รายงานหน้า2 : วิพากษ์‘ไฮบริด วอร์ แฟร์’ สงครามซ่อนรูป-‘อสมมาตร’

หมายเหตุ ความเห็นจากฝ่ายต่างๆ กรณี พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก บรรยายพิเศษ หัวข้อเรื่อง “แผ่นดินของเราในมุมมองด้านความมั่นคง” ที่หอประชุมกิตติขจร ภายในกองบัญชาการกองทัพบก เมื่อวันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยระบุถึงสถานการณ์ ไฮบริด วอร์ แฟร์

 

พล.ท.พงศกร รอดชมภู
ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.)

กรณี พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) บรรยายพิเศษได้สร้างความสับสนและเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในหลายประเด็นทั้งเรื่องการเมือง และจุดยืนความเป็นสากลของกองทัพ
การบรรยายของ ผบ.ทบ.ในเวทีที่สื่อสารออกไปแบบสาธารณะนั้น โดยเฉพาะในขณะที่ตัวเองยังอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ที่ดูแลด้านความมั่นคง และได้มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงบริบทที่เกี่ยวข้องกับการเมืองระหว่างประเทศด้วย ประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องอ่อนไหว ที่ผู้นำกองทัพในต่างประเทศจะไม่กระทำกัน แต่จะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายการเมืองที่จะพูดถึงเรื่องนโยบายที่จะเกี่ยวข้องกับเรื่องระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ ที่ ผบ.ทบ.ระบุถึงข้อห่วงใยในมิติของความมั่นคงและมีเนื้อหาที่พาดพิง ที่สื่อความให้สังคมได้รับรู้ว่าเป็นพรรค อนค.นั้น ในฐานะผมเป็นประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทยยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร คงไม่เรียก ผบ.ทบ.มาชี้แจงข้อเท็จจริงต่อ กมธ. แต่อย่างใด เพราะไม่อยากให้เป็นภาพของการเอาคืนกันทางการเมือง เพราะข้อเท็จจริงที่ผบ.ทบ.ระบุผ่านการบรรยายในหัวข้อดังกล่าวนั้น ประชาชนและคนในสังคมที่เข้าใจในหลักการประชาธิปไตยที่ยึดหลักสากลคงจะแยกแยะความถูกต้องได้
ข้อเสนอแนะของผม คือ ฝ่ายเสนาธิการทหาร (เสธ.) ไล่ตั้งแต่เสนาธิการทหารบก (เสธ.ทบ.) รวมทั้ง เสธ.ประจำตัว ผบ.ทบ.ควรจะรวบรวมข้อมูลและข้อเท็จจริงในมิติของความมั่นคงที่ถูกต้อง และรายงานให้กับ ผบ.ทบ. เพื่อประกอบก่อนที่บรรยายด้วย
โดยเฉพาะประเด็นเรื่องสงครามลูกผสมหรือไฮบริดวอร์แฟร์นั้น ผบ.ทบ.ไม่ควรนำมาบรรยายในเวทีสาธารณะเช่นนี้ หากจะพูดก็ควรเป็นสื่อสารกันภายในหน่วยงานของความมั่นคงกันเองจะเหมาะสมกว่า ทั้งที่สถานการณ์ชายแดนใต้ ยังไม่ถึงขนาดจะแบ่งแยกดินแดนได้ ไม่ว่าจะใช้วิธีรุนแรงอะไรก็ตาม ซ้ำร้ายจะเข้าข่ายแบ่งแยกดินแดนเสียเอง เพราะไปพูดสนับสนุนให้ยอมรับแนวทางนี้ เรื่องไฮบริดวอร์แฟร์ จึงควรระมัดระวังในการสื่อสาร
อีกทั้งหากในอนาคตพรรค อนค.ได้เป็นรัฐบาล จะเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของผู้บัญชาการเหล่าทัพ โดยจะต้องเขียนไว้ในกฎหมายที่ชัดเจนเลยว่า ผบ.เหล่าทัพที่อยู่ในตำแหน่งหน้าที่ จะมีแค่บทบาทหน้าที่ในการปกป้องและรักษาด้านความมั่นคง ไม่ควรแสดงความคิดเห็นในเชิงการเมืองในลักษณะที่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
หากจะพูดหรือให้ความเห็นในทางการเมืองก็ควรจะเป็นช่วงที่เกษียณอายุราชการแล้ว เพราะไม่ได้มีหน้าที่ดูแลด้านความมั่นคง ควบคุมกองทัพและอาวุธที่สามารถให้คุณให้โทษกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้

