‘ลายพราง’สู่‘อำพราง’ ปชต.สลึงเดียว

หมายเหตุคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ จัดเสวนาหัวข้อ “จากรัฐบาลลายพรางสู่ประชาธิปไตยอำพราง : ที่มา ปัญหา และทางออก” ห้องประชุมคึกฤทธิ์ ปราโมช อาคารอเนกประสงค์ 1 ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน

สมชาย ปรีชาศิลปกุล
คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่

เราอยู่ในยุคสมัยที่อะไรที่กลับหัวกลับหางไปหมด ไม่ตรงไปตรงมา เป็นยุคที่น่าแปลกใจ การเลือกตั้งก็ประหลาดมาก อำนาจ คสช.และมาตรา 44 ก็ยังอยู่ ส่วนตัวไม่คิดว่านี่คือประชาธิปไตยอำพราง แต่เป็นการ “แอ๊บประชาธิปไตย” เพราะเรารู้ว่านี่ไม่ใช่ประชาธิปไตย เวลาจะพิจารณาปัญหาสังคมไทย ถ้ามองในเชิงที่กว้างขึ้น ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20ถึงต้นศตวรรษที่ 21 ในวงการศึกษารัฐธรรมนูญ และการเมืองเปรียบเทียบ มีนักวิชาการเสนอว่ามีปรากฏการณ์ที่แพร่หลายในโลก มีลักษณะคล้ายโรคชนิดหนึ่งที่แพร่กระจายในหลายประเทศ คือมีรัฐธรรมนูญแต่ปราศจากระบอบรัฐธรรมนูญนิยม

Advertisement

หลายประเทศที่จะสลัดจากอำนาจนิยมมีการเกิดรัฐธรรมนูญ ซึ่งถ้าพิจารณาตามระบอบเสรีประชาธิปไตยมีหลักการพื้นฐานบางอย่างซึ่งเป็นที่ยอมรับร่วมกัน เช่น การเลือกตั้งต้องเสรีและเป็นธรรม,รัฐบาลพลเรือนต้องเหนือกองทัพและระบบราชการ, มีสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงออก, สื่อมีความเสรี และกระบวนการยุติธรรมโปร่งใส นี่คือสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ แต่หลายประเทศแม้มีรัฐธรรมนูญแต่กลับไม่มีเนื้อหาที่กล่าวมา คือมีการดัดแปลงองค์ประกอบเหล่านั้นให้ผิดหูผิดตาไป สุดท้ายเหลือแต่ชื่อว่ารัฐธรรมนูญ เช่น ในแอฟริกา, ตะวันออกกลาง, หลายประเทศในเอเชีย รวมถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลายเป็นว่ามีรัฐธรรมนูญแต่ปราศจากระบอบรัฐธรรมนูญนิยม สักแต่มีเอกสารที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญ แต่เนื้อหาภายในกลับกลายเป็นไม่สอดคล้องกับหลักการเสรีประชาธิปไตย ปัญหาของไทยก็เป็นปัญหาที่หลายประเทศในเอเชียต้องเผชิญ

ถ้าสังเกตในหลายประเทศ จะพบการใช้อำนาจแบบดิบๆ โดยทหาร แต่หลายแห่งเปลี่ยนไปเป็นอำนาจนิยมเชิงเครือข่าย กล่าวคือจากเดิม ทหารเป็นผู้ดำเนินการ แต่ในช่วงหลังมีความหลากหลายขึ้น คือไม่ใช่แค่ทหาร ทว่ามีองค์กรอื่นๆ มาเกี่ยวข้อง จากรถถังเปลี่ยนเป็นการใช้อำนาจเชิงสถาบัน โดยองค์กรเหล่านี้ทำหน้าที่ดูเหมือนเป็นกลาง มีมาตรฐานวิชาชีพ เป็นความพยายามสร้าง “ความชอบธรรมเทียม” ให้เกิดขึ้น ผ่านการวินิจฉัยขององค์กรต่างๆ ที่มีอำนาจ จึงนับเป็นความชอบธรรมที่ถูกสถาปนาโดยเครือข่ายอำนาจนิยม นี่คือสิ่งที่ไทยเผชิญอยู่ นั่นคือการทำงานของอำนาจนิยมเชิงเครือข่าย ไม่ใช่ทหารดำเนินการอย่างเดียว

จากรัฐประหารที่ผ่านมาหลายครั้ง จะเห็นว่าครั้งนี้เราได้ยิน คสช.พูดบ่อยครั้งว่า ให้ว่ากันไปตามกฎหมาย หรือทำตามกฎหมาย การพูดแบบนี้ในแง่หนึ่งสะท้อนถึงความมั่นคงในระบอบอำนาจนิยมเชิงเครือข่าย เขามีความเชื่อมั่นว่าการวินิจฉัยจะเป็นไปในทางเดียวกัน นี่คือสิ่งที่น่าสนใจศึกษาในอนาคต

