รายงาน : ‘ชิมช้อปใช้-100เดียว’ กระตุ้น‘เศรษฐกิจ’ถูกทาง?

หมายเหตุ – ความคิดเห็นจากผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวและนักวิชาการ ถึงโครงการ “ชิมช้อปใช้” ของรัฐบาล ที่เตรียมจะมีเฟส 2 และจะมีเพิ่มอีก 2 มาตรการ คือ “100 เดียวเที่ยวทั่วไทย” และ “เที่ยวธรรมดา ราคาช็อกโลก” จะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยว การใช้จ่ายของประชาชน และกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้มากน้อยแค่ไหน

ภูริวัจน์ ลิ้มถาวรรัตน์

นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.)

มาตรการชิมช้อปใช้ที่ออกมาพบว่าได้รับการตอบรับที่ดีมาก ลงทะเบียนจนครบ 10 ล้านคน แต่ตัววัดผลที่สำคัญ คือ การกระตุ้นให้ออกเดินทางท่องเที่ยว แต่ผู้ที่ได้รับสิทธิบางส่วนนำเงิน 1,000 บาทที่ได้ไปซื้อสินค้าต่างๆ ตามห้างสรรพสินค้า ซึ่งไม่ได้ตรงกับวัตถุประสงค์ ทำให้เงินกระจุกตัวที่ใดที่หนึ่ง จากข้อมูลจากธนาคารกรุงไทย พบว่าผู้ที่ได้รับสิทธิใช้เงินผ่านแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง ส่วนใหญ่ใช้จ่ายในกรุงเทพฯและปริมณฑลมากที่สุด ทำให้เห็นว่ายังเป็นการใช้เงินในหัวเมืองหลักอยู่ ไม่กระจายออกไปยังเมืองรอง หรือชุมชนเล็กๆ อย่างที่ต้องการ

Advertisement

แต่ต้องรอให้จบมาตรการก่อน เพื่อรอข้อมูลการใช้เงินทั้งหมดจะเป็นอย่างไรต่อไป จะมีการออกไปเที่ยวเพิ่มมากขึ้น หรือจะยังกระจุกอยู่ในจังหวัดใหญ่ๆ เดิมๆ ซึ่งความจริงแล้ว การกระตุ้นการท่องเที่ยวจะต้องแยกออกจากการกระตุ้นการใช้จ่าย เพราะการท่องเที่ยวคือการเดินทาง แต่การช้อปคือการจับจ่ายใช้สอย แต่มาตรการชิมช้อปใช้ถือเป็นมาตรการที่หว่านไปหมด ผู้ได้สิทธิ สามารถใช้เงินในส่วนใดก็ได้ ขอแค่ใช้นอกจังหวัดในทะเบียนบ้าน ซื้อของอะไรก็ได้ที่ร้านร่วมโครงการก็พอ จึงไม่ได้ลงสู่ที่พัก โรงแรม ผู้ประกอบการชุมชนอย่างแท้จริง เอาจริงๆ มาตรการชิมช้อปใช้ จะกลายเป็นมาตรการช้อปช่วยชาติไปมากกว่า

ส่วนอีก 2 มาตรการทั้งร้อยเดียวเที่ยวทั่วไทย และเที่ยววันธรรมดาราคาช็อกโลก ยังไม่เห็นรายละเอียด ซึ่งวันที่ 7 ตุลาคมนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) นัดประชุมกับภาคเอกชน เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการใช้ 2 มาตรการดังกล่าว อาจจะเสนอให้มาตรการร้อยเดียวเที่ยวทั่วไทย ใช้ผ่านผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยว เช่น การซื้อผ่านบริษัททัวร์ เพราะเชื่อมั่นได้ว่าจะมีการเดินทางท่องเที่ยวจริงๆ

เชื่อว่ามาตรการที่ออกมาถูกทางแล้ว เพราะมีวัตถุประสงค์ช่วยให้เกิดการเดินทาง กระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ เพื่อสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศไทยมากขึ้น รวมถึงเป็นส่วนกระจายรายได้ลงสู่แหล่งท่องเที่ยวชุมชน

Advertisement

กิตติ ทิศสกุล

นายกสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือ (สสทน.)

