รายงานหน้า2 : นักวิชาการเชียร์เปิดกว้าง ส.ส.แต่งกายประชุมสภา

หมายเหตุนักวิชาการให้ความเห็นถึงการแต่งกายของ ส.ส. ในการประชุมสภา ที่มี ส.ส.บางคนแต่งชุดชาติพันธุ์ และชุดไทยโบราณ จากเดิมที่ข้อบังคับกำหนดการแต่งกายตามชุดสากลนิยม ชุดพระราชทาน หรือชุดที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรกำหนด โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญยกร่างข้อบังคับการประชุม จะเสนอร่างข้อบังคับรวมถึงเรื่องการแต่งกาย เข้าที่ประชุมสภาวันที่ 11 กรกฎาคมนี้

 

รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เรื่องการแต่งกายของ ส.ส.ในการเข้าประชุมสภา เป็นเรื่องที่เราไม่เคยคิดกันมาก่อน ดังนั้น เมื่อเราไม่คิดกับอะไร ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าเราอาจยอมตามกระแสนิยมบางอย่างไปแล้ว เช่น เมื่อก่อนเราคิดว่าการไปรัฐสภาจะต้องใส่สูท ใส่ชุดสากล แต่คำถามคือ เราเคยตั้งคำถามไหมว่าวิธีการแต่งตัวแบบนั้นสะท้อนอะไรหรือไม่ แง่หนึ่งอาจสะท้อนระบบอำนาจนิยมแบบหนึ่งหรือเปล่า
ส่วนหนึ่งที่เราเห็นการใส่ชุดสากล มักจะนิยมความเป็นชายมากกว่า เพราะไม่ว่าจะหญิงหรือชาย ท่อนบนมักใส่เป็นสูท ลักษณะของผู้ชายมากกว่า ขณะที่การแสดงออกทางเพศจริงๆ แล้วก็อาจจะถูกบดบัง ถูกกดทับด้วยความเป็นชายเสียมาก
ขณะเดียวกัน ทิศทางของกระแสโลกที่เห็นในปัจจุบันมีการแสดงออกทางด้านอัตลักษณ์มากขึ้น ไม่ว่าอัตลักษณ์ทางเพศ ทางวัฒนธรรม ทางชาติพันธุ์ สิ่งเหล่านี้ทำให้เราต้องมาทบทวนกันหรือไม่ว่าวิธีการแต่งกายแบบเดิมที่คิดว่าสุภาพ เรียบร้อย จริงๆ แล้วมันแฝงด้วยความนิยมแบบหนึ่งเช่นกัน เพียงแต่เราไม่ยอมให้มีความนิยมแบบอื่นๆ ซึ่งก็ไม่ได้แปลว่าไม่สุภาพ แต่เป็นความสุภาพในแบบต่างๆ เช่น ชุดประจำชาติพันธุ์ ซึ่งเขาก็มี และไม่ใช่ว่าเขาจะแต่งแบบนั้นทุกวัน แต่เป็นการแต่งเฉพาะโอกาสสำคัญ ซึ่งมีความพิเศษ มีความสุภาพ มีความเหมาะสมในลักษณะของเขา
ทั้งนี้ เรื่องที่เราไม่เคยมี เช่น การแต่งกาย การแสดงออกของอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ เพศสภาวะ เราอาจต้องเปิดให้เห็นในแง่ที่สังคมไทยมีการยอมรับตรงนี้มากขึ้นแล้ว จริงๆ ยังน้อยไปด้วยซ้ำ
รัฐสภาเป็นสถานที่ที่เป็นตัวแทนของประชาชน สะท้อนความต้องการของประชาชน ขณะเดียวกันก็ควรเป็นที่ที่บอกกกล่าว ส่งสารอะไรบางอย่างให้กับสังคม หรือชาวโลกได้รับรู้ว่าสังคมไทยตอนนี้ไปถึงไหนแล้ว ดังนั้น การเปิดให้แสดงอัตลักษณ์ ไม่ว่าจะด้านใด จะเป็นตัวบอกว่าสังคมนั้นๆ เป็นสังคมเปิดมากขึ้น เป็นสังคมที่ยอมรับความหลากหลายมากขึ้น
กรณีคณะกรรมาธิการร่างข้อบังคับการแต่งกาย เตรียมเข้าที่ประชุมรัฐสภาเร็วๆ นี้นั้น ต้องดูว่าเจตนารมณ์ของกรรมาธิการชุดนี้เป็นอย่างไร ที่เราบอกว่าความสุภาพ ความเรียบร้อยเป็นอย่างไร เช่น นักเรียน นักศึกษาควรแต่งกายอย่างไร แบบไหนสุภาพ เรียบร้อย บอกว่าต้องมีชุด มีเครื่องแบบ สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงการส่งผ่านค่านิยมบางอย่าง คือค่านิยมของการบังคับ ค่านิยมของอำนาจนิยม
หากกรรมาธิการชุดนี้ยื่นระเบียบข้อบังคับที่เปิดมากขึ้น ก็สะท้อนให้เห็นว่า วัฒนธรรมทางการแต่งกาย หรือการเมืองวัฒนธรรมของการแต่งกายก็จะเปิดมากขึ้น นี่เป็นสัญญาณสำคัญ หากรัฐสภายังยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรมไม่ได้ เราจะหวังให้เขาเข้าใจและยอมรับความแตกต่างหลากหลายในสังคมได้อย่างไร
เรื่องทรงผมก็เหมือนกัน เพียงแต่ใครอยากจะมีแฟชั่นก็คงเป็นเรื่องธรรมดา ส่วนหนึ่งเชื่อว่าแต่ละคนมีเกียรติและเคารพประชาชนอยู่แล้ว หากเขามาจากระบอบประชาธิปไตยจริงๆ ฉะนั้น ยังต้องมาระบุอีกหรือว่ารัฐสภาต้องแต่งตัวอย่างไร ในขณะที่กลุ่มนักเรียน นักศึกษาเขาเรียกร้องให้ยกเลิกเครื่องแบบ แต่รัฐสภาซึ่งเป็นสถานที่ที่สะท้อนถึงความมีวุฒิปัญญา สะท้อนถึงความมีเกียรติต่างๆ ยังต้องมาบอกอีกหรือว่าต้องแต่งตัวอย่างไร

