ปลดชนวน‘ครม.ร้าว’ รมต.แบ่งงานให้เป็นธรรม

หมายเหตุความเห็นของนักวิชาการและฝ่ายการเมืองกรณีความขัดแย้งการแบ่งงานในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อาทิ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ แบ่งงานให้กับ รมช.ดูในลักษณะแบ่งกันดู แต่ไม่ยกกรมหรือหน่วยงานใดให้รับผิดชอบ ขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย แบ่งงานให้ รมช.จากสองพรรคร่วมแบบเสียมิได้ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

การแบ่งงานต้องมาจากคำว่า “Put the right man on the right job” คือมาจากความสนใจ ความถนัด    รวมทั้งประสบการณ์ที่ผ่านมาของเขาต่อการทำหน้าที่นั้น นี่คือหลักการ แต่การเมืองไทยเอง การแบ่งงานกันของกระทรวงต่างๆ เป็นการแบ่งที่อยู่บนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองเป็นหลัก ไม่ได้วางอยู่บนหลักของการวางตำแหน่งที่ถูกต้อง เราจะพบว่าเจ้ากระทรวงจะเอาส่วนงานที่สำคัญ มีผลประโยชน์เยอะ      งบประมาณเยอะ สามารถวางเครือข่ายของตนเองในการทำงาน มากกว่าที่จะหาคนที่มีความรู้ ความสามารถ หรือแบ่งคนให้ถูกกับงานจากประสบการณ์ หรือความสนใจ ซึ่งนี่เป็นการแบ่งแบบการเมือง

Advertisement

จะพบว่าบางกระทรวง เช่น ศึกษาธิการ (ศธ.) เจ้ากระทรวงน่าจะดูแลภาพรวมทั้งหมด แล้วปล่อยให้รัฐมนตรีช่วยรับผิดชอบงานเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น เหมือนกับไม่มีงานเลย ดังนั้น เจ้ากระทรวงต้องดูภาพรวมทั้งหมด รายละเอียดการแบ่งควรเป็นรัฐมนตรีช่วยด้วยซ้ำ เพราะตัวเองเป็นผู้รับผิดชอบภาพรวมอยู่แล้ว ขณะเดียวกันก็แบ่งให้ตัวเองโดยเฉพาะงานหลัก งานสำคัญทั้งหมด แล้วให้รัฐมนตรีช่วย ซึ่งแม้จะเป็นส่วนงานที่สำคัญ   แต่กลับไม่มีดุลน้ำหนักที่เหมาะสม

โดยหลักแล้วมีเรื่องการประเมินผลอยู่ รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีสามารถวางกลไกในการประเมินผลได้ เช่น เจ้ากระทรวงรับผิดชอบอันไหนก็ต้องมีแผนในการประเมิน ไม่ว่าจะประเมินความก้าวหน้า มีกี่ส่วนงาน มีกี่กรมกอง มีงานอะไรบ้าง มีตัวชี้วัดยังไง ภายในระยะเวลา 3-5 เดือน มีความคืบหน้าอย่างไร จริงๆ ทำได้ โดยรัฐบาลอาจทำเป็นแบบประเมินออกมา

การประเมินดังกล่าวทำแล้วดีด้วยซ้ำ เพราะจะได้ติดตามความก้าวหน้าของงานต่างๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวง ตลอดจนทางรัฐบาลเองก็จะได้แถลงผลงานดังกล่าวต่อประชาชนด้วย เพื่อจะเห็นความคืบหน้า หรือถ้าไม่คืบหน้าก็จะได้ติดตามได้อย่างถูกต้อง ไม่ใช่การสั่งแล้วผ่านเลยไปโดยไม่ติดตาม มิฉะนั้นก็จะไม่รู้ว่าภาระงานเหล่านั้นมีความคืบหน้าแค่ไหนอย่างไรบ้าง

