รายงานหน้า2 : วิพากษ์‘บิ๊กตู่’นั่งหน.พปชร. ได้-เสียทางการเมือง?

หมายเหตุความคิดเห็นของนักวิชาการถึงผลดี ผลเสีย และนัยยะในทางการเมือง กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะไปเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ภายหลังมีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่

 

วันวิชิต บุญโปร่ง
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต

หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จริง ย่อมเป็นการลดข้อครหาในการที่ตนเองได้อาศัยกฎกติกาต่างๆ เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการเมืองมาตลอด 5 ปี เมื่อมาสู่วงจรกระแสความเป็นประชาธิปไตยเต็มรูปแบบในครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์จึงต้องการฉีกข้อสังเกตหรือข้อจับผิดต่างๆ เพื่อให้เข้าสู่กลไกหรือกติกาพรรคการเมืองทั่วไปอย่างที่เป็นกัน อย่างไรก็ตาม การทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ผ่านมาอยู่ในลักษณะที่หลายพรรคการเมืองเป็นนายกรัฐมนตรี เช่น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พรรคเพื่อไทย ที่ไม่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อป้องกันข้อครหาถูกยุบพรรค
ดังนั้น ในประเด็นนี้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องการต่อสู้ เพื่อใช้เป็นยุทธศาสตร์หาเสียงทางการเมืองในอนาคตว่าตัวเองมีความรับผิดชอบทางการเมือง ไม่ได้หลบหนี หลีกหน้าไปไหน ดูเป็นความสง่างาม ครบถ้วนวงจร หากจะถูกยื่นถอดถอนหรือจับผิดย่อมเป็นไปตามกติกาหรือกระบวนการ ต่อมาคือ พล.อ.ประยุทธ์ต้องการกุมสภาพองคาพยพในความปั่นป่วนของพรรคพลังประชารัฐ ดังที่เห็นว่ากลุ่มการเมืองต่างๆ พยายามแสดงความไม่พอใจต่อเก้าอี้รัฐมนตรีหรือตำแหน่งที่ได้รับ ดังนั้น การที่ พล.อ.ประยุทธ์ออกมาเองเพื่อแสดงให้เห็นว่าใครคือผู้มีอำนาจสูงสุดในพรรค พปชร.ของจริง
เราจะเห็นว่าภาพของ พล.อ.ประยุทธ์ออกมาในเชิงสัญลักษณ์ในฐานะหัวหน้าพรรค ซึ่งจะมีกลไกทั้งมือซ้ายและมือขวาของตัวเอง หากไม่นับฐานกำลังที่แข็งแกร่งคือพี่ใหญ่ของบูรพาพยัคฆ์ ทั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หรือ พล.อ.
อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่เราจะเห็นมือซ้ายและมือขวาที่ออกมาซึ่งอยู่นอกพรรค โดยกุมสภาพอุณหภูมิทางการเมืองอย่าง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ที่สวมหมวกวุฒิสมาชิก หรือ ส.ว.ด้วย อาจช่วยรับแรงกระสุนหรือเป็นหมู่บ้านกระสุนตกให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้ จนทำให้นักการเมืองพึงสังวรณ์ว่ามีสายตาคู่หนึ่งจับจ้องมองอยู่ข้างนอก โดยการแสดงออกทางการเมืองเช่นนี้คือตัวเองใช้ความชอบธรรมในการเป็น ส.ว.ด้วย
ขณะที่มือขวาอีกคนหนึ่งคือผู้ที่มาจัดการองคาพยพภายในพรรคพลังประชารัฐ นั่นคือ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรคพลังประชารัฐ แน่นอนว่าการใช้บารมีที่สั่งสมในแวดวงยุทธจักรการทหารแบบนี้คงจะมาใช้ในทิศทางการเมืองด้วย โดยรูปแบบเช่นนี้เคยเกิดขึ้นในสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อครั้งขึ้นมาเป็นนายกฯใหม่ๆ ซึ่งใช้เพื่อนร่วมรุ่นที่เป็นบุคคลกว้างขวางคือ พล.ต.สุตสาย หัสดิน มาเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อต้องการกุมสภาพและรักษาความสงบเรียบร้อยของพรรคร่วมรัฐบาล
สำหรับหัวหน้าพรรคคนเก่าของ พปชร.นั้น เมื่อดูความตั้งใจแล้วจะพบว่าเหมือนถูกบังคับให้มาเป็นเชิงสัญลักษณ์มากกว่า เป็นการน้อมรับภารกิจที่จะมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ไม่ว่าจะนายอุตตม สาวนายน หรือนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ซึ่งตัวเองถูกผลักมาเพื่อผลักดันภารกิจ ซึ่งไม่ได้ผูกพันกับเก้าอี้บริหารพรรค พปชร.เท่าไหร่