ผลจากมาตรการชิมช้อปใช้ หลังจากที่ประชาชนเริ่มมีการใช้จ่ายเงิน 1,000 บาท ที่ได้รับจากภาครัฐ พบว่าการใช้จ่ายเงินหลักๆ เป็นการซื้อสินค้าในร้านธงฟ้าประชารัฐ ร้านขายสินค้าทั่วไป และห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ส่วนกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวที่เข้าร่วมโครงการ เช่น โรงแรม โฮมสเตย์ ที่พัก มีการใช้จ่ายไม่มากนัก เนื่องจากระยะเวลาของโครงการกระชั้นชิด ประชาชนอาจจะวางแผนการท่องเที่ยวไม่ทัน นอกจากนี้ ประชาชนบางส่วนอาจไม่สามารถลงทะเบียนรับสิทธิเข้าร่วมโครงการได้

มองว่าหากเป็นการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้า ประชาชนอาจใช้จ่ายจากเงินที่ได้รับน้อย อาจจะไม่ช่วยให้เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบได้มากนัก ขณะที่ภาครัฐประเมินไว้ว่าเม็ดเงินจากมาตรการนี้จะหมุนเวียนไปในระบบเศรษฐกิจ 3 เท่า ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้ แต่จากข้อมูลของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่าผลจากมาตรการนี้จะมีผลเพียง 0.01% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี)

ทั้งนี้ หากภาครัฐอยากจะกระตุ้นการท่องเที่ยวและกระจายรายได้ ควรทำนโยบายสนับสนุนให้หน่วยงาน บริษัท หรือประชาชน จัดประชุม สัมมนา เดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดต่างๆ จะตรงเป้าหมายมากกว่า และช่วยสนับสนุนให้มีการเดินทางไปยังแหล่งเรียนรู้ชุมชนที่รัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้ดำเนินการถึง 9,000 ล้านบาทด้วย

ส่วนมาตรการ 100 เดียวเที่ยวทั่วไทยและมาตรการเที่ยววันธรรมดาราคาช็อกโลก ถือเป็นมาตรการที่กระตุ้นภาคการท่องเที่ยวโดยตรง ในภาพรวมคิดว่าเป็นมาตรการที่ดี เพราะช่วยกระตุ้นให้ประชาชนเดินทางท่องเที่ยวและมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ต้องรอประเมินผลที่จะเกิดขึ้นจริงก่อนว่าจะเกิดการใช้จ่ายในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องมากน้อยเพียงใด

ศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ

นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ)

มาตรการชิมช้อปใช้ที่ออกมานั้น จากการตรวจสอบผู้ประกอบการภาคท่องเที่ยวและโรงแรม พบว่าได้ประโยชน์บ้างในบางพื้นที่ แต่ส่วนใหญ่ประชาชนที่ได้รับสิทธิ 1,000 บาท เน้นการซื้อของมากกว่าเข้าพักหรือใช้กับการเดินทางท่องเที่ยว มาตรการนี้จึงไม่ใช่เค้กก้อนใหญ่ของอุตสาหกรรมโรงแรมและการท่องเที่ยวโดยตรง หรืออาจเพราะยังไม่ใช่ฤดูกาลท่องเที่ยว การใช้จ่ายจึงเน้นไปที่ซื้อของกินของใช้ที่มีความจำเป็น มากกว่าไปท่องเที่ยว

สำหรับ 2 มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวส่งท้ายปี คือ มาตรการ 100 เดียวเที่ยวทั่วไทย และมาตรการเที่ยวธรรมดาราคาช็อกโลกนั้น ต้องดูว่าการใช้มาตรการดังกล่าว สอดรับพอดีกับช่วงการเดินทางและท่องเที่ยวของคนไทยแค่ไหน ตอนนี้อาจยังประเมินได้ยาก และไม่รู้ชัดว่าจะมีกระแสตอบรับเท่ากับมาตรการชิมช้อปใช้หรือไม่

