รายงาน : เป้าหมาย ทิศทาง รื้อ สร้าง รัฐธรรมนูญใหม่ สังคม ประชาชน

ถามว่าเป้าหมายการเคลื่อนไหวในเรื่องรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะมาจาก 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ไม่ว่าจะมาจากวงเสวนาจินตนาการใหม่ ข้อตกลงใหม่ อยู่ที่ไหน

อยู่ที่ “รัฐสภา” อย่างแน่นอน

แต่หากดูตัวบุคคลที่ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน และที่วงเสวนาจินตนาการใหม่ ข้อตกลงใหม่ เชิญเข้าร่วมการอภิปราย

ก็น่าสงสัย

Advertisement

เพราะไม่ปรากฏว่ามี 1 ใน 250 ส.ว.ชุดปัจจุบัน เพราะไม่ปรากฏว่ามี 1 ใน 116 ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ

แม้กระทั่งเป็นคนจากพรรคประชาธิปัตย์ก็เป็น “อดีต”

หากมองจากบรรทัดฐานของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 หากมองจากความร่วมมือของ ส.ว. หากมองจากร่วมมือของ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลก็แทบหมดหวัง

Advertisement

แล้วความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

ต้องยอมรับว่าวิถีแห่งการรณรงค์ที่สัมผัสได้นับแต่ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคมเป็นต้นมาดำเนินไปอย่างที่มี ส.ว.และมี ส.ส.รัฐบาลตั้งข้อสังเกตจริง

เพราะ นายกษิต ภิรมย์ ก็เป็นอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์

เพราะ นายโคทม อารียา และ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ก็เป็นอดีต กกต. และก็เป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์

แม้กระทั่ง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ก็เป็นอดีต รมต.ของ คสช.

คำถามที่ตามมาโดยอัตโนมัติก็คือ ทั้งๆ ที่การเคลื่อนไหวของฝ่ายค้านจำกัดวงอยู่เช่นนี้แล้วเหตุใดทางด้าน ส.ว.และทางด้าน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลจึงสำแดงความกังวลออกมา

มิใช่กังวลว่าจะไม่ประสบความสำเร็จ

ตรงกันข้าม ความกังวลที่ค่อยเผยแสดงก็คือ ความกังวลว่าเป้าหมายของการเคลื่อนไหวอาจอยู่ที่ประชาชนในวงกว้าง

กระทั่งกลายเป็น “กระแส” กระทั่งกลายเป็น “มติ” สังคม

แท้จริงแล้ว จังหวะก้าวการขับเคลื่อนไม่ว่าจะออกมาจาก 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ไม่ว่าจะออกมาจากจินตนาการใหม่ ข้อตกลงใหม่

เด่นชัดว่าเป็นการทำเหมือน “อดีต”

เป็นอดีตของกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่เสนอขึ้นมาในเดือนมิถุนายน 2515 เป็นอดีตของกลุ่มธงเขียวที่ปรากฏขึ้นจากผลสะเทือนของพฤษภาคม 2535

นั่นก็คือ การเคลื่อนไหวของภาคประชาชน

เพียงแต่เมื่อเดือนมิถุนายน 2515 มีนิสิตนักศึกษาเป็นฐานอันสำคัญในทางการเมือง เพียงแต่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 มีฐานมาจากมวลชนระดับ “มือถือ” เป็นกำลังสำคัญ

แต่สถานการณ์หลังเดือนมีนาคม 2562 ต่างออกไป

1 อย่างน้อยก็มี 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านเป็นกองหน้านำการเคลื่อนไหว ขณะเดียวกัน 1 มีจินตนาการใหม่ ข้อตกลงใหม่ เข้าไปมีส่วนสร้างพันธมิตรในแนวร่วม

นี่คือการระดมพลังเพื่อจัดการกับ “รัฐธรรมนูญ”

คําถามอยู่ที่ว่า การเคลื่อนไหวภายหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 มีพัฒนาการในทางความคิดและในทางการเมืองอย่างไร

สามารถก่อ “กระแส” ได้หรือไม่

สามารถปักธงในทาง “ความคิด” ให้เกิดความเห็นร่วมได้หรือไม่ว่าความไม่เหมาะสม ความพิกลพิการของ “รัฐธรรมนูญ” ดำรงอยู่อย่างไร

นี่คือกระบวนรื้อและสร้างจินตนาการใหม่ ข้อตกลงใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image