รายงานหน้า2 : อจ.วิพากษ์ปมร้อน ‘กอ.รมน.’แจ้งจับ7พรรค

หมายเหตุ ความเห็นนักวิชาการต่อเหตุการณ์ กอ.รมน.แจ้งความดำเนินคดีหัวหน้าและแกนนำ 7 พรรคฝ่ายค้าน และนักวิชาการรวม 12 คน ในข้อหาความผิดกฎหมายอาญา ม.116 กรณีการจัดเสวนาการแก้รัฐธรรมนูญที่ปัตตานี

 

สุขุม นวลสกุล
อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ผมไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ เพราะเวทีการเสวนาดังกล่าวไม่ใช่เวทีปลุกระดม เป็นเวทีแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งทุกคนควรมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็น รายละเอียดเป็นเรื่องของแต่ละคน อาจจะมีความเห็นตรงกันหรือไม่ตรงกันก็ได้ แม้กระทั่งความเห็นของอาจารย์ชลิตา (ชลิตา บัณฑุวงศ์ รองหัวหน้าภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรฯ) ที่พูดบนเวที ก็ถือว่าเป็นความเห็นส่วนตัวของท่าน ไม่ได้หมายความว่าจะมีการผลักดันให้เกิดขึ้นตามที่พูดหรือไม่
ในเมื่อการแสดงความเห็นเป็นเสรีภาพที่ทุกคนสามารถทำได้ ไม่ใช่การตั้งขบวนการมาเพื่อทำอะไร ดังนั้นจะมาเหมาว่า เมื่อขึ้นไปนั่งบนเวทีเดียวกันแล้ว จะต้องมีส่วนรับผิดชอบ จึงมองได้ว่าเป็นความต้องการขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่
ส่วนกรณีที่มีการมองว่าเป็นเพราะรัฐบาลขาลงหรือไม่ ถึงต้องหาเรื่องมากลบกระแสนั้น ไม่ว่าจะขาขึ้นขาลงหรือขาอะไร รัฐบาลนี้ก็ทำแบบนี้มาตลอด ตั้งแต่เมื่อครั้งไม่มีสภาผู้แทนราษฎร จนกระทั่งมีสภา ก็ใช้วิธีแบบนี้ เหมือนกับว่าไม่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในบ้านเมือง คนอื่นจะมาคิดเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองไม่ได้ ตนมีสิทธิคนเดียว แล้วยิ่งเรื่องนี้มาเกิดหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมาบอกว่าจะไม่เป็นผู้นำในการแก้รัฐธรรมนูญ ยิ่งชี้ชัดว่า หากจะหวังให้รัฐบาลชุดนี้ทำตามนโยบายเร่งด่วนที่ได้แถลงไว้ในข้อ 12 คงเป็นเรื่องยาก

Advertisement

 

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

กอ.รมน.4 ดำเนินคดีทางความมั่นคงแบบเหวี่ยงแห มีผลต่อความรู้สึกของประชาชน เพราะหากดูสถานการณ์การเมืองเริ่มเป็นกระแส
ที่ประชาชนเห็นด้วยต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้ฝั่งผู้ต้องการสืบทอดอำนาจหรือผู้ที่ได้ผลประโยชน์จากรัฐธรรมนูญ 60 ได้จังหวะพรรคฝ่ายค้านพูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเวทีพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หากรัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน พิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน ดังนั้นประชาชนย่อมมีสิทธิจะพูดถึงรัฐธรรมนูญ นี่คือหลักการสังคมรับรู้ แต่เมื่อ กอ.รมน.4 แจ้งความ โดยใช้เหตุผลทางความมั่นคง แต่เป็นเหตุผลพัวพันต่อผลประโยชน์ฝ่ายต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะการแจ้งความเหวี่ยงแหแบบนี้ สามารถเบี่ยงเบนประเด็น สร้างข้อมูลใหม่เพื่อซัพพอร์ตจุดยืนฝ่ายตนเอง ทำให้เห็นว่านักวิชาการกลุ่มนี้หรือนักการเมืองปลุกปั่น ถือเป็นการสร้างข้อมูลเท็จ จงใจบิดเบือนข้อมูล ต้องการให้สังคมแตกแยก จากนั้นมีกระบวนการรับลูกต่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะต้องการแบ่งแยกดินแดน ทำให้สังคมเกิดความคลางแคลงใจและเกิดความสับสนต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญและร่างฉบับใหม่
เท่ากับว่า กอ.รมน.4 กลไกของรัฐเป็นคนสุมไฟความขัดแย้ง กระบวนการทั้งหมดปฏิเสธไม่ได้ว่ามีคนสนับสนุนรัฐบาลชุดนี้ คนแบ่งเป็นสองฟากฝั่งชัดเจน ตั้งธงพิทักษ์รัฐธรรมนูญเพื่อคงอำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดังนั้น เพื่อให้มีอำนาจต่อจึงหวงแหนรัฐธรรมนูญ 60 อย่างไรก็ตาม เมื่อคนเหล่านี้ได้สัญญาประชาชนว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ในวาระเร่งด่วน แต่ก็มีบางพรรคไม่ชัดเจนก่อนเข้ามาร่วมรัฐบาล ก็เพื่อต้องการขับเคลื่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่วันนี้เมื่ออยู่ในอำนาจก็เห็นธาตุแท้บางพรรคการเมือง เห็นถึงความปลิ้นปล้อนต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้สถานการณ์การเมืองยิ่งน่าเป็นห่วงมาก ไม่มีหลักไม่มีอะไรค้ำจุนความรู้สึกประชาชน