อย่างวันชาติจีนซึ่งเป็นเทศกาลหยุดยาวของชาวจีน พบว่าชาวจีนเที่ยวในประเทศไทยแบบกระจายตัว ไม่เป็นแบบทัวร์ เป็นกลุ่มก้อนที่มีจำนวนมากเหมือนในอดีต แต่ที่รับทราบคือเป็นการเที่ยวแบบกระจายตัว ดังนั้น อาจมีบางพื้นที่ที่ได้รับอานิสงส์

ส่วนแนวโน้มตลาดท่องเที่ยวและการเข้าพักในช่วง 2 เดือนจากนี้ ซึ่งเข้าช่วงไฮซีซั่น เชื่อว่าจะมียอดจองล่วงหน้าเข้ามามากขึ้น ยิ่งรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นใช้จ่ายและส่งเสริมการท่องเที่ยว เชื่อว่าจะเป็นการสร้างบรรยากาศการท่องเที่ยว การใช้จ่ายการบริโภค ซึ่งจะส่งผลดีต่อการขยายตัวเศรษฐกิจ ดีกว่าไม่ได้ทำอะไร

อนุสรณ์ ธรรมใจ

อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง

ในภาพรวมของมาตรการ “100 เดียวเที่ยวทั่วไทย” และ “เที่ยววันธรรมดาราคาช็อกโลก” จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพียงระดับหนึ่ง เนื่องจากมาตรการถูกออกแบบให้ตอบสนองเป้าหมายหลายอย่างและมีความซับซ้อนสูง ทั้งต้องการให้คนใช้เงินมากขึ้น ใช้เงินสดน้อยลง โดยใช้จ่ายผ่านแอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ต้องการกระตุ้นการท่องเที่ยวให้คนไปเที่ยวเมืองรองมากขึ้น และยังมีเงื่อนไขอีกหลายข้อ จึงมองว่าเป็นมาตรการที่ออกแบบเพื่อให้ตอบสนองต่อหลายเป้าหมายมากเกินไปทำให้ไม่มีประสิทธิผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจมากนัก

ทั้ง 2 มาตรการคงทำให้จีดีพีโตขึ้นบ้าง แต่อาจไม่ดีอย่างที่คาดไว้ เนื่องจากเป็นมาตรการที่กระตุ้นการบริโภค จึงขึ้นอยู่กับว่าเงินที่ใช้จ่ายไปจะหมุนกี่รอบ จากการประเมินของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ระบุว่าถ้าประชาชน ชิมช้อปใช้ ครบ 10 ล้านคน ยอดการใช้จ่ายอาจจะพุ่งไป 658 ล้านบาท โดยปกติผลการใช้จ่ายที่รัฐบาลเอางบมากระตุ้นการบริโภคนั้น จะก่อให้เศรษฐกิจขยายตัว 1.2-2.2 เท่าโดยประมาณ

สะท้อนว่าเงิน 10,000 ล้านบาท สามารถทำให้เกิดเม็ดเงินเพิ่มขึ้นหากระบบเศรษฐกิจมีกลไกที่ปกติ รัฐบาลจึงเตรียมจะขยายเฟส 2 แต่ส่วนตัวมองว่าหากนำเงินจำนวนนี้มาลงทุนให้เกิดการจ้างงานจะทำให้คนมีรายได้ต่อเนื่อง จะส่งผลต่อการกระตุ้นจีดีพีได้ดีกว่าวิธีกระตุ้นการบริโภค

ดังนั้น หากรัฐบาลหวังจะให้กระตุ้นเศรษฐกิจและให้เงินหมุนหลายรอบ ในเฟส 2 วิธีที่ดีกว่า คือ การทำให้เกิดการจ้างงาน จะได้ผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า

