รายงานหน้า2 : อุตตม สาวนายน ชู‘ประชารัฐสร้างไทย’ ยึดโยงศก.ฐานราก-บิ๊กโปรเจ็กต์

หมายเหตุนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินกว่า 3.16 แสนล้านบาท โดยเฉพาะมาตรการ “ชิมช้อปใช้” ที่ประชาชนให้ความสนใจ รวมถึงนโยบาย “ประชารัฐสร้างไทย” ที่จะมีมาตรการออกมารองรับเร็วๆ นี้

อุตตม สาวนายน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ที่มีประชาชนอยากให้มีโครงการชิมช้อปใช้ เฟส 2 นั้น ขอรอดูผลของมาตรการชิมช้อปใช้ที่กำลังดำเนินการขณะนี้ก่อน และต้องขอหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง หากจะมีเฟส 2 น่าจะทราบชัดเจนในเดือนพฤศจิกายนนี้ เพราะมาตรการเฟสแรกเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนใช้สิทธิเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2562 ถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2562 โดยการใช้จ่ายชิมช้อปใช้กำหนดถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2562

การลงทะเบียนชิมช้อปใช้เดินหน้าไปแล้วกว่าครึ่งทาง ขณะนี้ประเมินทุกสัปดาห์ พบว่าผู้มาลงทะเบียนส่วนใหญ่เป็นวัยทำงานถึง 54% ถือว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ เพราะคนในวัยทำงานมีกำลังใช้จ่าย ซึ่งการใช้จ่ายของผู้ที่ได้รับเงินชิมช้อปใช้ รวม 1 หมื่นล้านบาท ช่วยทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนและไม่เพียงแค่การจับจ่ายใช้สอยในร้านค้าเท่านั้น ยังช่วยทำให้เกิดการกระตุ้นท่องเที่ยว ทำให้เงินเกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ

Advertisement

อย่าไปดูแค่ว่าชิมช้อปใช้มีงบแค่ 1-2 หมื่นล้านบาท แต่อยากให้ดูว่าเป็นการหว่านเมล็ดลงไป เมื่อมีการใช้จ่ายเงินกับร้านค้า ทำให้ร้านค้าสั่งของเพิ่ม ผู้ผลิตสินค้าป้อนร้านค้ามีงานทำ การท่องเที่ยวได้เงินเพิ่ม ตรงนี้จะทำให้เกิดแรงกระเพื่อมต่อระบบเศรษฐกิจ

หากจะมีมาตรการเพิ่มเติม กระทรวงการคลังพยายามทำให้มาตรการชิมช้อปใช้ยึดโยงกับเรื่องมาตรการท่องเที่ยวของกระทรวงการท่องเที่ยวที่กำลังออกมา โดยจะทำให้เกิดผลดีในวงกว้างสอดรับกัน เช่น กระตุ้นเมืองรอง กระจายรายได้ไปสู่ชุมชนและฐานราก เป็นต้น

ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตัวอื่นๆ เดินหน้าไปแล้ว 50-60% การใส่เงินเพิ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) 14.6 ล้านราย วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ดำเนินการเรียบร้อยแล้วเมื่อต้นเดือนกันยายน

Advertisement

ส่วนการจ่ายเงินสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 อัตรา 500 บาทต่อไร่ สูงสุดไม่เกิน 20 ไร่ต่อครัวเรือน มีเกษตรกรเป้าหมาย 4.31 ล้านครัวเรือน วงเงินกว่า 2.48 หมื่นล้านบาทนั้น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โอนเงินไปให้ชาวนาแล้วกว่า 60% และในช่วงกลางเดือนกันยายนนี้ จะมีเรื่องประกันรายได้ข้าวออกมาน่าจะช่วยเหลือเกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง

นอกจากนี้ยังมีวงเงินในการดูแลภัยพิบัติ ภัยแล้ง รวมถึงยังมีสินเชื่อเพื่อดูแลกลุ่มเอสเอ็มอี กลุ่มเศรษฐกิจ อีกกว่า 2 แสนล้านบาท รวมถึงมาตรการการส่งเสริมการลงทุนในประเทศ สำหรับผู้ที่ซื้อเครื่องจักรสามารถนำเงินค่าใช้จ่ายหักลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่า ตรงนี้ช่วยต่อยอดทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อีกมาก

ทุกมาตรการที่ออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากมองว่าสภาพเศรษฐกิจโลกไม่ดี ดังนั้นรัฐบาลต้องพยายามทำให้เศรษฐกิจไทยเกิดการหมุนเวียน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อระบบเศรษฐกิจ ประคองเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าต่อไปได้ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกมีปัญหาทำให้การส่งออกไทยได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลก

อย่างไรก็ตาม ในภาวะเศรษฐกิจโลกยังมีความผันผวน กระทรวงการคลังหวังว่ามาตรการที่ออกไปจะมีส่วนช่วยประคองเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ของปีนี้ไว้ได้ และต้องประเมินว่ามาตรการที่ออกไปนั้นเพียงพอหรือไม่ เพราะเป็นการดูแลเศรษฐกิจภายใน แต่เมื่อการส่งออกยังไม่ดีจากเศรษฐกิจโลกต้องมาประเมินอีกครั้งว่าจะมีมาตรการอะไรเพิ่มเติมหรือไม่

ภายในปีนี้จะมีมาตรการใหม่เพิ่มอีกหรือไม่ ต้องขอประเมินดูก่อน ขณะนี้ยังเหลืออีกหลายเดือนกว่าจะหมดปี ก็ต้องติดตามสถานการณ์ต่างๆ ว่าจะเป็นอย่างไร ถ้าไม่มีมาตรการใหม่ในปีนี้ต้องประเมินว่าปีหน้าจะมีหรือไม่

สำหรับมาตรการที่ออกไปแล้วนั้นจะเป็นแรงส่งช่วยเศรษฐกิจในภาพรวม แต่อย่าไปหวังว่ามีมาตรการแล้วเศรษฐกิจจะดีขึ้น เพราะผลกระทบจากภายนอกประเทศยังมีอีก ดังนั้น ต้องทำเป็นขั้นเป็นตอน และต้องรอดูว่ามาตรการที่มีอยู่เพียงพอไหม ถ้าไม่เพียงพอจะทำอะไรต่อ ซึ่งการดูแลกระตุ้นเศรษฐกิจต้องนำมาใช้ด้วยเหตุผล ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ควรทำ แต่ถ้าจำเป็นก็ต้องทำ

ขณะนี้การส่งออกซึ่งเป็นตัวหลักของเศรษฐกิจไทยยังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก ดังนั้นมาตรการจะกระตุ้นชดเชยการส่งออกที่ลดลงไม่ได้ แต่มาตรการสร้างผลทางจิตวิทยาว่ากำลังซื้อในประเทศยังมี ไม่ได้หายไป

การออกมาตรการนอกจากหวังผลในเรื่องเม็ดเงินหมุนเวียนแล้ว อีกส่วนหนึ่งหวังผลสร้างจิตวิทยาให้คนไทยเห็นว่ายังมีการช่วยเหลือ เอสเอ็มอีจะได้มีกะจิตกะใจว่าจะมีคนมาซื้อของ กล้าสั่งของ กล้าลงทุน ไม่อย่างนั้นจะเกิดภาวะห่อเหี่ยวไปกันหมด

มาตรการที่รัฐดำเนินการมีการกำหนดเป้าหมายชัดเจน คือช่วยเหลือเกษตรกร การท่องเที่ยว ร้านค้าขนาดเล็ก เอสเอ็มอี และกำหนดกรอบเวลาชัดเจน

เท่าที่พูดคุยกับตัวแทนของธนาคารโลก ก็สนับสนุนการทำชุดมาตรการพิเศษแต่ต้องอยู่บนหลักการ คือมีเป้าหมาย มีการกำหนดเวลา เพื่อไม่ให้คนที่ได้รับเสียนิสัย รอแต่การแจกเงินช่วยเหลือจากรัฐเพียงอย่างเดียว

นอกจากนี้การดำเนินมาตรการต้องมีความโปร่งใส มีการใช้ระบบไอทีมาช่วย เช่น ลงทะเบียนชิมช้อปใช้ แม้จะติดขัดบ้างแต่สามารถแก้ไขปัญหาไปแล้ว และเชื่อว่ามาตรการที่ออกมานั้นดีที่สุดแล้ว ไม่ได้เป็นการหว่านเงินแบบกระจาย

ส่วนในเรื่องสวัสดิการคนจนนั้นต้องเข้าไปดูแลเพื่อให้กลุ่มกลุ่มนี้ดำรงชีวิตอยู่ได้ ล่าสุดมีการต่ออายุ น้ำฟรี ไฟฟรี ไปอีก 1 ปี ใช้งบประมาณ 1,800 ล้านบาท เนื่องจากมีการเรียกร้องอยากให้ดูแลต่อ ถือว่าเป็นเงินไม่มากและเป็นสิ่งที่เขา
อยากได้จริงๆ