Advertisement

 

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา

ในการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยเข้มข้นสากล ผู้บัญชาการเหล่าทัพ หรือกองทัพ จะพยายามวางตัวเป็นกลางทางการเมืองมาก จะไม่แสดงความคิดเห็นอะไรที่มีผลกระทบทั้งในเชิงบวกหรือลบต่อการเมือง จะอยู่ภายใต้กติกา กฎหมายรัฐธรรมนูญอย่างเข้มข้น แต่เข้าใจได้ว่ากองทัพไทยไม่ได้เป็นระบอบประชาธิปไตยแบบสากลเท่าไหร่ อีกทั้งยังแสดงสัญญะทางการเมืองขึ้นมา คิดว่าน่าจะส่งสัญญาณบางอย่างให้การเมืองไทยด้วย ไม่ว่าจะทางรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน
แน่นอนว่ากรณีไฮบริด วอร์ แฟร์ สร้างความขัดแย้งให้สังคม ทั้งนี้ ต้องย้อนกลับไปว่าความขัดแย้งทางสังคมเกิดขึ้นหลังปี พ.ศ.2549 เป็นต้นมา การที่กองทัพเลือกพูดแบบนี้เสมือนสุมเชื้อไฟความขัดแย้งให้รุนแรงขึ้นอีก เพราะสิ่งที่นำเสนอมีท่าทีโดยตรงกับขั้วการเมืองอีกฟากนึ่ง ขณะเดียวกัน ไฮบริด วอร์ แฟร์ เป็นเรื่องปกติที่มีมานานแล้ว มีลักษณะปลุกเร้าให้ความคิดที่แตกต่างกัน นำไปสู่จุดที่เกิดสภาวะความขัดแย้งรุนแรงขึ้นจริง โดยปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในบ้านเราตั้งแต่ยุคสงครามเย็น เป็นต้นมา
พูดง่ายๆ ว่าสิ่งที่ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก พูด เป็นการพูดบนฐานความคิดข้อมูลชุดเดิม ทำให้คนเกิดความตระหนก เกลียดชัง หวาดกลัว และพร้อมที่จะนำมาสู่ความรุนแรงได้เสมอ นี่เป็นสิ่งที่น่ากังวลใจว่าสิ่งที่เขาสื่อสารแบบนี้อาจปูทางไปสู่การเตรียมความพร้อมในการรัฐประหารรอบต่อไปหรือไม่ เพราะหากดูสถานการณ์ทางการเมืองในตอนนี้ แม้ว่ารัฐบาลจะควบคุมกลไกทางการเมืองได้ทั้งหมด แต่รัฐบาลไม่มีพลังศรัทธาจากประชาชนหลงเหลืออยู่เลย คนวิพากษ์วิจารณ์กันทั่วทุกหัวระแหง สะท้อนว่ารัฐบาลกำลังเกิดวิกฤตปัญหาพลังศรัทธา เป็นไปได้หรือไม่ว่ากำลังโยนหินถามทางเพื่อไปสู่การรัฐประหารครั้งใหม่ของกองทัพ
นอกจากนี้ การสื่อสารในลักษณะนี้สะท้อนให้เห็นว่า ผบ.ทบ.ไม่เข้าใจสถานการณ์การเมืองสากลในปัจจุบัน การปลุกผีคอมมิวนิสต์เป็นชุดข้อมูลความรู้ที่ล้าหลังมาก สะท้อนถึงองค์ความรู้ของกองทัพว่าไม่ได้ปรับเปลี่ยนความรู้อะไรเลย ในโลกสมัยใหม่ บทบาทกองทัพในประเทศซึ่งเป็นประชาธิปไตย คือ การพยายามอยู่ภายใต้กติกา ภายใต้ระบอบ ไม่แสดงทัศนคติทางการเมือง ทางความคิดเห็นต่างทางการเมือง หรือลักษณะเข้าข้างใดข้างหนึ่ง ต้องพยายามเรียนรู้การพัฒนาความมั่นคงสมัยใหม่ ไม่ใช่ความมั่นคงเฉพาะเรื่องดินแดน แต่หมายถึงความมั่นคงด้านอื่นๆ ที่กองทัพสามารถหนุนเสริมได้ การแสดงท่าทีแบบนี้ทำให้เห็นว่ากองทัพมีลักษณะแทรกแซงการเมืองอย่างชัดเจน ทำให้บทบาทกองทัพแย่ลงแน่นอน คนที่เห็นว่าประชาธิปไตยกำลังจะเดินไป หรือทิศทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยจะไม่ชอบที่กองทัพเป็นแบบนี้
ถามว่าเคยเห็นกองทัพอเมริกาวิพากษ์วิจารณ์การเมือง หรือแทรกแซงการเมืองแบบบ้านเราหรือไม่ ลองดูประเทศชั้นนำที่บ้านเมืองเขามีเสถียรภาพ มีประชาธิปไตยสากล ผู้นำกองทัพจะวางตัวนิ่ง ไม่ว่าผู้นำทางการเมืองจะมีปัญหา เกิดข้อขัดแย้งกับฝ่ายค้านแค่ไหน ผู้นำกองทัพจะรู้ดีว่าภารกิจของเขาคือ การดูแลความมั่นคงของประเทศ ปฏิบัติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด ไม่ยุ่งเกี่ยวและแทรกแซงกิจการทางการเมืองแม้แต่น้อย
อยากให้สังคมช่วยกันจับตามองว่า นี่เป็นการสร้างเงื่อนไขไปสู่กระบวนการการรัฐประหารอีกรอบหรือไม่ เป็นการโยนหินถามทางเพื่อหาแรงสนับสนุนจากสังคมว่า หากทำแล้วจะมีกองเชียร์เหมือนปี 2557 หรือไม่