การพยายามให้คนลงทะเบียนผ่านสมาร์ทโฟน เป็นการจำกัดเป้าหมาย เพราะคนที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีจะไม่ได้ประโยชน์ อีกทั้งนโยบายมีการจำกัดที่ 10 ล้านคน ทำให้เกิดคำถามในเชิงนโยบายสาธารณะ ผู้ที่ได้รับประโยชน์มีความจำเป็นหรือไม่ที่จะได้เงินจากรัฐ

เข้าใจเจตนาคนที่คิดนโยบายต้องการเอาเงิน 1,000 บาท มากระตุ้นให้คนที่มีเงินควักเงินออกมาใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่ถ้ามองในเชิงกำหนดนโยบายสาธารณะ กลายเป็นว่าต้องมานั่งดู นั่งคิดว่าคนที่ได้ประโยชน์มีความจำเป็นต้องได้หรือไม่ ถ้าคิดอีกแบบ คือใช้เงิน 10,000 ล้านบาท มุ่งไปที่ดูแลคนว่างงาน หรือคนถูกลดชั่วโมงการทำงาน ทำให้เขาเกิดรายได้ขึ้นมา หรือสร้างอะไรขึ้นมาในระบบเศรษฐกิจจะยั่งยืนมากกว่า

สามารถทำได้หลายทาง เช่น หากต้องการกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรอง แต่บางเมืองถนนหนทางและระบบสาธารณูปโภคไม่ดี รัฐบาลอาจทำโครงการบางอย่างขึ้นมา จ้างคนไปพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้น อาจทำผ่านเอกชน เช่น อุดหนุนให้บริษัทเอกชนจ้างคนที่ตกงานเข้ามาทำงาน เพราะหลักการของนโยบายสาธารณะที่ดี คือควรทำให้คนที่จำเป็นต้องได้รับประโยชน์ ได้รับประโยชน์ ไม่ใช่ว่าใครก็ได้


พันธุ์อาจ ชัยรัตน์

ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

การกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐผ่านมาตรการชิมช้อปใช้ เป็นรูปแบบหนึ่งที่หลายประเทศดำเนินการ เชื่อว่าจะมีส่วนช่วยให้เกิดการจับจ่ายและกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม หากมาตรการนี้สำเร็จเท่ากับว่าประชาชนยอมรับการจับจ่ายออนไลน์ผ่านแอพพลิเคชั่นเป๋าตังได้ ถือว่าเป็นการสร้างนวัตกรรม (อินโนเวชั่น) ที่ภาครัฐจะสามารถนำมาพัฒนาเป็นแคมเปญนำมาใช้ต่อไปได้ในอนาคต แต่หากไม่สำเร็จก็ต้องปรับปรุงต่อไป

ส่วนจะเป็นประชานิยมหรือไม่นั้น ผมมองว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการให้ของขวัญประชาชนที่แต่ละปีหน่วยงานรัฐจะมีการให้ของขวัญประชาชนอยู่แล้ว

ส่วนชิมช้อปใช้ในเฟสที่ 2 ก่อนที่จะมีมาตรการออกมา ควรมีการประเมินผลในเฟสแรกให้เรียบร้อย ในส่วนของระบบการชำระเงิน และจุดชำระเงิน เชื่อว่าสามารถพัฒนาระบบและเพิ่มจุดชำระเงินรองรับได้ แต่เรื่องการเข้าถึงในการลงทะเบียนที่บางกลุ่มอาจเข้าไม่ถึงสิทธิ เช่น ผู้สูงอายุ แม้บางส่วนอาจมีลูกหลานช่วยเหลือ แต่หากเป็นผู้สูงอายุที่ไม่มีลูกหลานให้ความช่วยเหลืออาจจะเสียสิทธิไป

เรื่องนี้ต้องใช้นวัตกรรมเพื่อสังคม (โซเชียล อินโนเวชั่น) เข้ามา ที่ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชนต้องมีมุมมองในทิศทางเดียวกัน มีระบบนิเวศที่สนับสนุน และให้ประชาสังคมมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image