รายงานหน้า2 : วิพากษ์‘แถลงนโยบาย’ ท่าที‘ฝ่ายค้าน-รบ.-ส.ว.’

หมายเหตุความเห็นของนักวิชาการประเมินภาพรวมการแถลงนโยบายรัฐบาล การชี้แจงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และการตอบโต้ระหว่าง ส.ส.ฝ่ายค้าน รัฐบาล และวุฒิสภาในการประชุมรัฐสภา

 

ยุทธพร อิสรชัย
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

ภาพรวมประชุมยังมีการนำปัญหาย้อนหลังในระยะ 5 ปีที่ผ่านมาเข้ามาอภิปรายในลักษณะการดีเบตใหญ่ เพื่อให้สังคมพิจารณาว่าจะเอาหรือไม่เอา คสช. เพียงแต่มีการเปลี่ยนสถานที่ในการถกแถลง โดยนำเข้าไปพูดในสภาที่มี ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง ส.ว.ที่มาจากการสรรหา ทำให้เห็นว่าการอภิปรายเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาในสังคมยังไม่คลี่คลายปัญหาความขัดแย้ง และกระบวนการอภิปรายจะพูดถึงความชอบธรรมของ คสช.ที่มาของรัฐบาล ที่มาของนายกรัฐมนตรี การอภิปรายในหลายช่วงจะมีความดุเดือด ส่วนสาระที่จะพูดถึงนโยบายจะเห็นได้น้อยมาก และยังมีการพูดถึง ส.ว.สรรหาที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช.หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสังคมจะรับรู้เรื่องเหล่านี้ ตั้งแต่การเปิดสภาเพื่อเลือกประธานสภา การเลือกนายกรัฐมนตรีและการแถลงนโยบาย
การทำหน้าที่ของนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ไม่กังวลมากนัก เพราะเคยทำหน้าที่ประธานมาแล้ว ทำหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติมานาน เคยเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะฉะนั้นลีลาการทำหน้าที่ เก๋าเกมถือว่าเอาอยู่ การวินิจฉัยหลายกรณีก็ทำให้เกิดการยอมรับ โดยให้อภิปรายถึงคุณสมบัติสำหรับผู้ที่เข้ามาทำหน้าที่ แต่สิ่งที่น่ากังวลคือการทำหน้าที่ของนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา อาจไม่คุ้นชินกับสภาที่มาจากการเลือกตั้ง อาจไม่เก๋าเกม เท่าทัน นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นสิ่งที่จะต้องใช้ระยะเวลาปรับตัวพอสมควร
ถ้าถามว่าใครได้ใครเสียจากการอภิปราย ต้องบอกว่าไม่มีใครได้ ใครเสีย เพราะว่าในการอภิปรายครั้งนี้เป็นการถกแถลงที่เป็นประเด็นเดิมในสังคม นอกสภา ในสภาก็มีการพูดถึงอย่างต่อเนื่องยาวนาน ในเรื่องความชอบธรรมในการเข้าสู่อำนาจของ คสช. ความชอบธรรม ในการเข้าสู่อำนาจของนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่กติกาใหญ่คือรัฐธรรมนูญ การมี ส.ว.สรรหาของ คสช. องค์กรอิสระ ที่ผ่านมาระบุว่ากลไกรัฐธรรมนูญ ออกแบบมาเพื่อพวกเรา ดังนั้นคงหนีไม่พ้นสำหรับเรื่องถกแถลงเหล่านี้
ถ้ามองในภาพรวมของสภายกระดับขึ้นหรือไม่ หลังจากไม่มีการเลือกตั้ง 5 ปี ขอเรียนว่ายกระดับขึ้นมาเล็กน้อย แต่ในหลักการภาพรวมใหญ่ คงไม่มีใครอยากเห็นการประท้วงการใช้เล่ห์เหลี่ยมทางการเมือง การใช้กฎหมายข้อบังคับการประชุม เพื่อทำให้มีการได้เปรียบเสียเปรียบเป็นเกมในสภา แต่สิ่งที่ประชาชนอยากเห็นคือ เรื่องการทำหน้าที่ อย่างสร้างสรรค์ ยึดประโยชน์ของสังคมเป็นตัวตั้ง ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าสภายกระดับขึ้นมาบ้าง เพราะมีประเด็นต่างๆ ที่หลากหลายมากขึ้น มีประเด็นความชอบธรรมทางการเมือง หลักการในระบบรัฐสภา ทั้งที่การประชุมหลายครั้งจะมีการสาดโคลนเรื่องคุณสมบัติ หรือเรื่องส่วนตัว