Advertisement

 

ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร
คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.เชียงใหม่

มุมมองหนึ่งที่พอจะอธิบายเรื่องราวที่กำลังเกิดขึ้นในบ้านเราคือ กระบวนการที่ทำให้เกิดปัญหาด้านความมั่นคง แน่นอนว่าโลกทัศน์ของกองทัพทั่วโลกมองปัญหาภัยคุกคามแตกต่างกัน และปัญหาของบ้านเราคือ ภายหลังยุคสงครามเย็น เรายังมองภาพของคอมมิวนิสต์เป็นปัญหาด้านความมั่นคง ทั้งด้านการเมืองและการทหาร โดยสิ่งที่กองทัพกำลังดำเนินอยู่คือ บางกรณีมีวิธีคิดว่ายังมีกลิ่นอายของพรรคคอมมิวนิสต์อยู่ ทำให้เวลาแสดงออกต่อสาธารณะ เราจะเห็นบทบาทของกองทัพเป็นฝ่ายทหารในทางการเมือง ลักษณะนี้ชี้ว่าเส้นแบ่งการเมืองกับการทหารค่อนข้างพร่ามัวพอสมควร ทำให้สังคมตั้งคำถามต่อกรณีต่างๆ เหล่านี้
ถ้ามองย้อนกลับไปอีกหน่อยจะพบว่า สิ่งที่ผู้นำเหล่าทัพออกมาพูดในสังคมปัจจุบันทำให้สังคมไทยหวนกลับไปสู่ความขัดแย้งในอดีตได้ เรายังไม่ปลดพันธนาการความขัดแย้งที่เกิดจากความแตกต่างทางอุดมการณ์ได้อย่างสิ้นเชิง เพียงแค่ตอนนี้เปลี่ยนคนเท่านั้นเอง แต่อุดมการณ์แบบเดิมยังดำเนินอยู่ ดังนั้นคำถามหนึ่งที่น่าสนใจคือ ภายใต้ความต่างกันสองขั้วแบบนี้ ทำให้การผลักการเมืองไทยออกจากความขัดแย้งค่อนข้างเป็นไปได้ยาก เมื่อก่อนเรายังเห็นกลุ่มต้านรัฐประหารแตกออกมาเป็นเหลืองแดง ปัจจุบันพัฒนาขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง นั่นคือ การใช้ลักษณะความแตกต่างทางอุดมการณ์ทำให้ซับซ้อนมากขึ้น จะเห็นว่าฝ่ายที่ไม่ค่อยเห็นด้วยก็รักษาความพยายามนำเหตุผลในอดีตที่ฝ่ายรัฐกับฝ่ายต้านรัฐสู้กันมา ใช้ในการยืนยันสิ่งที่กองทัพพูด แสดงให้เห็นว่าสังคมไทยพัฒนาความขัดแย้งซับซ้อนไปสู่ขั้นที่ 3 หรือเป็นวงล้อทางวัฏจักรอีกครั้งหนึ่ง
กรณีของไฮบริด วอร์ แฟร์ บางครั้งเรียกว่าสงครามอสมมาตร เป็นวิธีคิดระหว่างการต่อสู้ระหว่างรัฐกับอีกฝ่ายหนึ่งที่ไม่ใช่รัฐ มีอำนาจที่อ่อนแอกว่า หรือคู่ต่อสู้ที่มีขนาดตัวใหญ่กับตัวเล็ก สังคมไทยในปัจจุบันนี้ยังไม่มีการใช้ความรุนแรงเพื่อต่อสู้กับรัฐโดยตรง เช่น การใช้อาวุธ แต่เป็นการต่อสู้เชิงข้อมูลข่าวสารมากกว่า หากดูใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเป็นสงครามอสมมาตรที่เป็นการต่อสู้แบบตัวเล็ก ตัวใหญ่ โดยเงื่อนไขที่ฝ่ายกองทัพและฝ่ายที่ไม่ใช่กองทัพต่อสู้กันอยู่เป็นการต่อสู้กันด้วยข้อมูลข่าวสาร บางครั้งต่างฝ่ายต่างโจมตีซึ่งกันและกันในลักษณะสงครามชวนเชื่อ ก็เหมือนกับในอดีต
