รายงานหน้า2 : ‘พปชร.’ระส่ำ-3มิตรเดือดทวงเก้าอี้ รอยร้าวรัฐบาล‘บิ๊กตู่2’

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการกรณีปัญหาการแบ่งเก้าอี้รัฐมนตรีในพรรคพลังประชารัฐ จะส่งผลต่อการบริหารงานรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2 หรือไม่ และควรมีทางออกอย่างไร

 

ยุทธพร อิสรชัย
รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาคณะรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

ประเด็นนี้เกิดขึ้นจากสภาวะใหญ่ทางการเมืองที่มีเงื่อนไขใหญ่คือรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะระบบเลือกตั้งปันส่วนผสมซึ่งเป็นจุดตั้งต้นทำให้เกิดภาวะเสียงปริ่มน้ำ เมื่อเสียงปริ่มน้ำแล้วทำให้เกิดพรรคการเมืองจำนวนมาก หนีไม่พ้นเรื่องรัฐบาลผสม วันนี้มีเกือบ 20 พรรค หากนับเป็น
ก๊วนการเมืองในหลายสิบพรรคก็เกือบๆ 40 กลุ่มก๊วน โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เอง มีการประเมินว่ามีอยู่ 11 ก๊วน ทั้งนี้ อย่าลืมว่า พปชร.เกิดจากการรวมกลุ่ม ส.ส. ไม่ได้เป็นพรรคที่มีฐานทางอุดมการณ์ หรือแนวความคิดทางการเมืองที่สอดคล้องกัน ตามแนวคิดการเกิดพรรคการเมือง ยิ่งทำให้แต่ละกลุ่มที่เข้ามามีวัตถุประสงค์เป็นการเฉพาะ เช่น ต้องการตำแหน่ง ต้องการโควต้ารัฐมนตรี หรือต้องการสิ่งตอบแทนทางการเมือง
เมื่อไม่ได้ตำแหน่งดังกล่าวจึงเกิดเรื่องให้เคลื่อนไหว
ดังนั้น ในภาวะรัฐบาลผสมจึงมีทั้งการต่อรองภายในและภายนอก วันนี้คิดว่าการต่อรองภายนอก หรือการต่อรองระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลค่อนข้างนิ่งแล้ว เช่นก่อนหน้านี้ที่เห็นการต่อรองจากพรรคประชาธิปัตย์ จากพรรคชาติไทยพัฒนา รวมทั้งพรรคเล็กกว่า 10 พรรคก็ดี ดังนั้น ณ จุดนี้ การต่อรองภายในไม่ใช่ปัญหาใหญ่แล้ว แต่ปัญหาใหญ่อยู่ที่การต่อรองภายใน หรือภายในพรรคต่างๆ โดยเฉพาะพรรคแกนหลักอย่างพลังประชารัฐ
พรรคการเมืองของไทยจำนวนไม่น้อยยังทำงานการเมืองแบบล้าหลัง หมายความว่า 1.เป็นการผูกติดกับผลประโยชน์ เรื่องของกลุ่มที่จะได้รับ บุคคลที่จะได้รับ 2.การตัดสินใจต่างๆ ยังอยู่กับบุคคลระดับแกนนำที่มีบทบาทหรืออิทธิพลภายในพรรค อย่างกรณี พปชร.