ขับเคลื่อน‘ปชต.’ ลดความเหลื่อมล้ำ

หมายเหตุ ความเห็นนักวิชาการจากเวทีอภิปราย เรื่อง ขับเคลื่อนคุณภาพประชาธิปไตยเพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำอันหลากหลายมิติ จัดโดยสถาบันพระปกเกล้า ส่วนหนึ่งของการประชุมวิชาการสถาบัน     พระปกเกล้า ครั้งที่ 21 ประจำปี 2562 ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน

บรรเจิด สิงคะเนติ
คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

หลักใหญ่ของการวางอำนาจรัฐล้วนมีฐานมาจากกฎหมาย และกฎหมายที่วางหลักพื้นฐานไว้คือรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ความเหลื่อมล้ำด้านอำนาจในมิติกฎหมายแบ่งเป็น 1.ความเหลื่อมล้ำระหว่างรัฐบาลและฝ่ายค้าน เราอยู่ในระบบรัฐสภา ซึ่งมีสองมิติใหญ่คือ หากรัฐบาลประกอบด้วยพรรคฝ่ายต่างๆ มากมาย รัฐบาลอาจไม่มีเสถียรภาพ ขณะเดียวกันหากรัฐบาลเข้มแข็งมากก็อาจคุมสภาได้ ดังนั้น ปัญหาพื้นฐานเหล่านี้คือปัญหารากฐานของระบบรัฐสภา จึงมีความพยายามปฏิรูประบบรัฐสภา ซึ่งประเทศที่เป็นหัวหมู่ในการปฏิรูปคือ เยอรมนี

หากดูในมาตรา 210 ของรัฐธรรมนูญที่ระบุถึงหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ โดยวงเล็บ 2 ได้กล่าวถึงการพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ เหล่านี้ล้วนเป็นองค์กรกลุ่มทั้งสิ้น การที่จะไปจากองค์กรกลุ่มได้นั้น ที่ผ่านมาเราต้องใช้เสียงข้างมาก จุดนี้แสดงให้เห็นว่าเรามีมาตรการแล้ว แต่กลไกนี้ไม่สามารถทำให้เสียงข้างน้อยถ่วงดุลอำนาจกับเสียงข้างมากได้

Advertisement

2.ความเหลื่อมล้ำระหว่างราชการส่วนภูมิภาค กับราชการส่วนท้องถิ่น พบว่าแพลตฟอร์มการบริหารราชการเราทับซ้อนกันมาก นำไปสู่ปัญหา 3 มิติ คือ อำนาจหน้าที่ บุคลากร และงบประมาณ บางหน่วยมีอำนาจหน้าที่ ไม่มีบุคลากร ไม่มีงบประมาณ บางหน่วยมีบุคลากร ไม่มีอำนาจหน้าที่ ไม่มีงบประมาณ ฉะนั้น โครงสร้างแบบนี้ไม่สามารถอำนวยความผาสุกให้ประชาชนในพื้นที่ได้ ดังนั้น การแก้ปัญหาจึงต้องเปลี่ยนแพลตฟอร์มการบริหาร 3.ความเหลื่อมล้ำระหว่างภาครัฐกับประชาชน มีอยู่ 2 แนวความคิด คือ 1.แบบเสรีนิยมดั้งเดิม ที่มองว่าการจัดการของรัฐใช้แนวความคิดแบบรัฐธรรมนูญนิยม วางแผนโครงสร้าง ดุลยภาพ อำนาจ แล้วรัฐก็จะไปได้ฉิว แต่ 2.นักทฤษฎีประชาสังคมไม่เชื่อว่าลำพังการจัดโครงสร้างที่ดีจะสร้างประชาธิปไตยหรือดุลยภาพทางการเมืองให้เข้มแข็งได้จำเป็นต้องมีพลเมือง หรือประชาชนที่เข้มแข็งมาช่วยประคับประคอง การที่พลเมืองช่วยประคับประคองเป็นเรื่องสำคัญมาก หากดูรัฐธรรมนูญ 2560 จะพบว่าเป็นรัฐธรรมนูญภาครัฐ ราชการ เพราะมีน้ำหนักคล้อยไปทางภาครัฐเป็นหลัก และจะไม่เห็นภาคประชาชน แต่หากย้อนไปดูรัฐธรรมนูญ 40 หรือ 50 การเมืองของประชาชนยังมีมากมาย

