ปัญหา ‘ปากท้อง’ ตัวชี้วัด จริงแท้ ท้าทาย รบ. ‘บิ๊กตู่’

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทยเป็นผู้นำฝ่ายค้านแล้ว
ทั้งนี้พรรคเพื่อไทยได้เพิ่งประชุม และกำหนดแนวทางปฏิรูปตัวเอง เพื่อให้ทันสมัย
“คิดใหม่ ทำไว” มีแนวคิดสร้างนวัตกรรมแก้จนในพื้นที่เป้าหมาย
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยกล่าวในการประชุมว่า พรรคเพื่อไทยต้องเข้าสู่ยุค “คิดใหม่ ทำไว” เพราะปัญหาปากท้องประชาชนรอไม่ได้ ทุกข์ของคนไทยรอไม่ได้ ต้องเร่งแก้ไข
ต้องจัดองค์กรใหม่ นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย นำปัญหาของประชาชนมาถึงพรรคให้รวดเร็ว เปิดช่องให้       ผู้เชี่ยวชาญ และคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วม
ช่วยคิด ช่วยทำ เพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชน
โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจรอช้าไม่ได้

ขณะที่ความเคลื่อนไหวในสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกเพิ่งมีมติรับข้อบังคับการประชุมสภา
วาระสำคัญของสภาในเดือนสิงหาคม-กันยายน ยังคงเป็นเรื่องการยื่นกระทู้และญัตติซักถาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ทั้งเรื่องที่นายกรัฐมนตรีรับผิดชอบในหน้าที่ของนายกฯ และรัฐมนตรี
และเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณที่ไม่ครบตามรัฐธรรมนูญกำหนด
กรณีการถวายสัตย์นี้ พรรคฝ่ายค้านโดย นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ พยายามยื่นกระทู้ถาม
หากแต่ พล.อ.ประยุทธ์ติดภารกิจไม่ยอมมาตอบในสภา จนกระทั่งพรรคฝ่ายค้านยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายตาม ม.152 รัฐธรรมนูญ
ซักฟอก ซักถาม โดยไม่ต้องลงมติ
เดิมที นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา มองว่าถ้าไม่มีปัญหาอุปสรรค ญัตติน่าจะบรรจุได้ภายในสิ้นเดือนสิงหาคม แต่เมื่อ นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาไปดูรายละเอียดพบว่าช่วงปลายเดือนสิงหาคม สภาไทยมีกำหนดประชุมร่วมสภาอาเซียน
ญัตติเปิดอภิปรายซักถามตาม ม.152 ในประเด็นการถวายสัตย์ จึงเลื่อนไปเดือนกันยายน
ล่าสุดนายชวนกำหนดว่าน่าจะต้นกันยายนนี้

ประเด็นการถวายสัตย์ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญหรือไม่นี้ นอกจากสภาผู้แทนราษฎรจะแสวงหาคำตอบทางสภาแล้ว
ยังมีการยื่นให้ผู้ตรวจการแผ่นดินสอบสวนด้วย โดยผู้ตรวจการฯ นัดประชุมกันวันที่ 27 สิงหาคมนี้
โดย นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาฯนายกรัฐมนตรี ได้รับคำแนะนำจากผู้รู้ อาทิ นายวิษณุ เครืองาม          รองนายกฯ ร่างหนังสือตอบผู้ตรวจการแผ่นดินไปแล้ว
ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ นั้นขอหยุดให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นดังกล่าว พร้อมทั้งยืนยันว่า ทุกอย่างครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ
ถือเป็นการแสดงความมั่นใจในคำชี้แจงที่ได้ส่งให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน
แต่ยังมีข้อสงสัยว่า ในญัตติซักถามของสภาผู้แทนราษฎรนั้น
พล.อ.ประยุทธ์จะเดินทางไปตอบที่สภาหรือไม่

อีกความเคลื่อนไหวหนึ่งที่ปะทุขึ้นในขณะที่การเมืองกำลังอยู่ในช่วงรอคำตอบจากนายกฯ
เป็นความเคลื่อนไหวของ ครม.เศรษฐกิจ ที่อนุมัติวงเงิน 3.1 แสนล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปี 2562
รัฐบาลหวังว่าเงินจำนวนดังกล่าวเมื่อใช้ออกไป จะทำให้จีดีพีกระตุ้นขึ้น 3 เปอร์เซ็นต์
ทั้งนี้สำรวจจากมาตรการของรัฐบาลแล้วสรุปได้ว่ามี 3 มาตรการ หนึ่ง ช่วยเหลือค่าครองชีพ สอง กระตุ้นเศรษฐกิจ และสาม เยียวยาภัยแล้ง
ช่วยเหลือค่าครองชีพเน้นไปที่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน ผู้สูงอายุ และการเลี้ยงดูบุตร และยังพักชำระหนี้กองทุนหมู่บ้าน ของ ธ.ก.ส. กับธนาคารออมสิน
การกระตุ้นเศรษฐกิจ เน้นที่ “ชิมช้อปใช้” จูงใจให้เที่ยวในประเทศ กระตุ้นการลงทุน ยืดลมหายใจให้          ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมไปถึงสินเชื่อผู้อยู่อาศัย
ส่วนการเยียวยาภัยแล้ง มีทั้งลดดอกเบี้ยเงินกู้ พักการชำระหนี้ อนุมัติสินเชื่อ และสนับสนุนต้นทุนค่าปลูกข้าวนาปี
มาตรการดังกล่าว ผ่าน ครม.ชุดใหญ่ และทยอยส่งเงินเข้าสู่ระบบแล้ว
ขณะนี้กำลังรอมาตรการระลอกสองจาก ครม.เศรษฐกิจ
รอฟังว่ากลุ่มใดในสังคมจะได้รับการอัดฉีด

