รายงานหน้า2 : ‘นวัธ’ถูกจำคุก-คุมขัง หลุดเก้าอี้ส.ส.หรือไม่

หมายเหตุความเห็นของนักกฎหมาย นักวิชาการต่อสถานะความเป็น ส.ส.ของนายนวัธ เตาะเจริญสุข ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย ภายหลังศาลจังหวัดขอนแก่นได้อ่านคำพิพากษาตัดสินประหารชีวิตหลังตกเป็นจำเลยคดีจ้างวานฆ่านายสุชาติ โคตรทุม อดีตปลัด อบจ.ขอนแก่น เสียชีวิต และศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวถูกส่งตัวเข้าเรือนจำทันที

 

สมชัย ศรีสุทธิยากร
อดีตกรรมการการเลือกตั้ง

ในมุมมองส่วนตัวเชื่อว่านายนวัธขาดจากการเป็น ส.ส.แล้ว ไม่จำเป็นต้องส่งไปศาลรัฐธรรมนูญ เพราะหน่วยงานต้นสังกัดที่รับผิดชอบสามารถตัดสินได้ทันที เมื่อเทียบเคียงกับบรรทัดฐานในอดีตที่สามารถนำมาเปรียบเทียบได้ เช่น กรณีที่ตัวแทนองค์กรอิสระคือคณะกรรมการการเลือกตั้ง
ชุดที่ 2 ถูกศาลตัดสินสั่งจำคุกแล้วศาลไม่ให้ประกันตัว เพียงวันเดียวก็ทำให้หมดสภาพ ขาดจากตำแหน่งทันที ซึ่งน่าจะเป็นแนวทางเดียวกันที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้ความเห็นไว้แล้ว เนื่องจากผู้ต้องหาในคดีถูกนำตัวเข้าไปคุมขังแล้วในเรือนจำไม่สามารถออกมาทำหน้าที่ได้ตามปกติ
เรื่องนี้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรควรเป็นเจ้าภาพหลักที่จะต้องใช้อำนาจหน้าที่เพื่อวินิจฉัย จากนั้นเสนอผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อส่งให้ กกต.พิจารณาจัดการเลือกตั้งใหม่ และต่อไปหากมีปัญหาในลักษณะนี้แล้วจะต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความอยู่เรื่อยไป ก็แสดงว่าการเขียนกฎหมายในเรื่องที่เกี่ยวข้องน่าจะขาดความชัดเจน ทำให้ทุกเรื่องทุกประเด็นต้องนำไปสู่การตีความทั้งหมด ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาพอสมควร ทั้งที่สำนักงานเลขาธิการสภา หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้ต้องมีความมั่นใจ มีความกล้าหาญในการทำหน้าที่ หากผู้เสียหายหรือผู้ได้รับผลกระทบหากเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมก็ต้องใช้สิทธิร้องเรียนใน
ภายหลังได้

Advertisement

 