ความเหลื่อมล้ำทั้งหลายนำไปสู่ดุลยภาพระหว่างภาครัฐ ภาคทุน และภาคประชาสังคม ท้ายที่สุดแล้วรัฐและทุนจะเข้มแข็งมาก ภาคประชาสังคมจะอ่อนแอ สภาวการณ์แบบนี้ การเดินไปข้างหน้า สังคมจะมีความเสี่ยง จึงขอสรุปว่า ความเหลื่อมล้ำเท่ากับความไม่เป็นธรรม ความไม่เป็นธรรมสูง ความเหลื่อมล้ำยิ่งสูง การสร้างความเป็นธรรมมากขึ้นจะยิ่งลด เรามีเครื่องมือหลายอย่างที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ แต่กฎหมายเป็นเครื่องมือพื้นฐาน และกฎหมายพื้นฐานที่มีบทบาทมากคือ รัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ ไม่ได้ชวนแก้รัฐธรรมนูญ แต่รัฐธรรมนูญเป็นกติกาพื้นฐานที่ต้องสร้างความลงตัวให้เกิดดุลยภาพ เมื่อรากฐานตรงนั้นยังไม่ลงตัว ฉะนั้น ต้องชวนคุยกันว่าเราจะสร้างกติกาพื้นฐานในการอยู่ร่วมกันอย่างไร

สมชัย จิตสุชน
ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ

นิยามของประชาธิปไตยคือ สังคมต้องมีเสรีภาพและเท่าเทียม และความเหลื่อมล้ำคือความไม่เท่าเทียม หากกล่าวถึงความเท่าเทียมในการกำหนดนโยบายรัฐ ไม่ใช่การเข้าไปร้องขออำนาจ หากทำได้ เรื่องของความเท่าเทียมในมิติอื่นๆ ก็เชื่อว่าจะตามมาได้ เรามักจะเชื่อว่าประชาธิปไตยกับความเหลื่อมล้ำเป็นคนละทางกัน ประชาธิปไตยที่ดี ความเหลื่อมล้ำน่าจะน้อย แต่เมื่อลองไปดูผลงานวิจัยหรือประสบการณ์ของโลกนี้ ทฤษฎีเชื่อว่าเหลื่อมล้ำมาก ประชาธิปไตยน้อย เช่น คนรวยเข้าถึงอำนาจรัฐมากกว่า มีบทบาทกำหนดนโยบายมากกว่า ซึ่งอาจนำไปสู่การขัดขวางระบบภาษีและการใช้จ่ายรัฐ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำเรามักจะเห็นว่ามันเกิดขึ้นคือนโยบายที่ลดความเหลื่อมล้ำมักจะไม่ผ่านในสภา

หลักฐานเชิงประจักษ์ระบุว่าไม่เป็นจริงเสมอไป ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยไม่ได้การันตีว่าประเทศนั้นจะมีความเหลื่อมล้ำน้อย ซึ่งมีคำอธิบายว่าอาจมีความแตกต่างกันในมิติอื่น เช่น เชื้อชาติ ศาสนา แทนที่จะโฟกัสความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ อีกทั้งความเหลื่อมล้ำสูงต้องถูกมองว่าเป็นเหลื่อมล้ำที่ไม่ชอบธรรม ที่สำคัญมากคือคนรวยอาจยึดกุมกระบวนการประชาธิปไตยซึ่งมีวิธีการมากมาย ทั้งหมดนี้มาจากประชาธิปไตยยังไม่มีคุณภาพ