Advertisement

 

ยุทธพร อิสรชัย
รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาคณะรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะนั่งตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เพราะ คสช.ในวันนี้จะต้องสิ้นสภาพโดยผลของรัฐธรรมนูญหลังจากที่มีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามา เท่ากับว่ารูปโฉมในกระบวนการต่างๆ ทางการเมืองต้องปรับเปลี่ยนไปด้วยเช่นเดียวกัน เพราะก่อนหน้านี้แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะประกาศว่าเป็นนักการเมืองเต็มตัวมาหลายครั้ง หรือล่าสุดรับตำแหน่งนายกฯในวาระที่ 2 อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังไม่ชัดเจนว่าตกลงแล้วท่านทำงานการเมืองอยู่ในพรรคการเมืองไหน อย่างไร ผลในทางบวกก็อาจจะทำให้สถานะทางการเมืองในเรื่องตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์มีความชัดเจนมากขึ้น ข้อจำกัดทางกฎหมายจะลดลง เช่น กฎหมายพรรคการเมือง เพราะถ้าท่านไม่ได้อยู่ในพรรคการเมือง ไม่ได้มีตำแหน่งอะไร ก็มีข้อห้ามยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการบริหารและการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรค ที่อาจนำไปสู่การยุบพรรคได้
การที่ พล.อ.ประยุทธ์ลงมาเป็นหัวหน้าพรรค จะสามารถควบคุมสถานการณ์ของ พปชร.ที่วันนี้ค่อนข้างมีปัญหาเรื่องเอกภาพได้ดีมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ในแง่ของผลกระทบก็มีไม่น้อย เพราะถ้าท่านตัดสินใจในลักษณะดังกล่าวก็เท่ากับว่าภาพของความเป็นคนกลางจะหายไปอย่างสิ้นเชิง และผลกระทบในแง่การเมือง ก็จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องเผชิญหน้ากับทั้งการตรวจสอบของฝ่ายค้าน เผชิญหน้ากับสื่อมวลชน ซึ่งจะมีความเป็นอิสระมากขึ้นจากผลของการไม่มีคำสั่งตามมาตรา 44 หรือในกรณีที่จะต้องเผชิญหน้ากับภาคประชาชนในอนาคตถ้าหากมีการเคลื่อนไหว เช่น มีม็อบเกษตรกร เข้ามาเรียกร้องหรือประท้วง นอกจากนี้ ถ้า พล.อ.ประยุทธ์เข้ามาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ในทางกฎหมายท่านก็ต้องอยู่ภายใต้กลไกของรัฐธรรมนูญ หรือกลไกของกฎหมายพรรคการเมือง ซึ่งทำให้การมีอำนาจพิเศษแบบเดิมๆ จะหายไป รวมทั้งหากพรรคมีคดีความในอนาคตที่เกี่ยวโยงไปถึงกรรมการบริหาร ก็จะส่งผลกระทบถึง พล.อ.ประยุทธ์อย่างแน่นอน
ดังนั้นจึงเป็นผลดีในมุมของภาคสังคม แต่หากมองจากมุมของ พล.อ.ประยุทธ์ก็อาจจะเป็นผลกระทบในด้านลบ เพราะต้องอยู่ภายใต้กติกาเหล่านี้ แต่ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ไม่เข้ามาเป็นหัวหน้าพรรค กติกาเหล่านี้ก็เป็นปัญหาทางกฎหมายเช่นกัน เพราะสุดท้ายอาจจะส่งผลไปถึง พปชร. ถ้ามีคนนอกพรรคมาเข้าเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจของพรรค ซึ่งอาจส่งผลถึงขั้นยุบพรรค ดังนั้นเมื่อคำนวณ บวกลบ คูณ หาร แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ก็น่าจะตัดสินใจมาเป็นหัวหน้าพรรค พปชร.อย่างแน่นอน
วันนี้การที่พลังประชารัฐมีปัญหาเรื่องเอกภาพ จริงอยู่ว่าอาจจะมาจากตัวผู้นำด้วย เพราะวันนี้ผู้นำใน พปชร.เช่น หัวหน้าพรรค ทั้ง คุณอุตตม สาวนายน หรือคุณสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค พปชร. ก็ไม่สามารถที่จะกำกับได้ทั้งหมด แต่ถ้าตัวจริงอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ลงมาอาจจะกำกับได้ในระดับหนึ่ง และอาจทำให้เรื่องความเป็นเอกภาพของพรรคดีขึ้น แต่กระนั้นก็ไม่เชื่อว่าจะทำให้เอกภาพเกิดขึ้นได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะส่วนหนึ่งปัญหามาจากตัวโครงสร้างของ พปชร.เอง ซึ่งเป็นพรรคที่เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มการเมืองต่างๆ ถึง 11 กลุ่ม แต่ละกลุ่มก็มีวัตถุประสงค์เฉพาะของแต่ละกลุ่มในการมารวมตัวกัน ดังนั้นการเกาะเกี่ยวกันในเชิงอุดมการณ์ก็จะไม่เหนียวแน่นมากนัก เมื่อเป็นเช่นนี้ ถึงจะมีผู้นำที่มีความเป็นผู้นำสูง สามารถพูดคุย เจรจา หรือควบคุมกำกับทุกฝ่ายได้ก็จริง แต่โครงสร้างที่ยังไม่เปลี่ยนในระยะยาวก็เชื่อว่ากลุ่มเหล่านี้จะออกมาต่อรองอีก และอาจจะมีเรื่องของกระบวนการที่ท้าทายอำนาจของหัวหน้าพรรคคนใหม่ก็เป็นไปได้

