‘บิ๊กป้อม’นั่งปธ.ยุทธศาสตร์พปชร. เดินเกมการเมือง-สร้างเอกภาพพรรค

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการ-นักการเมือง กรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐนั้น

 

วันวิชิต บุญโปร่ง
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

การเล่นการเมืองของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นการกระทำที่ตรงไปตรงมาที่สุด หมายความว่า สามารถสะบัดภาพจากการที่ตัวเองเป็นศูนย์กลางอำนาจในสมัยอยู่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ แน่นอนว่าสิ่งที่ พล.อ.ประวิตรถนัดที่สุดคือบทบาทการทำงานประสานอย่างลับๆ
หากย้อนเวลาไปได้ สมัยที่ พล.อ.ประวิตรเป็นผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) นั้น ความหวือหวา ทางราชการไม่มี แต่ พล.อ.ประวิตรจัดสรรกำลังพลและสถาปนานายทหารบูรพาพยัคฆ์ขึ้นมา สร้างสายป่าน ต่อท่ออำนาจไปสู่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และเครือข่ายนายทหารร่วม 1 ทศวรรษ
นี่คือความสำเร็จของ พล.อ.ประวิตรในทางการจัดการกลุ่มก้อนทหาร
พล.อ.ประวิตรจึงย้ายบทบาทในรัฐบาล คสช.ไปเป็นนักการเมืองเต็มตัว คงใช้ความเชี่ยวชาญ ความชำนาญด้านการเดินเกม หรือการทำงานแบบเงียบๆ เพราะไม่ต้องการเป็นเป้าหรือตำบลกระสุนตกอีกต่อไปเหมือนที่เคยเป็นตลอด 5 ปีที่ผ่านมา
ดังนั้น การทำงานประสานเชิงลับนั้นสามารถเลือกขุนพล เลือกบุคคลที่ไว้ใจให้มาทำงานใกล้ชิดได้ เช่น ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำงานเดินเกมประสานกับพรรคการเมืองต่างๆ พร้อมจัดการเรื่องราวภายในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้เรียบร้อย
ขณะเดียวกันนายสุชาติ ชมกลิ่น ส.ส.ชลบุรี พรรคพลังประชารัฐ ก็อาสาเดินเกมหรือทำงานกับ พล.อ.ประวิตรมากขึ้น เพื่อให้กิจการในพรรค พปชร.
เกิดเอกภาพมากขึ้น
สังเกตว่า การที่ พล.อ.ประวิตรเดินเกมวางขุนพลซ้ายขวาอย่างนี้เพียงเพราะต้องการกุมสภาพและกำราบนักการเมืองที่ไม่อยู่ในวินัย ไม่อยู่ในร่องรอย หรือตามที่นักการเมืองควรจะเป็นตามธรรมชาติ
ดังนั้น สิ่งที่เห็นคือในกรณีนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคพลังประชารัฐ เป็นบททดสอบแรกอย่างเป็นทางการที่ พล.อ.ประวิตรเรียกมาตักเตือน พูดคุยเรื่องพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมที่ได้ทำลงไป
เราจะเห็นแล้วว่า อำนาจทั้งปวงในกิจการต่างๆ ของพรรค พปชร.ยอมรับการนำของ พล.อ.ประวิตรโดยดุษฎี
อย่างไรก็ดี พล.อ.ประวิตรยังอยู่ในกติกาและทำให้เห็นว่าการเดินเกมหรือธรรมชาติของพรรคการเมือง บทเรียนในอดีตซึ่งเรายอมรับว่าทหารได้มาสวมหมวกในพรรคการเมืองที่มีอายุยืนนานและมั่นคงได้
ดังนั้น การที่ พล.อ.ประวิตรมาเล่นในบทบาทนี้คือ 1.รู้อยู่แล้วว่าไม่มีอะไรต้องสูญเสีย เพียงแต่เป้าประโยชน์สูงสุดคือต้องประคับประคองรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ให้อยู่ได้นานที่สุด หรือครบ 4 ปีให้ได้ ดังนั้น สิ่งที่ต้องจัดการและจัดสรรง่ายที่สุดคือสร้างความเรียบร้อยภายในพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะแกนนำรัฐบาลให้ได้เสียก่อน
2.กระแสกดดันเพื่อนำไปสู่การต่อรองให้รัฐมนตรีทั้ง 5 คนในพรรค พปชร.ลาออกจาก ส.ส. เพื่อจะเป็นเกม หมากผลักดันต่อไป
ขณะนี้ พล.อ.ประวิตรคงรู้อยู่แล้วว่าเมื่อทหารออกมาพูดทุกครั้งหรือเทกแอ๊กชั่นในลักษณะการให้ความเห็นทางการเมืองจะถูกกระแสทางสังคมโต้กลับในลักษณะความไม่สบายใจ ดังนั้น พล.อ.ประวิตรจึงไม่ออกมาแสดงความคิดเห็นอะไรเลยให้เป็นเป้าในการถูกโจมตีได้

