รายงานหน้า2 : วิพากษ์‘ความเร่งด่วน’ แก้ รธน.-ปัญหาปากท้อง

หมายเหตุความเห็นของนักวิชาการกรณีบรรจุการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญไว้ในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล โดยมีบางพรรคไม่เห็นด้วยอ้างว่าการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชนเป็นความเร่งด่วนมากกว่า

พัฒนะ เรือนใจดี
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.รามคำแหง

ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สำคัญที่สุดขึ้นอยู่กับความจริงใจของทุกฝ่าย หมายความว่า 1.ประชาธิปัตย์ จริงใจจริงหรือไม่ที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือเอาสิ่งนี้มาเป็นข้ออ้างในการเข้าร่วมรัฐบาล 2.รัฐบาลหรือพรรคพลังประชารัฐ จริงใจที่จะแก้ไขหรือไม่ เพราะอย่าลืมว่ามาตรา 256 โยงกับ ส.ว.ด้วย ท้ายที่สุดแล้วพลังประชารัฐ ภูมิใจไทย และประชาธิปัตย์จะแก้ แต่ ส.ว.ไม่เอาด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประสานงานหรือต่อสายไปแล้ว ส.ว.ไม่เอาด้วย ก็แก้ไขไม่ได้ ซึ่งทุกฝ่ายที่ว่ารวมถึงพรรคเพื่อไทยด้วยเพราะต้องมีเสียงฝ่ายค้านไม่น้อยกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ และจะต้องมีการลงประชามติ ท้ายที่สุดส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบ จะเห็นได้ว่ากระบวนการต่างๆ สามารถเสร็จได้ทันภายใน 1 ปีแน่นอน แต่ถ้าขึ้นต้นว่าไม่มีความจริงใจ และเล่นเกมการเมือง 2 ปีก็ไม่เสร็จ
ที่รัฐบาลอ้างว่าต้องทำเรื่องปากท้อง เรื่องนโยบายประชารัฐ รวมถึงเรื่องเศรษฐกิจก่อน เมื่อพูดอย่างนี้ก็รู้ได้ทันทีว่าไม่ได้มีความจริงใจ เพราะทุกเรื่องสามารถทำพร้อมกันได้เนื่องจากคนที่ทำเป็นคนละพวก เรื่องปากท้องเป็นเรื่องของกลุ่มนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และนายอุตตม สาวนายน แต่เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายวิษณุ เครืองาม เป็นผู้รับผิดชอบ เป็นคนละเรื่องกัน แต่ถ้าขึ้นต้นส่งสัญญาณว่าต้องทำทีละเรื่องก็เป็นไปตามที่กล่าวว่า แบบนี้ไม่จริงใจ จะทำมากกว่า 2 อย่างก็ได้ เพราะบ้านเมืองไม่ได้มีปัญหาแค่ 2 อย่าง สามารถทำพร้อมกันไปเป็นร้อยอย่างได้ไม่จำเป็นต้องจัดลำดับความสำคัญ
เมื่อฟังจากที่พรรคประชาธิปัตย์พูด ทั้งนายถาวร เสนเนียม หรือแกนนำหลายคนพูดว่าขอให้เราได้เริ่ม เสร็จไม่เสร็จไม่เป็นไร ก็คิดว่าเขาไม่ได้สนใจว่าจะแก้ได้หรือไม่ได้ ใครจะมายื้ออะไรก็ไม่สนใจเพราะเขากลัวอย่างเดียวว่าจะเสียหน้า ที่เคยพูดไว้ คำพูดนี้ไม่น่าพูดออกมา จะกลายเป็นเสียของ เพราะเท่ากับไม่ได้ใช้งาน ถึงแม้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ จะบอกว่ามาตรา 256 แก้ไขมาตราว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งก็เรียกว่าไม่หลงประเด็นและสามารถจับได้ถูกจุดแล้ว แต่การพูดว่าขอให้เราได้เริ่ม เสร็จไม่เสร็จไม่เป็นไร คำนี้แปลว่า ไม่เสร็จก็ไม่ใช่จุดแตกหัก ไม่เสร็จก็จะยังอยู่ร่วมรัฐบาลต่อไป

