รายงานหน้า2 : ‘หมอหนู’-อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.สธ. ขีดเส้น 3 เดือนเห็นผลงาน

หมายเหตุ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์พิเศษ “มติชน” ถึงทิศทางการบริหารงานด้านสาธารณสุข ตามนโยบายที่พรรคภูมิใจไทย (ภท.) หาเสียงไว้ก่อนหน้านี้

ความตั้งใจและที่มาของวันนี้ พรรค ภท.มีนโยบายในช่วงหาเสียงเลือกตั้งอยู่ในกรอบของการ “ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน เพื่อปากท้องของประชาชน” ซึ่งได้พยายามที่จะนำเสนอนโยบายของพรรคให้พี่น้องประชาชนที่มีสิทธิออกเสียงได้เข้าใจ เป็นนโยบายจับต้องได้ และมีประโยชน์ต่อทุกคน

ที่พรรค ภท.พยายามผลักดันตลอดเวลา คือ เรื่องปัญหาปากท้อง เพราะเราอยู่ในสังคมการเมืองมาระยะหนึ่งแล้ว ตั้งแต่ก่อนมีพรรค ภท. สมาชิกพรรคก็อยู่สังกัดการเมืองอื่นมานานมาก จึงเห็นว่าเมื่อผ่านพ้นการเลือกตั้งไปแล้ว ยุคนี้เป็นยุคที่ควรตั้งใจทำงานเพื่อประเทศ และเพื่อประชาชนให้อยู่ดีกินดี มีสุข เศรษฐกิจดี และประชาชนสามารถดูแลตนเองได้

พรรค ภท.ได้วางตำแหน่งตัวเอง ขอเป็นพรรคที่ทำงานและปฏิบัติการ ไม่อยากเป็นพรรคที่ชิงไหวชิงพริบทางการเมือง หรือเกี่ยวข้องกับการเมืองที่ไม่ได้ก่อให้เกิดผลงาน แต่ขอทำให้เกิดประโยชน์กับบ้านเมือง และพี่น้องประชาชนในระยะเวลาอันรวดเร็ว จึงวางเกมการเมืองให้เป็นเรื่องปกติ แต่มาเน้นในเรื่องการทำงานมากกว่า

Advertisement

สำหรับนโยบายหลักที่จะต้องทำ เช่น นโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ แม้เป็นเรื่องฟังดูแล้วค่อนข้างฝ่าด่านต่างๆ ยากพอสมควร แต่เพราะมันยาก เราจึงต้องทำ เพราะมั่นใจว่าประโยชน์ที่จะได้นั้น มีผลบวกมากกว่า ทั้งต่อผู้ป่วย งบประมาณแผ่นดิน และมีโอกาสเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร ช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและสร้างรายได้ต่อประเทศ

แต่เนื่องจากกัญชาถูกบันทึกไว้ในความรู้สึกว่าเป็นยาเสพติด จึงต้องทำความเข้าใจใหม่ว่ากัญชาไม่ใช่ยาเสพติด แต่เป็นประโยชน์ หากเลือกสิ่งที่เป็นประโยชน์ออกมาใช้ และอย่าไปใช้ในทาง
ที่ผิด

ต่อมานโยบายลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน เช่น แกร็บ (GRAB) ซึ่งทั่วโลกยอมรับแล้วว่าเป็นทางเลือกของการใช้บริการขนส่งทางสาธารณะที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และการให้บริการที่ดี เป็นการเพิ่มรายได้พิเศษ แต่กฎหมายบ้านเรากลับไม่รองรับ จึงต้องปรับให้เป็นเรื่องที่ถูกกฎหมาย เป็นทางเลือกของประชาชน ไม่ใช่ตัดโอกาสของระบบขนส่งมวลชนอื่น จึงเป็นสิ่งที่จะต้องเร่งทำ ผ่านการผลักดันโดยใช้ขอบเขตอำนาจที่มีอยู่ในแต่ละกระทรวง จะได้ไม่เสียเวลา

Advertisement

แต่บางเรื่องที่ต้องแก้กฎหมายและผลักดันร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่ อาจต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง เพราะจะต้องทำให้พรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านเห็นชอบด้วย ซึ่งก็มีขั้นตอนมาก เราจึงต้องจัดลำดับความสำคัญในการผลักดันนโยบาย ซึ่งงานที่ทำได้ก่อนและทำได้เร็วที่สุด คืองานที่อยู่ภายใต้อำนาจหน้าที่ที่เรามีอยู่

