ส่องร่าง กม.ปลูกกัญชา6ต้น ฉบับ‘ภท.’ชงสภาเปิดทาง

หมายเหตุสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ …) พ.ศ. … และร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถาบันพืชยาเสพติดแห่งประเทศไทย พ.ศ. … ที่พรรคภูมิใจไทย (ภท.) เสนอต่อสภา    ผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา เพื่อผลักดันกฎหมายเปิดทางปลูกกัญชา 6 ต้น ตามนโยบาย   ที่ได้รณรงค์หาเสียงไว้

ร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่…) พ.ศ. …
บันทึกหลักการและเหตุผล

หลักการ
แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ดังต่อไปนี้
(1) เพิ่มบทนิยาม คำว่า “สถาบันพืชยาเสพติดแห่งประเทศไทย” เป็นหน่วยงานของรัฐที่ตั้งขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ในการวิจัย การผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก การบริหารจัดการ พืชยาเสพติดตามอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติด ค.ศ.1961 และ ค.ศ.1972 ที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี (แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 4)
(2) แก้ไขเพิ่มเติมให้บุคคลธรรมดาสัญชาติไทยสามารถปลูกกัญชา ซึ่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Cannabis indica (Cannabis sativa forma indica) ในวงศ์ Cannabidaceae เพื่อการบริโภคส่วนบุคคล เพื่อการรักษาทางการแพทย์ ผลิต จำหน่ายได้ไม่เกิน 6 ต้นต่อครอบครัว ภายใต้การควบคุม กำกับดูแล และการบริหารของสถาบันพืชยาเสพติดแห่งประเทศไทย (เพิ่มเติม (4) ของมาตรา 26/2)
(3) แก้ไขเพิ่มเติมให้ผู้อนุญาตออกใบอนุญาตให้สถาบันพืชยาเสพติดแห่งประเทศไทย ในการผลิต นำเข้าส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเทศไทยได้ (เพิ่มเติม (4) ของมาตรา 26/5)

เหตุผล
โดยที่พืชยาเสพติดเป็นพืชที่สามารถนำไปผลิตเวชภัณฑ์ต่างๆ ได้ ซึ่งในหลายประเทศอนุญาตให้ปลูก ผลิต และจำหน่ายได้ จึงสมควรเปิดโอกาสให้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนสามารถปลูกพืชยาเสพติดเพื่อการพัฒนาเป็นยารักษาโรค เพื่อเป็นประโยชน์แก่การรักษาทางการแพทย์ ตลอดจนเปิดโอกาสให้มีการผลิต จำหน่าย หรือส่งออกเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจและการเกษตรกรรมโดยให้สถาบันพืชยาเสพติดแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินการจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

Advertisement

ร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่…) พ.ศ. …
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ

มาตรา 1 พ.ร.บ.นี้เรียกว่า “พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ …) พ.ศ. …”
มาตรา 2 พ.ร.บ.นี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้เพิ่มบทนิยาม คำว่า “สถาบันพืชยาเสพติดแห่งประเทศไทย” ระหว่างคำว่า “ยาเสพติดให้โทษ” และคำว่า “ผลิต” ในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545
“สถาบันพืชยาเสพติดแห่งประเทศไทย หมายความว่า หน่วยงานของรัฐที่ตั้งขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ในการวิจัย การผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก การบริหารจัดการ พืชยาเสพติดตามอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติด ค.ศ.1961 และ ค.ศ.1972 ที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี”
มาตรา 4 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (4) ของมาตรา 26/2 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562
“(4) ในกรณีเพื่อประโยชน์สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจ ให้กัญชา ซึ่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Cannabis indica (Cannabis sativa forma indica) ในวงศ์ Cannabidaceae ให้บุคคลธรรมดาสัญชาติไทยสามารถปลูกเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล เพื่อการรักษาทางการแพทย์ ผลิต จำหน่าย ได้ไม่เกิน 6 ต้นต่อครอบครัว และอยู่ภายใต้การควบคุม กำกับดูแล และการบริหารของสถาบันพืชยาเสพติดแห่งประเทศไทย”
มาตรา 5 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (8) ของมาตรา 26/5 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562
“(8) สถาบันพืชยาเสพติดแห่งประเทศไทย”

สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.สถาบันพืชยาเสพติด แห่งประเทศไทย พ.ศ. …
จากทั้งหมด 31 มาตรา