 

สติธร ธนานิธิโชติ
รักษาการผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า

หัวหน้าพรรคที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น สำคัญมากในระบบรัฐสภา ทั่วโลกก็เป็นเช่นนั้น เช่น ประเทศอังกฤษ คนที่ได้เป็นนายกฯคือหัวหน้าพรรค ถ้าเขาหลุดจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคก็ต้องหลุดจากตำแหน่งนายกฯด้วย มีเฉพาะในประเทศไทยที่พิสดารหน่อย ตั้งแต่การมีกฎหมายยุบพรรคการเมืองที่เข้มงวด ผู้นำพรรคการเมืองบางพรรคเลยเลือกไม่นั่งหัวหน้าพรรค แต่เลือกตำแหน่งนายกฯอย่างเดียว ด้วยกลัวว่าเมื่อพรรคถูกยุบจะถูกจำกัดสิทธิทางการเมืองไปด้วย ดังนั้นตามหลักการควรจะเป็นทั้งหัวหน้าพรรคและมาเป็นหัวหน้ารัฐบาลหรือนายกฯด้วย โดยเฉพาะรัฐบาลผสม คนที่เป็นตัวจริง ที่ได้รับการเลือกและเป็นที่ยอมรับภายในพรรค ก็เลยมีความสำคัญเวลาจะเข้าไปจัดการความขัดแย้งภายใน โดยนิตินัยและอุดมคติของประชาธิปไตยเป็นเช่นนั้น
กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผลดีของการนั่งตำแหน่งหัวหน้าพรรคทั้งต่อตัวพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และต่อ พล.อ.ประยุทธ์เอง คือ สามารถเข้าไปกำกับ เป็นตัวประสานผลประโยชน์ในพรรคได้เต็มปากเต็มคำ ตอนนี้สถานะ พล.อ.ประยุทธ์เมื่ออยู่นอกพรรคเป็นเหมือนหัวหน้าคณะรัฐบาล จัดการเรื่องรัฐมนตรีอย่างเดียว ไม่สามารถไปบอกได้ว่าคนในพรรคพลังประชารัฐคนนั้นคนนี้เหมาะสม ในทางกฎหมาย พล.อ.ประยุทธ์ก็คือคนนอก การเข้าไปทำอะไรแบบนั้นก็แปลว่าคนนอกเข้าไปแทรกแซง ไปกำกับ ไปชี้นำพรรคพลังประชารัฐ เวลาอธิบายให้สาธารณะเข้าใจก็มักจะบอกว่าพรรคเสนอชื่อ ส่งให้นายกฯพิจารณา นายกฯตีกลับมา พรรคก็ต้องมาคุยกันใหม่ ดังนั้น ถ้า พล.อ.ประยุทธ์เข้าไปนั่งตำแหน่งหัวหน้าพรรค ก็มีสิทธิจัดการได้เต็มที่ มีสิทธิในการประชุมร่วมกับกรรมการบริหารพรรค เข้าไปดูแลกิจการภายในพรรคได้หมดเลย
