‘บิ๊กตู่’ในวันไร้ ม.44 จับตา‘ปรับเกม’ หลัง‘ถกนโยบาย’

เป็นการ “รับน้องใหม่” ที่ร้อนแรงไม่ธรรมดา
การแถลงนโยบายรัฐบาล ต่อรัฐสภา ที่เริ่มต้นเมื่อวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา เป็นครั้งแรกที่ พล.อ.ประยุทธ์   จันทร์โอชา ได้เผชิญหน้ากับ ส.ส.ในสภา
เป็นการเผชิญหน้าในแบบที่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีอาญาสิทธิ์มาตรา 44 ในมือ
เป็นเรื่องปกติ ที่หัวหน้ารัฐประหาร หากโคจรไปพบกับ ส.ส.เมื่อไหร่ มักจะกลายเป็นเรื่องใหญ่
อย่างน้อยก็ต้องต่อว่าต่อขานกันพอสมควร พอให้รับรู้จุดยืนและความในใจของกันและกัน
จึงมีคำอภิปรายของ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ อดีตประธานรัฐสภา ซึ่งถือเป็น     นักประชาธิปไตยที่วงการเมืองให้ความนับถือ ที่ระบุถึงเหตุการณ์เมื่อ 22 พ.ค.2557 ที่ห้องประชุมสโมสรทหารบก
เมื่อประกาศยึดอำนาจ พล.อ.ประยุทธ์ได้กล่าวสำทับว่า พวกท่านอย่าคิดสู้ผม ถึงสู้ก็สู้ไม่ได้ ผมเตรียมการมา 3 ปีแล้ว
คำว่า “เตรียมการมา 3 ปี” จึงขัดแย้งกับคำอธิบายของฝ่ายยึดอำนาจ ที่มักจะอ้างว่า ต้องเข้ามารัฐประหาร เพราะบ้านเมืองวิกฤตวุ่นวาย หากปล่อยไว้จะบานปลาย ทำให้เสียหายมากขึ้นไปอีก
นำไปสู่คำถามว่า “วิกฤต” ที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นตามธรรมชาติของการเมือง หรือมีคนจัดฉากให้เกิดขึ้น โดยเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมการ 3 ปี ที่ว่าหรือไม่
พล.อ.ประยุทธ์ชี้แจงต่อมาว่า หมายถึงการเตรียมฝึกกำลังพลระหว่างเป็น ผบ.ทบ. ไม่ได้หมายถึงการเตรียมปฏิวัติ

สําหรับเนื้อหาสาระของการอภิปราย หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์แถลงรายละเอียดนโยบาย 35 หน้าเสร็จ        คำอภิปรายของฝ่ายค้านจากนั้น ล้วนแต่ระบุว่า ไม่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะดำเนินการตามนโยบายได้
ด้วยเหตุผลคล้ายๆ กันว่า รัฐบาลนี้มีเวลา 5 ปี ในการบริหารงาน แต่ก็ไม่ได้มีผลสำเร็จเป็นพิเศษ และบางเรื่องยังถือเป็นความล้มเหลว
เรื่องที่ถูกขุดออกมาตีแผ่เป็นระยะ จากพรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่ ได้แก่ การใช้อำนาจของรัฐบาลในห้วงเวลา 5 ปีหลังการรัฐประหารในปี 2557
น่าสังเกตว่า พล.อ.ประยุทธ์ พยายามลุกขึ้นชี้แจงด้วยตนเองในทุกเม็ด
แม้ว่าบางเรื่องจะตอบห้วนๆ สั้นๆ ได้แก่ การเตรียมปฏิวัติล่วงหน้า 3 ปี
การชี้แจงแบบโต้ทุกเม็ดของ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งยอมรับว่าตนเองเป็น “มือใหม่” ของการเมืองแบบรัฐสภา ทำให้เกิดการผิดคิว ผิดข้อบังคับการประชุม ทำให้ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาต้องเบรกบ่อย
นอกจากนี้ ยังติดในท่าทีสั่งการแบบเดิมๆ สมัยเป็นนายกฯ คสช. ทั้งน้ำเสียงดุดัน และการชี้นิ้ว บางครั้งล้ำเส้นจนถูกประท้วงจาก ส.ส.อนาคตใหม่ว่า ส.ส.ไม่ใช่ทหาร อย่ามาชี้นิ้วสั่งการ
ตลอดการประชุม ที่นั่งเคียงข้าง พล.อ.ประยุทธ์ ได้แก่พี่เลิฟของนายกฯ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง      นายกฯ
บิ๊กป้อมรับบทประกบติดนายกฯ และพยายามสะกิดคอยเตือนเวลาบิ๊กตู่เริ่มคุกรุ่น แต่เท่าที่เห็นก็ไม่ค่อยได้ผลเท่าไหร่นัก