Advertisement

มาตรา 3 ใน พ.ร.บ.นี้ “พืชยาเสพติด” หมายความว่า พืชซึ่งมีสารออกฤทธิ์สำคัญที่สามารถนำมาพัฒนาเป็นยารักษาโรคได้ โดยพืชเหล่านี้ถูกกำหนดไว้ในอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ.1961 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ค.ศ.1972 ของสหประชาชาติ
“ยาเสพติด” หมายความว่า ยาเสพติดตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ
“สถาบัน” หมายความว่า สถาบันพืชยาเสพติดแห่งประเทศไทย
“สภาสถาบัน” หมายความว่า สภาสถาบันพืชยาเสพติดแห่งประเทศไทย
“กองทุน” หมายความว่า กองทุนเพื่อการวิจัย พัฒนาและการเผยแพร่องค์ความรู้
“เลขาธิการ” หมายความว่า เลขาธิการสถาบันพืชยาเสพติดแห่งประเทศไทย
“พนักงาน” หมายความว่า พนักงานของสถาบันพืชยาเสพติดแห่งประเทศไทย
“ลูกจ้าง” หมายความว่า ลูกจ้างของสถาบันพืชยาเสพติดแห่งประเทศไทย

มาตรา 5 ให้จัดตั้งสถาบันขึ้นเรียกว่า “สถาบันพืชยาเสพติดแห่งประเทศไทย” มีฐานะเป็นนิติบุคคล อยู่ในกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี
กิจการของสถาบันไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมาย ว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน ทั้งนี้ สถาบันต้องจัดให้มีข้อบังคับ หรือระเบียบกำหนดให้เลขาธิการ พนักงานและลูกจ้างของสถาบันได้รับประโยชน์ตอบแทน
ไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน
สถาบันเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐซึ่งไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการ  แผ่นดิน กฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น

มาตรา 6 สถาบันมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
(1) ศึกษาวิจัย วิเคราะห์ และพัฒนาพืชยาเสพติดอย่างเป็นระบบ
(2) ออกใบอนุญาตให้ประชาชนหรือนิติบุคคลในการปลูก ผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก พืชยาเสพติด     ภายใต้การควบคุมและกำกับดูแล
(3) รับซื้อพืชยาเสพติดและผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย
(4) เผยแพร่และสนับสนุนการพัฒนาสายพันธุ์พืชยาเสพติด
(5) จัดอบรมและสนับสนุนการศึกษาด้านความรู้เกี่ยวกับพืชยาเสพติด แก่บุคลากรจากภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน
(6) ให้บริการด้านข้อมูลข่าวสาร ผลงานวิจัย และความรู้เกี่ยวกับพืชยาเสพติด
(7) ส่งเสริมให้มีความร่วมมือด้านการพัฒนาพืชยาเสพติดระหว่างองค์กรภายในประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ
(8) ส่งเสริมงานด้านวิชาการสำหรับพืชยาเสพติดและผลิตภัณฑ์
(9) บริหารกองทุนเพื่อการพัฒนาและการเผยแพร่พืชยาเสพติดและผลิตภัณฑ์

มาตรา 7 ให้สถาบันมีอำนาจกระทำการต่างๆ ภายใต้วัตถุประสงค์ในมาตรา 6 และให้มีอำนาจกระทำการดังต่อไปนี้
(1) การมีกรรมสิทธิ์ สิทธิครอบครอง หรือทรัพยสิทธิการสร้าง การซื้อ การว่าจ้าง การรับจ้าง การจัดหาหรือการกระทำการใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินที่ตั้งอยู่ในราชอาณาจักรและนอกราชอาณาจักร รวมถึงการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ได้รับการบริจาค
(2) ออกข้อบังคับสถาบันเกี่ยวกับการให้ประกาศนียบัตร ประกาศนียบัตรชั้นสูง ประกาศนียบัตรกิตติมศักดิ์ ประกาศนียบัตรกิตติมศักดิ์ชั้นสูง สัมฤทธิบัตร และวุฒิบัตร แก่ผู้ซึ่งผ่านการอบรม
(3) การทำความตกลงและการทำความร่วมมือด้านการพัฒนาพืชยาเสพติดกับองค์กร หรือหน่วยงานภายในประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ
(4) การจัดให้มีทุนเพื่อการค้นคว้า วิจัย และพัฒนาทางวิชาการ
(5) การว่าจ้างหรือการมอบอำนาจให้บุคคลหรือนิติบุคคล เพื่อดำเนินกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่สถาบันว่าจ้างหรือมอบอำนาจให้กระทำการ
(6) การบริหารกองทุนตามกฎหมายและเป็นไปตามระเบียบของสภาสถาบัน
(7) การดำเนินกิจการอื่นใดเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของสถาบัน
ข้อบังคับนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