Advertisement

 

ยุทธพร อิสรชัย
รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

เป็นเรื่องดีที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประกาศเป็นนักการเมืองเต็มตัว เพราะก่อนหน้านี้มีข้อวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในตัว พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.ประยุทธ์มาโดยตลอด ในเรื่องที่ว่าท่านจะประกาศตัวเป็นนักการเมืองเมื่อไหร่ ท่านอยู่ในสถานะนักการเมืองแล้วหรือยัง ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ก็ได้ประกาศมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ พล.อ.ประวิตรเรายังไม่เคยได้ยินท่านประกาศ
ฉะนั้น วันนี้ในภาวะที่ คสช.ก็สิ้นสภาพไปโดยผลของรัฐธรรมนูญแล้ว มีการเลือกตั้ง มีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง ก็ควรจะต้องมีความชัดเจนในเรื่องเหล่านี้ เนื่องจากจะมีผลไปถึงเรื่องของความเป็นเอกภาพในพรรคพลังประชารัฐด้วย เพราะเมื่อท่านประกาศเป็นนักการเมืองเต็มตัว
นั่นหมายความว่าท่านอาจจะรับตำแหน่งในพรรคพลังประชารัฐ เช่น ประธานยุทธศาสตร์พรรค ซึ่งจะทำให้การควบคุมความเป็นเอกภาพในพรรค
ดีขึ้น เพราะ ณ วันนี้ เรายังไม่เห็นใครในพรรคพลังประชารัฐที่เป็นมือการเมืองที่จะมาควบคุมกำกับได้ หรือมีบารมีมากพอ การทำหน้าที่ของหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐก็ดียังคงมีความใหม่ต่อการเมืองค่อนข้างมาก และเป็นนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งครั้งแรก
จึงคิดว่าการที่ พล.อ.ประวิตรเข้ามา น่าจะทำให้เอกภาพภายในพรรคดีขึ้น เพราะวันนี้ปัญหาของรัฐบาลไม่ได้อยู่ที่พรรคร่วมเท่าไหร่นัก ปัญหาหลักที่ 2 จุดเท่านั้น คือ 1.ความเป็นเอกภาพในพรรคพลังประชารัฐ 2.บรรดาพรรคจิ๋ว ซึ่งวันนี้มีอยู่ 9 พรรค ส่วนพรรคร่วมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น พรรคภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา ประชาธิปัตย์ ก็ไม่เห็นปัญหาเรื่องความเป็นเอกภาพเกิดขึ้นเท่ากับ 2 จุดนี้
แม้ พล.อ.ประวิตรเป็นทหารมาก่อน แต่ท่านก็สัมผัสการเมืองมาถึง 5 ปีแล้ว แม้ว่าจะไม่ได้เป็นภาวะที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ท่านก็น่าจะมีประสบการณ์ในระดับหนึ่ง ด้วยความที่ท่านเองเป็นผู้มีบารมี รู้จักผู้คนหลากหลายวงการ แม้แต่นักการเมืองก็รู้จักมักคุ้นกับหลายท่านในแวดวงการเมืองมาอย่างยาวนานแล้ว จึงคิดว่าไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไร
แต่ปัญหาอาจจะมาจากปัญหาส่วนตัวของท่านมากกว่า เช่น ปัญหาสุขภาพ แต่หากมีคณะทำงานที่ดีก็น่าจะทำให้ท่านสามารถทำงานได้ โดยใช้การทำงานในระบบทีมเข้ามาช่วย
ที่ผ่านมามักมีข้อครหาว่าทหารเล่นการเมืองมักจะไม่ประสบความเร็จ แต่อีกมุมก็มองว่าเป็นเหรียญ 2 ด้าน ด้านหนึ่งเป็นเรื่องผลบวก ที่ทำให้เอกภาพในพรรคพลังประชารัฐดีขึ้น บทบาทของท่านชัดเจนขึ้น
แต่อีกด้าน เป็นผลทางลบ เพราะการที่ท่านประกาศเป็นนักการเมืองเต็มตัว และยิ่งท่านมารับตำแหน่งในพรรคพลังประชารัฐจะยิ่งถูกหยิบยกข้อวิจารณ์ที่เคยมีมาแต่เดิมขึ้นมาตอกย้ำให้ชัดมากขึ้น เช่น ข้อวิจารณ์ว่า พล.อ.ประวิตร หรือ คสช.มีความเกี่ยวข้องกับพรรคพลังประชารัฐมาแต่ต้นหรือไม่
บรรดาผู้คนที่ไม่เห็นด้วยหรือคัดค้านก็จะหยิบยกประเด็นเหล่านี้ขึ้นมาตอกย้ำ ผลิตซ้ำ และอาจส่งผลให้การที่ท่านเข้ามามีบทบาท มีปัญหาได้เช่นเดียวกัน ก่อนหน้านี้จะเห็นว่าผู้นำทางทหารหลายท่านเมื่อเข้ามาสู่แวดวงการเมืองก็ไม่ได้มีบทบาทโดดเด่นอะไร หลายท่านก็อาจจะเป็นปัญหาเสียยิ่งกว่าสมัยดำรงตำแหน่งเป็นทหารด้วยซ้ำ เป็นผลอันเนื่องมาจากการที่ทหารมีวิธีคิดคนละแบบกับนักการเมือง
แต่ส่วนตัวมองว่า พล.อ.ประวิตรไม่ได้มีวิธีคิดเป็นทหารที่เข้มข้นมาก ก็อาจจะไม่มีปัญหามากนัก แต่จะมีปัญหาเรื่องการถูกวิพากษ์วิจารณ์มากกว่า
วันนี้ พล.อ.ประวิตรไม่ประกาศตัวเป็นนักการเมืองก็อาจจะไม่ได้แล้ว เพราะถึงจุดที่ท่านต้องตัดสินใจเลือก เนื่องจากรัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และ คสช.ก็สิ้นสภาพไปแล้ว และท่านก็ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีอยู่ในรัฐบาลชุดนี้ด้วย
จึงต้องมีความชอบธรรมทางการเมืองในระดับหนึ่ง จึงต้องมีสถานะบทบาทที่ชัดเจนว่าท่านอยู่ในตำแหน่งอะไร เป็นอีกด้านจะเป็นการปูทางไปสู่การรับตำแหน่งในพรรคพลังประชารัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตำแหน่งประธานยุทธศาสตร์พรรค เพื่อสร้างเอกภาพของพรรค ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ ที่บุคคลในพรรคทั้งหัวหน้า เลขาธิการพรรคดูเหมือนว่าจะเอาไม่อยู่
เนื่องจากพรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคที่ไม่ได้มีความเกาะเกี่ยวทางอุดมการณ์ แต่เป็นการรวมกลุ่มกันของ ส.ส. ดังนั้น อุดมการณ์ทางการเมือง จุดยืน และผลประโยชน์ทางการเมือง แต่ละกลุ่มก็ต่างกัน การที่จะต้องตอบสนองต่อ 3 สิ่งนี้ ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ เชื่อว่าในเบื้องต้น พล.อ.ประวิตรจะเอาอยู่ น่าจะทำให้เอกภาพดีขึ้น แต่การต้องเผชิญกับข้อวิจารณ์จะเป็นอุปสรรคของท่านอยู่เหมือนกัน