Advertisement

 

ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร
คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.เชียงใหม่

ผมเห็นการแถลงนโยบายของรัฐบาลเป็น 2 เรื่อง คือ 1.เป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจคณะรัฐประหาร และ 2.เป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่มาจากคณะรัฐประหารมากกว่า เนื่องจาก 5 ปีที่ผ่านมาไม่เคยมีการวิพากษ์วิจารณ์มาก่อน ทั้ง 2 ประเด็นนี้กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ถูกตั้งคำถาม เพราะกำแพงนโยบายของรัฐบาลที่กำลังจะทำต่อไปในอนาคตมีปัญหาสืบเนื่องมาตั้งแต่อดีต โดยเฉพาะข้อจำกัดของแต่ละบุคคล
มีเรื่องของนโยบายที่ดินและอีกหลายประเด็นน่าสนใจ แต่ถูกกระแสที่สืบเนื่องมาตั้งแต่การรัฐประหารหรือการดำเนินนโยบายของคณะรัฐประหาร 5 ปีที่ผ่านมาไม่มีกลไกการตรวจสอบ ไม่ว่าใครพยายามที่จะบอกหรือให้สมญานามการแถลงนโยบายครั้งนี้ว่าอย่างไรก็ตาม แต่แน่นอนว่าผลพวงของรัฐประหารมีหลายประเด็นที่ต้องพูดคุยถกเถียงกันผ่านรัฐสภาโดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้อย่าลืมว่าปัญหาเร่งด่วนของรัฐสภาไทยในขณะนี้มี 2 ทางเลือกที่ก้ำกึ่ง ซึ่งรัฐสภาไทยต้องวางสมดุลให้ดี คือ “จะถกเถียงเรื่องคุณค่า” หรือ “จะถกเถียงเรื่องคุณภาพชีวิตและปากท้องของประชาชนก่อน” เพราะการถกเถียงเรื่องคุณค่าหาจุดลงตัวลำบาก โดยเฉพาะสภาวะที่เรากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ส่วนตัวมองว่าปัญหาเร่งด่วนจริงๆ คือ เรื่องคุณภาพชีวิตและปากท้อง แน่นอนว่ากลไกรัฐสภาควบคุมรัฐบาล แต่สิ่งหนึ่งที่อยากเห็นมากไปกว่านั้น คือ กลไกของภาคประชาชนที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ ถ่วงดุลเชิงซ้อนต่อรัฐสภา กล่าวคือ ควบคุมทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านด้วย เราไม่สามารถปล่อยให้ทั้ง 2 ฝ่ายควบคุมสภาได้
หากประเมินการอภิปรายทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ในแง่ของกรอบการแถลงนโยบาย ภาพของรัฐบาลขณะนี้ยังค่อนข้างที่จะเป็นนามธรรม กรอบต่างๆ ที่ขีดเส้น เช่น ปัญหาเร่งด่วน ยังไม่เห็นภาพมากนัก ต้องมองภาพหลังจากนี้ไปอีกอย่างน้อย 3 เดือนจึงจะเห็นว่านโยบายที่กำลังพูดอยู่เป็นจริงได้มากน้อยแค่ไหนเพราะตอนนี้ยังเป็นแค่กระดาษ ส่วนฝ่ายค้านจะเห็นว่ามีอยู่ 2 กรอบหลัก คือ 1.การอภิปรายนโยบาย และ 2.การอภิปรายคุณลักษณะ-ความเหมาะสมของบุคคล ซึ่ง ณ ปัจจุบัน การชั่ง 2 กรอบนี้ยังมีความทับซ้อนและคาบเกี่ยวในหลายเรื่อง ต้องประเมินดูว่าควรจะต้องเน้นจุดไหน โดยเฉพาะปัญหาเร่งด่วน ในแง่ของการพยายามสร้างกลไกในการติดตามการทำงานตามนโยบายของรัฐบาลเป็นปัญหาเร่งด่วนของฝ่ายค้านที่ต้องเพิ่มเติมจุดนี้อีกเล็กน้อย หลังจบการอภิปรายครั้งนี้แล้วฝ่ายค้านจะมีกลไกติดตามอย่างไรในอนาคต เป็นส่วนสำคัญต่อการสร้างกลไกติดตามเชิงซ้อนของภาคประชาชน เพื่อติดตามการทำงานของรัฐสภา ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล
ด้านท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ สามารถมองได้ 2 แบบ คือ 1.เมื่อกลไกรัฐสภามีลักษณะของการตรวจสอบถ่วงดุล ปัญหาคือ พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่เคยเจอลักษณะของการตรวจสอบถ่วงดุลที่เข้มข้นเช่นนี้ ดังนั้นสิ่งที่ทุกคนค่อนข้างกังวล คือ เรื่องการควบคุมอารมณ์ 2.หาก พล.อ.ประยุทธ์สามารถตอบคำถามได้ มีหลักฐานชัด หรือหากคุ้นชินกับระบบ ก็อาจทำให้การทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์คุ้นชินกับกลไกการตรวจสอบมากขึ้น แต่อีกแง่หนึ่งที่สนใจมากกว่านั้น คือภาคประชาชนว่ากลไกรัฐสภาสามารถควบคุมรัฐบาลและ พล.อ.ประยุทธ์ได้มากน้อยแค่ไหน เพราะที่ผ่านมาเรายังไม่สามารถควบคุมรัฐบาลได้อย่างชัดเจนนัก ณ ตอนนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านสอบผ่านหรือไม่ เนื่องจากยังอภิปรายไม่เสร็จ อีกประการ คือ รัฐสภาไม่สามารถสอบปลายภาคเพื่อวัด 100 คะแนนเต็มได้ เนื่องจากจะต้องเป็นการประเมินอย่างต่อเนื่อง จึงให้ติดไว้ก่อน ยังประเมินไม่ได้

