วิพากษ์ความขัดแย้ง ‘พปชร.’ ผลพวง รธน.-ต่อรองไม่สิ้นสุด

หมายเหตุ – ความเห็นนักวิชาการถึงทางออกกรณีความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ระหว่างกลุ่มสามมิตรกับแกนนำพรรค ถึงการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะส่งผลต่อการบริหารและการขับเคลื่อนงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือไม่อย่างไร


 

Advertisement

สติธร ธนานิธิโชติ
รักษาการผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า

ธรรมชาติของการรวมตัวของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ตราบใดที่ไม่สามารถหลอมรวมกันและสร้างกันเป็นพรรคการเมืองแบบที่สลายมุ้งได้ ก็จะมีปัญหาเกิดขึ้นตลอด ต้องเข้าใจว่าพรรคอายุน้อย เพิ่งรวมตัวได้ไม่กี่เดือน และก็มาจากหลากหลายกลุ่ม อุดมการณ์ทางการเมืองไม่ได้ชัดมาก

เพียงแต่มารวมตัวกันเพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี เหมือนพรรคการเมืองในอดีตที่รวมตัวกันเพื่อสนับสนุนผู้นำพรรคให้ชนะการเลือกตั้ง

เป้าหมายเช่นนี้ทำให้ความคิดหรือจุดยืนทางการเมืองไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกัน อย่างกลุ่มสามมิตร กับกลุ่ม กปปส.ที่เห็นชัดว่ามาจากฝั่งคนละสี

Advertisement

ตอนนี้ต่างฝ่ายต่างก็ยังมองกลุ่มอื่นภายในพรรคว่าไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกัน อาจจะมองว่าเป็นคู่แข่งด้วยซ้ำ

ประกอบกับคนที่มารวมตัวกันส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองแบบเก่าที่อยู่ในโลกของการจัดโควต้ารัฐมนตรีว่า ส.ส.กี่คนเท่ากับรัฐมนตรีกี่ที่ ใครเป็นหัวหน้ากลุ่มก๊วนก็ถูกผลักดันให้เป็นรัฐมนตรี นายกฯก็ขัดใจไม่ได้ ในขณะที่การเมืองไทยอำนาจต่อรองไปอยู่ที่ตัวผู้นำพรรคมากขึ้น

ผลสำเร็จของ พปชร.ตอบได้ยากว่าอยู่ที่การนำชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ หรือชื่อของ พปชร.ไปหาเสียง

ลำพังเพียงกลุ่มต่างๆ อย่างกลุ่มสามมิตร ถ้าไม่มีแกนเหล่านี้ ไม่มีกลไกสนับสนุน จะสามารถชนะการเลือกตั้งมี ส.ส. 31 เสียง เพื่อมาต่อรองเก้าอี้ได้ขนาดนี้หรือ

คำตอบที่ได้น่าจะเป็นตรงกันข้าม และถ้าตราบใดที่ความสัมพันธ์ยังเป็นเช่นนี้ ความวุ่นวายจะเกิดขึ้นแน่นอน

ถามว่า ในอนาคตจะมีปัญหาหรือไม่ ก็ไม่แน่ ตราบใดที่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจยังอยู่ในระดับที่ตัว พล.อ.ประยุทธ์ สามารถกำกับควบคุมกลุ่มต่างๆ ได้อยู่หมัดก็จะสงบอยู่

แต่ก็ต้องเข้าใจว่า เวลาสงบแต่ละครั้ง ไม่ใช่แค่ใช้อำนาจ บารมีเข้าไปกดไว้ แต่ยังมีคำมั่นสัญญา การให้ความหวัง การปลอบประโลมอะไรบางอย่าง เช่น รอบนี้ไม่ได้ รอบหน้าจะได้ ถ้าในอนาคตไม่ได้ตามที่คาดหวังเอาไว้ ก็จะมีการดำเนินการเรียกร้องเป็นระยะๆ จะเกิดเร็วเกิดช้าก็ขึ้นอยู่กับปรากฏการณ์ทางการเมืองด้วย เช่น มีกฎหมายสำคัญเข้าสู่สภา มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์

ดังนั้น เมื่อมีเงื่อนไขทางการเมืองที่ทำให้กลุ่มนั้นๆ สำคัญขึ้นมาเมื่อใด ก็จะมีเสียงดังขึ้นมาเมื่อนั้น