อนุสรณ์ อุณโณ
คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์

เราติดหล่มความขัดแย้งมานาน หลายฝ่ายตั้งความหวังว่าการเลือกตั้ง 24 มีนาคมที่ผ่านมา จะพาเรากลับสู่ภาวะปกติ การเลือกตั้งคือกลไกที่เปิดให้มีสิทธิ มีเสียงเสมอหน้าในการเอาตัวแทนของตนไปทำหน้าที่ อย่างไรก็ตาม จนบัดนี้ยังไม่มีรัฐบาล แม้รู้แนวโน้มว่าจะเป็นใคร เราไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวผู้นำเพราะยังเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เหมือนเดิม ซึ่งไม่มีวี่แววว่าจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ทุกวันนี้ก็ยังเหมือนเดิม นอกจากนี้สังคมไทยยังมีความขัดแย้งที่แหลมคม แม้เคยคิดกันว่าการมีรัฐบาลปกติน่าจะช่วยคลี่คลาย แต่กลับไม่เป็นไปอย่างที่คิด ในทางกลับกัน ได้เห็นความขัดแย้งที่ซึมลึกและขยายวงกว้างขึ้น  มีความโกรธแค้น เกลียดชังสั่งสมมากขึ้น เห็นได้ชัดที่สุดจากการที่นักกิจกรรมถูกคุกคามอย่างกรณีนาย      สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว ซึ่งมีการคุกคามที่เป็นแบบแผน คนทำผิดยังลอยนวล รัฐก็เพิกเฉย แต่สิ่งที่น่ากลัวกว่าคือความสาแก่ใจ นี่คือสัญญาณที่น่ากังวลว่าสังคมไทยจะหลุดจากความขัดแย้งไปได้อย่างไร ยังไม่นับว่าเรากำลังกลายเป็นรัฐทหารไปเรื่อยๆ มีการถ่ายโอนภารกิจ โดย คสช.โอนไป กอ.รมน. ซึ่งคงทราบกันดีว่า ผอ.โดยตำแหน่งก็คือนายกรัฐมนตรีนั่นเอง และความมั่นคงแห่งรัฐจะกลายเป็นตัวตั้งในการจัดการทุกสิ่งทุกอย่างในประเทศนี้

กรณีปัญหาชายแดนภาคใต้ที่ผ่านมากว่าทศวรรษ มีช่วงหนึ่งเอาการเมืองนำการทหาร แต่พอมีรัฐประหาร ล่าสุดเกิดการตรวจสอบอัตลักษณ์ใบหน้าบุคคล สิ่งเหล่านี้คือสัญญาณอันตราย เราสามารถถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพซึ่งคนทั้งประเทศอาจอยู่ในชะตากรรมเดียวกันในที่สุด อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเชื่อในพลังของปัญญา ในการถกเถียงอภิปรายด้วยเหตุผล ข้อเท็จจริง หลักฐาน ไม่ใช่การผรุสวาท ทางออกมีหลายด้าน ทั้งเชิงกฎหมาย และตัวแทนพรรคการเมืองไปทำงานในรัฐสภา แม้เป็นฝ่ายค้าน นอกจากนี้ยังมีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม มีการรวบรวมรายชื่อไปยื่น ไม่ว่าจะฟังหรือไม่ฟัง มีนักศึกษาซึ่งทำกิจกรรมอย่างมีนัยสำคัญ แม้กระทั่งพานไหว้ครู

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ระบอบการเมืองที่เราเผชิญอยู่บิดเบี้ยวจากสิ่งที่ควรจะเป็น นับแต่ พ.ศ.2475 มีรัฐธรรมนูญ 20 ฉบับ คิดง่ายๆ ว่า 87 ปีที่ผ่านมาเท่ากับทุก 4 ปีมีรัฐธรรมนูญ 1 ฉบับ การเมืองไทยขณะนี้อยู่ในช่วง “การเปลี่ยนผ่านที่แสนยาวนาน” เพราะยิ่งพิจารณาบริบทการเมืองไทยจะพบว่ามันพาเรากลับไปหลังปี 2500 เศษ ถ้ากลับไปดูรัฐธรรมนูญในอดีตจะพบว่าฉบับที่เป็นประชาธิปไตยอยู่บ้างและอยู่นานที่สุดคือฉบับ 2521 แต่ฉบับปัจจุบันส่วนตัวเรียกว่าประชาธิปไตยฉบับ 1 สลึง เป็นประชาธิปไตยแค่ 1 ใน 4 เมื่อเทียบกับฉบับ 2521 หากดูบริบทการเมืองไทยหลัง 6 ตุลาฯ 19 ประเมินว่านักศึกษา ปัญญาชนคนทั่วไป จับอาวุธต่อสู้รัฐบาลอย่างน้อย 3 ปี มีการขนอาวุธ ผู้คนเจ็บจริง ตายจริง ผ่านไป 20-30 ปี ถึงเริ่มเก็บกระดูก ความขัดแย้งในสมัยนั้นเป็นความขัดแย้งที่เสี่ยงที่จะเปลี่ยนแปลงทำให้ชนชั้นนำต้องเลิกใช้ความรุนแรง ถามว่าเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มารอบหนึ่งแล้ว ไม่อายอีกหรือ สุดท้ายก็เกิดเหตุการณ์พฤษภาฯ ขึ้นอีก ล่าสุดยังมีการทำร้ายกัน ทั้งที่เราอยู่ในปี 2562 แล้ว

