รายงาน : จุดเริ่ม ของสภา มาตรา 152 รัฐธรรมนูญ เพียง ‘สารตั้งต้น’

ไม่ว่าเรื่องของการ “ถวายสัตย์ปฏิญาณตน” ไม่ว่าเรื่องของ “เงินกู้กรุงไทย” ไม่ว่าเรื่องของ เดอะ ซิดนีย์
มอร์นิ่ง เฮรัลด์ จากออสเตรเลีย

ล้วนเป็นเรื่องของ “กรรม”

เรื่องถวายสัตย์ปฏิญาณอันเป็นกรรมปัจจุบันเพราะว่าเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ขณะที่เรื่อง

ของเงินกู้กรุงไทย เรื่องของ เดอะ ซิดนีย์ มอร์นิ่ง เฮรัลด์ เป็นกรรมในอดีต

Advertisement

กระนั้น ก็หนีกฎแห่ง “กรรม” ไปไม่พ้น

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องในปี 2562 ไม่ว่าจะเป็นเรื่องในปี 2536 และไม่ว่าจะเป็นเรื่องในตอนเป็นบอร์ดกรุงไทย

แต่เมื่อกระทำ “กรรม” ก็กลายเป็น “วิบาก”

Advertisement

เพียงแต่บางกรรมเป็นของนายกรัฐมนตรี เพียงแต่บางกรรมเป็นของรัฐมนตรีว่าการ เพียงแต่บางกรรมเป็นของรัฐมนตรีช่วยว่าการ

ปมเงื่อนอยู่ที่ว่าจะ “จบ” แบบไหน

กรรมอันเนื่องจากการถวายสัตย์ปฏิญาณตนเมื่อไม่อาจจบได้ในสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ไม่อาจจบได้ในศาลรัฐธรรมนูญ

ก็ตกมาอยู่ในมือของ “สภา”

มีความพยายามส่งเสียงมาจากพรรคพลังประชารัฐว่าเป็นเรื่องล่อแหลม อ่อนไหว สมควรยุติหรือสมควรจัดประชุม “ลับ”

แต่คำถามที่ตามมาก็คือ ทำไมต้องเป็นเรื่อง “ลับ”

ในเมื่อเรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบโดยตรงของนายกรัฐมนตรี มีพยานหลักฐานผ่านคลิปข่าวในราชสำนักอย่างแจ้งชัด

เพียงแต่นายกรัฐมนตรีจะยอมรับ หรือไม่ยอมรับเท่านั้นเอง

ประเด็นอยู่ที่ว่า นับแต่มีการท้วงติงในที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม นายกรัฐมนตรีไม่เพียงแต่ไม่ยอมรับหากแสดงออกด้วยการหนี

ตอนนี้ก็รู้แล้วการหนีมิได้เป็นทางออก

เช่นเดียวกับกรณีของเงินกู้กรุงไทย คำถามที่ค้างคาอยู่ก็คือ บทบาทของรัฐมนตรีในห้วงดำรงตำแหน่งเป็นบอร์ดและมีส่วนร่วมในการอนุมัติ

คำถามก็คือ อนุมัติหรือไม่

คำถามก็คือ ในเมื่อบอร์ดคนอื่นๆ ที่มีส่วนในการอนุมัติเงินกู้ต้องโทษและติดคุกจนต้องตายในคุกก็มี ทำไมรัฐมนตรีจึงรอด

หรือว่าเป็นพยาน หรือว่าให้การอันเป็นประโยชน์ต่อคดี

จากนี้จึงเห็นได้ว่าสภาพของรัฐมนตรีในกรณีเงินกู้กรุงไทย กับสภาพของรัฐมนตรีช่วยว่าการในกรณี เดอะ ซิดนีย์ มอร์นิ่ง เฮรัลด์ คล้ายกัน

คล้ายกันตรงที่ให้การอันเป็นประโยชน์

จะต่างก็ตรงที่รัฐมนตรีว่าการรอดพ้นจากคุก จะต่างก็ตรงที่รัฐมนตรีช่วยว่าการยังเป็นปริศนาว่ารอดจากคุกหรือว่าติดคุก

ตรงนี้แหละที่จะต้องหาคำตอบจาก “สภา”

เหมือนกับว่าการดำเนินญัตติขอเปิดอภิปายทั่วไปตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญ จะเป็นจุดเริ่มเท่ากับเปิดประตูเข้าไป

ถามว่าจะหรือไม่

ตอบได้เลยว่าไม่น่าจะจบ หากตรงกันข้าม กลับจะกลายเป็นจุดเริ่มไปสู่ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจตามมาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญ

ตรงนั้นแหละคือจุดจบอย่างแท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image