กัญชาถือเป็นเรื่องใหม่ พูดทีไรก็มีคนสนใจ แต่หากพูดถึงเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพ การลดความแออัดของสถานพยาบาล การรักษาพยาบาล ประสิทธิภาพในการให้บริการประชาชน เพิ่มอัตราบรรจุแพทย์ให้เพียงพอ โดยเน้นยกระดับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ให้เป็นหมอครอบครัว ล้วนเป็นนโยบายเร่งด่วนเช่นกัน แต่ใครเข้ามาก็พูดเรื่องนี้ คนก็จะเฉยๆ ไม่เหมือนกัญชาที่คนพูดถึงมากทั้งในแง่บวกและลบ ดังนั้น จึงต้องอาศัยความกล้ามากที่จะทำ

เมื่อพูดถึงการบริหารด้านสาธารณสุข จะเน้นการยกระดับ อสม.ให้เป็นผู้มีความรู้ มีความสามารถเพิ่มเติมในการรักษาขั้นต้นแก่ผู้ป่วย เพราะหากทำให้ อสม.มีความเข้าใจในเรื่องความรู้เบื้องต้นในการรักษาผู้ป่วยให้รักษาตนเองได้ สามารถจ่ายยาสามัญทั่วไปได้ โดยไม่ต้องถึงมือแพทย์ มีการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัย สร้างองค์ความรู้เพิ่มเติม เป็นสิ่งที่เราคาดหวัง

หากยกระดับ อสม.ได้ ท้ายสุดจะช่วยลดอัตราความหนาแน่นของผู้ป่วยในโรงพยาบาล ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปพบแพทย์ ค่าใช้จ่ายในการเฝ้าไข้ ตลอดจนยกระะดับเป็นหมอครอบครัว จะทำให้ภาระที่รัฐแบกรับในการให้บริการรักษาพยาบาลลดลง โดยที่แพทย์สามารถใช้เวลากับผู้ป่วยมากขึ้น ตรวจวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำ และตัดสินใจในการให้บริการการรักษาได้ดีขึ้น

ไม่ใช่เป็นอะไรนิดหน่อยจะต้องไปหาหมอ ขอนอนโรงพยาบาล ทุกวันนี้จึงเกิดสภาพแออัด ทำให้บริหารงานยาก เพราะจำนวนคนขอรับบริการ กับสถานที่ไม่สอดคล้องกัน

ที่ผ่านมา มีการยกระดับตลอด แต่ตอนนี้ อสม.เป็นแค่ผู้นำเต้นแอโรบิกเท่านั้น ผมพูดตรงๆ ว่าผมเห็นสภาพคนไข้ตามโรงพยาบาลต่างๆ มีสภาพแออัด มีเตียงผู้ป่วยต้องให้น้ำเกลือตามทางเดิน เพราะโรงพยาบาลมีสถานที่ไม่เพียงพอ แต่หากเรายกระดับ อสม. คิดว่าเราจะช่วยแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลได้ ให้คนไข้รักษาตัวในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) ได้หรือไม่ เพื่อลดความหนาแน่นในสถานพยาบาล

เมื่อเรายกระดับ อสม.ให้เขามีความรู้มากขึ้น ก็จะต้องให้ค่าตอบแทนเขา ซึ่งไม่ได้เป็นภาระอะไรมาก ถ้าหมุนเงินเป็น เช่น หากคนไม่จำเป็นต้องไปหาหมอ ค่าใช้จ่ายตรงนั้นจะลดลง และเราก็เอาไปเป็นค่าบริหารจัดการ และค่าตอบแทน อสม. ไม่ใช่ให้เขานำเต้นแอโรบิกอย่างเดียว

อสม.ทั่วประเทศมีกว่า 1.4 ล้านคน ถ้า 1 คน สามารถดูแลคนไข้ 10 คน ท้ายสุดเชื่อว่าจะช่วยลดภาระของแพทย์ได้ การให้บริการรักษาพยาบาลต่อพี่น้องประชาชน จะต้องไม่มีคนไข้อนาถาอีกต่อไป ทุกคนจะต้องได้รับการรักษาเยี่ยงมนุษย์

ผมคงไม่รับไม่ได้ หากเรื่องนี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลง เพราะคนที่เลือกเข้ามา ก็คือพี่น้องประชาชนที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) การค้นคว้ายาและนวัตกรรมเพื่อใช้ในการรักษาทางการแพทย์ เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องสนับสนุน ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเจ้าหน้าที่และบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งการยกระดับ อสม. จะช่วยลดภาระหมอได้ เป้าหมายจะต้องทำให้ได้ ทำให้เร็ว เพราะหากพ้นตำแหน่งไปแล้ว จะมาทำเรื่องเหล่านี้
ได้อย่างไร