นอกจากนี้รัฐบาลจะเข้าไปดูแลสวัสดิการเพิ่มเติมในเรื่องของการประกันสุขภาพให้สามารถรักษาโรคเพิ่มเติมจากโครงการ 30 บาท รวมถึงประกันอุบัติเหตุ เพื่อให้กลุ่มคนจนมีหลักประกันในชีวิต

นอกเหนือจากมาตรการกระตุ้นแล้วยังมีนโยบายเพิ่มเติมอีก คือการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในโครงการ “ประชารัฐสร้างไทย” ซึ่งเป็นความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.) สภาเกษตรกรแห่งชาติ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีเป้าหมายสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้คนในชุมชน มีการประชุมร่วมกันไปแล้วเมื่อวันที่ 21 กันยายนที่ผ่านมา คาดว่าภายในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมนี้จะมีกิจกรรมออกมา

รัฐบาลต้องการดูแลฐานราก ขณะนี้กำลังดูว่าชุมชนไหนเหมาะที่จะนำมาพัฒนาเป็นชุมชนต้นแบบ ซึ่งชุมชนนั้นอาจกินพื้นที่หลายจังหวัดในกลุ่มภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

เมื่อได้ชุมชนมาแล้ว หน่วยงานทั้งหมดจะเข้าไปดูว่าจะทำอย่างไรกับชุมชนดังกล่าวได้บ้าง จะพัฒนาอย่างไร ชุมชนบางแห่งท่องเที่ยวดีอยู่แล้ว ไปต่อยอด ถ้าท่องเที่ยวยังไม่ดีต้องไปกระตุ้น ขาดเงินทุน ธ.ก.ส.และออมสิน พร้อมจะให้เงินกู้ ขณะนี้กำลังพิจารณาดึงธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เข้ามาร่วมช่วยด้วย

เมื่อพัฒนาชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ จะขอพื้นที่จากนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กรมธนารักษ์ และปั๊มน้ำมัน ปตท.เพื่อจัดสรรเป็นตลาด สร้างรายได้ให้คนในชุมชน รวมถึงเข้าไปช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าเด่นๆ ในชุมชน เพื่อนำมาขายให้กับผู้ที่จะไปท่องเที่ยวและนำไปขายทั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นการพัฒนาแบบครบวงจร

การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากคงใช้เวลาเป็นปีจึงจะเห็นผล แต่ผลที่เกิดขึ้นจะถาวร ส่งผลดีต่อชุมชนในระยะยาว ในลักษณะเดียวกับญี่ปุ่น และอิตาลีที่มีการพัฒนาในรูปแบบดังกล่าว ซึ่งเป็นการพัฒนาแบบองค์รวม ยึดโยงสิ่งที่ชุมชนมีกับภาคอุตสาหกรรม ยึดโยงกับงานวิจัยและพัฒนาที่มีอยู่ในสถานศึกษา

เมื่อเศรษฐกิจฐานรากมีการพัฒนา ชุมชนพัฒนา ทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างโอกาสงานของคนรุ่นใหม่ สร้างมูลค่าเพิ่มทางการเกษตร ซึ่งหลักการคือทำให้เศรษฐกิจไทยเข้มแข็งจากภายใน

“ประชารัฐสร้างไทย” เป็นงานใหญ่ของรัฐบาล ทำให้เศรษฐกิจไทยเกิดความสมดุล นอกเหนือจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
แล้ว ต้องมาดูแลการพัฒนากลุ่มคนฐานรากด้วย ให้การพัฒนาเกิดการยึดโยงกัน เพื่อประโยชน์ของเศรษฐกิจในอนาคต

ประชารัฐสร้างไทยเป็นเรื่องพัฒนาคุณภาพชีวิต เมื่อมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตัวเลขต่างๆ จะออกมาเอง เมื่อรวมกับแพคเกจเศรษฐกิจของรัฐบาล การลงทุนขนาดใหญ่ที่รัฐบาลพยายามกระตุ้น น่าจะทำให้ในปีหน้าอาจได้เห็นจีดีพีโต 4-5% แต่จะได้หรือไม่ต้องขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจโลก

ส่วนปีนี้จะพยายามเต็มที่ให้จีดีพีโต 3% แต่เท่าที่ดูตัวเลขส่งออกในเดือนสิงหาคมยังไม่ดีเท่าไหร่ ถ้าตัวเลขส่งออกในเดือนสิงหาคมดี อาจได้เห็นโตกว่า 3% ดังนั้นพยายามให้เต็มที่ ต้องช่วยประคองกันไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image