ถ้าจะทำให้ประชาธิปไตยมีคุณภาพให้ไปดูที่กระบวนการสร้างพลังประชาชน ซึ่งมีหลักคิด 5 ข้อ ที่ค่อนข้างเป็นนามธรรมคือ 1.รับประกันว่าทุกคนมีสิทธิขั้นพื้นฐานในการเลือกและกระทำ 2.ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจที่กระทบชีวิตเขา 3.สังคมต้องยอมรับศักยภาพและความสวยงามของทุกคน ร่วมกันพัฒนา ไม่ใช่การสั่งจากด้านบน หรือภายนอกชุมชน 4.จัดสรรทรัพยากรเพียงพอสำหรับกระบวนการสร้างพลัง และ 5.ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พูดบ่อยมาก สิ่งที่อยากจะเห็นคือการแปลงคำพูดเป็นการกระทำ

เราพูดเสมือนคนรวยเป็นคนไม่ดี คนจนก็ไม่ได้เป็นคนไม่ดีหรือขี้เกียจ แต่คนรวยก็คือคนเหมือนกัน เพียงแต่อยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ต่างกัน ที่ต้องเข้าใจคือสภาพแวดล้อมแบบไหนที่เอื้อให้เขาทำแบบนั้น ทั้งนี้ สังคมเราสามารถสร้างสัญญาประชาคมได้คนรวยและจนอยู่ด้วยกันภายใต้ความรู้สึกเข้าใจกันได้ เช่น ประเทศสวีเดนมีคนรวยและคนจนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข คนรวยพร้อมจ่ายภาษีแพงเพื่อสร้างรัฐสวัสดิการดูแลคนทุกคนตั้งแต่เกิดจนตาย เขารู้สึกว่าสังคมที่เสมอภาคกันเป็นสิ่งที่เขาอยากจะอยู่ แต่เราจะทำอย่างนั้นได้อย่างไร นี่คือชาเลนจ์

ถ้าจะสร้างสังคมให้เท่าเทียมกัน กระบวนการมีส่วนร่วมสำคัญ และมันมีต้นทุน ดังนั้น ต้องรีบเอามาใช้ ถ้านำการมีส่วนร่วมของพลังประชาชนเข้ามาใช้ผ่านกระบวนการทางด้านไอซีทีเชื่อว่าลดต้นทุนได้เยอะ คิดว่าเราน่าจะมุ่งไป

เอ็นนู ซื่อสุวรรณ
ประธานกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาส และความเสมอภาคทางสังคม

สาเหตุของความเหลื่อมล้ำและความยากจนจริงๆ แล้วมีงานวิจัยเยอะมาก แต่ปัจจัยด้านนโยบายนั้น ในอดีตเรามีปัญหาคือนโยบายเน้นเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีมากกว่าลดความเหลื่อมล้ำ เน้นการพึ่งพาเพื่อการส่งออกมากกว่าจะพัฒนาในประเทศ เน้นการบริหารจัดการแบบรวมศูนย์มากกว่ากระจายความเจริญ เน้นกำกับควบคุมมากกว่าสร้างเสริมทักษะการจัดการตนเอง นโยบายเหล่านี้เป็นต้นเหตุความยากจนและเหลื่อมล้ำ   จึงน้อมนำหลักธรรมอริยสัจ 4 เริ่มจาก “ทุกข์” เราทุกข์ด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม “สมุทัย” วิเคราะห์ว่ามาจากความเหลื่อมล้ำ โครงสร้าง และคุณค่า ส่วน “นิโรธ” คือต้องสร้างเป้าหมายร่วมกัน พึ่งพาตนเองมากกว่าพึ่งพาอำนาจรัฐ ต้องมีกระบวนการสร้างพลังประชาชน และประชาธิปไตยต้องเป็นธรรมาธิปไตย “มรรค” คือต้องสร้างสติปัญญาให้คนมีสติรู้ตัว สร้างสังคมให้น่าอยู่ สร้างเศรษฐกิจชุมชน สร้างการเมืองคุณธรรม ถ้าทำ 4 เรื่องนี้ได้ก็จะสร้างประชาธิปไตยที่มีคุณภาพได้