Advertisement

 

รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส
คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก

เรื่องการแต่งกายเป็นวัฒนธรรมทางสังคม ซึ่งแต่ละชาติ แต่ละเผ่าพันธุ์มีวัฒนธรรมของตัวเอง โดยเฉพาะหากเป็นชาติพันธุ์ที่มีอายุยืนยาวย่อมมีวัฒนธรรมทางสังคมของเขาค่อนข้างยาว เช่น ไทยเราเองก็มีวัฒนธรรมมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี มาจนถึงรัตนโกสินทร์ ดังนั้น รูปแบบการแต่งกายจึงเป็นวัฒนธรรมแต่ละยุคสมัยนั้น
การที่บรรดา ส.ส. หรือบุคคลสาธารณะจะแต่งกายชุดประจำชาติ ชุดประจำท้องถิ่น ไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสม ตรงกันข้าม สิ่งนี้เป็นการให้ความเคารพ หมายความว่า เป็นการเคารพบรรพบุรุษ เคารพชาติพันธุ์ของเขา ให้ความสำคัญกับท้องถิ่นของเขา
ดังนั้น ใครก็ตามที่แต่งตัวในลักษณะที่เป็นชุดท้องถิ่นจึงถือว่าเป็นเรื่องเหมาะสมและทำได้ เช่น เวลาประชุมอาเซียน ชาติไหนที่เป็นประธานแล้วมีการจัดประชุมที่ประเทศของเขา เขาจะให้ผู้นำใส่ชุดประจำชาติของเขา หรือไม่ก็ผ้าที่ถักทอมาจากวัสดุในท้องถิ่นในประเทศนั้นๆ สิ่งนี้ถือเป็นการแสดงถึงเอกลักษณ์ของความเป็นชาติ เป็นการช่วยสร้างความจดจำเวลาข่าวเผยแพร่ออกไป
ถ้าบอกว่าบรรดาบุคคลสาธารณะ ซึ่งขณะนี้อาจหมายถึง ส.ส.ทั้งหลาย น่าจะหันมาแต่งชุดประจำถิ่นของตัวเองก็น่าจะเป็นเรื่องดี นอกจากเป็นการสะท้อนเอกลักษณ์ในท้องถิ่นเขา สร้างจุดสนใจให้คนหันมาสนใจท้องถิ่นเขา ที่สำคัญคือยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจคือ ถ้าเราเห็น ส.ส.คนนี้ใส่ผ้าไหมมัดหมี่ ใส่ผ้าฝ้ายลายดอกของพื้นที่นั้น เราอาจรู้สึกว่าสิ่งนี้น่าสนใจ อยากไปเที่ยวท้องถิ่นเขา อยากไปซื้อผลิตภัณฑ์ของท้องถิ่นเขา นี่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมให้คนหันมาดูเอกลักษณ์ในแต่ละท้องถิ่น รวมทั้งเข้าไปสนับสนุนผลิตภัณฑ์ประเภทหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์มากขึ้น น่าจะเป็นเรื่องดี ไม่ใช่เรื่องเสียหาย และน่าสนับสนุน