ในรัฐธรรมนูญฉบับ 60 ซึ่งเป็นประชาธิปไตยสลึงเดียว เราเห็นการประนีประนอมระหว่างพลังระบบราชการและฝ่ายการเมือง แต่ก็เห็นสภาพบางอย่าง คือการให้ ส.ว.เลือกนายกฯ มีสถานะเหนือสภาผู้แทนราษฎรในบางประเด็น วุฒิสภาสามารถขโมยผลการเลือกตั้งได้ เป็นการข้ามท่ออำนาจของประชาชน ถามว่าแล้วรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นประชาธิปไตยขนาดไหน แค่มีสิทธิเลือกตั้ง 24 มีนาฯ เท่านั้น นอกจากนี้เรายังเห็นความผิดปกติอื่นๆ เช่น รัฐธรรมนูญ 2560 กลัว “เสียงข้างมากธรรมดา” คือใครได้รับความไว้วางใจจากประชาชนมากที่สุดเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้เสียงข้างมากธรรมดาไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลอย่างชอบธรรมได้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังกลัวพรรคเสียงข้างมาก พรรคเพื่อไทยจึงไม่มี ส.ส.บัญชีรายชื่อเลย เพราะออกแบบมาให้เป็นอย่างนั้น

การเมืองไทยจะกลับไปสู่การเมืองแบบพรรคผสมที่ตั้งรัฐบาลไม่ได้ เพราะมีผลประโยชน์ต้องไปเวียนกันกิน ย้อนไปนึกถึงยุค พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ที่เป็นรัฐบาลแบบบุฟเฟต์ คาบิเนต

เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช
สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล

ก่อนเลือกตั้งเราลุ้นว่าเสียงประชาชนจะได้รับการตอบสนอง เสียงประชาชนจะกำหนดทิศทางประเทศ พยายามเน้นตลอดว่า กกต.สามารถทำหน้าที่สร้างปัจจัยให้สังคมที่ขัดแย้งมานานสามารถคลี่คลายได้ระดับหนึ่ง ถ้ามีการเลือกตั้งที่โปร่งใส เที่ยงธรรม หากพลังประชารัฐชนะใสๆ ด้วยกระบวนการใสสะอาด คิดว่าเรายอมรับได้ แต่เผอิญกระบวนการขององค์กรดังกล่าวกลับทิ้งโอกาสในการทำหน้าที่เป็นตัวกลางไปสู่สังคมเช่นนั้นในหลายกรณี เช่น การคำนวณ คณิตศาสตร์ โกงไม่ได้ ถ้าสามารถจับผิดเลขที่มาจากคณิตศาสตร์ อย่างไรก็ไม่สามารถตะแบงได้ แต่สุดท้ายก็ถูกตะแบงไปในระดับหนึ่ง เราไม่เคยบอกว่า กกต.โกง แต่บอกว่าคิดผิด ความแฟร์ไม่เกิด พรรคเล็กที่มีคะแนนทั้งประเทศไม่ถึง 70,000 เข้ามาหมด ถามว่าตอนนี้เกิดอะไรกับสังคม ถามว่ามีคนเคยแย้ง กกต.ในเรื่องสูตรคำนวณหรือไม่ คำตอบคือเคยมีมากมาย นักคณิตศาสตร์ก็เอามาใส่ตาราง ทำสมการให้ดู แต่ทำไม กกต.ไม่ฟัง สื่อมวลชนคนหนึ่งเคยบอกว่าสงสัย กกต.คำนวณจากคำตอบเข้าไปหาสูตร ซึ่งก็เป็นไปได้ เพราะพอได้คำตอบกว่าสูตรจะออกใช้เวลาราว 2 สัปดาห์

