สัมผัสหลัง 18 ก.ย. ความเชื่อมั่น ‘บิ๊กตู่’ เสถียรภาพ รัฐบาล

วันที่ 18 กันยายน เกิดเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญ 2 เหตุการณ์
หนึ่ง คือ การอภิปรายซักถามคณะรัฐมนตรี ในประเด็นเรื่องการถวายสัตย์ไม่ครบตามข้อความที่รัฐธรรมนูญกำหนด และการแถลงนโยบายไม่ได้แจกแจงที่มาของงบประมาณตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด
สอง คือ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับคำร้องที่กล่าวหาว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขาดคุณสมบัติ เพราะเป็น “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญ
เหตุการณ์ทั้งสองถือว่ามีความสำคัญเพราะกระทบต่อนายกรัฐมนตรี และรัฐบาล
หากผลที่ออกมาเป็นลบต่อ พล.อ.ประยุทธ์
ย่อมหมายถึงรัฐบาลต้องมีการเปลี่ยนแปลง

สําหรับเหตุการณ์ที่สอง คือ คำร้องเกี่ยวกับคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีนั้น ศาลรัฐธรรมนูญมีมติว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังคงมีคุณสมบัติครบ เพราะหัวหน้า คสช. เป็นรัฏฐาธิปัตย์ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐหรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด
เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ พล.อ.ประยุทธ์ จึงไม่ขาดคุณสมบัติเป็นนายกฯ
นับเป็นข่าวดี และสมควรแล้วที่ พล.อ.ประยุทธ์จะยิ้มรับในคำวินิจฉัยดังกล่าว
ส่วนเหตุการณ์ที่หนึ่ง คือ การอภิปรายของฝ่ายค้านเมื่อวันที่ 18 กันยายน ในญัตติอภิปรายซักถามคณะรัฐมนตรีนั้น กลับส่งผลกระทบต่อ พล.อ.ประยุทธ์อย่างมาก
การอภิปรายในวันนั้นแม้พรรคฝ่ายค้านจะใช้เวลาแค่ 18.00 น.แทนที่จะเป็นเที่ยงคืน แต่ด้วยคำถามที่ไร้    คำตอบทำให้ก่อเกิดผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของ พล.อ.ประยุทธ์
ในคำถามข้อแรกคือการถวายสัตย์ที่ไม่ครบตามรัฐธรรมนูญกำหนดนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
คำถามนี้ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ตอบ มี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ตอบแทน
แต่คำตอบก็มิได้ยืนยันว่าการถวายสัตย์ไม่ครบตามรัฐธรรมนูญกำหนดนั้น
ขัดหรือไม่ขัดรัฐธรรมนูญ
ในคำถามที่สองคือการแถลงนโยบายรัฐบาลที่ไม่บอกที่มาของงบประมาณ แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นผู้ตอบคำถามเอง
แต่ในที่สุดก็ยังไม่มีคำตอบว่า การแถลงนโยบายครั้งนั้นคิดว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
มีเพียงคำขยายความเพิ่มเติมในวันต่อๆ มาว่า รายละเอียดของที่มางบประมาณจะปรากฏในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563
ผลที่สัมผัสได้ทันทีหลังจากการอภิปรายเสร็จสิ้นในตอนเย็น
เมื่อแฮชแท็กในทวิตเตอร์ “#ประยุทธ์ออกไป” ไต่ขึ้นสู่อันดับหนึ่ง

หากผลการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ผ่านมา โดยปรากฏว่าพรรคอนาคตใหม่ได้รับเลือกตั้งมากอย่างผิดคาด จะเป็นเครื่องการันตีความต้องการของคนรุ่นใหม่ว่า ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์
แฮชแท็กในทวิตเตอร์หลังการอภิปรายซักถาม ครม. เมื่อวันที่18 กันยายน ก็เป็นเครื่องการันตีอีกครั้งว่าคนรุ่นใหม่คิดเช่นไร
เท่ากับว่าผลงานที่รัฐบาลดำเนินการในช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่ได้สร้างความนิยมให้แก่ พล.อ.ประยุทธ์
นอกจากนี้ ยังมี “ปรากฏการณ์บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์” ที่ประกาศบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่จังหวัดอุบลราชธานี 1 ล้านบาท
เป็นการประกาศขึ้นมาในช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ ลงพื้นที่เกาะสมุย และจังหวัดสุราษฎร์ธานี
กลายเป็นประเด็นทางการเมืองว่านายกฯหายไปไหน
ที่สำคัญ เมื่อ บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ เริ่มบริจาคเงินเพียงชั่วข้ามคืน เงินในบัญชีบิณฑ์ที่มีผู้ร่วมสมทบด้วยก็พุ่งทะยานขึ้น
จากล้านเป็นสิบล้านจากสิบล้านเป็นร้อยล้าน
และกลายเป็นสามร้อยล้านในอีกวันต่อมา
ปรากฏการณ์บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ นี้กระทบต่อรัฐบาลเป็นอย่างมาก ในที่สุดรัฐบาลเองก็ต้องเปิดรายการรับบริจาคบ้าง
และในที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ต้องลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีอีกครั้ง