Advertisement

กรณีการปรับเก้าอี้รัฐมนตรีต่างๆ นั้นเป็นการเมืองเสียมากกว่า และการปรับคณะรัฐมนตรีสามารถปรับได้ หากงานไม่บรรลุผลตามนโยบายที่แถลงไว้ แต่จากประสบการณ์ที่เราเห็นในการเมืองไทยเป็นการปรับเพื่อให้เกิดการต่อรอง ประนีประนอมผลประโยชน์กันในกลุ่มของซีกรัฐบาล เช่น มีข้อผิดพลาดต่างๆ อันจะเป็นโอกาสให้อีกฝั่งหนึ่งสามารถโจมตี กระทั่งเกิดกระแสการปรับ ครม. หรือแม้กระทั่งอาจปรับโดยเลี่ยงที่จะอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งคิดว่ารัฐบาลนี้มีโอกาสปรับ ครม.บ่อยครั้ง เพราะรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำนั้น หาก ครม.ทำอะไรผิดพลาดหรือมีปัญหาที่กระทบกับประชาชนก็มีโอกาสถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจสูง จนอาจมีการปรับตำแหน่งเพื่อหลบเลี่ยงการอภิปรายได้

รัฐบาลน่าจะให้ความสำคัญกับรัฐมนตรีที่มีความรู้ ความสามารถ เกลี่ยงานให้มีความเหมาะสม เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทุกส่วน ทุกพรรค ให้มีการติดตาม ตรวจสอบความก้าวหน้าการทำงานของรัฐมนตรีเป็นระยะ ให้รายงานและแถลงกับประชาชนเพื่อให้รู้ เพื่อให้ประชาชนสนใจการเมืองไปด้วยกัน

สมพงษ์ จิตระดับ
อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หากมองทางการเมือง การแบ่งงานของนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) อาจจะไม่ยุติธรรม เพราะรัฐมนตรีมาจากต่างพรรคก็ต้องการดูแลหน่วยงานที่สามารถสร้างผลงานให้กับตัวเองและพรรคได้ แต่หากมองในมุมการพัฒนาการศึกษาถือว่าเหมาะสม เพราะ ศธ.มีปัญหาเรื่องการผลิตกำลังคนอาชีวศึกษาเพื่อตอบโจทย์ตลาดแรงงานไม่เข้าเป้ามาหลายปี ดังนั้นการดูระบบส่งต่อเด็กจากขั้น   พื้นฐานสู่อาชีวะจึงเป็นเรื่องที่เหมาะสม

นายสมพงษ์กล่าวต่อว่า ส่วนคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. ซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแลงาน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตรในวิทยาลัยอาชีวศึกษานั้นถือว่าตรงกับนโยบายพรรคมากที่สุด และตัวคุณหญิงกัลยาก็สามารถดูแลงานด้านวิทยาศาสตร์และการเกษตรได้ดี เพราะถือเป็นสาขาที่ขาดแคลน ซึ่งไม่ค่อยได้รับการดูแลแต่เป็นงานสำคัญ รวมถึง
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ซึ่งส่วนตัวถือว่าเหมาะสม

ทั้งนี้ ในส่วนของนางกนกวรรณ ยอมรับว่ายังมองภาพการทำงานได้ไม่ค่อยชัด โดยเฉพาะที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) รวมถึงกิจการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ

วันมูหะมัดนอร์ มะทา
หัวหน้าพรรคประชาชาติ

ในฐานะที่ผมเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสำคัญหลายกระทรวง การแบ่งงานที่ผ่านมาไม่เคยมีปัญหา มีรัฐมนตรีช่วย 2 คน เลยบอกว่ามีงานอยู่เท่านี้ พวกเราจะอยากทำงานด้านไหนก็เลือกก่อนเลย แล้วเหลืออะไรให้ก็บอกว่าเอาตามความเหมาะสม เพราะยึดความสบายใจ จะออกจากห้องก่อน ช่วงเย็นจะมาคุยอีกครั้งซึ่งก็ไม่มีปัญหารัฐมนตรีช่วยก็เลือกงานตามความเหมาะสม เขาต้องรู้ว่าจะต้องเลือกงานอะไร ตอนที่ผมอยู่กระทรวงมหาดไทยมีการแบ่งเป็นกลุ่มงานความมั่นคง กลุ่มงานพัฒนา เขาก็เอางานความมั่นคงมาให้คือกรมการปกครอง สำนักงานปลัด กรมที่ดิน ที่เหลือรัฐมนตรีช่วยก็เอาไปไม่เห็นมีปัญหา ทำงานประสานกัน เพราะงานต้องการทำให้ประชาชนมากที่สุด แต่ขอเรื่องเดียวว่างานใดจะส่งเข้า ครม.ต้องให้ผมเซ็น หากเกิดถามใน ครม.จะตอบไม่ได้ แต่หากทำไปช่วงหนึ่งแล้วมีปัญหาก็มาปรึกษา ขอสลับงานได้ก็ไม่มีปัญหาอะไร