 

Advertisement

ยอดพล เทพสิทธา
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.นเรศวร

ขึ้นอยู่กับว่าประเด็นที่จะแก้เล็กหรือใหญ่ เพราะขณะนี้ยังไม่มีการประกาศประเด็นที่จะแก้ไข เพียงแต่บอกว่าจะแก้ให้เสร็จภายใน 1 ปี แต่มีเนื้อหาอย่างไรและจะแก้อะไรบ้าง ถามว่าภายใน 1 ปี แก้เสร็จหรือไม่ ถ้าตั้งใจจริง และเป็นการริเริ่มจากฝั่งนโยบายก็คิดว่าเสร็จเพราะมีจำนวนเสียงที่เพียงพอ แต่ถ้าเป็นประเด็นใหญ่ เช่น ที่มาของ ส.ว.หรือเรื่องอื่นๆ ก็อาจไม่เสร็จภายใน 1 ปี เพราะจะต้องมีช่วงของการแปรญัตติ วาระที่ 1 2 และ 3 ซึ่งอาจจะนานกว่าปกติพอสมควร
โดยปกติสามารถแก้ไขได้ด้วย 3 ส่วน คือ ส.ส. ส.ว. และประชาชน เข้าชื่อ 50,000 คน อย่างไรก็ตามจะต้องผ่านสภาอยู่ดี เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกออกแบบให้แก้ไขยาก เนื่องจากต้องได้รับเสียง ส.ส.และ ส.ว. เมื่อเข้าสภาจะเริ่มเหมือนการแก้กฎหมายทั่วไป เพียงแต่จำนวนเสียงเปลี่ยนไป เริ่มจากวาระที่ 1 รับหลักการ ซึ่งจะต้องมี ทั้ง ส.ส.และ ส.ว. ถ้าเป็นเรื่องที่กระทบ เช่น ที่มาของ ส.ว. ดีไม่ดีอาจตกตั้งแต่วาระแรกในการรับหลักการ อีกประการคือเรามีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องการแก้ไขที่มาของ ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ที่ระบุว่าการแก้ไขที่มาของ ส.ว.เป็นการทำให้ได้มาซึ่งอำนาจด้านการปกครองด้วยวิธีทางอื่น ส่วนตัวจึงคิดว่านี่เป็นเรื่องใหญ่ หากจะแก้ไขเรื่องนี้
ระยะเวลา 1 ปี สามารถแก้รัฐธรรมนูญได้ เป็นเรื่องเล็ก ถ้าทำไม่ได้ก็เกิดจากเงื่อนไข คือ 1.ส.ว.รวมเสียง 250 ไม่เอาด้วย ซึ่งจะจบทันทีไม่ต้องดูส่วนอื่นต่อ เป็นวิธีการที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบไว้เพื่อป้องกันการแก้ไข 2.การที่รัฐบาลอ้างว่าต้องแก้ปัญหาปากท้องและเศรษฐกิจก่อน ส่วนตัวมองว่าสามารถทำควบคู่กันไปได้ เพราะในสภามีคณะกรรมาธิการจำนวนมาก เรื่องปากท้องและเศรษฐกิจเป็นภาระอันดับต้นของรัฐบาลอยู่แล้ว แต่เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของสภา ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล ต้องแยกระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารออกจากกัน ดังนั้นจึงสามารถให้สภาเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เพราะเป็นคนละส่วน โดยอาจเริ่มจากทำแคมเปญร่วมกันกับประชาชนให้มาเข้าชื่อ เป็นต้น

 

จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ
รองอธิการบดี ม.สงขลานครินทร์