Advertisement

 

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ
อดีตแกนนำพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.)
และแกนนำกลุ่มก้าวต่อไปเพื่อประชาธิปไตย (กตป.)

ในที่สุด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ก็ประกาศเป็นนักการเมืองเต็มตัว ทั้งที่จริงๆ แล้ว 3 นายทหารใหญ่แห่ง คสช.เล่นการเมืองต่อเนื่องมาไม่ต่ำกว่า 10 ปี หลังจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ อาจรับเป็นหัวหน้าพรรค แต่ถึงจะไม่ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพราะ พล.อ.ประวิตรเปิดหน้าเล่นแบบนี้เท่ากับพรรค พปชร. สถาปนาตัวเองเป็นพรรคการเมืองของฝ่ายอนุรักษนิยมตัวจริง แทนที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ซึ่งทำหน้าที่นี้มานาน ฝ่ายประชาธิปไตยคงไม่มีอะไรเสียหายเพราะคู่ต่อสู้ยังเป็นคนกลุ่มเดิม แต่พรรค ปชป.จะได้รับผลกระทบหนัก เพราะทำทางให้เผด็จการจนทางเดินตัวเองแคบลงทุกวัน
ทั้งหมดนี้คือผลการปฏิรูปที่คนพรรค ปชป.เรียกร้องก่อนยึดอำนาจ ปฏิรูปจนรถถังกลายเป็นพรรคการเมือง เลือกตั้งครั้งหน้า พล.อ.ประวิตร ในฐานะประธานยุทธศาสตร์ประกาศนำพรรค พปชร.คว้าที่นั่ง ส.ส.เพิ่ม เขียนไว้ข้างฝาได้เลยว่าถ้าเป็นจริงพรรค ปชป.จะยิ่งเล็กลง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image