โครงร่างตำนานคน : สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ หมู่บ้านกระสุนตก : โดย การ์ตอง

คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่จะเริ่มทำงานหลังแถลงนโยบายต่อรัฐสภา มี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็น “ขุนพลเศรษฐกิจ” เหมือนเดิม

คำถามว่า “จะไปรอดหรือไม่” อันหมายถึง “รัฐบาลชุดนี้จะอยู่ได้นานแค่ไหน” อันเป็นเรื่องชวนคุยกันในทุกแวดวงสนทนา อาจจะเป็นเพราะ เรื่องราวของ “เสียงปริ่มน้ำ” ในความหมายของ “ส.ส.ที่สนับสนุนรัฐบาล” กับ “ส.ส.ที่ไม่สนับสนุน” มีจำนวนที่ต่างกันเพียงไม่กี่คน ผสมเข้ากับคุณภาพของรัฐมนตรีที่ภาพลักษณ์ของหลายคนสร้างความกังขาถึงระดับว่าเหมาะสมแล้วหรือที่จะเป็นรัฐมนตรีผู้บริหารประเทศ

ความไม่มั่นใจจึงเกิดขึ้น ว่ารัฐบาลชุดนี้จะอยู่ได้

อย่างไรก็ตามแม้ผู้ติดตามการเมืองใกล้ชิดหลายคนจะมองแล้วสั่นหัวด้วยนึกไม่ออกว่าจะอยู่ได้อย่างไร แต่มีบางคนที่เชื่อมั่นว่าไม่มีทางที่ใครจะทำอะไรรัฐบาลได้

Advertisement

ด้วยไม่เพียง “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไซน์มาเพื่อเรา” เท่านั้น แต่กลไกการใช้อำนาจที่จัดการแต่งตั้งวางตัวไว้เรียบร้อยแล้ว ย่อมเป็นหลักประกันว่า จะเป็นรัฐบาลที่อยู่ใน “คอมฟอร์ตโซน” ไม่มีใครทำอะไรได้

ทว่าแม้จะมั่นใจถึงเพียงนั้น แต่ยังมีอยู่จุดหนึ่งที่คนเชื่อมั่นที่สุดยังอดที่จะหวั่นไหวไม่ได้

นั่นคือ ผลจากสภาวะเศรษฐกิจที่กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนส่วนใหญ่ที่เรียกกันว่า “ปัญหาปากท้อง”

Advertisement

แม้จะมองว่ารัฐบาลสามารถเยียวยาได้ ด้วยการไล่แจกตามนโยบาย “ประชานิยม” ที่เรียกเสียใหม่เหมือนกับชื่อพรรคว่า “ประชารัฐ”

แต่การแจกย่อมหมายถึงต้องมีความสามารถในการหามาแจก และเป็นวิธีการที่ต้องทำต่อเนื่องหยุดไม่ได้ ด้วยหยุดเมื่อไรกำลังซื้อจะหายไปจากระบบหมดแรงหมุนเศรษฐกิจในภาพรวมทันที

การหาเงินของรัฐบาลย่อมหมายถึงการหาหนทางเก็บภาษีเพิ่มให้ได้ ซึ่งหนีไม่พ้นจากการเพิ่มภาระให้กับผู้มีรายได้

คนที่มีความสามารถที่จะพึ่งพาตัวเองจะกลายเป็นผู้ต้องรับภาระหนักในนโยบาย “ประชารัฐ” ซึ่งหมุนเศรษฐกิจด้วย “เงินแจก”

การบุกเก็บภาษีให้ได้มากขึ้น อาจจะก่อให้เกิดสภาวะ สร้างคนพึ่งพาตัวเองไม่ได้ให้มากขึ้น

และตรงนี้เองที่เชื่อกันว่า ความเดือดร้อนที่ค่อยๆ ขยายวงกว้างขึ้นจะส่งผลให้ “รัฐบาลซึ่งสร้างตัวช่วยไว้แข็งแกร่งที่สุด” มีโอกาสที่จะซวนเซได้

และด้วย “ความอยู่รอด” อันขึ้นอยู่กับปัจจัยทางเศรษฐกิจ สปอตไลต์จึงจับไปที่ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ผู้เป็น “ขุนพลเศรษฐกิจ”

5 ปีที่ผ่านมา ผลงานของ “สมคิด” ย่อมประจักษ์แก่ใจของทุกคนทุกฝ่ายอยู่แล้ว อะไรเป็นจุดแข็ง ตรงไหนเป็นจุดอ่อน หวังได้หรือไม่ ย่อมเป็นที่รับรู้กันอยู่

ในสภาพของ “รัฐบาลผสม” ที่ต้องอาศัยผู้มีฝีมือในการประสานเพิ่มเติมเข้ามา

“สมคิด” จะกลายเป็นจุดศูนย์กลางของฝ่ายที่คาดหวัง และฝ่ายที่ต้องการโจมตี

การเสนอให้จัดตั้ง “คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ” โดยดึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มานั่งหัวโต๊ะ

อาจจะเป็นผลดีต่อ “สมคิด” เพราะดึง “นายกรัฐมนตรี” มาอยู่ในจุดโฟกัสร่วมได้

แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับ “พล.อ.ประยุทธ์” คือ “สูญเสียคนที่จะอยู่ในสถานะของกันชน”

ประเด็นปัญหา “ปากท้องประชาชน” จะพุ่งไปที่ความรับผิดชอบของ “นายกรัฐมนตรีโดยตรง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image