สำรวจทิศทางตลาดเงิน แนวโน้ม‘ค่าบาท’ครึ่งปีหลัง

ตรรก บุนนาค
ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านโกบอลมาร์เก็ตส์
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐมีทิศทางอ่อนค่าลงจากการคาดการณ์ของตลาด เกี่ยวกับการลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่วนคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทย ก็มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายตลอดทั้งปี 2562 ท่ามกลางความกังวลด้านเสถียรภาพทางการเงินในระยะยาว แต่มีโอกาสที่ กนง.จะปรับลดดอกเบี้ยลงสูงมากขึ้น เนื่องจากตลาดการเงินผันผวนต่อเนื่อง ซึ่งต้องติดตามความเสี่ยงจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก และแนวโน้มธนาคารกลางส่วนใหญ่ ที่กลับไปใช้นโยบายผ่อนปรนทางการเงินอีกครั้ง

ทิศทางค่าเงินบาทในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากคาดว่าเฟดน่าจะเตรียมปรับลดอัตราดอกเบี้ย ในการประชุมเดือนกรกฎาคมและเดือนกันยายนนี้ รวมถึงไตรมาส 1 ปี 2563 จึงคาดว่าจะทำให้เงินไหลเข้าตลาดหุ้นไทย จนหนุนให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 30-31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงปลายปีนี้ โดยมีโอกาสหลุดจากระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ มาแตะที่ระดับ 29.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากธนาคารหลักของโลก มีแนวโน้มที่จะใช้นโยบายดอกเบี้ยผ่อนคลายหรือปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อพยุงเศรษฐกิจส่งผลให้มีเงินทุนไหลเข้ามาในตลาดเกิดใหม่และไทยมากขึ้น เช่น ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) โดยช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา มีต่างชาติซื้อสุทธิในหุ้นไทยแล้วกว่า 50,000 ล้านบาท ขณะที่พันธบัตรซื้อสุทธิ 20,000 ล้านบาท จากปีก่อนที่ขายสุทธิหุ้นไทย 280,000 ล้านบาท และซื้อพันธบัตรสุทธิ 100,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ แนวโน้มในไตรมาส 1 ของปี 2563 มองว่าค่าเงินบาทอาจจะเคลื่อนไหวอยู่ในระดับ 29.75-31.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งขณะนี้เงินบาทแข็งค่าแล้วกว่า 6.32% โดยการแข็งค่าจะถูกจำกัดจากภาวะเศรษฐกิจการค้าโลก การส่งออกและการท่องเที่ยวที่ชะลอตัว รวมถึงแนวทางการดูแลค่าเงินบาทของทางการ นอกจากนี้ ยังต้องระวังในเรื่องของกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายที่มีโอกาสกลับทิศอย่างรวดเร็ว จากความไม่แน่นอนของนโยบายสหรัฐ รวมถึงต้องติดตามนโยบายการค้า และการต่างประเทศของประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ เช่น สหรัฐและจีน การสรรหาประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) คนใหม่ การเจรจาถอนตัวออกจากอียูของอังกฤษ (เบร็กซิท) ที่มีเส้นตายวันที่ 31 ตุลาคมนี้ รวมถึงความตึงเครียดในตะวันออกกลาง และราคาน้ำมัน ที่กำลังมีข้อพิพาทอยู่ในขณะนี้ด้วย

Advertisement

ประเด็นสำคัญที่มีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนคือ สหรัฐมีแนวโน้มที่จะลดอัตราดอกเบี้ย เพราะเศรษฐกิจของสหรัฐเริ่มมีการชะลอตัว ซึ่งเป็นผลเสียมาจากสงครามทางการค้าที่ยืดเยื้อมากขึ้น โดยท่าทีของธนาคารกลางหลักแห่งอื่นๆ อีซีบีก็เล็งลดดอกเบี้ยเช่นกัน ส่วนธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) จะยังคงรักษานโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป

ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีโอกาสที่จะลดดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ แม้เดิมคาดว่าคงดอกเบี้ยไว้ที่ 1.75% แต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศ และมองว่า กนง.มีขีดความสามารถในการทำนโยบายการเงินที่ค่อนข้างจำกัด หรือมีกระสุนน้อยนัดสุดท้ายในการดำเนินนโยบายการเงิน

รุ่ง สงวนเรือง
ผู้อำนวยการผู้บริหารกลุ่มวิจัยและวิเคราะห์ตลาดการเงิน
ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