ตนเองตั้งข้อสังเกต 3 ประเด็น คือ 1.การแก้รัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องเร่งทำหรือไม่อย่างไร หรือเป็นเรื่องปัจเจกบุคคล เพราะบางคนมองว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน บางคนก็มองว่าไม่จำเป็น น่าจะเป็นเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมมากกว่า แล้วแต่มุมมอง หลายคนมองว่าทำควบคู่กันไป ซึ่งก็เป็นไปได้ ที่จะแก้รัฐธรรมนูญควบคู่กับการแก้ปัญหาเรื่องปากท้อง เรื่องเศรษฐกิจได้ 2.เรื่องปัญหาอุปสรรคการพัฒนาบ้านเมือง ปัจจุบัน สิ่งที่เป็นอุปสรรคเป็นตัวรัฐธรรมนูญ บุคคลหรือระบบที่เป็นอยู่ เราต้องจำแนกให้ชัดว่าปัญหา เกิดจากรัฐธรรมนูญ บุคคลหรือระบบ ต้องแก้ให้ตรงจุด 3.การแก้รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแก้ เพราะฉะนั้นคงต้องใช้เวลาที่จะทำ การแก้คงไม่สามารถแก้ได้ภายใน 3-6 เดือน หรือ 1 ปี เพราะมีกระบวนการต้องอาศัย 375 เสียง ในการแก้ หรือบางมาตราอาจจะต้องให้ประชาชนมีความเห็นไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 เป็นต้น ซึ่งเรื่องเหล่าไม่ใช่เรื่องที่จะใช้เวลาอันสั้นให้เสร็จโดยเร็ว
ส่วนตัวมองว่าการแก้รัฐธรรมสูญสามารถทำควบคู่กันไปกับการพัฒนา การแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องได้ เพราะรัฐธรรมนูญปี 2560 นั้น ผ่านกระบวนการประชามติ ทำอะไรกันหลายรอบ แต่อาจจะไม่ถูกใจบางคนก็เป็นเรื่องของบางคน ดังนั้นคงต้องพิจารณาว่ารัฐธรรมนูญ เป็นอุปสรรคในการแก้ไขปัญหาประเทศ หรือไม่

 

เชิงชาญ จงสมชัย
คณบดีวิทยาลัยการเมืองการปกครอง ม.มหาสารคาม

หากจะให้ประเมินการแก้ไขรัฐธรรมนูญภายใน 1 ปีของรัฐบาล ส่วนตัวคิดว่าทำไม่เสร็จ เพราะมีปัจจัยหลายอย่าง รัฐบาลชุดนี้ในอดีตคือรัฐบาลชุดเก่า ซึ่งต้องพยายามที่จะรักษาผลงานของตัวเองในอดีตให้ได้ เพื่อให้มีความต่อเนื่องของรัฐบาลเก่ากับรัฐบาลใหม่ ช่วยให้ชื่อเสียงของ คสช.ไม่เลวร้ายในภาษาชาวบ้าน จึงต้องมุ่งเน้นการสร้างผลงานให้โดดเด่น โดยตัวของรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งชุดเก่าพยายามสร้าง แต่เมื่อมีรัฐบาลใหม่มามีหลายคนที่อยากจะแก้ไขตรงนี้ เพราะเปรียบเสมือนเป็นการสืบทอดอำนาจ คสช. เหมือนเป็นการล็อกประเทศไว้ 20 ปี ซึ่งคนที่ออกแบบก็คือรัฐบาลยุค คสช. คนที่มองต่างก็จะพยายามแก้ไข แต่คนที่เป็นรัฐบาลชุดเก่า ซึ่งอยู่ในรัฐบาลชุดใหม่ด้วยก็ต้องพยายามประคองไว้ให้ได้มากที่สุด เพราะนั่นคือผลงาน
ส่วนข้ออ้างที่ว่าต้องการแก้ไขปัญหาปากท้องประชาชนก่อน เมื่อประชาชนมีปัญหาปากท้อง ราคายาง ราคาข้าว เศรษฐกิจตกต่ำ รัฐบาลจะต้องเคลียร์จะต้องโชว์การแก้ปัญหานี้ออกมาก่อน การที่จะอ้างในเรื่องเศรษฐกิจ เสมือนเป็นการยอมรับว่า 5 ปีที่ผ่านมา การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไม่เป็นผล ซึ่งการแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนต้องมาก่อน การแก้รัฐธรรมนูญค่อยว่ากัน อาจจะเป็นปีหน้า แต่จะแก้หรือไม่แก้ก็ไม่ทราบ ซึ่งปีหน้าอาจจะมีข้ออ้างอย่างอื่นก็ได้ หรือรัฐบาลชุดนี้อาจจะอยู่ไม่ครบปีก็ได้
เพราะฉะนั้นในช่วงที่เป็นรัฐบาล ก็ต้องสร้างผลงาน ซึ่งปัจจุบันฝ่ายค้านเก่งมาก ในการประชุมแต่ละครั้งทำการบ้านมาดี โดยเฉพาะพรรคอนาคตใหม่ ที่มีคนรุ่นใหม่เข้ามา ในการพูดแต่ละครั้งแน่นด้วยข้อมูล ซึ่งรัฐบาลต้องทำงานหนักมากขึ้น ในที่สุดประเด็นเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายยกเว้นรัฐบาลจับตามอง เป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ เพราะเป็นเหมือนร่างทรง คสช. ในระเบียบกฎหมายใหญ่ของประเทศ