Advertisement

 

อัษฎางค์ ปาณิกบุตร
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง

การแถลงนโยบายรัฐบาลที่ผ่านมาสะท้อนปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยโดยไม่มีทางหลีกเลี่ยงและสะท้อนให้เห็นถึงวุฒิภาวะของนักการเมือง เนื่องจากพยายามไม่พูดถึงสาระสำคัญ เจาะลึกในนโยบาย และเมื่อมีการอภิปรายสะกิดแผลเก่าในบางเรื่อง ทำให้ผู้มีอำนาจไม่พอใจ ทั้งที่ควรยอมรับว่าการเหน็บแนมทางการเมือง การขุดคุ้ยเรื่องเก่า เป็นเรื่องปกติ เนื่องจากทุกฝ่ายทราบดีว่านายกรัฐมนตรีมีจุดอ่อนด้านอารมณ์ ขณะที่สังคมไทยยังดำรงไว้ซึ่งความขัดแย้ง เพราะรู้สึกว่าที่ผ่านมาถูกเอาเปรียบหรือไม่มีความยุติธรรม และขอยืนยันว่าการอภิปรายในวันที่ 2 สถานการณ์อาจจะแย่หนักกว่าวันแรก มีการหยิบยกประเด็นที่หนักกว่าเดิมมาอภิปรายจากเรื่องเดิมๆ ที่หมักหมมไว้ ผู้อภิปรายก็จะนำไปถามว่ามีบุคคลใดเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ขณะที่ 5 ปีที่ผ่านมาการบริหารราชการแผ่นดินมีจุดบกพร่องหลายเรื่องโดยเฉพาะการบุกรุกที่ดิน การปราบทุจริตไม่ได้ทำอย่างจริงจัง
ผมแปลกใจว่าการอภิปรายทำไมไม่มีใครพูดถึงความเป็นธรรมในสังคม ทั้งที่ควรบรรจุแนวทางแก้ไขไว้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้มีความขัดแย้งยาวนาน สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ หากถูกถามในบางเรื่องก็น่าจะตอบโต้ตามวิธีการเดิม เพราะมั่นใจว่ามีกลุ่มผู้สนับสนุนพอสมควร ขณะที่การหยิบโครงการขยะของ กทม.เข้าไปสอบถามในสภา จะส่งผลกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.หากมีการเลือกตั้งเร็วๆ นี้อย่างแน่นอน เพราะถูกมองว่าโครงการนี้อาจมีการทุจริตในเชิงนโยบายทั้งการดำเนินการเป็นอำนาจขององค์กรปกครองท้องถิ่น ผู้มีอำนาจไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวในการกำหนดสเปก และในอนาคตหลังการเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฝ่ายค้านจะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจทันที การอภิปรายในสภาจะยุ่งมากกว่านี้เป็นเรื่องที่น่าหนักใจของประธานที่ทำหน้าที่ควบคุมการประชุม

 

ทิม ลีฬหะพันธุ์
นักเศรษฐศาสตร์ ประจำธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย)

ขณะนี้ไทยมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศทำให้ความเสี่ยงทางการเมืองไทยลดลง โดยตั้งแต่การจัดการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม เลือกนายกรัฐมนตรีในช่วงเดือนมิถุนายน มีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) กลางเดือนกรกฎาคม และมีการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภาแล้ว ซึ่งกระบวนการต่างๆ ดำเนินไปได้ดีกว่าที่ธนาคารคาดไว้ก่อนหน้านี้ว่าอาจจะต้องเผชิญความวุ่นวาย
หลังจากการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ประเมินว่านโยบายระยะสั้นที่รัฐบาลจะมีการเร่งดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศเพื่อพยุงเศรษฐกิจจากการใช้เงินงบประมาณปี 2562 ราว 80,000-100,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรจากผลกระทบภัยแล้ง กระตุ้นการบริโภคและการท่องเที่ยวในประเทศ เชื่อว่ามาตรการกระตุ้นจะมีประสิทธิภาพช่วยให้ไตรมาสที่ 4 ขยายตัวดีถึง 3.5% และทั้งปีจีดีพีขยายตัว 3.3% ขณะที่ระยะกลางและยาว รัฐบาลจะมีการเดินหน้าตามนโยบายที่ได้มีการหาเสียงเอาไว้ คาดว่าจะใช้งบประมาณหลักแสนล้านบาท
“เสถียรภาพรัฐบาลที่ต้องติดตาม จุดแรกคือการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา และต่อไปเรื่องการผ่านร่างงบประมาณ ปี 2563 ซึ่งงบประมาณได้ล่าช้าไปแล้ว ต้องติดตามว่าช่วงเดือนตุลาคมนี้ที่จะมีการโหวตงบประมาณ เสียงรัฐบาลในรัฐสภาที่ก้ำกึ่งจะเป็นอุปสรรคหรือไม่ แต่การดีเลย์ออกไปไม่ใช่เรื่องใหม่ รัฐบาลมีเงินใช้อยู่แล้วตามกรอบงบเดิม ต้องติดตามไปต่อเนื่องจนกว่าปีหน้าถึงจะบอกได้ว่าเสถียรภาพรัฐบาลไทยดีแค่ไหน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image