แต่เราก็ต้องยอมรับว่างานหัวหน้าพรรคหรือคนที่คุมพรรคการเมืองอยู่ได้ ต้องมีประสบการณ์และเป็นนักการเมืองเก่าพอสมควร การที่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นหัวหน้าพรรคก็จะเป็นงานใหม่ที่ไม่เคยจับมาก่อน แล้วตัว พล.อ.ประยุทธ์เองก็ไม่ค่อยชินกับธรรมชาติของพรรคการเมือง ทาง พปชร.ก็รวมนักการเมืองมาสารพัดกลุ่ม มีทั้งนักการเมืองรุ่นเก๋าเขี้ยวลากดิน มีทั้งนักการเมืองหน้าใหม่ที่ผ่านการเมืองท้องถิ่นมาอย่างช่ำชอง ดังนั้นการไปนั่งก็จะลำบากและท้าทาย พรรคการเมืองไม่เหมือนกองทัพ พรรคการเมืองคงจะไม่ใช่จัดการง่ายๆ เพราะมีทั้งการต่อรองผลประโยชน์ต่างๆ บางเรื่องพรรคก็ต้องพึ่งกลุ่มก๊วน และยังมีเรื่องฐานเสียงอีก พล.อ.ประยุทธ์ไปนั่งได้ แต่จำเป็นต้องมีคนช่วย ต้องมีมือขวาที่เก่งทางการเมือง มีประสบการณ์ มีบารมี มีลูกล่อลูกชน และเป็นนักการเมืองที่ประสานผลประโยชน์ได้ โดยเฉพาะตำแหน่งเลขาธิการพรรค
การไปนั่งหัวหน้าพรรคของ พล.อ.ประยุทธ์จึงเหมือนสองไม้สองมือ เป็นนายกฯ ก็เหนื่อยอยู่แล้ว เพราะนอกจากรอบนี้จะต้องทำงานกับพรรคร่วมแล้ว ไหนยังต้องเจอการตรวจสอบจากสภา ที่มีฝ่ายค้านจำนวนมาก ยังจะต้องมาจับงานพรรคโดยตรงอีก ที่สำคัญการเป็นหัวหน้าพรรคยังมีหน้าที่รับผิดชอบทางกฎหมาย บางเรื่องต้องรับผิดชอบทั้งการถูกดำเนินคดี ทางที่ดีคือ พล.อ.ประยุทธ์ ควรเข้าไปในพรรค แต่อย่าเป็นหัวหน้าพรรค เป็นประธานที่ปรึกษาก็ได้ ในฐานะผู้มีบารมีและเพื่อให้เปิดหน้าเปิดตัวจัดการพรรคได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image