ผมคิดว่ามี 2 ทางออกจากวังวนเช่นนี้ คือ 1.พล.อ.ประยุทธ์คุมพรรคพลังประชารัฐได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ทำให้ทุกกลุ่มละลายกลายเป็นเนื้อเดียวกัน คล้ายกับสมัยพรรคไทยรักไทยที่ใครจะลงเลือกตั้งสวมเสื้อพรรคจะได้รับชัยชนะกลับมาไม่ว่าเป็นใครหรือมีฐานเสียงส่วนตัวมากขนาดไหน ซึ่งจะทำเช่นนั้นได้แบรนด์พรรคหรือแบรนด์ พล.อ.ประยุทธ์ต้องแข็งแกร่งพอ เพื่อทำให้กลุ่มต่างๆ มาง้อเพื่อที่ชนะการเลือกตั้ง

2.แบรนด์ของ พล.อ.ประยุทธ์ หรือพรรคไม่พอ ต้องอาศัยตัวบุคคลในท้องถิ่น เช่น พื้นที่นี้ต้องมีกลุ่มสามมิตรถึงจะชนะการเลือกตั้งได้ ทำให้พรรคต้องไปง้อ ก็จะเปลี่ยนความสัมพันธ์ใหม่ พรรคต้องดูว่ากลุ่มไหนมีกี่คนควรได้รัฐมนตรีเท่าไร ใครรวม ส.ส.ได้มากกว่า ก็จะได้เก้าอี้มากกว่า แต่แบบที่ 2 พรรคไม่เข้มแข็ง ตัวบุคคลในพื้นที่เข้มแข็งมากกว่า

อย่างไรก็ตาม วันนี้ค่อนข้างมั่นใจว่าเสียงส่วนใหญ่มาจาก พล.อ.ประยุทธ์ และกลไกที่ พปชร.ใช้ ส.ส.ที่สอบได้เข้ามาก็อาศัยกลไกเหล่านี้ ต้องมาพึ่งพิงการนำชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ไปขายเพื่อชนะการเลือกตั้ง ทำให้ ส.ส.เหล่านี้ต้องยอม เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์เสียงแข็งขึ้นมา

หลังจากนี้ไปเป็นเรื่องของทั้ง 2 ฝ่ายต้องไปแข่งขันกัน พล.อ.ประยุทธ์ ต้องทำให้ความเป็นตัวเองกับความเป็นพรรคเข้มแข็งขึ้น ให้กลุ่มต้องยอมอยู่กับพรรคเพื่อชนะการเลือกตั้ง

ในขณะเดียวกันกลุ่มต่างๆ ต้องสร้างมูลค่าของพวกเขาขึ้นมา เพื่อไม่ให้ถูกจำกัดควบคุม ซึ่งแนวโน้มตัวพล.อ.ประยุทธ์กับความเป็นพรรคน่าจะได้เปรียบกว่า


ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ระบบมุ้งการเมืองสืบเนื่องจากกรณีของพรรคพลังประชารัฐ มี 2 สาเหตุ คือ 1.การออกแบบระบบการเมืองที่เรียกว่าสถาปัตยกรรมทางการเมือง หรือการออกแบบรัฐธรรมนูญ 2.เป็นธรรมชาติของระบบการเมืองของไทยในตอนนี้ที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการไม่ยอมรับดุลอำนาจที่แท้จริง

ประการแรก การออกแบบรัฐธรรมนูญไม่ให้มีเสียงข้างมาก แบบที่เคยถูกประณามว่าเป็นเผด็จการรัฐสภา ทำให้เกิดการออกแบบรัฐธรรมนูญที่ไม่อนุญาตให้พรรคที่มีคะแนนเสียงเกินกว่าจำนวนที่นั่งพึงมีในสภาผู้แทนราษฎรได้มีส่วนของบัญชีรายชื่อ ดังจะเห็นได้จากพรรคเพื่อไทย ที่ถึงแม้จะได้ ส.ส.เขตจำนวนมาก แต่ไม่มีโอกาสที่จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเลย เป็นวิธีการกดคะแนนเสียงส่วนใหญ่ให้ลดทอนน้ำหนักลง

โดยสภาพเช่นนี้ทำให้การต่อรองของพรรคการเมืองเกิดขึ้นอย่างยิ่งยวด เพราะในเมื่อพรรคที่ตั้งรัฐบาลไม่ใช่พรรคที่มีเสียงข้างมากด้วยตัวเอง ก็ต้องไปอาศัยพรรคขนาดกลางและขนาดเล็ก จึงกลายเป็นว่าพรรรคขนาดกลางและขนาดเล็กมีอำนาจการต่อรองขึ้นมา