แต่เดิมเรารับวัฒนธรรมตะวันตกมาตลอด ผู้ชายใส่สูท ผูกไท ผู้หญิงแต่งกายด้วยสูทคล้ายผู้ชาย เพียงแต่ไม่ผูกไท แต่เราลืมคิดไปว่าบ้านเราอากาศร้อน ถ้าเทียบกับตะวันตกแล้ว การใส่เสื้อผ้าแบบเขาเป็นเรื่องสิ้นเปลืองไฟฟ้า สิ้่นเปลืองทรัพยากรในประเทศมาก แต่เรากลับไปถือว่าตรงนั้นเป็นเรื่องความสุภาพ ใครไม่แต่งแบบนี้คือผิด
ดังนั้น เมื่อ ส.ส.บางคนเขาเริ่มรู้สึกว่าอยากใส่เสื้อผ้าที่สะท้อนชาติพันธุ์ สะท้อนท้องถิ่นของเขา ก็กลายเป็นเรื่องที่มาจับผิดกัน ซึ่งไม่น่าจะใช่ประเด็นที่ ส.ส.จะมาให้ความสำคัญ จนลืมคิดถึงเรื่องอื่นๆ ที่เป็นบทบาทภาระหน้าที่ที่สำคัญกว่า ยังมีเรื่องอื่นอีกมากมายที่เป็นปัญหาของประเทศชาติ เช่น เศรษฐกิจ ต้องให้ความสำคัญมากกว่านี้
อย่างไรก็ดี คนที่ใส่ผ้าของท้องถิ่นมาสามารถสร้างจุดสนใจได้ สื่อก็ให้ความสำคัญ สามารถรายงานได้ว่าผ้านี้มาจากท้องถิ่นไหน หาซื้อได้อย่างไร นี่เป็นการช่วยสนับสนุนผลิตภัณฑ์ของท้องถิ่น ส่วน ส.ส.คนอื่นๆ หากไม่ได้ใส่ ไม่ได้รับความสนใจอะไร ก็ควรมุ่งความสนใจเรื่องอื่นๆ นำเสนอประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ต่อปากท้องของประชาชน มากกว่าจะมาจับผิด ส.ส.คนอื่นๆ ที่เขาเรียกร้องความสนใจจากสื่อได้
ประเด็นเดียวที่ต้องระมัดระวังคือ การแต่งตัวที่สะท้อนวัฒนธรรมท้องถิ่น ต้องไม่มีลักษณะเชิงอนาจาร ดูแล้วโป๊ หรือไม่โชว์เรือนร่างมากเกินไป ดังนั้น หากไม่มีลักษณะอย่างนี้ก็ไม่ใช่ข้อจำกัด สามารถใส่ได้ รวมทั้งเรื่องเสียง หากบางคนใส่เสื้อผ้าลักษณะชาวไทยภูเขา มีกระดิ่งห้อย เมื่อเดินแล้วเกิดเสียงก็อาจไปรบกวนการประชุมได้ ก็ไม่ควรใส่เข้ามา
ดังนั้น หากไม่ใช่ 2 เรื่องนี้ก็คิดว่าการแต่งตัวที่สะท้อนภูมิภาคของตัวเองเป็นสิ่งที่น่าสนับสนุน และควรทำได้

