รายงานหน้า2 : ฟังเสียงวิพากษ์ ‘ส.ว.’ขอเอี่ยวแก้รธน.

หมายเหตุความคิดเห็นของนักวิชาการ นักการเมือง และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กรณีมี ส.ว.ออกมาเสนอขอร่วมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ของสภาผู้แทนราษฎร โดยให้มีตัวแทนจาก ส.ว.ร่วมเป็น กมธ.วิสามัญฯร่วมกัน ในการศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย

 

ศุภชัย สมเจริญ
รองประธานวุฒิสภา คนที่ 2

กรณีสมาชิก ส.ว.เสนอตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 นั้น ยังไม่ได้หารือร่วมกันถึงการตั้งคณะกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ เหมือนอย่างที่สภาผู้แทนราษฎร เตรียมพิจารณาญัตติเพื่อตั้ง กมธ.วิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ส่วนข้อเสนอที่นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.เสนอความเห็นให้ตั้ง กมธ.ร่วมกันของรัฐสภานั้น ในแนวทางยังไม่ได้พูดคุย ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายมองว่า ส.ว.รอสัญญาณการแก้ไขรัฐธรรมนูญจากรัฐบาลนั้น ยืนยันว่าไม่เป็นเช่นนั้น เพราะ ส.ว.ต้องทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง

Advertisement

 

 

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
ส.ว.และโฆษกคณะ กมธ.การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา

Advertisement

ส่วนตัวเห็นว่า ส.ส. และ ส.ว.มีสิทธิ และอำนาจที่จะพิจารณาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งผมเห็นว่าเป็นเรื่องดี ที่ต่างคนต่างทำ อย่างไรก็ตาม ในประเด็นเรื่องใหญ่ ทั้งกฎหมาย และรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาร่วมกันของสองสภา ที่หลายฝ่ายมองว่าหากต่างคนต่างทำจะมีความขัดแย้งกันนั้น ผมเชื่อว่าต้องหาจุดร่วมกัน
ผมดีใจที่เขาทำเรื่องนี้ ส.ว.พยายามทำเหมือนกัน และผมมองว่าเราช่วยกันเหมือนแข่งกันทำความดี หาทางออกให้บ้านเมือง ส่วนที่สภาผู้แทนราษฎร เตรียมแก้ไขเนื้อหาเพื่อรื้ออำนาจของ ส.ว. เกี่ยวกับการลงมติเลือกนายกฯนั้นต้องดูรายละเอียดอีกครั้ง ผมเพิ่งทราบ

 

 

นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.)

กรณีพรรคฝ่ายค้านยืนยันหากเปิดการประชุมสภาสมัยหน้าในเดือนพฤศจิกายนจะพิจารณาญัตติตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญทันทีนั้น ถ้าถามว่าเรื่องดังกล่าวจะราบรื่นหรือไม่ ผมมองว่ามีหลายปัจจัย แม้ดูเหมือนว่าขณะนี้ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลจะเห็นตรงกันว่าต้องตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ปัญหาที่ว่า 1.จะแก้อย่างไร และ 2.จะแก้อะไรบ้าง
เป็นปัญหาในปัจจุบันที่ทำให้ลงตัวค่อนข้างยาก เพราะจุดยืนวัตถุประสงค์ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของแต่ละฝ่ายไม่ตรงกัน เช่น บางฝ่ายบอกว่าแก้ไขได้ทุกหมวดยกเว้นหมวดพระมหากษัตริย์ หากเห็นว่ามีปัญหาจุดไหนก็แก้ตรงนั้น บางฝ่ายบอกแก้ที่มาและอำนาจของ ส.ว. รวมถึงแก้ระบบเลือกตั้ง หรือบางฝ่ายบอกว่าไม่ได้ ครั้งนี้จะต้องแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเรื่องกรอบเวลา สรุปแล้วจะศึกษากันเท่าไหร่ กี่เดือน กี่ปี จะต้องชัดเจน
ยังมีอีกหนึ่งด่านสำคัญคือ ต่อให้ ส.ส.ศึกษากันอย่างเข้มข้น จนเห็นตรงกันว่าจะแก้จุดไหนอย่างไรในสภาได้ลงตัวแล้ว หาก ส.ว.ไม่เอาด้วย เรื่องแก้รัฐธรรมนูญก็จบ เนื่องจากการแก้รัฐธรรมนูญจะต้องใช้เสียง ส.ว.80 กว่าเสียงด้วย จึงมองว่าเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่ควรแก้ไขก็คือที่มาและอำนาจของ ส.ว.รวมถึงระบบเลือกตั้ง และเรื่องคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เป็นต้น

 