ประการที่ 2 เป็นธรรมชาติของระบบการเมืองที่เราเผชิญอยู่ขณะนี้ ซึ่งต้องย้อนไปตั้งคำถามตั้งแต่ตอนร่างรัฐธรรมนูญที่ออกแบบไม่ให้มีเสียงข้างมาก (simple majority) และยังเพิ่มอำนาจให้ ส.ว.มีบทบาทในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ผลคือทำให้เกิดธรรมชาติของระบบการเมืองที่จะต้องมีพรรคเล็กพรรคน้อย มุ้งเล็กมุ้งน้อย ซึ่งเมื่อเปิดให้มีมุ้ง การต่อรองจึงเกิดขึ้นเป็นเรื่องธรรมดา

เรื่องมุ้งทางการเมืองต้องย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยที่เราใช้รัฐธรรมนูญ 2521 คนที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็คาดการณ์อย่างเห็นได้ชัดว่าจะต้องเกิดระบบมุ้ง เพียงแต่ยังเป็นมุ้งที่คุมได้ด้วยเสียงข้างมาก

แต่ในกรณีนี้ พรรคพลังประชารัฐไม่สามารถเป็นรัฐบาลด้วยตัวเอง ในทางกลับกัน ถ้าเพื่อไทย อนาคตใหม่ และอีก 5 พรรค จัดตั้งรัฐบาล ก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลที่มีการต่อรองน้อยกว่า แต่เมื่อตั้งรัฐบาล 20 พรรค ซึ่งมากกว่ายุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกฯ ที่มีไม่ถึง 10 พรรค ก็กลับกลายเป็นเรื่องประหลาด มุ้งที่มีเสียงจำนวนมากสู้มุ้งที่เสียงน้อยไม่ได้ เช่น พรรครวมพลังประชาชาติไทย มีไม่กี่เก้าอี้แต่ก็ได้รัฐมนตรี

ในขณะที่กลุ่มสามมิตรบอกว่า เราได้ตั้งเท่านี้ แต่ทำไมไม่ได้โควต้ารัฐมนตรีเท่ากับจำนวนพรรคอื่น ขนาดพรรคที่เข้าสภา 1 คน ยังอยากจะได้เป็นรัฐมนตรี สิ่งนี้เรียกว่า Man made error เป็นความผิดพลาดที่เกิดจากมนุษย์

ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความเข้มแข็งของรัฐบาลอย่างแน่นอน เพราะการต่อรองกันเช่นนี้ไม่มีที่สิ้นสุด ปัญหาคือคะแนนเสียงที่ปริ่มน้ำมาก รัฐบาลจะยิ่งเผชิญกับความตึงเครียดภายใน ในการโหวตครั้งสำคัญ

ถ้าสมมุติว่า ส.ส.ในฟากรัฐบาลป่วย 5 คน ไปเข้าห้องน้ำหรือเผลอไปสูบบุหรี่แล้วกลับเข้ามาไม่ทันก็เป็นเรื่องได้ นี่คือตัวอย่างของ man made error เพราะตอนร่างรัฐธรรมนูญก็ร่างโดยคิดว่าจะกันพรรคที่ได้เสียงข้างมากธรรมดาถึงออกแบบเช่นนี้ ทำให้เกิดพรรคขนาดกลางซึ่งมีคะแนนเสียงเพิ่มขึ้นมาเพราะได้รับจำนวน ส.ส.พึงมีในสภา

หรือล่าสุดพรรคขนาดเล็กถูกบีบออกเพื่อเพิ่มเก้าอี้ให้กับพรรคประชาธิปัตย์ สูตรที่คำนวณ ส.ส.ให้พรรคเล็กสามารถเข้าร่วมเป็น ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎรในที่สุดถูกรีครูทเข้าร่วมรัฐบาล เป็นระบบที่เล็งเห็นผลได้และยินยอมที่จะให้เกิดสภาวะแบบนี้

เพราะฉะนั้น ผลที่ตามมาจึงต้องมีการต่อรองจนกว่าจะสิ้นรัฐบาลและเลือกตั้งใหม่ และต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะถ้าไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะเจอสภาพไม่แน่นอนเช่นนี้ต่อไปอีก

ซึ่งสมมุติว่าครั้งหน้าพรรคพลังประชารัฐเกิดได้รับความนิยมขึ้นมา ได้ ส.ส.เขต แต่ไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อก็จะกลายเป็นพรรคเสียงข้างน้อยและอาจไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล

รัฐธรรมนูญเช่นนี้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับคุกกี้เสี่ยงทาย เพราะเล็งเห็นผลได้แต่มีความไม่แน่นอนเกิดขึ้น ผลคืออาจจะเกิดรัฐบาลแบบบุฟเฟต์คาบิเนตคือ แบ่งกันในมุ้งคนละ 1-2 ปี เปลี่ยนเวียนกันมานั่งเป็นรัฐมนตรีจนสิ้นอายุรัฐบาลนี้ เพราะทุกคนอยากเป็นรัฐมนตรีเพื่อเป็นเกียรติเป็นศรีแก่วงศ์ตระกูล แต่ไม่ใช่เพื่อประเทศชาติ

 

ผศ.ดร.พิชิต รัชตพิบุลภพ
ผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต ม.ราชพฤกษ์

การวิ่งเต้นเพื่อช่วงชิงตำแหน่งรัฐมนตรีของกลุ่มต่างๆ ภายในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ตามสื่อที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน เราสามารถอธิบายถึงสภาวะของปรากฏการณ์ดังกล่าวได้อย่างง่ายๆ ว่า เป็นการต่อสู้ของแต่ละกลุ่มทางการเมือง หรือมุ้งการเมือง ที่มีอยู่มากมายภายในพรรค ซึ่งมุ้งทางการเมืองนี้เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่มีค่านิยมร่วมกันบางประการในเรื่องของผลประโยชน์

โดยผูกพันซึ่งกันและกันภายใต้ระบบอุปถัมภ์

สืบเนื่องจากจำนวนตำแหน่งรัฐมนตรีของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีอยู่อย่างจำกัด แต่ทว่าความต้องการของคนที่ต้องการเข้ามาดำรงตำแหน่งนั้นมีมาก เพราะฉะนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่า กระบวนการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีที่มีอยู่อย่างจำกัดนี้ต้องอาศัยมุ้งทางการเมืองเป็นเครื่องมือเพื่อช่วยในการต่อรอง เพิ่มพลังในการแย่งชิงตำแหน่งรัฐมนตรี

แต่ทว่าการเจรจาต่อรองของแต่ละมุ้งทางการเมืองภายในพรรคพลังประชารัฐจะบรรลุมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ถึงแม้ว่าจะมีจำนวนสมาชิกภายในกลุ่มที่มาก

หากแต่ว่าไม่มีความใกล้ชิดกับ พล.อ.ประยุทธ์ รวมถึงการไม่สนับสนุนทุนในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาเท่าที่ควรก็ยากที่จะประสบความสำเร็จในยึดตำแหน่งรัฐมนตรี

คำถามที่สำคัญคือว่า หากแต่ละมุ้งทางการเมืองไม่ได้รับการตอบสนองตามที่ต้องการ จะส่งผลต่อการทำงานของรัฐบาลหรือไม่ ทรรศนะต่อประเด็นดังกล่าวขอประเมินออกเป็น 3 ระยะ คือ

ระยะแรกของการร่วมรัฐบาล มุ้งทางการเมืองจะไม่ส่งผลต่อการทำงานของรัฐบาลมากนัก เนื่องจากเป็นช่วงที่แต่ละมุ้งต้องเร่งรีบสร้างสรรค์นโยบายที่ตรงใจประชาชนเพื่อใช้เป็นผลงานในการหาเสียงคราวถัดไป

ระยะกลางของการทำงานของรัฐบาล การจะส่งผลหรือไม่ขึ้นอยู่ที่ว่าจะมีการสลับปรับเปลี่ยนตำแหน่งภายในคณะรัฐมนตรีมากน้อยเพียงใด

ส่วนระยะสุดท้าย แต่ละมุ้งทางการเมืองต้องคำนวณถึงผลดีผลเสียว่าจะคุ้มมากน้อยเพียงใด หากจะอยู่กับพรรคพลังประชารัฐต่อไปหรือควรจะย้ายไปสังกัดใหม่กับพรรคขนาดกลางในการเลือกตั้งครั้งถัดไป เพื่อใช้จำนวนสมาชิกที่ได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.มาเป็นข้อต่อรองต่อตำแหน่งรัฐมนตรีที่กลุ่มตนมีความสนใจ ดังเช่นที่พรรคภูมิใจไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ได้ผลมาแล้ว

มุ้งประเทศไทยไม่ได้ใช้จับยุง แต่เอาไว้ต่อรองกับลุง มันก็ยุ่งๆ กันต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image