 

ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ
ประธานมูลนิธิสืบสานล้านนา จ.เชียงใหม่

ขอพูดแบบตรงไปตรงมาเลยนะว่า แท้จริงแล้วที่ผ่านมาเราไม่เคยจริงจังกับเรื่องการแต่งกาย แต่เราทำตามฝรั่ง หรือมีคตินิยมตามเขามา ทั้งที่ความจริงแล้วสังคมไทยเรามีชุดสากลของเราอยู่ เป็นชุดที่ดูดี มีความสุภาพ แต่เพราะเรามีความหลากหลาย คือ ทุกกลุ่ม หรือชาติพันธุ์ต่างๆ มีชุดสากลของเขา จะบอกว่าเท่ และดูดีมาก ขอเพียงเรามีการยอมรับความหลากหลายนี้ เพื่อให้ประชาชนได้เห็นภาพว่าการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลายนี้
ครั้งนี้น่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้ ส.ส.แต่งชุดได้หลากหลาย แต่เน้นว่าต้องเป็นชุดที่ดูดี มีความสุภาพ ถือเป็นการช่วยพัฒนาให้แต่ละกลุ่มมีความภาคภูมิใจ และคนอื่นต้องเคารพว่านี่คือ ตัวแทนของประชาชนในระดับชาติที่จะมาจากหลากหลายภูมิภาค กลุ่ม ชาติพันธุ์ กลุ่มศาสนา หากครั้งนี้เราเปิดโอกาสและยอมรับได้ จะเป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะนี่คือประชาธิปไตยที่แท้จริง คือ การเคารพความต่าง และอยู่ร่วมกันในความต่างอย่างมีความสุขและมีสันติสุข
ที่ผ่านมาประเทศไทยเลียนแบบฝรั่ง และมีค่านิยมว่าต้องทำให้เหมือนกันหมด ทำให้คนไม่เข้าถึงความจริง ไม่คุ้นเคยความแตกต่างของกันและกัน แต่นี่คือความจริง เพราะสังคมไทยมีประชาชนที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 70 กลุ่ม ที่อยู่ในแต่ละภูมิภาคและศาสนา แต่เราพยายามเป็นฝรั่งเป็นสากล ก็น่าจะถึงเวลาทำใหม่ คือยอมรับความจริง อยู่กับความหลากหลายซึ่งกันและกัน ทำให้ทุกคนดูดีและภาคภูมิใจในการแต่งกาย
แต่สิ่งที่ต้องรู้ คือ ความสุภาพและเหมาะกับสถานที่เป็นหลัก และคิดออกแบบกันมา โดยให้ยึดชุดสุภาพในยุคปัจจุบัน ซึ่งทุกคนรู้ว่ามีชุดของมันอยู่ ไม่ใช่ย้อนไปในสมัย 700 ปี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image