นอกจากนี้ไฟล์ที่เคยถูกอัพโหลดในเว็บไซต์ กกต.ก็มีความผิดพลาดเยอะ ไม่ว่าจะเกิดการเลือกตั้งกี่ครั้ง ถ้ามีความเพี้ยนแบบนี้ความเพี้ยนก็จะยังคงอยู่ ตอนนี้มีหลายเรื่องที่พอทำได้ ขอให้อย่าทิ้งการเมืองในรัฐสภา เชื่อว่าบุคลิกอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คงฟังคนวิจารณ์นานๆ ไม่ได้

เสนาะ เจริญพร
คณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลราชธานี

มองว่านี่ไม่ใช่ประชาธิปไตยอำพราง แต่เป็นเผด็จการภาค 2 พยายามใส่เสื้อคลุมประชาธิปไตย แต่คนก็รู้ ก่อนการเลือกตั้งในช่วงหาสมาชิกมีการใช้เงินซื้อ ส.ส.ตามเกรด A B C ซื้อด้วยตำแหน่ง ให้พี่น้องหรือสามีภรรยาไปเป็น ส.ว. ใช้อำนาจ ข่มขู่คุกคาม ใช้คดีความดึง ส.ส. กรณีแรมโบ้อีสานการหาเสียงผ่านการปราศรัยจ้างคนมาฟังโดยเฉลี่ยหัวละ 200 บาท สูงสุด 500 บาท มีการใช้หอประชุมซ้ำๆ ที่หอประชุมในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่มีสัมพันธ์อันดีด้วยราคาถูกเพียง 2-3 หมื่นบาท ผู้ฟังไม่มีอารมณ์ร่วม บางแห่งจัดเก้าอี้ไว้ 4,700 ตัว แต่ประกาศว่ามา 18,000 คน การปราศรัยใหญ่วันที่ 22 มี.ค. ที่สนามเทพหัสดิน จัดเก้าอี้ไว้ราว 9,000 พันตัว ประกาศว่ามีคนมา 10,000 คน ทั้งที่คนมาโหรงเหรง

ในช่วงหาเสียงใช้เจ้าหน้าที่จับตาหาเสียง บังคับนักศึกษาฟังบางพรรค กรีดป้ายหาเสียง แจกเงินเดือนให้ อสม. ค้นบ้านผู้สมัครพรรคเพื่อไทย ล้อมบ้านนายเสนาะ เทียนทอง มีการแบ่งเขตเอื้อพวกพ้องต่อพรรคตัวเอง ใช้วิธีคนละเขตคนละเบอร์ ยืดเวลาเลือกตั้งถึง 5 โมงเย็น ถ้ามองโลกในแง่ดีคือทำเพื่อความสะดวกของผู้มาใช้สิทธิ แต่ส่วนตัวมองว่ายิ่งเย็นก็ยิ่งมีพิรุธ

ส่วนของการเลือกตั้ง ตั้งแต่เลือกตั้งล่วงหน้า หลายพื้นที่แน่นขนัด พอถึงวันเลือกตั้ง 24 มี.ค. หลายหน่วยไม่ติดประกาศใบ ส.ส.5/5 ซึ่งคือจำนวนบัตรเลือกตั้งที่รับมา ทำให้ง่ายมากต่อการโกงบัตรเลือกตั้ง เพราะไม่มีใครรู้ว่าหน่วยนั้นมีบัตรเลือกตั้งกี่ใบ ตอนกลางคืนไม่ติดใบ ส.ส.5/18 ที่ต้องแสดงผลการนับคะแนนของหน่วยเลือกตั้ง เปิดแค่บางหน่วย ไม่ยอมเปิดเผยทั้ง 92,000 หน่วย เพราะถ้าเปิดออกมาทั้งหมดจบเห่แน่ๆ บางแห่งตอนนับคะแนนมีการนำกระดาษมาปิดซ้อนกัน ทั้งที่ต้องแยกกันเพื่อให้ผู้สังเกตการณ์เห็นอย่างเปิดเผย เมื่อไปทักท้วงก็อ้างว่าได้รับการอบรมมาแบบนี้ จนสุดท้ายต้องนำเนื้อหาในราชกิจจานุเบกษามาให้ดูว่าถูกกำหนดให้ต้องเปิดเผย เจ้าหน้าที่จึงยอม

ทั้งหมดนี้เป็นการเลือกตั้งแบบมั่วๆ ถ้าชนะก็ดี ถ้าแพ้ก็ล้มกระดาน เป็นนายกฯต่อ ไม่เพียงเท่านั้น การเลือกตั้งครั้งนี้ยังเข้าถึงข้อมูลยากและมีราคาแพง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image