ไม่ทราบว่ารัฐบาลปัจจุบันแบ่งงานกันอย่างไร แต่หากไม่เห็นความสำคัญของรัฐมนตรีช่วยว่าการที่มาจากการเลือกตั้งแล้วนั้น เกิดปัญหาแน่นอนเพราะเขามาจากประชาชน ไม่มีใครจะใหญ่กว่าประชาชน ดังนั้น ต้องคุยกันไม่เห็นว่าจะเป็นประเด็นสำคัญอะไรเพราะต้องคิดถึงอันแรกคือเข้ามาทำงานให้ประชาชน ไม่ใช่คิดว่าเข้ามาแล้วใครจะได้ประโยชน์อะไร แบบนั้นไม่ถูก

สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

จริงๆ การแบ่งงานภายในกระทรวงถือเป็นอำนาจโดยชอบธรรมของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอยู่แล้ว แต่ก่อนกระทรวงศึกษาธิการถือว่าเป็นกระทรวงใหญ่ ต้องมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง 2-3 คน จึงต้องแบ่งหน่วยงานกันไปกำกับดูตามความถนัดของรัฐมนตรีแต่ละคน อย่างในสมัยผมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการก็มีรัฐมนตรีช่วย 2 คนคือ น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา ที่สนใจงานด้านการศึกษาของคนพิการ ผมก็แบ่งให้ดูกรมสามัญศึกษา ขณะที่นายวิชัย ตันศิริ เดิมเป็นนักวิชาการก็แบ่งให้ช่วยดูแลกรมศาสนา กรมวิชาการ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดถือเป็นการแบ่งงานตามความเหมาะสม ตามโปรไฟล์ที่แต่ละคนมีมาอยู่ก่อนแล้วว่าใครถนัดอะไร

ที่ผ่านมาการแบ่งงานกันภายในกระทรวงก็ถือเป็นเรื่องที่จะมีการพูดคุยกันมาเบื้องต้นตั้งแต่ระหว่างการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว แต่พอเข้ามากระทรวง ก่อนที่จะได้บริหารจริงก็จะมีการหารือกันอีกที โดยเฉพาะการแบ่งงานกันตามโปรไฟล์ และความถนัดของรัฐมนตรีแต่ละคน

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เชื่อว่าเมื่อทำงานบริหารกันไป รัฐมนตรีที่ทำงานอยู่ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีว่าการ หรือจะเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ ในท้ายที่สุดต่างก็ต้องช่วยกันทำงาน และต่างให้เกียรติซึ่งกันและกันอยู่แล้ว แม้บางเรื่องจะไม่ใช่หน้าที่ในการกำกับดูแลโดยตรงแต่ก็สามารถให้คำปรึกษาหารือ หรือให้คำแนะนำแก่ผู้บริหารภายในกระทรวงได้ อย่างในการประชุมกระทรวงเพื่อขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ รัฐมนตรีแต่ละคนก็สามารถใช้โอกาสให้คำแนะนำได้ โดยไม่ได้ผูกขาดตายตัวอยู่กับการแบ่งหน้าที่การรับผิดชอบระหว่างกันเท่านั้น เพราะการแบ่งหน้าที่เบื้องต้นถือเป็นการแบ่งไปก่อน เพื่อจะได้ทราบว่าขอบข่ายการรับผิดชอบเท่านั้น แต่เวลาทำงานจริง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคงให้เกียรติทุกรัฐมนตรีเพื่อทำงานร่วมกันอยู่แล้ว

อย่างวันนี้รัฐมนตรีบางคนอยู่บ้านนอกบ้านนา ทราบถึงปัญหาความต้องการในพื้นที่ดี ข้อเสนอแนะในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือการจัดการศึกษาเพื่อคนพิการ ควรจะเป็นอย่างไรนั้น ถือเป็นเรื่องที่สำคัญต่อการบริหารประเทศมากกว่าการมานั่งแยกเสื่อออกจากกันเป็นผืนๆ โดยไม่ปะติดปะต่อกันเลย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image