 

โคทม อารียา
ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

ประเด็นแรกต้องไปดูข้อกล่าวหาให้ชัดเจนเท่าที่ฟังๆ มามี 1 คนของผู้อภิปรายบนเวทีพูดว่าน่าจะแก้ไขมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญ ถ้ามีคนเห็นว่าเป็นคำพูดละเมิดกฎหมายก็ควรจะบอกว่าคนพูดคือ ผู้กระทำผิด เฉพาะตรงนี้ยังมองต่างจากทาง กอ.รมน.ว่า ถ้าใครพูดขึ้นมาว่าควรแก้มาตรานั้นมาตรานี้ผิดกฎหมาย แล้วทำไมถึงผิดกฎหมาย เพราะในเมื่อไม่ได้บัญญัติไว้ว่า ทำแบบนี้ผิดกฎหมาย รัฐธรรมนูญให้หลักประกันว่า ถ้ากฎหมายไม่ห้ามไว้ถือว่ามีสิทธิทำได้ ก็อยากให้ขยายความต่อไปว่า การพูดควรแก้ไขมาตรา 1 มีบทบัญญัติใดกำหนดไว้หรือไม่ เพราะกฎหมายไม่ได้เขียนถึงขนาดนั้นเลย ยังถือว่าตามรัฐธรรมนูญแล้ว เป็นการแสดงความคิดเห็น ไม่น่าจะเข้าข่าย
ประเด็นที่สอง สมมุติว่ายังคิดอยู่ดีว่าคนนี้ ถ้าพูดคำนี้น่าจะหมิ่นเหม่ต่อการกระทำผิดกฎหมาย ก็ต้องเฉพาะบุคคล คนที่พูด พุ่งเป้าไปคนพูด ไม่ใช่คนนั่งอยู่บนเวทีกี่คนๆ ก็ถือว่าเป็นผู้กระทำความผิด และทำให้กล่าวหาเขาไปด้วย หรือเรียกว่าเหมาเข่ง การอ้างว่านั่งอยู่ข้างๆ ทำไมไม่คัดค้าน เพราะขนาดคนนั่งฟังหลักพันยังไม่มีใครคัดค้านเลย คนอยู่บนเวทีมีหน้าที่เสนอความคิดเห็นของเขาไปสู่คนที่นั่งฟังอยู่ การแจ้งความเหมารวมแบบนี้ไม่น่าจะชอบเท่าไร
ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดู ต้องบอกว่าผมไม่ได้ไปกล่าวโทษเจตนา ไม่รู้ว่าใครเป็นไก่ ใครเป็นลิง และคนเชือดคือใคร ผมก็เห็นอย่างที่เห็น

 