เห็นได้ชัดเลยว่า แม้จะเป็นพรรคการเมืองที่เพิ่งตั้งใหม่ แต่การทำงานทางการเมืองไม่ได้ใหม่เลย ยังคงทำงานการเมืองแบบล้าหลัง เหมือนกับแนวการเมืองไทยที่ผ่านมา ขณะเดียวกันเหตุการณ์ยังจำกัดวง ไม่ได้มีความเป็นพรรคที่มีฐานมาจากมวลชน เมื่อไม่ได้เป็นเช่นนั้น แต่กลับขึ้นอยู่กับคนบางกลุ่ม เช่น อยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่กับหัวหน้าพรรค นายอุตตม สาวนายน หรือเลขาธิการพรรค นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ไม่ได้มีอำนาจอะไรที่แท้จริง เพราะอำนาจการตัดสินใจสุดท้ายไปอยู่ที่คนใน คสช. แม้กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ วันนี้ก็ไม่เป็นสมาชิกพรรค พปชร. เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่สะท้อนให้เห็นว่าเป็นการทำงานการเมืองแบบล้าหลัง ดังนั้น เราจึงเห็นสภาพการต่อรองเช่นนี้ขึ้นมากในพรรคพลังประชารัฐ
ต้องย้อนกลับไปดูต้นกำเนิดพรรคพลังประชารัฐที่คนซึ่งมีบทบาท มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจไม่ได้เป็น กลุ่มของสายพลเรือนอยู่แล้ว แม้ว่าฝ่ายพลเรือนจะมีอำนาจเชิงกฎหมาย กรณีของนายอุตตมเป็นหัวหน้าพรรคตามกฎหมาย กรรมการบริหารพรรค อาจมีที่มาจากหลากหลายกลุ่ม รวมทั้งกลุ่มสามมิตรอิทธิพลหรืออำนาจที่ไม่ได้เป็นทางการไม่ได้อยู่กับกลุ่มคนเหล่านี้ ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าการตัดสินใจสุดท้าย ไม่ว่าจะกรรมการบริหารพรรค หัวหน้าพรรค เลขาฯพรรค ไม่สามารถฟันธงได้เลย สะท้อนว่าจึงต้องย้อนกลับไปที่ พล.อ.ประยุทธ์หรือไม่ ก็ต้องมีบรรดาบุคคลต้องวิ่งช่วยเคลียร์กับคนอื่นๆ มากมาย
รัฐบาลใหม่ยังอยู่ได้ สุดท้ายทุกอย่างจะจบลงด้วยดี แม้หลายคนอาจประเมินว่ารัฐบาลนี้จะอยู่ได้เพียง 5-6 เดือน ประกอบกับสภาวะการต่อรองภายในและภายนอก ส่วนตัวคิดว่าท้ายที่สุดแล้วย่อมจบลงด้วยดี อาจเกิดกระบวนการเจรจาพูดคุยจนลงตัวและไปกันได้ เพียงแต่สภาวะการต่อรองเช่นนี้ทำให้เราเห็นตลอดเส้นทางของรัฐบาล วันนี้เป็นเพียงปฐมบทเริ่มต้นเท่านั้น นั่นคือเรื่องโควต้าตำแหน่งที่ดำเนินมากว่า 70 วันภายหลังเลือกตั้งเสร็จสิ้น แต่หลังจากนี้ไปยังมีหลายบทอยู่ข้างหน้า ไม่ว่าจะเรื่องของกฎหมายสำคัญ การอภิปรายไม่ไว้วางใจ การโหวตลงมติเรื่องต่างๆ จะมีการต่อรองเหล่านี้ให้เราเห็นตลอดเส้นทางของรัฐบาล สุดท้ายรัฐบาลใหม่น่าจะอยู่ได้ประมาณ 2 ปี
ถ้าวันนี้เรายังอยู่ในสภาวะการทำงานการเมืองแบบล้าหลัง เชื่อว่าการเมืองไทยจะอยู่อย่างนี้ ไม่ใช่เฉพาะพรรคพลังประชารัฐ แต่อีกหลายพรรคที่ดำเนินการเมืองแบบล้าหลัง ที่สำคัญคือตัวเงื่อนไขใหญ่คือรัฐธรรมนูญ 2560 ต้องได้รับการแก้ไข หรือต้องร่างใหม่ทั้งฉบับ มิฉะนั้นเราคงต้องอยู่ในสภาวะการเมืองแบบนี้ต่อไป