ทวิสันต์ โลณานุรักษ์
นักวิชาการอิสระ จ.นครราชสีมา

เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ผมเห็นว่า ส.ว.ชุดนี้ไม่ควรเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเลย เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 113 ก็ห้ามไม่ให้ ส.ว.ฝักใฝ่และอยู่ในอาณัติของพรรคการเมืองใดๆ เด็ดขาด
ในข้อเท็จจริงก็รู้อยู่แล้วว่าที่มาของ ส.ว.ชุดนี้มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ที่ภายหลังหันมาจัดตั้งพรรคการเมืองจนได้เป็นรัฐบาลในขณะนี้ ดังนั้นการจะให้ ส.ว.ชุดนี้ซึ่งมีวาระอยู่ถึง 5 ปี มาร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงอาจถูกมองว่าไม่เป็นกลาง อีกทั้งเจตนารมณ์ของ ส.ว.ชุดนี้ก็คือเข้ามาช่วยดูแลเรื่องยุทธศาสตร์ของชาติเป็นหลัก จึงไม่เหมือน ส.ว.ในอดีตที่ผ่านมา
ขณะที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควรให้เป็นบทบาทหน้าที่ของ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนให้เขาทำกันไป หรือจะมี ส.ส.ร.ประจำจังหวัดเพื่อกลั่นกรองในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยถือเป็นการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ทางตรง ส.ส.ร.จากทุกจังหวัด จะช่วยให้ได้รับข้อมูลที่แท้จริง เพราะขณะนี้ประชาชนแทบจะไม่รู้ว่ารัฐธรรมนูญมีมาตราไหนที่ควรจะแก้บ้าง
จากข้อมูลสวนดุสิตโพลล่าสุด ที่ถามประชาชนเรื่องรัฐธรรมนูญ เป็นที่น่าตกใจว่าร้อยละ 88.2 ประชาชนไม่เคยอ่านรัฐธรรมนูญเลย สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนไม่เคยมีส่วนร่วมกับรัฐธรรมนูญที่แท้จริงเลย ดังนั้นที่ผ่านมารัฐธรรมนูญจึงเป็นของนักการเมืองมากกว่าของประชาชน

 

ชัยธวัช เสาวพนธ์
นักวิชาการอิสระ จ.เชียงใหม่

เห็นด้วยที่ ส.ว.จะตั้งกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญปี 2560 ทำให้พรรคการเมืองและรัฐบาลอ่อนแอ ประชาชนไม่มีส่วนร่วมทางการเมืองมากนัก เพียงไปใช้สิทธิเลือกตั้งเท่านั้น ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ส่งผลให้พรรคการเมือง และรัฐบาลมีเสถียรภาพมากขึ้น
ดังนั้น ส.ว ควรตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจาก ส.ส. ส.ว. ตัวแทนพรรค การเมือง ภาคประชาชน และองค์กรเอกชน ในสัดส่วนที่เท่ากัน เพื่อไม่ให้เกิดการชี้นำ ครอบงำ ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่สำคัญประชาชนจะมีส่วนร่วมการร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่ต้น ไม่ใช่กลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่เอื้อประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้องเท่านั้น
รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ไม่ได้เชื่อมโยงกับประชาชน ทั้งที่เป็นกฎหมายสูงสุดประเทศ ส่งผลต่อการเมืองและรัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพ ทำให้ประชาชนและนักลงทุนไม่เชื่อมั่น ส่งผลให้เศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตประชาชนถดถอย ขณะที่เพื่อนบ้าน อาทิ สิงคโปร์ มาเลเซีย มีเสถียรภาพมากกว่า เนื่องจากมีการเมืองและรัฐบาลที่เข้มแข็ง ทำให้การพัฒนาของเพื่อนบ้าน เจริญรุดหน้ามากไปมากกว่า
หากไม่มีการแก้หรือร่างรัฐธรรมนูญใหม่เชื่อว่าการพัฒนาประเทศ เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตประชาชนถอยหลังลงไปอีก หรือช้ากว่าเพื่อนบ้าน 10-20 ปี
หากมีการแก้หรือร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหมอย่างเป็นรูปธรรม เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อเสถียรภาพการเมือง รัฐบาล และการพัฒนาประเทศ เพื่อขับเคลื่อนคุณภาพชีวิตประชาชนดีกว่าเดิม ดังนั้นพรรคการเมือง หรือสถาบันทางการเมือง ต้องมีเสถียรภาพ มีความเข้มแข็ง เป็นที่พึ่งของประชาชนได้ ส่งผลให้รัฐบาลมีเอกภาพ ไม่สั่นคลอนง่าย
ส.ส. ส.ว. หรือนักการเมืองทุกระดับ ต้องมาจากการเลือกตั้ง เพื่อเชื่อมโยงกับประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่มาจากการแต่งตั้งของกลุ่มบุคคล ที่ยึดอำนาจรัฐประหาร เพื่อแสวงหาผลประโยชน์เท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image