รายงาน : ศึกษา อาการ หนี กลยุทธ์ สุดยอด กรณี ถวายสัตย์

เห็นเด่นชัดตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินทางไป 3 จังหวัดชายแดนใต้ เมื่อพุธที่ 7 สิงหาคม แล้วมีเป้าหมาย “แฝง” เป็นอะไร

เป็นการ “หนี” จากกระทู้ถามสด

เพราะ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ประกาศเด่นชัดว่าจะยื่นกระทู้ถามสดต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในประเด็นเรื่องถวายสัตย์ปฏิญาณตน

แต่เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ไป “สภา”

Advertisement

มีความจำเป็นที่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล จะถอนกระทู้ถามสดออกมาและสำแดงเจตจำนงจะยื่นอีกครั้งในวันพุธที่ 14 สิงหาคม

อันทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องไปเล่นชักเย่อ

จากนั้นจึงเห็นอย่างเด่นชัดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มักจะติดภารกิจทุกวันพุธอันเป็นวันประชุมสภา

จึงกลายเป็นปฏิบัติการ “หนีสภา”

ถึงแม้ว่านักวางแผนของจีนจะจัดให้ “หนีคือยอดกลยุทธ์” เป็นกลยุทธ์สุดท้ายในตำราขบวนศึก “36 กลยุทธ์แห่งชัยชนะ”

แต่ที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ เป็นการจัดในภาค “กลยุทธ์ยามพ่าย”

พร้อมกับอรรถาธิบายว่า กลยุทธ์นี้มีความหมายว่า เมื่อรบกับข้าศึก หากข้าศึกแข็ง เราอ่อน อาจจะถอยร่นอย่างรวดเร็ว เพื่อหลบเลี่ยงการปะทะเสียก่อน

นั่นเป็นการสรุปจากความจัดเจนของหลายตำรา

ไม่ว่าจะเป็นตำราพิชัยสงครามไหวหนานจื่อที่ว่า “แข็งจึงสู้ อ่อนก็หนี” ไม่ว่าจะเป็นตำราพิชัยสงครามปิงฝ่าหยวนจีได้ที่ว่า “แม้นหลบแล้วรักษาไว้ได้ ก็พึงหลบ”

ไม่ว่าจะเป็นตำราขบวนศึกของซุนวูที่ว่า “แข็งพึงเลี่ยงเสีย”

อันนำไปสู่การสรุปอย่างรวบรัดในตอนว่าด้วยแม่ทัพในคัมภีร์อี้จิงที่ว่า “ถอยหนีมิผิด เป็นวิสัยซึ่งสงคราม” เป็นกลยุทธ์ที่ฝ่ายอยู่ในฐานะเลวกว่าใช้รูปแบบถอยหนีเพื่อหาโอกาส

จึงจัดอยู่ในกลุ่ม “กลยุทธ์ยามพ่าย”

คําถามก็คือ การหนีอย่างเห็นเป็นรูปธรรมในการเดินทางลง 3 จังหวัดชายแดนใต้ กระทั่งการเดินทางไปยังพื้นที่สุรินทร์ บุรีรัมย์

ประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด

ความสำเร็จในที่นี้โดยพื้นฐานคือทำให้ความพยายามของอีกฝ่ายประสบความล้มเหลวกลายเป็นจุดอ่อนและนำไปสู่การรุกกลับได้หรือไม่

น่าสงสัย

เพราะไม่เพียงแต่กระทู้ถามสดในประเด็น “ถวายสัตย์” จะกลายเป็นกระบวนท่าของฝ่ายค้านที่รอคอยจังหวะ

ตรงกันข้าม ทำท่าว่าอาจยกระดับเป็นกระแสในทางสังคม

ทางหนึ่ง กระแสนี้เป็นคำถามในทุกพื้นที่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินทางไป อีกทางหนึ่ง ฝ่ายค้านได้พัฒนาจากกระทู้ถามสดเป็นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญ

ที่คิดหนีก็มิอาจหนี ที่คิดว่าจบยิ่งกลับไม่จบ

ไม่ว่ากลยุทธ์ “หนี” จะมาจากสมองก้อนโตของใคร ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เอง หรือของฝ่ายเสนาธิการอันมากด้วยความจัดเจนเชิงกลยุทธ์

ที่คิดว่าเป็นกระบวนการถอยในทางยุทธศาสตร์ กลับมิใช่

ที่คิดว่าภายในกระบวนการถอยจะสามารถแปรกลับเป็นการรุกทางการเมือง กลับไม่ปรากฏช่องหรือหนทางปรากฏขึ้น

จึงไม่แน่ว่า “หนี” จะเป็นกลยุทธ์ สุดยอดอย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image