Advertisement

 

อัษฎางค์ ปาณิกบุตร
อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ตอนสัญญาไม่ได้สัญญากับ พล.อ.ประยุทธ์ แต่สัญญากับพวกพรรคพลังประชารัฐ (พชปร.)
ก็ทำในนาม พล.อ.ประยุทธ์อีกที โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากใช้หลักเกณฑ์การเป็นพรรคแกนสำคัญของรัฐบาล เขาต้องได้มากกว่านั้น รวมทั้งกลุ่มสามมิตรซึ่งน่าเชื่อว่าเป็นกลุ่มที่ลงทุนลงแรง ดังนั้น เขาจะได้สิ่งที่เขาลงทุนไป
นักการเมืองที่คุยโม้ว่าอยู่ที่ไหนก็ทำงานได้ ไม่จริง เป็นเพียงวาทกรรมเฉยๆ จริงๆ แล้วต้องเลือกกระทรวงที่เป็นผลประโยชน์ ดังนั้น หากอยู่กระทรวงพลังงานมีคุณค่ามหาศาลกว่ากระทรวงอุตสาหกรรม มีช่องทางหาประโยชน์ให้พรรคพวก ให้กลุ่มตนได้มาก จึงอยากได้กระทรวงที่เขาคิดว่าเขาจะทำประโยชน์ได้ โดยเป็นประโยชน์ของเขา ไม่ใช่ประโยชน์ของประเทศ ฉะนั้น เมื่อข่าวเปลี่ยนไปเรื่อย คิดว่าไม่กี่วันที่ผ่านมาน่าจะตกลงกันแล้วว่าตัวนายอนุชา นาคาศัย ต้องได้ตำแหน่งด้วย เพราะกลุ่มสามมิตรซึ่งใช้กลุ่มแกนกลางของประเทศ โดยทั่วไปเป็นความสามารถส่วนตัวเขา เพระเป็นเจ้าของพื้นที่หรือเจ้าของจังหวัดที่ได้คะแนนมา จะด้วยวิธีการใดก็ตามซึ่งสามารถควบคุมได้ ถ้าเขาไปพูด เขาก็อยากคุยกับพวกคนใหญ่ๆ ว่าข้อมูลที่ได้รับมาตรงกันหรือไม่
เขามีความเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ฟังความข้างเดียว คือฟังกลุ่มผู้ใกล้ชิดตัวเองมากกว่า เมื่อไม่เป็นประโยชน์ในอย่างที่เขาจะได้ เขาก็จะต้องต่อรอง กรณีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ บอกว่าไม่เอา 40 ส.ส.ออก ข่าวพวกนี้ไม่มีใครรับว่าเป็นตัวเองพูดหรอก แต่เป็นข่าวที่ปล่อยออกมาเพื่อเป็นการต่อรอง เป็นปกติของนักการเมืองไทยที่ผ่านมาทั้งสิ้น ดังนั้น ไม้สุดท้ายก็ออกแนวลูกทุ่ง ขอพบ ขอกราบเท้า แบบไหนก็ยอม แม้แต่ตัวเองไม่ได้ก็ได้
ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องเจอ เพราะตัวเองอาจประมาทว่าคุมได้ ไม่เป็นไร คอยดูว่าหลังจากตั้งรัฐมนตรีเสร็จแล้ว พร้อมกับไร้มาตรา 44 โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์เองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ พปชร. หากไม่มาเป็นหัวหน้าพรรคเอง เชื่อว่าปั่นป่วนแน่นอน แม้ว่าจะมาเป็นหัวหน้าพรรคก็ยังปั่นป่วน เพราะเมื่อต่อรองไม่ได้ก็จะเกิดการต่อรองต่อไป ยังมีขวากหนามอีกเยอะที่ พล.อ.ประยุทธ์ยังต้องฝ่าฟัน ขึ้นอยู่กับยุทธศาสตร์ของนักการเมืองเหล่านั้น
ถึงเวลาหรือยังที่ทีมงาน พล.อ.ประยุทธ์ต้องคิดใหม่ หากคนเชี่ยวชาญทางการเมืองจริงๆ ไม่น่าจะฟันฝ่าไปได้ เพราะคาดหมายไม่ได้ว่าข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น รวมทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นภายหน้าต้องใช้เงินและผลประโยชน์เข้าไปตอบแทน เนื่องจากไม่มีหนทางอื่น ดังนั้น ตัวที่เป็นเจ้าของทุนให้รัฐบาลต้องมีเงินสำรองจำนวนมาก
เคยแนะทางออกที่ดีไปนานแล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์ต้องถอย ต้องไม่ยึดครองอำนาจต่อ โดยคนที่มีอำนาจจริงๆ ควรเปลี่ยน ดังนั้น ลองเปลี่ยน พล.อ.ประยุทธ์และทีมงานทั้งชุดให้เป็นพลเรือน ซึ่งมีความเชื่อถือพอสมควร ทั้งยังมีอำนาจแท้จริง ถ้ายังดันทุรังอยู่เช่นนี้ ประเทศไปไม่รอด คำว่าเสถียรภาพทางการเมือง ในสายตาของต่างชาติหมายถึงทุกส่วน ซึ่งเราพิการหมดแล้ว ทั้งด้านนิติรัฐ นิติธรรม ทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่มีการตรวจสอบ เศรษฐกิจเจ๊ง ประชาชนลำบาก โดยเฉพาะข้างล่าง ประเทศเรากำลังพิการ ดังนั้น หากยิ่งยืดต่อไป ยิ่งทำให้เสถียรภาพทางการเมืองไทยย่ำแย่ หาก พล.อ.ประยุทธ์จะเสียสละจริงๆ ควรถอย แล้วหาคนมาใหม่ ซึ่งยังมีมาตรา 44 ให้ทำในทางที่ดี