Advertisement

เมื่อสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ยังไม่มีความชัดเจนเท่าที่ควร จึงสร้างบรรยากาศทำให้ตลาดโลกค่อนข้างอึมครึม โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรทั่วโลกอยู่ในช่วงขาลง ทำให้ปี 2562 สถานการณ์พลิกกลับจากเดิมที่ตลาดเคยเชื่อว่า สหรัฐจะรับมือกับสงครามการค้าได้ดีกว่าตลาดเกิดใหม่ อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลเยอรมันอยู่ในทิศทางขาลง โดยธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เล็งที่จะผ่อนปรนทางการเงินระลอกใหม่ ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย ก็มีแนวโน้มให้ผลตอบแทนลดลงตามตลาดโลก

ต่อมาเป็นการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ส่งสัญญาณว่า จะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยลง จากที่เคยเปิดเผยในช่วงปลายปี 2561 ว่าในปี 2562 จะปรับขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้ง ซึ่งเรื่องนี้ตลาดรับรู้ไปแล้วและคาดการณ์ว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยลง 3 ครั้งในปีนี้แทน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สงครามการค้าได้ขยายความขัดแย้งเป็นวงกว้างมากขึ้น โดยสหรัฐได้มีการต่อสู้กับเรื่องเทคโนโลยี ต่อต้านการใช้ 5G ของจีน, สหรัฐเตรียมขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ อากาศยาน และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องจากอียู รวมถึงยังมีข้อพิพาทกับอีกหลายประเทศ ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกต้องเผชิญกับอุปสรรคและความท้าทายหลายด้าน

ค่าเงินบาทในช่วงแรกของปี 2562 แข็งค่าสูงกว่าประเทศในภูมิภาคเดียวกันค่อนข้างสูง โดยแข็งค่าขึ้นกว่า 6% เมื่อเทียบกับฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และอินเดีย ทำสถิติแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 6 ปี แต่จากสถิติที่ผ่านมาเคยลดลงไปมากสุดที่ระดับ 28.55 ต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งส่งผลกับความสามารถทางการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในการส่งออกสินค้าไปขายในต่างประเทศ ค่าเงินบาทแข็งขึ้นมีผลมาจากการที่มีเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติไหลเข้ามามากขึ้น เพราะต่างชาติให้ความมั่นใจในการนำมาลงทุนด้านต่างๆ เพิ่มมากขึ้น แต่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะการที่นักลงทุนนำเงินเข้ามาพักในตลาดทุนไทย ไหลเข้ามาเร็วก็มีโอกาสที่จะไหลออกไปเร็วเช่นกัน

หากเฟดมีการลดอัตราดอกเบี้ยลง 3 ครั้งจริง จะทำให้เงินบาทมีความผันผวนมากขึ้น เพราะจะดึงดูดให้นักลงทุนนำเงินเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น

จิติพล พฤกษาเมธานันท์
นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุนธนาคารกรุงไทย

ค่าเงินบาทไทยปลายปี 2562 จะแข็งค่าอยู่ที่ระดับ 30.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมที่มองว่าจะอยู่ที่ระดับ 30.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โอกาสจะเห็นเงินบาทแข็งค่าอยู่ในระดับ 29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ มีน้อยมาก แค่ 5-10% เท่านั้น เนื่องจากเมื่อมีกระแสเงินทุนไหลเข้ามาในตลาดทุนไทยอย่างต่อเนื่อง ก็จะเกิดการขายเพื่อทำกำไร ซึ่งจะทำให้เงินทุนต่างชาติกระจายออกจากตลาดทุนไทย และค่าเงินบาทก็จะลดความแข็งค่าลง ประกอบกับหากสงครามการค้าสหรัฐและจีนมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น จะทำให้นักลงทุนต่างชาติหันไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัย อย่างพันธบัตรดอลลาร์ ทำให้จะเกิดกระแสการไหลออกของเงินทุนต่างชาติในตลาดทุนไทย ซึ่งก็จะทำให้เงินบาทลดการแข็งค่าลงเช่นเดียวกัน

ในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2563 คาดว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่าที่ระดับ 30.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากช่วงเดือนมกราคม จะเป็นฤดูกาลที่มีกระแสเงินทุนต่างชาติไหลเข้ามามากกว่าทุกเดือน ทำให้เงินบาทจะแข็งค่ามากที่สุดในช่วงเดือนนี้

โดยหากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ก็จะทำให้ธนาคารกลางของหลายประเทศปรับลดดอกเบี้ยลงตาม จะทำให้มีกระแสเงินทุนจากต่างชาติไหลเข้ามาในตลาดทุนไทยเพิ่มขึ้นประมาณ 1-2 แสนล้านบาท จากเดิมที่ประเมินว่าจะไหลเข้ามา 1 แสนล้านบาท เนื่องจากครึ่งปีแรกมีเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ไหลเข้ามาในตลาดทุนไทยแล้วกว่า 1.2 แสนล้านบาท

พชรพจน์ นันทรามาศ
ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงาน Global Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย

ขณะนี้สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน (เทรดวอร์) ถือว่าอยู่ในช่วงพักรบ เพราะสหรัฐยังชะลอการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนรอบใหม่มูลค่า 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐออกไป ซึ่งคาดว่ามีโอกาสสูงมากที่สหรัฐจะปรับกำแพงภาษีขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากครั้งก่อนที่จะปรับขึ้นภาษีรอบ 2 ก็มีการพักเจรจากันเหมือนครั้งนี้ หลังจากนั้นก็ปรับขึ้นเพิ่มอีก 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งรอบนี้ก็อาจจะเป็นเหมือนรอบที่ผ่านมาได้ จึงมีผลทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ซึ่งเป็นการชะลอตัวลงจากการชะลอการลงทุนของผู้ประกอบการ เนื่องจากเมื่อมีความรู้สึกว่าเศรษฐกิจยังมีความไม่ชัดเจน ก็ทำให้นักลงทุนไม่กล้าลงทุนเพราะกลัวความเสี่ยง จึงทำให้เศรษฐกิจโลกยังมาสามารถขยายตัวได้

ปี 2562 กรุงไทยได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยโตอยู่ที่ 3.3% จากเดิมที่ประเมินไว้ที่ 3.8% และปี 2563 คาดจะเติบโตที่ 3.6% พร้อมปรับลดการส่งออกเหลือเติบโตเพียง 0.8% จากเดิม 4% ส่วนปี 2563 คาดว่าการส่งออกจะเติบโตที่ 2.5% ถึงแม้ว่าสหรัฐและจีนจะตกลงพักรบชั่วคราวหลังการประชุม จี-20 เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม แต่คาดว่าสหรัฐจะยังเก็บภาษีกับสินค้ามูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์จากจีนในช่วงไตรมาสที่ 4 ซึ่งจะกดดันภาคการส่งออกต่อไป โดยมองว่าแรงกระตุ้นจากภาครัฐยังมีค่อนข้างจำกัด นอกจากมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยแล้ว คาดว่าเม็ดเงินลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ จะเบิกจ่ายได้เพียง 7.7 หมื่นล้านบาท ในปี 2562 ซึ่งน้อยกว่าแผนที่วางไว้ แต่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีต่อไป

สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 คาดว่าอาจจะเบิกจ่ายได้ไม่เต็มที่ในช่วงต้นปีงบประมาณ ในส่วนของภาคอสังหาริมทรัพย์ ยังมีการวิเคราะห์กันว่ากำลังซื้อของคนจีนจะกลับมาเพิ่มขึ้นหรือไม่ เนื่องจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง และจีนก็ยังมีข้อพิพาทกับสหรัฐอยู่ และหากกำลังซื้อของจีนไม่กลับมา อาจจะทำให้ภาคอสังหาฯของไทยชะลอการเติบโตได้ เพราะที่ผ่านมากำลังซื้อของจีนมีความสำคัญกับไทยมาก จากข้อมูลพบว่าเม็ดเงินใช้จ่ายในภาคอสังหาฯของจีนและฮ่องกง มีกว่า 4 หมื่นล้านบาท จากภาพรวมที่ 9.3 หมื่นล้านบาท ขณะที่ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ตลาดที่อยู่อาศัย ออกมายังมีแรงจูงใจไม่มากนัก เพราะให้ซื้อแค่ในระดับราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท ขณะที่ซัพพลายเหลือไม่มาก

ส่วนความต้องการของที่อยู่อาศัยในระดับ 1 ล้านบาทมีน้อย มีแค่ 2 กลุ่มที่ต้องการเท่านั้นคือ กลุ่มเด็กจบใหม่และกลุ่มคนใช้แรงงาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image