มาตรา 8 ให้มีสภาสถาบัน ประกอบด้วย
(1) นายกรัฐมนตรี เป็นประธานสภาสถาบัน
(2) รองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นรองประธานสภาสถาบัน
(3) กรรมการสภาสถาบันโดยตำแหน่ง ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม อธิบดีกรมสนับสนุนการบริการสุขภาพ อธิบดีกรมสุขภาพจิตนายกแพทยสภา นายกสภาการแพทย์แผนไทย นายกสภาเภสัชกรรม ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณแผ่นดิน ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
(4) กรรมการสภาสถาบันผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนไม่เกินหกคน ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของประธานสภาสถาบัน จากผู้แทนเกษตรกร ผู้แทนผู้ผลิตยา หรือผู้มีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องตามที่ประธานสภาสถาบันเห็นสมควร
(5) เลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการของสถาบัน

มาตรา 10 สภาสถาบันมีอำนาจหน้าที่ควบคุมและดูแลกิจการทั่วไปของสถาบันและให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(1) กำหนดนโยบายและควบคุมดูแลการดำเนินงานของสถาบัน
(2) กำหนดนโยบายและควบคุมดูแลการบริหารเงินกองทุน ออกระเบียบกองทุน รวมถึงการพิจารณาเพื่อจัดสรรทุนสำหรับการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของสถาบัน
(3) อนุมัติแผนปฏิบัติงานและแผนการดำเนินงานของสถาบัน
(4) ออกข้อบังคับว่าด้วยการแบ่งส่วนงานและการบริหารงานของสถาบัน
(5) ควบคุมงบประมาณของสถาบัน
(6) อนุมัติเกี่ยวกับการให้ประกาศนียบัตร ประกาศนียบัตรชั้นสูง ประกาศนียบัตรกิตติมศักดิ์ ประกาศนียบัตรกิตติมศักดิ์ชั้นสูง สัมฤทธิบัตร และวุฒิบัตรของสถาบัน
(7) ออกข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของสถาบัน เช่น การกำหนดจำนวนตำแหน่งงาน การกำหนดอัตราเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทน สวัสดิการและสิทธิประโยชน์ต่างๆ การบรรจุการแต่งตั้ง การโยกย้ายตำแหน่งงาน การให้ได้รับเงินเดือน ค่าจ้าง การลงโทษ การร้องทุกข์ และการอุทธรณ์ของลูกจ้างหรือพนักงานภายในสถาบัน
(8) ออกข้อบังคับว่าด้วยเครื่องแบบ เครื่องแต่งกายของคณะกรรมการสภาสถาบัน รวมถึงบุคลากร ผู้ศึกษาอบรม เข็มวิทยฐานะ ตรา เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ของสถาบัน
(9) ออกระเบียบเกี่ยวกับการจ่ายเงินค่าตอบแทน เบี้ยประชุม ค่าประโยชน์ตอบแทน ของผู้ดำรงตำแหน่งประธานสภาสถาบัน รองประธานสภาสถาบัน คณะกรรมการสภาสถาบัน คณะอนุกรรมการสภาสถาบัน    และผู้ดำรงตำแหน่งอื่นใดตามพระราชบัญญัตินี้
(10) ออกระเบียบเกี่ยวกับการกำหนดคุณสมบัติ การแต่งตั้ง การถอดถอน การปฏิบัติงาน การจ่ายเงินเดือน และค่าตอบแทน ของเลขาธิการและรองเลขาธิการสถาบัน

มาตรา 22 ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งในสถาบัน เรียกว่า “กองทุนเพื่อการวิจัย พัฒนาและการเผยแพร่องค์ความรู้” เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนและใช้จ่ายสำหรับการดำเนินงานของสถาบัน ประกอบด้วย
(1) เงินทุนอุดหนุนหรืองบประมาณแผ่นดินจากรัฐบาล
(2) เงินทุนอุดหนุนจากองค์กรทั้งภายในประเทศหรือองค์กรระหว่างประเทศ
(3) เงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับจากการบริจาค
(4) ดอกผลหรือรายได้อื่นจากเงินใน (1) (2) และ (3)

มาตรา 28 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของสถาบัน” เพื่อดำเนินการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการปฏิบัติงานของสถาบัน
คุณสมบัติและองค์ประกอบของคณะกรรมการตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามข้อบังคับที่สภาสถาบันกำหนด

มาตรา 29 ให้คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของสถาบัน มีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(1) ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลงานของสถาบัน โดยพิจารณาจากเอกสารและผลการปฏิบัติงานตามวัตถุประสงค์และนโยบายของสถาบันอย่างเป็นกลาง
(2) ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงานของเลขาธิการ โดยพิจารณาจากเอกสารและผลการปฏิบัติงานตามวัตถุประสงค์และนโยบายของสถาบันอย่างเป็นกลาง
(3) การประเมินผลงานตามแผนการปฏิบัติงานประจำปีของสถาบันทุกปี และจัดทำรายงานการประเมินผลงาน เพื่อเสนอต่อประธานสภาสถาบัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image