Advertisement

 

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

พรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคเฉพาะกิจที่ตั้งขึ้นมาเพื่อหวังผลทางการเมืองระยะสั้นโดยการดึงเอานักการเมือง กลุ่มก๊วนต่างๆ ที่มีฐานคะแนนเสียงในท้องถิ่นเข้ามาเป็นพันธมิตร พยายามให้ได้ตำแหน่งให้มากที่สุด และการที่ไม่ได้เป็นไปตามข้อตกลงตำแหน่งตามข้อเรียกร้องกลุ่มคนเหล่านี้ซึ่งไม่ได้มีความผูกพันในเชิงอุดมการณ์ เชิงนโยบายกับพรรคหรือเจตจำนงทางการเมือง จึงต้องแสดงแอ็กชั่น
ของกลุ่มออกมาเพื่อเรียกร้อง ถามว่ามีผลหรือไม่ ถ้าหากว่าการเรียกร้องตรงนี้ไม่ตอบสนอง เชื่อว่ามีผลแน่นอน จะส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลในระยะยาว เพราะว่า ส.ส.กลุ่มนี้ก็จะทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลเอง โดยเฉพาะตำแหน่งที่ปรารถนา เช่น กลุ่มสามมิตร ต้องตรวจสอบในกลุ่มรัฐมนตรีที่ตัวเองเสียโอกาสไป และคาดว่าหลังจากนี้หลายๆ กลุ่มก็จะมีข้อเรียกร้องหรือข้อต่อรองตามมาอีก
ธงหลักมีปัญหาที่พรรค พรรคไม่ได้ตั้งขึ้นมาจากเจตจำนงทางการเมืองหรือการสร้างอนาคตการเมืองที่ถูกต้องแต่เป็นพรรคเฉพาะกิจที่ระดมเครือข่ายกลุ่มอิทธิพลทางการเมืองเข้ามาจัดตั้งพรรค เชื่อว่าจากปมปัญหาดังกล่าวจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของพรรค
พลังประชารัฐต่อความรู้สึกของประชาชนอย่างแน่นอน มันทำให้เห็นธาตุแท้ของกลุ่ม ส.ส. ในพรรคว่าท้ายที่สุดต้องการตำแหน่งทางการเมืองมากกว่าทำหน้าที่ในรัฐสภาเพื่อตรวจสอบหรือนำพาประเทศในฐานะรัฐบาล ภาพลักษณ์เสียแน่นอนและส่งผลต่อสถานะและความยั่งยืนของพรรคในอนาคตด้วย
ทางแก้ระยะสั้นเพื่อประคับประคองพรรคพลังประชารัฐคือผมคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องคุยกับกลุ่มสามมิตรอธิบายเหตุผลให้เกิดความเข้าใจว่าทำไมถึงไม่ได้เก้าอี้รัฐมนตรี หรือไม่ได้เพราะอะไร หรืออาจจะต้องสร้างข้อต่อรองไปว่าหลังจากนี้หนึ่งปี หนึ่งปีครึ่งจะติดตามการกำกับดูแลการทำงานของรัฐมนตรีที่อยู่ในโควต้าของกลุ่มสามมิตร แต่จำเป็นต้องแบ่งให้กับกลุ่มอื่นถ้าเกิดว่าประเมินผลแล้วไม่ผ่านก็จะคืนกลับมาให้กลุ่มสามมิตร
และด้วยคะแนนเสียงของรัฐบาลปริ่มน้ำวิปรัฐบาลจะต้องทำงานอย่างหนัก ส.ส.ลา ประชุมไม่ได้ โดดประชุมไม่ได้วิปรัฐบาลต้องประสานให้สมาชิกจะต้องประชุมทุกนัดเพื่อให้กฎหมายและการบริหารต่างๆ ผ่านไปได้ รวมทั้งอาจต้องเดินเกมการเมืองในลักษณะที่เป็นใต้ดินด้วย คืออาจจะต้องมียุทธศาสตร์ในการซื้อ ส.ส. จากพรรคการเมืองอื่นหรืองูเห่าจากพรรคอื่นเข้ามาหนุนหรือเวลาการลงมติกฎหมายสำคัญๆ ต้องมีการล็อบบี้ ส.ส. พรรคฝ่ายค้าน เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image