ปมร้อนอภิปรายงบฯปี’63 ความเหมาะสม-จำเป็น?

หมายเหตุเป็นความเห็นนักวิชาการในการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 วงเงิน 3,200,000,000,000 บาท ซึ่ง ส.ส.พรรคฝ่ายค้านพุ่งเป้าไปยังการจัดสรรงบกลางที่สูงกว่า 5 แสนล้านบาท แต่ไม่มีรายละเอียดชัดเจน ขณะที่การจัดสรรงบของกระทรวงกลาโหมกว่า 1 แสนล้านบาท สูงเกินความจำเป็น ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจในขณะนี้

ผศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว
คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

จะเห็นได้ว่างบกลางของรัฐบาลไม่มีคำชี้แจงในรายละเอียดค่าใช้จ่าย คิดว่าอาจเป็นธรรมเนียมปฏิบัติก่อนหน้านี้หรือไม่ ก็ไม่ทราบ แต่มองว่านับตั้งแต่นี้ไปเมื่อสังคมตั้งคำถาม การทำงบกลางถึงแม้จะเป็นงบที่รัฐบาลสามารถใช้ได้เต็มที่ แต่สมควรมีการวางกรอบรายละเอียดการใช้จ่ายเพื่อให้เกิดการติดตามตรวจสอบได้ ถ้าไม่มีข้อมูลอย่างนี้ คิดว่าไม่ค่อยเหมาะสมในสมัยปัจจุบัน ซึ่งคนต้องการการติดตามข้อมูล ต้องมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และรู้ว่าเงินในงบกลางนี้น่าจะมีการใช้จ่ายอย่างไร ไม่เช่นนั้นจะเป็นการนำไปใช้จ่ายอะไรก็ได้ ซึ่งบางครั้งอาจนำไปสู่ปัญหาเรื่องการคอร์รัปชั่น เรื่องความไม่โปร่งใส หรือเป็นการใช้เงินเพื่อประโยชน์ทางการเมือง โดยเฉพาะเงินส่วนนี้เป็นเงินภาษีประชาชนด้วยก็ต้องมีหลักการการใช้จ่าย

Advertisement

ในส่วนของกระบวนการนั้น ถ้าเข้าสู่คณะกรรมาธิการจะทำให้เกิดความล่าช้าในการใช้จ่ายงบประมาณไปอีก ซึ่งเป็นผลมาจากการทำแผนพระราชบัญญัติงบประมาณที่ล่าช้ามาก ทำให้มีการใช้จ่ายเงินไปก่อน ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำให้พระราชบัญญัติงบประมาณผ่านโดยเร็ว ซึ่งอาจไปกระทบหลักการการพิจารณาเรื่องงบประมาณ จริงๆ แล้วการทำพระราชบัญญัติงบประมาณน่าจะวางกรอบให้ชัดเจนว่าหากมีข้อแย้ง และข้อแย้งนั้นมีเหตุมีผลอย่างไรก็ตามแต่ อาจจะต้องมีกรรมการร่วมในวาระที่ 2 ซึ่งต้องทำให้เกิดความโปร่งใสในการใช้จ่ายงบประมาณ โดยอาจทำให้เวลาล่าช้าออกไป เวลาเนิ่นนานมาแล้ว เข้าสู่ปีงบประมาณใหม่ แต่พระราชบัญญัติยังไม่ได้ใช้เลย เอาเข้าจริงๆ ก็ไม่สมควรที่มีการใช้จ่ายเงินไปแล้วแต่กฎหมายยังไม่ออกมา

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาการเมืองตอนนี้คงผ่าน รัฐบาลคงมีกลเม็ด มีกลไกต่างๆ ที่จะทำให้พระราชบัญญัตินี้ผ่านโดยไม่ต้องนำมาสู่การพิจารณาในวาระที่ 2 หรือใช้กรรมการปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาสาระของ พระราชบัญญัติฉบับนี้

อัษฎางค์ ปาณิกบุตร
อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

การอภิปรายงบประมาณรายจ่ายปี 2563 ถือว่าน่าผิดหวังเป็นอย่างมาก เนื่องจากจืดชืด เสียดายโอกาสที่ไม่ทำให้เกิดกระแสการปลุกเร้า ทำให้เห็นว่าการจัดทำงบประมาณไม่ตอบโจทย์ในการแก้ไขปัญหาหลายด้าน เพราะพรรคฝ่ายค้านยังทำงานไม่เป็นระบบจึงคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าว่าในการพิจารณาวาระแรก ส.ส.จะยกมือผ่าน โดยไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพราะไม่มีพรรคการเมืองต้องการไปเลือกตั้งใหม่ เพราะไม่มีทุน แม้แต่พรรคใหญ่ก็ไม่มีทุนเพียงพอ และจากผลคะแนนโหวตรอบนี้ ถ้าคะแนนของรัฐบาลมั่นคง อาจจะมีผลถึงการขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งหน้า แต่เชื่อว่าฝ่ายค้านต้องยื่น เพราะดีกว่าอยู่เฉยๆ เนื่องจากจะยื่นอภิปรายได้เพียงปีละครั้ง