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ก่อนหน้านี้ กอ.รมน.จัดตั้งขึ้นเพื่อทำงานป้องกันภัยคอมมิวนิสต์ แต่หลังปี 2551 เป็นต้นมาก็มีการเปลี่ยนแปลง มีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ทำให้บทบาทของ กอ.รมน.มีความสำคัญในการจัดการเรื่องความมั่นคงมากขึ้น กระทั่งนักวิชาการบางท่านตั้งข้อสังเกตว่าอำนาจของ กอ.รมน.มีมากขึ้น อีกทั้งยังมีฝ่ายทหารที่มีตำแหน่งสูงขึ้นมากขึ้น ทำให้ กอ.รมน.ขยายขอบเขตอำนาจในการดำเนินงานหลายส่วน
นอกจากนี้ ยังพบว่า อำนาจกองทัพบกในการควบคุม กอ.รมน.มีมากขึ้น อำนาจของพลเรือนในการเข้าสู่ตำแหน่งสำคัญก็ลดน้อยลง อย่างไรก็ดี พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ได้ให้อำนาจของ กอ.รมน.ในการควบคุม ปราบปรามกว้างขวาง แต่ยังขาดในส่วนการตรวจสอบของรัฐ กล่าวคือ ในภาวะปกติ กอ.รมน.มีอำนาจสอบสวน ติดตาม ประเมินแนวโน้ม เสนอแผนปฏิบัติการต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้พิจารณาเห็นชอบ แล้วให้หน่วยงานรัฐไปปฏิบัติตามแผน รวมทั้งมีหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในภาวะความมั่นคง แต่ในภาวะปกติที่ยังไม่ใช้พระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน กอ.รมน.ก็มีอำนาจที่ได้รับมอบโดยมติคณะรัฐมนตรีให้ไปดูแลพื้นที่ต่างๆ ตามความจำเป็น
ทั้งนี้ กอ.รมน.ไม่ได้อยู่ในข้อบังคับกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง คือ เอาผิดทางศาลปกครองไม่ได้ นี่เป็นเรื่องให้ชวนคิดถึงอำนาจของ กอ.รมน.ที่ขยายครอบคลุม บางกรณีเรายังพบว่าอำนาจ กอ.รมน.อยู่เหนือกว่าอำนาจของสภา ความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. เพราะตัว พ.ร.บ.ก็เพิ่มสถานะทางกฎหมายให้กับ กอ.รมน.มากขึ้น
สำหรับอำนาจในการแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ต้องดูว่าเขาทำให้ชัดเจนว่าจะเปลี่ยนแปลงกฎหมายโดยใช้กำลัง ทำให้เกิดความปั่นป่วนถึงระดับที่ก่อความไม่สงบ ทำให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินหรือไม่ ถามว่าส่วนที่เป็นความเห็นทางวิชาการว่าต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราใด พิจารณาอย่างไร แก้ไขรายมาตรา หรือแก้ไขทั้งฉบับ เข้าข่ายยุยงปลุกปั่นหรือไม่ เพราะทุกวันนี้ก็ยังอยู่ในกรอบกฎหมาย ดังนั้น จึงคิดว่าต้องพิจารณาว่าต้องไม่ใช้อำนาจหน้าที่ทางกฎหมายเกินเจตนารมณ์
นี่ไม่ใช่เรื่องปกติแน่ๆ ที่ทางกองทัพใช้อำนาจในลักษณะดังที่กล่าว คือ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคง 2551 ได้ให้อำนาจค่อนข้างครอบจักรวาล อีกทั้งยังให้อำนาจทหารเหนือพลเรือน สิ่งนี้เป็นมรดกของรัฐประหาร ฉะนั้นหากพูดกันตามจริงแล้วนี่เป็นความหวาดระแวงของคณะรัฐประหารเองว่าไปท้าทายอำนาจ จนเป็นที่มาของการใช้ข้อกฎหมายในลักษณะนี้มาปิดปากนักวิชาการผู้ที่มีความพยายามปรับกฎหมายให้สู่ดุลยภาพ ซึ่งก็ต้องระมัดระวังด้วยว่าในยุคที่เรามีการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยแล้ว บทบาทของกองทัพที่นิยามความมั่นคง ซึ่งต้องแยกให้ออกว่าเป็นความมั่นคงของตัวรัฐบาลนี้ หรือความมั่นคงของประเทศ ถ้าเป็นความมั่นคงของประเทศก็คงต้องพูดกันได้ทุกคน ทุกประเด็นในสิ่งที่เป็นการแสดงความคิดเห็น เพราะเท่าที่พิจารณาดูก็ยังไม่มีใครถึงขั้นที่บอกว่าจะไปรวมตัวกันล้มล้างอำนาจ ขับเคลื่อนด้วยอาวุธใด เพียงแต่ทุกท่านได้เสนอตามกรอบกฎหมายในรัฐธรรมนูญ
ดังนั้น อย่างที่ได้บอกไปแล้วว่า ความผิดเหล่านี้ต้องดูให้ชัดเจนว่าเป็นเรื่องการใช้ข้อกฎหมายเพื่อปิดปากฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองหรือไม่ กองทัพต้องมองว่าทุกวันนี้เรามีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว กองทัพต้องเป็นกลไกหนึ่งของระบบราชการ ไม่ใช่เป็นเครื่องมือในการรักษาอำนาจทางการเมือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image