Advertisement

อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลเดินหน้าอัดฉีดเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม เสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงมาตรา 3.1 แสนล้านบาทก็เริ่มปรากฏ
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า มาตรการดังกล่าวมีแนวโน้มทำให้เศรษฐกิจ ดีขึ้น
มองว่าไม่ว่าจะเป็นมาตรการใดขอให้ภาครัฐมีการขับเคลื่อนและทำให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมตรวจสอบเสมอว่ามาตรการที่ออกมาได้ผลหรือไม่
และควรรับฟังข้อเสนอแนะในกรณีที่มาตรการดังกล่าวไม่ได้ผล
“การที่มีมาตรการออกมาในช่วงนี้ถือเป็นเรื่องที่ดีกว่าไม่มีอะไรออกมาเลย หลังจากนี้ต้องสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่าเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้จะปรับตัวดีขึ้น”
ขณะเดียวกัน ว่าที่ ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์ รองประธานหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคกลาง หอการค้าไทย ยังไม่แน่ใจว่ามาตรการดังกล่าวจะใช้ได้ผลจริงตามคาดไว้หรือไม่
จำนวนเงินที่ใช้สูงมาก แต่ต้องใช้เวลาประเมินผลสักพัก ต้องพยายามดันเม็ดเงินให้กระจายตัวไปทั่วประเทศ ไม่ให้เกิดการกระจุกตัว
หากทำได้อาจกระตุ้นเศรษฐกิจดีขึ้นอีก 0.5% เช่นเดียวกับจีดีพีที่คาดว่าจะโตถึง 3% นั้น ต้องดูทิศทางหลังจากนี้เช่นกัน
แต่เชื่อว่าปีนี้จะทำให้ถึง 3% คงเหนื่อยสุดสุด

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเชื่อมโยงระหว่างปัญหาทางเศรษฐกิจกับปัญหาทางการเมืองให้เห็นอย่างชัดแจ้ง
รัฐบาลย่อมรับทราบว่าปัญหาปากท้องเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุดที่ต้องแก้ปัญหา
พรรคฝ่ายค้านมองเห็นว่าปัญหาปากท้องคือปัญหาเร่งด่วนของประชาชนที่หากรัฐบาลเมินเฉยจะเป็นจุดอ่อน
ขณะที่รัฐบาลเริ่มเคาะตัวเลขและโครงการที่จะใช้จ่าย ภาคเอกชนกลับรอชมผลที่จะเกิดขึ้น
ผลที่จะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
ผลที่ทำให้ประชาชนเริ่มมีรายได้มากขึ้น มีการจับจ่ายใช้สอยสินค้าและบริการ ภาคเอกชนส่งออกได้เป็นบวก มีการลงทุนเพิ่มขึ้น ฯลฯ
เพราะตัวเลขเหล่านี้เป็นตัวชี้วัดว่าเศรษฐกิจดีขึ้น เช่นเดียวกับจำนวนเงินในกระเป๋าของคนไทย
ถ้าคนไทยที่ทำงานมีรายได้มากขึ้น มีรายจ่ายน้อยลง ย่อมเป็นตัวชี้วัดว่าปัญหาปากท้องเริ่มคลี่คลาย
ตัวชี้วัดนี้มิได้เป็นเพียงแค่ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจเท่านั้่น หากแต่ยังจะบานปลายกลายเป็นตัวชี้วัดทางการเมือง
เพราะการแก้ปัญหาปากท้องเป็นการพิสูจน์ฝีมือของรัฐบาลในการบริหารประเทศ
เป็นตัวชี้วัดว่า รัฐบาลจะสามารถอยู่ได้ครบวาระ 4 ปี เหมือนดั่งที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประกาศไว้ที่พรรคพลังประชารัฐหรือไม่
เป็นตัวชี้วัดที่จริงแท้ที่รอพิสูจน์ฝีมือรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image