 

ไพสิฐ พาณิชย์กุล
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่

การแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นอยู่กับว่าประเด็นที่จะแก้คืออะไร เพราะมีบางหมวดที่หากจะแก้ต้องมีการทำประชามติจากประชาชน ซึ่งจะส่งผลให้ต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ จึงทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่สามารถเสร็จได้ภายในเวลา 1 ปีแน่นอน หากต้องมีการทำประชามติ
และหากเป็นกรณีที่มีประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างเนื้อหานำเสนอมาด้วยแล้ว ก็จะยิ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญเข้าไปอีก เพราะหากประเด็นการแก้ไขเกี่ยวข้องกับสิทธิและหน้าที่ของประชาชนก็ยิ่งต้องใช้เวลามากขึ้นไปด้วยเพราะจะแก้ไขอย่างไรบ้าง ก็จะมีกลุ่มการเคลื่อนไหวทางการเมืองเกิดขึ้นมาร่วมด้วย ทำให้ระยะเวลาไม่แล้วเสร็จใน 1 ปี และหากเป็นประเด็นของการข้อแก้เพื่อประโยชน์ของ ส.ส.อย่างเดียว ยกตัวอย่าง ขอแก้ไขวิธีการเลือกตั้ง ส.ส. ก็จะเกิดคำถามจากประชาชน และกลุ่มที่เคลื่อนไหวทางการเมืองที่ไม่อยากให้มีการเลือกตั้งตามแบบที่ตนคิดว่าจะเอื้อประโยชน์ต่อ ส.ส. และไม่มีประโยชน์อะไรต่อประชาชนและประเทศชาติ ก็จะเป็นเงื่อนไขและทำให้เกิดการขยายระยะเวลาของการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไปอีก
ทุกอย่างอยู่ที่ประเด็นของการแก้ไข กรณีที่จะเกิดความขัดแย้งจะมาจากทำให้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนดีขึ้นหรือไม่ หากดีขึ้นก็ไม่น่าจะมีความขัดแย้งเกิดขึ้น ยกเว้นว่าจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อ ส.ส.หรือ ส.ว. โดยตรงเท่านั้น ก็จะเกิดความขัดแย้งขึ้นได้ แต่ในแง่ของพรรคร่วมรัฐบาลนั้นไม่น่าจะเป็นตัวการสร้างปัญหา และนโยบายร่วมเป็นอย่างไร เท่าที่ดูไม่น่าจะมีการเสนอแก้รัฐธรรมนูญ คราวนี้ก็ขึ้นอยู่ที่แต่ละพรรคว่าจะอธิบายต่อประชาชนที่หาเสียงอย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image