เหตุการณ์น้ำท่วมและการช่วยเหลือผู้ประสบภัยคาบเกี่ยวกับกำหนดการเดิมของพรรคพลังประชารัฐที่ต้องการเชิญพรรคร่วมรัฐบาลมาเลี้ยงหลังจากปิดสมัยประชุมสภา
ทั้งนี้ เดิมมีกำหนดจัดเลี้ยงวันที่ 19 กันยายน มีหมายเชิญ พล.อ.ประยุทธ์มาพบปะสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาล แต่เมื่อเกิดปรากฏการณ์บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ ขึ้นมา กำหนดการดังกล่าวต้องเลื่อนออกไป
น่าสังเกตว่าแม้กำหนดการของพรรคพลังประชารัฐจะยกเลิก แต่ก็มีกำหนดการของพรรคร่วมรัฐบาลที่ยังคงจัดเลี้ยง
นั่นคือการพบปะสังสรรค์ของพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคภูมิใจไทย
น่าสังเกตว่าพรรคการเมืองอย่าง “ประชาธิปัตย์” และ “ภูมิใจไทย” ในระยะหลังได้แสดงความเป็นตัวของ ตัวเองมากขึ้น
รัฐมนตรีของทั้งสองพรรคต่างเร่งผลักดันนโยบายของตัวเองที่เคยรับปากประชาชนเอาไว้ตอนหาเสียง    เลือกตั้ง
พรรคประชาธิปัตย์เดินหน้าช่วยเหลือเกษตรกรตามที่รับปาก
พรรคภูมิใจไทยเสนอร่างกฎหมายต่างๆ จำนวน 12 ฉบับเข้าสู่สภา ตามที่เคยสัญญาไว้
จวบจนถึงบัดนี้ การทำงานของรัฐบาลจึงก้าวข้ามคำว่า “เอกภาพ” ไปสู่คำ “ต่างคนต่างทำ”
แม้แต่การเลือกตั้งซ่อมในพื้นที่จังหวัดนครปฐม ซึ่งพรรคฝ่ายค้านขยับถอยให้พรรคอนาคตใหม่หาเสียงตวงคะแนน
แต่พรรคร่วมรัฐบาลต่างมีเหตุผลของตัวเองที่ต้องส่งผู้สมัครช่วงชิงเก้าอี้
นี่ย่อมสะท้อนเอกภาพระหว่างพรรคฝ่ายค้าน กับพรรคร่วมรัฐบาล ให้ได้สัมผัส

Advertisement

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน
เป็นการสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อมั่นและความไม่เชื่อมั่น
ความเชื่อมั่นและความไม่เชื่อมั่นใน พล.อ.ประยุทธ์ ความเชื่อมั่นและความไม่เชื่อมั่นในเสถียรภาพของรัฐบาล
เมื่อพรรคฝ่ายค้านเปิดเกมรุกทางการเมืองจนส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในตัว พล.อ.ประยุทธ์
ภายในรัฐบาลย่อมได้รับผลสะเทือน
ทางหนึ่งคือ ไม่แน่ใจในตำแหน่งที่ตัวเองดำรงอยู่ว่าจะยั่งยืนครบวาระหรือไม่ หรือจะมีการปรับ ครม.
ทางหนึ่งคือ ไม่แน่ใจว่ารัฐบาลยังรับมือกับกระแสที่โหมกระหน่ำเข้าใส่อย่างรุนแรงมากกว่าพายุโพดุล และพายุคาจิกิ เสียอีก
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นสั่งสมมาจากอดีต
จนกระทั่งวันที่ 18 กันยายน รอยปริแตกเริ่มมองเห็น
มองเห็นว่า ความยั่งยืนของรัฐบาลกำลังถูกท้าทาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image