แต่สงครามชวนเชื่อในปัจจุบันมีความซับซ้อนมากขึ้น เพราะมีเรื่องโซเชียลมีเดียเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น สงครามในยุคปัจจุบันจึงต่างจากยุคสงครามเย็น เพราะเป็นการสู้กันในสื่อออนไลน์
ทั้งนี้ คำว่า “สงครามอสมมาตร” หรือ “ไฮบริด วอร์ แฟร์” เป็นลักษณะสงครามที่มีความซับซ้อนหลายแบบ รวมทั้งยังเป็นสงครามข้อมูลข่าวสาร ช่วงชิงความได้เปรียบในลักษณะการให้เนื้อหาข่าว หรือให้ข้อมูลในบางเรื่อง
การโต้ตอบไปมาทางการเมืองมีทั้งข้อดีและเสีย ถ้าอยากขับเคลื่อนการเมืองไปข้างหน้า ต้องมีการทำให้เกิดการช่วงชิง แข่งขัน ในลักษณะการให้เหตุผลของแต่ละฝ่าย ดังนั้น เมื่อไหร่ที่ฝ่ายหนึ่งบอกว่าอีกฝ่ายหนึ่งห้ามพูด แสดงว่าคุณกำลังหยุดไม่ให้การเมืองทำงาน เมื่อการเมืองไม่ทำงาน ทุกฝ่ายเงียบ สังคมก็จะกลายเป็นอำนาจนิยมเผด็จการ ดังนั้น ต้องให้แต่ละคนพูดกันด้วยข้อมูล สิ่งที่มีบทบาทมากอย่างฐานันดรที่ 4 สามารถทำให้ประชาชนตรวจสอบข้อมูลที่แต่ละฝ่ายพูดสู่สาธารณะได้ ปัจจุบันนี้เราใช้สื่อออนไลน์ต่างๆ ในทางที่ดีมากขึ้น เช่น ใช้ตรวจสอบข้อมูล โดยในช่วงหลังๆ เราจะเห็นข้อมูลของฝ่ายหนึ่งที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน ทั้งนี้ เมื่อพูดในออนไลน์แล้วก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อข้อมูลนั้น ไม่ว่าจะฝ่ายรัฐหรือไม่ใช่รัฐ เชื่อว่าสิ่งนี้จะเป็นทางออกหนึ่งของสังคมไทยที่ต่อสู้กันด้วยข้อมูลข่าวสารบนโซเชียล
ตอนนี้สังคมไทยกำลังต่อสู้กันด้วยความคิด อาจเป็นความคิดต่างฝ่าย ต่างอุดมการณ์ แต่เราผ่านการใช้ความรุนแรงมาแล้ว ผ่านการต่อสู้ทางท้องถนน ต่อสู้กันด้วยอาวุธ ดังนั้น ต่อไปนี้หากจะสู้กันขอให้สู้กันด้วยวิธีที่ไม่ล้างผลาญชีวิตใครคนใดคนหนึ่ง ให้สังคมขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยการต่อสู้กันด้วยเหตุผล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image