ไฮไลต์สำคัญของการประชุมวันแรก ได้แก่ การอภิปรายของ นายรังสิมันต์ โรม จากพรรคอนาคตใหม่
ตอนหนึ่ง ส.ส.หนุ่มจากอนาคตใหม่ กล่าวว่า รัฐบาลนี้กับรัฐบาลที่แล้วเป็นกลุ่มเดียวกันที่มีปัญหามากมาย แต่มาเขียนนโยบายว่าจะส่งเสริมให้นักการเมืองมีคุณภาพ เป็นคนดี มีคุณธรรมและการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น สังคมจึงมีคำถามว่าจะเป็นไปได้อย่างไร
ทำให้เกิดการประท้วงจากองครักษ์จากพรรคพลังประชารัฐ และ ส.ว.
มีการหลุดปากจาก พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร ส.ว.เพื่อนนายกฯ ว่า อย่างนี้ต้องปฏิวัติสัก 20 ปี เรียกเสียงโห่ลั่นสภา ก่อน “บิ๊กเยิ้ม” จะถอนคำพูดไป
แต่รายที่ดุเดือดยิ่งกว่าได้แก่ การปะทะระหว่าง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ที่เปิดประเด็นเรื่องเลือกตั้ง การทุจริต
พล.อ.ประยุทธ์ตอบโต้ว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ไม่เคยให้เกียรติเลย รู้จักกันมานาน แต่งงานก็วันเดียวกัน สมรสพระราชทานมาด้วยกัน
ถือเป็นรุ่นพี่ แต่วันนี้ไม่ถือเป็นรุ่นพี่แล้ว อันเป็นการประกาศตัดขาดพี่น้อง ดังที่สื่อต่างๆ นำเสนอ
เกิดการโต้เถียง และขอให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ถอนคำพูด เจ้าตัวยืนยันไม่ถอน นายพรเพชร วิชิตชลชัย ซึ่งทำหน้าที่ประธาน ระหว่างเกิดเหตุพยายามเบรกเกมด้วยการเคาะค้อน และยืนขึ้น แต่ไม่มีผล จึงสั่งพักการประชุม 10 นาที
เมื่อกลับมาอดีต ผบ.ตร. ยืนยันไม่ยอมถอนคำพูดอีก นายพรเพชรจึงเชิญให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ออกจากห้องประชุมไป

บทบาทของ พล.อ.ประยุทธ์ ในการประชุมแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ถือเป็นความพยายามปรับตัวให้เข้ากับระบบของสภา ที่มีกฎเกณฑ์ และต้องใช้ความอดทนในการรับฟังความเห็นและเหตุผลที่แตกต่าง
แม้ว่าจะยังประดักประเดิด แต่ก็น่าสนใจว่า พล.อ.ประยุทธ์จะทำใจ ปรับความคิดความเคยชินให้เข้ากับนักการเมืองจากเลือกตั้งได้อย่างกลมกลืนแค่ไหน
โดยเฉพาะสภาผู้แทนฯ ซึ่งมี ส.ส.ฝ่ายค้าน ที่พร้อมอภิปรายวิจารณ์รัฐบาลอย่างตรงไปตรงมา
อาจจะต้องใช้เวลาอีกไม่น้อย จึงจะเห็นความเปลี่ยนแปลง
แต่บางเรื่องก็น่าจับตา อาทิ การเดินทางลงพื้นที่ตรวจราชการของนายกฯ จากเดิมที่ไม่ค่อยเปิดกว้างให้สื่อเดินทางไปสังเกตการณ์และทำข่าว
การลงพื้นที่ จ.ยะลา ที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ หลังแถลงนโยบาย มีกระแสข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ดำริให้เชิญสื่อมวลชนลงพื้นที่ร่วมสังเกตการณ์ด้วย
โดยจะให้ลงพื้นที่ล่วงหน้าก่อนที่นายกฯและมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องนำเยี่ยมชม
และการลงพื้นที่ตรวจติดตามงานนโยบายของนายกฯ ซึ่งจะมีขึ้นทุกเดือนนั้น จะเชิญตัวแทนสื่อมวลชนลงพื้นที่ด้วยทุกครั้ง เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์งานด้านเชิงรุกของนายกฯและรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สังคมต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงมากขึ้น นอกเหนือจากท่าทีการแสดงออกของนายกฯ ในวันที่ไร้ ม.44
ก็คือ การปรับนโยบายของรัฐบาล สร้างความเป็นธรรมในทุกมิติ
ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ซึ่งรวมถึงการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ การสร้างประชาธิปไตย ขยายสิทธิเสรีภาพให้ประชาชน
ซึ่งไม่เพียงแต่จะสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในสังคม แต่ยังจะเพิ่มความชอบธรรมให้กับนายกฯและรัฐบาลด้วย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image