เท่าที่ติดตาม ส.ส.ยังไม่นำประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตหลายเรื่องมาใช้เป็นข้อมูลเพื่ออภิปราย ทั้งที่การทุจริตเป็นจุดอ่อนที่สำคัญที่สุดหลัง คสช.ยึดอำนาจนาน 5 ปี โดยเฉพาะในกระทรวงศึกษาธิการเคยมี ส.ส.พูดถึงงบนมโรงเรียน งบอาหารกลางวันนักเรียนหรือไม่ ที่ผ่านมามีบางพื้นที่จัดรายชื่อนักเรียนผีเพื่อเอางบมีการสอบสวนข้อเท็จจริงเสร็จแล้วหรือไม่อย่างไร ส่วนงบด้านการกระจายอำนาจที่นำงบจากโครงการประชานิยมของรัฐบาลไปผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อให้สัดส่วนตัวเลขสูงขึ้นก็ไม่พูดถึง ไม่เห็นชัดๆ ถึงจุดบกพร่อง นอกจากนั้นการจัดซื้ออาวุธของกระทรวงกลาโหมเคยมีการเปรียบราคา คุณภาพกับประเทศอื่นที่ซื้อค้าประเภทเดียวกันหรือไม่ ขณะที่ประเทศยังมีหนี้สินจากการกู้เงินเพื่อนำมาใช้จ่าย

สำหรับกระทรวงเกษตรฯที่มีแค่นโยบายประกันรายได้สินค้าเกษตร ส.ส.ควรอภิปรายว่ามีวิธีการอื่นที่ดีกว่านี้หรือไม่ ทุกอย่างต้องมีการศึกษาลงลึกในรายละเอียด ดังนั้นจึงไม่น่าเชื่อว่าฝ่ายค้านจะมีการแบ่งทีมเพื่อหาข้อมูลแต่ละด้านเพื่อใช้อภิปราย เพราะฉะนั้นจึงไม่เห็นการลงลึกในรายละเอียดในการใช้งบประมาณของทุกกระทรวง โดยเฉพาะโครงการแจกเงินทั้งหลาย เช่น ชิมช้อปใช้จะมีผลอย่างไรกับการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม และหากตนได้ดูรายละเอียดในเล่มงบประมาณก็จะลงลึกมากกว่านี้ เพราะเชื่อว่ามีงบบางประเภทซุกซ่อนไว้

ส่วนการอภิปรายพรรคอนาคตใหม่ดูแล้วยังไม่อภิปรายเต็มที่ เพราะยังกังวลกับอนาคตของพรรค จึงไม่ต้องการสร้างศัตรูทางการเมืองเพิ่ม

บรรณ แก้วฉ่ำ
นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายท้องถิ่น

จากการติดตามการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563   ในวาระแรกพบว่ามีหลายพรรคการเมืองทั้งซีกรัฐบาลและฝ่ายค้านให้ความสนใจอภิปรายการอุดหนุนงบประมาณเพื่อจัดสรรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แต่ไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.แผนขั้นตอนการกระจายอำนาจ 2542 ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยชี้แจงการใช้งบสะสมของ อปท.ทั่วประเทศพบว่ามีตัวเลขที่แท้จริงเพียง 3 แสนล้านบาทเท่านั้น จากเดิมที่คาดว่ามี 6 แสนล้านบาท

สำหรับการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ส่วนตัวขอชื่นชมหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ได้ซักซ้อมให้ ส.ส.   ในพรรคทำการบ้านมาดีมาก และได้เห็นมิติใหม่ของการอภิปรายที่สร้างสรรค์ ส.ส.ทุกคนช่วยทำเอกสารอภิปรายให้ประชาชนที่ติดตามเข้าใจง่าย ที่สำคัญมีการนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐบาลรับทราบ สำหรับประเด็นที่เกี่ยวกับงบ อปท.ที่ผ่านมา หลายสิบปี ไม่เคยมี ส.ส.อภิปรายให้ท้องถิ่นแบบนี้มาก่อน

ขณะที่ ส.ส.จากพรรคพลังท้องถิ่นไทเปิดให้ฟรีโหวตอย่างอิสระ ทำให้มีทั้ง ส.ส.ที่เคยทำหน้าที่นักวิชาการด้านการกระจายอำนาจและ ส.ส.ที่เคยเป็นแกนนำสมาคมผู้บริหารท้องถิ่นอภิปราย เพื่อชี้ให้เห็นความไม่เป็นธรรมในการจัดสรรงบประมาณที่กระจุกตัวในบางกระทรวง

วีระศักดิ์ เครือเทพ
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เห็นด้วยกับการอภิปรายจาก ส.ส.หลายพรรคการเมือง ซึ่งเปรียบเทียบแนวทางการกระจายอำนาจที่มีมาตรฐานสูงในประเทศที่พัฒนาแล้ว และ ส.ส.พยายามอธิบายให้เห็นชัดเจนว่าการจัดสรรงบประมาณให้ท้องถิ่น 29.47% จากงบประมาณแผ่นดิน หรือ 804,826 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2563 มีบางหน่วยงานเจตนาปั้นเลขเท็จเพื่อประเมินรายได้ของ อปท.สูงเกินจริง จากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ ทำให้งบของท้องถิ่นหายไปประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ทำให้กระทบกับการทำโครงสร้างพื้นฐานและการบริการสาธารณะ ซึ่งเชื่อว่าในการพิจารณาวาระแรกเพื่อรับหลักการ ส.ส.น่าจะโหวตผ่าน