ฐิติพล ภักดีวานิช
คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี

โดยหลักกฎหมายทั่วไปแล้ว เมื่อศาลชั้นต้นพิจารณา ตามกระบวนการทางกฎหมายจำเลยมีสิทธิที่จะยื่นอุทธรณ์ หากศาลฎีกาพิจารณาจึงเป็นการสิ้นสุดความเป็น ส.ส.โดยแท้จริง ถ้ามองในหลักกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าใครก็ตามก็ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรมที่เหมือนกัน โดยหลักการแล้ว ต้องคำพิพากษาให้จำคุก และถูกคุมขังโดยหมายศาล ถ้าตีความโดยตรงอย่างนี้ก็มองว่าความเป็น ส.ส.สิ้นสุดลง ซึ่งกระบวนการยุติธรรมก็มีคำถามได้เช่นกัน ว่าตามหลักกระบวนการยุติธรรม คำพิพากษาจะสิ้นสุดเมื่อถึงศาลฎีกา ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ก็ยังมีโอกาสให้กับจำเลยอยู่ มีการตั้งคำถามว่าการตีความตรงนี้อยู่ที่ว่าเรายึดหลักอะไร ถ้ายึดตามคำต่อคำที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็น่าจะสิ้นสุดลงไปเลย แต่ถ้ายึดหลักกระบวนการยุติธรรมที่ว่าเมื่อศาลฎีกาพิจารณาจึงจะเป็นที่สิ้นสุดของคดีความ ก็น่าจะตีความตามนั้น
ถ้าอยู่ในคุกและถูกคุมขังโดยหมายของศาล โดยหลักการความเป็น ส.ส.ก็ควรจะสิ้นสุดลงแล้ว โดยจรรยาบรรณและมารยาททางการเมืองเมื่อถูกคดีความเจ้าตัวก็ควรที่จะลาออก เพราะเป็นเรื่องของคดีอาชญากรรมที่ค่อนข้างร้ายแรง เพื่อสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองที่ดีก็ควรจะลาออกเมื่อคดีสิ้นสุดไปก็ค่อยมาสมัครเป็น ส.ส.ใหม่ ไม่จำเป็นที่จะต้องให้ผู้อื่นตีความ
ประธานสภา หรือสภาเองควรจะสร้างกลไกขึ้นมาโดยที่ไม่จำเป็นที่จะต้องส่งให้ใครตีความเรื่องเหล่านี้ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับรัฐสภาโดยตรง โดยที่ กกต.ก็อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการให้ความเห็นพิจารณาได้ แต่บุคคลที่มีลักษณะเช่น ติดยาเสพติดให้โทษ ต้องคำพิพากษาให้จำคุก ก็ชัดเจนอยู่แล้ว รัฐสภาไทยควรจะสร้างวัฒนธรรมการเมืองที่ดี สร้างแนวปฏิบัติที่เมื่อเกิดกรณีแบบนี้อีก จะได้ไม่เสียเวลาไปกับกระบวนการพิจารณาตีความ ที่หลายกรณีมักจะส่งไปตีความข้างนอก ซึ่งเป็นปัญหาของระบบรัฐสภาไทย

Advertisement

 

ไพสิฐ พาณิชย์กุล
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่

กรณีนี้ต้องดูที่มาตราของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกรณีนี้มี 2 มาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย คือ มาตรา 98 (6) ว่าด้วยคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส. ที่ห้ามลงสมัคร คือ ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล ส่วนมาตรา 101 ที่โยงกับมาตรา 98 (6) จะพบว่า มาตรา 101 (13) คือ ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ดังนั้นอาจจะขัดแย้งกัน หากจะใช้เฉพาะมาตรา 98 (6) เพราะตัวบทกฎหมายมีเจตนารมณ์ไว้เช่นนั้น จึงจะใช้เพียงมาตรา 98 (6) เท่านั้นไม่ได้ กรณีนายนวัธนั้น สมัครและได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.แล้ว
เมื่อเราไปตามดูกรณีศึกษาอื่นๆ จะพบหลายคดีที่มีลักษณะคล้ายหรือเหมือนกันนี้ เช่น กรณีของนายเนวิน ชิดชอบ ดังนั้น หากว่ากันตามหลักกฎหมายก็ต้องบอกว่า นายนวัธยังไม่พ้นจากการเป็น ส.ส. เพื่อไม่ให้เกิดอคติ แต่เพราะมองในเชิงเจตนารมณ์ของกฎหมายที่บัญญัติไว้ว่ายังไม่ถึงที่สุดให้จำคุก

 

