ขึ้น โดย สปสช.ใช้เงินเป็นตัวตั้ง รวมทั้งกำหนดไว้ในระบบว่าต้องเท่านี้ เกินกว่านี้ไม่ได้ มิหนำซ้ำยังเป็นระบบปลายปิด หรือครึ่งปีแรกใช้ได้ แต่การเบิกในครึ่งปีหลังไม่มีเงิน เมื่อโรงพยาบาลรัฐทำเรื่องเบิกเงินจึงหาเรื่องติเพื่อไม่จ่ายเงินตามจริง
จะเห็นว่า สปสช.ทำหน้าที่ตั้งแต่ตั้งวางกฎ จ่ายเงิน และประเมินผลงาน ซึ่งในความเป็นจริงควรแยกกันหมด ดังนั้น รัฐบาลต้องรู้ตัวเลขจริงว่า การที่คนไข้หนึ่งคนเดินเข้าโรงพยาบาลตั้งแต่ห้องตรวจผู้ป่วยนอก จนถึงแอดมิต มีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ สิ่งนี้เป็นเหตุผลว่าทำไมคุณตูน อาทิวราห์ คงมาลัย ต้องวิ่งเป็นครั้งที่ 2 เพราะเราปฏิเสธไม่ได้ว่าโรงพยาบาลมีตัวเลขแดง ถึงขั้นล้มละลาย เกิดการยืมเงินกับบริษัทยา กระทั่งไม่ส่งยาให้
พืชกัญชาเป็นทางออกหนึ่งของไทยในการใช้เสรีทางการแพทย์ โดยเฉพาะหากมีการใช้ระดับชุมชน มีการให้ความรู้ ควบคุมไม่ให้ใช้ผิดประเภท จะทำให้ประชาชนมีตู้ยาหรือตำรับยาในบ้านที่ใช้รักษาโรคต่างๆ ได้โดยไม่ต้องใช้ยาแผนปัจจุบัน หรือไม่ต้องเดินทางเข้ารับการรักษาในเมือง
ทั้งนี้ มีการค้นพบแล้วว่ากัญชาสามารถใช้รักษาโรคได้ อาทิ อาการปวด ซึ่งกัญชากำลังจะกลายเป็นตัวช่วยในการรักษาแพทย์แผนปัจจุบันที่อาจมีข้อจำกัด เช่น เคยหวังผลการรักษาได้ 60% ก็หวังผลได้มากขึ้น โดยไม่ต้องใช้ยาหรู แต่ใช้ยาที่ควบรวมกับกัญชา
สำหรับกระทรวงสาธารณสุขสิ่งที่ควรทำเป็นอย่างแรกคือต้องกำจัดสารพิษเร่งด่วน หากไม่สามารถจัดการตรงนี้ได้ คนที่ได้รับสารเคมีตั้งแต่เกิดก็พร้อมจะปะทุโรคเต็มเหนี่ยว หากหยุดกระบวนการได้ คนที่พร้อมจะปะทุโรคก็ลดลง ถ้ารัฐบาลไม่ทำตามนี้จะเป็นเรื่องใหญ่

ฤๅ เดช เกิดวิชัย
อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา (มร.สส.)

หากเป็นนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ จากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เชื่อว่าจะไม่มีปัญหา เพราะนายสุวิทย์เคยเป็นอาจารย์ รู้ปัญหามหาวิทยาลัยดี คิดว่าจะสามารถแก้ไขได้ตรงจุด หากเป็นคนอื่นผมไม่มั่นใจ
สิ่งที่อยากให้รัฐมนตรีว่าการ อว. ทำเป็นอันดับแรก คือ ส่งเสริมอาจารย์มหาวิทยาลัย ให้มีความมั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีเกียรติในวิชาชีพ และที่สำคัญอยากให้ยกเลิกกรอบมาตรฐานคุณวุฒิ หรือทีคิวเอฟ ที่กำหนดจำนวนอาจารย์ประจำหลักสูตร โดยต้องมีระดับปริญญาเอก และมีอาจารย์ประจำวิชาที่ตรงวุฒิ ไม่ต่ำกว่า 5 คน ทั้งที่บางสาขา เพิ่งเปิดใหม่ มีคนเรียนน้อย เป็นอุปสรรคในการพัฒนาหลักสูตรและการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยในอนาคต หากยกเลิกได้จะเป็นเรื่องที่ดี
ขณะเดียวกันอยากให้รัฐมนตรีว่าการ อว. คนใหม่เข้ามาช่วยชาวอุดมศึกษา คือสร้างความเท่าเทียม ทั้งเรื่องงานวิจัยและงบประมาณ ระหว่างมหาวิทยาลัยขนาดเล็ก และมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ ที่ขณะนี้ยังมีความเหลื่อมล้ำ
งบประมาณกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) และกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) รวมกันยังได้ไม่เท่ามหาวิทยาลัยเก่าแก่หนึ่งแห่ง
ขณะที่กลุ่มมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ ซึ่งออกนอกระบบไปแล้ว ควรจะหารายได้
เลี้ยงตัวเอง แต่ปรากฏว่ารัฐยังคงให้การสนับสนุนงบประมาณอยู่ค่อนข้างมาก ประเด็นเหล่านี้อยากให้มีความชัดเจน เพื่อวางแนวทางพัฒนาอย่างเต็มที่

Advertisement

วิสิทธิ์ ใจเถิง
ผู้อำนวยการโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)

เข้าใจว่าตอนนี้ชื่อคนที่จะมาเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ยังไม่นิ่ง ส่วนตัวแปลกใจว่า ทำไม ศธ. ถึงเป็นกระทรวงที่ไม่มีใครอยากเข้ามาทำงาน แต่อยากให้คนที่เข้าใจการศึกษา มาเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ. จะทำให้ง่ายต่อการทำงาน เพราะหากได้คนที่ไม่เข้าใจการศึกษา หรือให้คนที่ไม่อยากมา แต่จำใจมารับตำแหน่งก็คงลำบาก
การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ ในการพัฒนาเด็กและเยาวชน เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชาติ แต่หากไม่ใช่คนในแวดวงการศึกษาจริงๆ เป็นใครก็ได้ แต่ขอให้มีความมุ่งมั่น ตั้งใจเข้ามาพัฒนาการศึกษาจริงๆ
งานแรกที่อยากให้ทำคือ เร่งแก้ปัญหาพัฒนาครู และพัฒนาคุณภาพการสอน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image