แต่ในชั้นกรรมาธิการจะมีการนำปัญหาการอุดหนุนงบ อปท.ไปแปรญัตติ เนื่องจากในระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมา ภายใต้รัฐบาล คสช.ไม่เคยมีใครแสดงความกล้าหาญออกมาทักท้วงเรื่องนี้
—–

ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563

มาตรา 6 งบประมาณรายจ่ายงบกลางให้ตั้งเป็นจำนวน 514,770,918,000 บาท จำแนกดังนี้
(1) ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินและต้อนรับประมุขต่างประเทศ 1,000,000,000 บาท
(2) ค่าใช้จ่ายชดใช้เงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน 3,000,000,000 บาท
(3) ค่าใช้จ่ายตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 2,500,000,000 บาท
(4) ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการลูกจ้างและพนักงานของรัฐ 7,200,000,000 บาท
(5) เงินชดเชยค่างานสิ่งก่อสร้าง 500,000,000 บาท
(6) เงินช่วยเหลือข้าราชการลูกจ้างและพนักงานของรัฐ 4,940,000,000 บาท
(7) เงินเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญ 265,716,318,000 บาท
(8) เงินเลื่อนเงินเดือนและเงินปรับวุฒิข้าราชการ 10,464,500,000 บาท
(9) เงินสมทบของลูกจ้างประจำ 670,000,000 บาท
(10) เงินสำรองเงินสมทบและเงินชดเชยของข้าราชการ 62,780,000,000 บาท
(11) เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 96,000,000,000 บาท

มาตรา 8 งบประมาณรายจ่ายของกระทรวงกลาโหมและหน่วยงานในกำกับให้ตั้งเป็นจำนวน 125,918,522,500 บาท จำแนกดังนี้
1.สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม รวม 6,230,967,600 บาท
(1) แผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคง 3,278,321,700 บาท
(2) แผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ 21,705,400 บาท
(3) แผนงานยุทธศาสตร์รักษาความสงบภายในประเทศ 4,637,500 บาท
(4) แผนงานยุทธศาสตร์ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 101,313,400 บาท
(5) แผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศ และความพร้อมเผชิญภัยคุกคามทุกมิติ 1,319,322,600 บาท
(6) แผนงานยุทธศาสตร์เพื่อสนับสนุนด้านความมั่นคง 1,505,667,000 บาท
2.กองทัพบก รวม 52,943,083,300 บาท ประกอบด้วย
(1) แผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคง 15,930,508,600 บาท
(2) แผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ 337,000,000 บาท
(3) แผนงานยุทธศาสตร์รักษาความสงบภายในประเทศ 27,000,000 บาท
(4) แผนงานยุทธศาสตร์ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 30,000,000 บาท
(5) แผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศ และความพร้อมเผชิญภัยคุกคามทุกมิติ 32,960,281,200 บาท
(6) แผนงานยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง 3,659,293,500 บาท
3.กองทัพเรือ รวม 25,229,478,500 บาท ประกอบด้วย
(1) แผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคง 4,887,476,500 บาท
(2) แผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ 50,552,500 บาท
(3) แผนงานยุทธศาสตร์รักษาความสงบภายในประเทศ 7,826,900 บาท
(4) แผนงานยุทธศาสตร์ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 280,934,900 บาท
(5) แผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศ และความพร้อมเผชิญภัยคุกคามทุกมิติ 20,002,687,700 บาท
4.กองทัพอากาศ รวม 29,670,466,300 บาท ประกอบด้วย
(1) แผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคง 5,180,635,700 บาท
(2) แผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ 41,310,000 บาท
(3) แผนงานยุทธศาสตร์รักษาความสงบภายในประเทศ 3,321,900 บาท
(4) แผนงานยุทธศาสตร์ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 34,064,000 บาท
(5) แผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศ และความพร้อมเผชิญภัยคุกคามทุกมิติ 24,411,134,700 บาท
5.กองบัญชาการกองทัพไทย รวม 10,868,253,600 บาท ประกอบด้วย
(1) แผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคง 1,414,483,600 บาท
(2) แผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ 61,858,000 บาท
(3) แผนงานยุทธศาสตร์รักษาความสงบภายในประเทศ 11,461,300 บาท
(4) แผนงานยุทธศาสตร์ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 163,985,300 บาท
(5) แผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศ และความพร้อมเผชิญภัยคุกคามทุกมิติ 9,176,976,500 บาท
6.สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ รวม 976,273,200 บาท ประกอบด้วย
(1) แผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคง 128,307,500 บาท
(2) แผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ 847,965,700 บาท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image