วันนี้ แม้ระบบการสาธารณสุขของไทยจะมีปัญหาบ้าง แต่ไม่ได้เป็นที่ 2 รองใคร เพราะไทยยังมีระบบที่ดีกว่าหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว ปัญหาสาธารณสุข มองเห็น เพราะเคยสัมผัสมาแล้วระดับหนึ่ง ส่วนใหญ่ก็เป็นปัญหาที่ยังค้างคา เป็นปัญหาที่เดาออก นึกอย่างไรก็นึกออก เพราะเคยสัมผัสมาแล้ว เบื้องต้นขีดเส้นภายใน 3 เดือน จะต้องมีเรื่องที่เห็นผลเป็นรูปธรรม เพราะประชาชนใจร้อน ซึ่งเพิ่งเข้ามาวันเดียว คนก็ถามเรื่องที่ค้างคามาเป็นปีว่าแล้วเสร็จหรือยัง

ผมจะทำให้เร็วที่สุด หลังจากนี้เชื่อว่าจะมีแต่ความคืบหน้า ส่วนกี่เดือน กี่ปี ก็ขึ้นอยู่กับคนที่เชื่อมั่น เพราะผมพร้อมลุย ตอนนี้ผมเริ่มงานแล้ว และหลังจากแถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภา นโยบายทุกอย่างก็สมบูรณ์และชัดเจนขึ้น

ส่วนคณะทำงาน แม้จะมาจากหลายพรรคก็ไม่เกี่ยว หากบริหารงานเป็น ซึ่งชัดเจนอยู่แล้วว่าผู้ปฏิบัติคือ พี่น้องฝ่ายข้าราชการประจำ ผมไม่ได้มีความเข้าใจลึกซึ้งด้านการแพทย์และการสาธารณสุข ก็ต้องเอาจุดแข็งของแต่ละคนมา หากอะไรที่เขาติดขัด ผมจะแก้ หากขาดงบประมาณผมก็จะหามาให้เขา และผมพร้อมจะไปหาทุกอย่างมาตามที่ร้องขอ เพื่อผลักดันนโยบายให้เร็วขึ้น

ส่วนงานที่แบ่งกับรัฐมนตรีช่วย ก็แบ่งงานตามหน้าที่และภารกิจหลัก ซึ่งมี 4 กรม คือ กรมการแพทย์ กรมอนามัย กรมสุขภาพจิต กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แต่สุดท้ายเราก็ช่วยกันดู ขณะนี้ที่ปรึกษารัฐมนตรียังไม่มี เพราะทุกวันนี้ผมปรึกษากับพี่น้องข้าราชการ ไม่มีใครรู้ดีกว่าคนภายใน ผมจะไปเก่งกว่าปลัด สธ.ได้อย่างไร

ผมต้องการเห็นคนป่วยของประเทศไทยต้องได้รับบริการของรัฐในเรื่องการรักษา เขาต้องได้ยาที่ดีที่สุด เขาต้องได้การดูแลรักษาให้หายจากอาการเจ็บป่วยได้เร็วที่สุด ถ้ารักษาไม่ได้ก็ต้องทรมานให้น้อยที่สุด คุณภาพชีวิตต้องไม่ตกต่ำ ถ้าไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ก็ไปอย่างสงบที่สุด นี่คือเป้าหมายของผมที่ตั้งไว้ ผู้ปฏิบัติก็ต้องไปทำ ทำแบบนี้ยังขาดอะไร เขาต้องมาบอกเรา เพราะเราเป็นผู้ตั้งนโยบาย ตั้งเป้าหมาย เราก็ต้องไปหาปัจจัยที่ทำให้นโยบายสำเร็จ ต่างคนต่างทำหน้าที่อย่างเต็มที่

จะทำหน้าที่ให้เต็มที่ อะไรที่มีอยู่ในตัว ก็จะเอามาใช้ให้หมดเพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวม ได้แค่ไหนก็แค่นั้น เพราะไม่ใช่ซุปเปอร์แมน แต่ตั้งใจทำ เต็มใจทำ ภูมิใจที่ได้ทำ (งาน) จะไม่มีอะไรที่ทำได้แล้วไม่ทำ กลับบ้านทุกคืนก็ได้แต่บอกว่าวันนี้มีอะไรที่ต้องทำบ้าง ก็ทำซะ ไม่ขาดอะไรสักอย่าง ผลลัพธ์ออกมาเป็นอย่างไร ก็คงดีกว่านี้ไม่ได้แล้ว ถ้าทำไม่ได้เรื่องก็แสดงว่าเราอยู่ผิดถนน อยู่ผิดที่ อยู่ไปก็เกะกะ

น.รินี เรืองหนู
นฤมล รัตนสุวรรณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image