ยอดพล เทพสิทธา
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

กรณีนี้มองได้ 2 ทาง คือ มองในทางกฎหมาย และมองในทางการเมือง เมื่อมองทางกฎหมายเป็นมาตรา 98 ประกอบมาตรา 101
มาตรา 98 เป็นเรื่องคุณสมบัติของแคนดิเดตผู้ที่จะเป็น ส.ส. คือ ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและอยู่ระหว่างการควบคุมตัวโดยคำสั่งศาล แต่กรณีนี้มีปัญหาอีกอย่างหนึ่ง คือ ถ้าตีความตามมาตรา 98 กรณีเมาแล้วขับและไม่ได้ประกันตัว ก็สามารถทำให้พ้นสภาพการเป็น ส.ส.ได้ แต่ถ้าตีความตามมาตรา 101 อนุมาตรา 13 ต้องคำพิพากษาของศาล ถึงที่สุดให้จำคุก ปัญหาคือ คำว่า “ถึงที่สุดให้จำคุก” คืออะไร ซึ่งถึงที่สุดให้จำคุก หมายถึงคดีต้องถึงศาลฎีกาและศาลออกใบรับรองว่าคดีถึงที่สุดแล้วจึงจะเป็นที่สิ้นสุด แปลว่าในศาลชั้นต้นยังไม่ถึงที่สิ้นสุด ยังไม่เข้าเงื่อนไข มาตรา 101 อนุมาตรา 13
ส่วนคุณสมบัติของนายนวัธ ส่วนตัวมองว่าเราต้องยึดถือตามมาตรา 101 อนุมาตรา 13 ถึงที่สุดให้จำคุกเป็นการมองในมุมกฎหมาย แต่ในทางการเมืองก็เห็นว่าสมควรที่จะให้พ้นสภาพการเป็น ส.ส. เพราะตอนนี้นายนวัธไม่สามารถออกมาโหวตได้แล้ว เป็นผลทางการเมืองเช่นนี้ ก็ควรที่จะให้มีการเลือกตั้งใหม่ ในลักษณะของการลาออกจาก ส.ส.ไปเอง เพราะหากศาลดึงไว้ไม่ให้ประกันตัว เท่ากับว่าฝ่ายเพื่อไทยก็เสีย ส.ส.ในสภา ในมุมทางการเมือง แม้ว่าในทางกฎหมายจะยังไม่สิ้นสถานะก็ตาม

 

บรรณ แก้วฉ่ำ
นักวิชาการกฎหมายท้องถิ่น

หลังจากมีปัญหาข้อวินิจฉัยเรื่องนี้ ทำให้มีข้อแตกต่างระหว่าง ส.ส.และผู้บริหาร สมาชิกสภาท้องถิ่น กรณีต้องคำพิพากษาของศาลชั้นต้น สำหรับสมาชิกสภาท้องถิ่น กฎหมายจัดตั้งบัญญัติถึงเหตุสิ้นสุดสมาชิกภาพ เมื่อมีลักษณะต้องห้ามตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 ซึ่งกฎหมายเลือกตั้งดังกล่าว บัญญัติไว้ในมาตรา 50 (6) ว่าสิ้นสุดเมื่อ “ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล” ข้อความในกฎหมายดังกล่าว ไม่มีคำว่า “คดีถึงที่สุด” จึงหมายความว่า เมื่อผู้บริหารสมาชิกสภาท้องถิ่นต้องคำพิพากษาของศาลชั้นต้นให้จำคุกและไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว แบบเดียวกับกรณีนายนวัธก็จะสิ้นสุดสมาชิกภาพทันที
แต่กรณีคุณสมบัติของ ส.ส.ต่างกัน เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 101 (13) ใช้ข้อความว่า ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก แม้จะมีการรอการลงโทษ เว้นแต่เป็นการรอการลงโทษในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท แต่ตามรัฐธรรมนูญไม่ได้มีคำพิพากษาอย่างเดียว แต่จะต้องถึงที่สุดด้วย ดังนั้น กรณีนายนวัธ ข้อเท็จจริงมีเพียงคำพิพากษาของศาลชั้นต้น และปรากฏว่าคดียังมีการอุทธรณ์ซึ่งต่อไปก็อาจฎีกา โดยกฎหมายรัฐธรรมนูญดังกล่าวจึงยังไม่สิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส.เพราะว่า “ยังมิใช่คำพิพากษาถึงที่สุด” กรณีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯรีบออกมาให้สัมภาษณ์ว่าไม่จำเป็นต้องให้คำพิพากษาถึงที่สุดนั้น จึงเป็นความเห็นที่ไม่สอดคล้องตามความในมาตรา 101 (13)
แต่ต่อไปจะขาดคุณสมบัติด้วยเหตุขาดประชุมเกินจำนวน 1 ใน 4 ของจำนวนวันประชุมในสมัยประชุมตามความในมาตรา 101 (12) หรือไม่ก็เป็นอีกประเด็น แต่ขณะที่คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว แต่ในอนาคตศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกาอาจพิจารณากลับคำสั่งศาลชั้นต้นเป็นอนุญาตให้ปล่อยตัวก็ได้ จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า กรณีคุณสมบัติของ ส.ส.รายดังกล่าว นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เร่งรีบออกมาให้ความเห็น แตกต่างจากกรณีรัฐมนตรีบางรายซึ่งน่าจะขาดคุณสมบัติกรณีเคยต้องคำพิพากษา ปัญหาจากความซื่อสัตย์สุจริต การฝ่าฝืนจริยธรรม ตามมาตรา 160 (4) ,(5) และ (7) ของรัฐธรรมนูญ แต่ประเด็นนี้นายวิษณุไม่ได้ให้ความเห็นในประเด็นข้อกฎหมายดังกล่าว

 

ยุทธพร อิสรชัย
นักวิชาการรัฐศาสตร์ มสธ.

การตีความเกิดจากกฎหมายที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 มีลักษณะซ้อนกัน 2 จุด ทั้งมาตรา 98 (6) กับมาตรา 101 (6)(13) สำหรับมาตรา 98 เป็นการกำหนดลักษณะต้องห้ามของผู้รับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.ได้กำหนดให้ผู้ที่ถูกจำคุกต้องหมายศาลให้คุมขัง ไม่มีสิทธิสมัคร ถือว่าเป็นกฎหมายขาเข้าในการดำรงตำแหน่ง ขณะที่มาตรา 101 เป็นการกำหนดเอาไว้ว่าสมาชิกภาพของ ส.ส.จะสิ้นสุดลงเมื่อใด ในมาตรา 101 (13) ก็ได้กำหนดไว้ว่าเมื่อต้องโทษจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดและการรอลงอาญาก็ให้ถือว่าถูกจำคุกให้พ้นจากสมาชิกสภาพ ซึ่งส่วนนี้ถือว่าเป็นกฎหมายขาออก แต่บังเอิญว่ามาตรา 101 (16) ได้กำหนดไว้ว่าการหมดสมาชิกสภาพให้นำเอามาตรา 98 มาใช้ด้วยจึงทำให้มีกฎหมายซ้อนกัน 2 จุด แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าจะมีการหยิบยกกฎหมายส่วนไหนออกมาใช้ ทำให้ผู้ที่มีอำนาจในการวินิจฉัยคือศาลรัฐธรรมนูญ
ถ้าย้อนไปดูในมาตรา 82 ของรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดแนวทางการยื่นเรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย สามารถทำได้ 2 ทาง คือ ส.ส.ในสภาเข้าชื่อไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ทั้งฝ่ายค้านหรือ ส.ส.รัฐบาล จากนั้นส่งให้ประธานสภาทำหน้าที่เหมือนบุรุษไปรษณีย์ส่งศาลรัฐธรรมนูญ โดยประธานไม่มีอำนาจยับยั้ง ขณะที่อีกช่องทาง กกต.สามารถส่งเรื่องไปได้ทันที หากพบว่า ส.ส.รายใดมีลักษณะต้องห้าม
สำหรับผู้ที่ระบุว่านายนวัธจะต้องพ้นจากสมาชิกภาพโดยผลของรัฐธรรมนูญทันทีนั้น อาจไม่ถูกต้องครบถ้วนทั้งหมด ในกรณีถ้าไม่มีบทบัญญัติว่าให้นำมาตรา 98 มาเป็นส่วนหนึ่งในมาตรา 101 ก็ถือว่านายนวัธต้องพ้นจากตำแหน่ง แต่เมื่อนำมาตรา 98 มาใช้ด้วย และในมาตรา 101 (13) กำหนดไว้ให้คดีถึงที่สุด ก็ทำให้กฎหมายซ้อนกัน 2 เรื่อง ปกติเมื่อกฎหมายระบุไว้แบบนี้จึงไม่สามารถบอกได้ว่าจะพ้นจากตำแหน่งเพราะผลของรัฐธรรมนูญโดยทันทีหรือไม่
สำหรับปัญหานี้เป็นผลมาจากการร่างรัฐธรรมนูญ โดยเอาปัญหามาสร้างเป็นหลักการทำให้มีประเด็นทางการเมือง เช่น มาตรา 98 (6) ที่บอกว่าผู้ที่ต้องโทษจำคุกและถูกคุมขังโดยหมายศาลมาจากประเด็นที่นายจตุพร พรหมพันธ์ุ แกนนำ นปช.อยู่ในระหว่างถูกจำคุกจึงมีการวินิจฉัยว่าจะออกไปสมัครรับสมัครเลือกตั้งได้หรือไม่ จากนั้นจึงถูกหยิบยกมาร่างเป็นกฎหมายที่ขัดกับกฎหมายในอีกบทบัญญัติที่ทำให้เกิดปัญหาในขณะนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image