ขอเสนอวิธีการขับเคลื่อนว่า 1.ต้องเสริมสร้างคนให้สู่วิถีพอเพียงให้ได้ 2.ปลูกฝังประชาธิปไตยภาคปฏิบัติ 3.สนับสนุนนโยบายที่เหมาะสม และ 4.ทำนวัตกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพ สร้างการเรียนรู้ สร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันและกัน ต้องมีเครือข่ายเพื่อสร้างความเข้มแข็ง ดังนั้น ต้องให้เขารู้จักสิทธิหน้าที่ แยกส่วนตนกับส่วนรวมให้ออกว่าควรทำอะไร เมื่อไหร่ อย่างไร อย่างน้อยทำให้ได้ทั้ง 3 ขั้น คือ 1.จากการไม่มีแผนของตัวเอง พึ่งพาส่วนกลาง ถ้าทำให้ระดับหมู่บ้านหรือชุมชนทำมาหากินได้ก็จะเกิดพลเมืองตื่นรู้ 2.เพื่อให้เกิดชุมชนที่ร่วมมือซึ่งกันและกัน และ 3.สร้างเครือข่าย เพื่อพัฒนาประชาธิปไตย

หากทำได้ครบ 3 ขั้นตอนนี้ ผลลัพธ์คือมีการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม เกิดการเรียนรู้ในหมู่ผู้ปฏิบัติ รวมทั้งเกิดกลไกจัดการปัญหาในอนาคตได้

สุริชัย หวันแก้ว
ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาฯ

เราคุยเรื่องประชาธิปไตยที่มีคุณภาพหรือไม่มีคุณภาพ ขณะที่เราเป็นเจ้าภาพอาเซียน ขณะที่เราเผชิญกับโจทย์สารเคมีเกษตร และการถกเรื่องประชาธิปไตยในบริบทที่เราจะคุยกันว่าเกี่ยวอะไรกับความเหลื่อมล้ำ  ซึ่งจะคุยเฉพาะเรื่องที่เกิดขึ้นในพรมแดนประเทศไทยเฉยๆ เสมือนประเทศอยู่ในสุญญากาศของอำนาจโลกไม่ได้ เพราะโครงสร้างอำนาจของความเหลื่อมล้ำไม่ใช่โครงสร้างภายในประเทศเท่านั้น

ความแย่ของความเหลื่อมล้ำเป็นปรากฏการณ์ของทั้งโลก จึงคิดว่าวิกฤตของประชาธิปไตยในโลกปัจจุบันไม่อาจปฏิเสธได้ว่าประชาธิปไตยเฉพาะดินแดนจะคิดแค่ในประเทศเท่านั้น เราไม่มีทางจัดการกับหลายเรื่องได้เลย อาจจัดการได้แต่เป็นแบบกระเบียดกระเสียน ด้วยเหตุนี้จึงคิดว่าการอยู่ในเขาวงกต การจะอยู่อย่างเดิม แก้ปัญหาโดยที่ไม่เข้าใจโลกไม่ได้ และต้องยอมรับว่าโจทย์ประชาธิปไตยในสถานการณ์ที่เราเผชิญอยู่ไม่ใช่แค่หลายมิติ แต่หลายระดับด้วย และไม่ใช่แค่ระดับประเทศอย่างเดียว

ประชาธิปไตยที่จะช่วยให้เราลดช่องว่างได้ หรือประชาธิปไตยที่มีคุณภาพคงต้องเป็นประชาธิปไตยซึ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้าง มีการติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผล พูดและทำให้เข้มแข็ง ต้องให้ชุมชน ประชาชน องค์กรทุกส่วนช่วยกัน และไม่ใช่การตรวจสอบตัวชี้วัดจากด้านบนอย่างเดียว ต้องสามารถมีส่วนร่วมพัฒนาตัวชี้วัดจากคนที่ประสบปัญหาได้ด้วย อย่างไรก็ตาม ประชาธิปไตยที่จะช่วยลดช่องว่างได้ ต้องไปลดช่องว่างทางความรู้สึก ถ้าไม่ลดตรงนี้จะไม่สามารถสร้างความไว้วางใจได้ ไม่สามารถสร้างความรู้สึกว่าอนาคตจะเป็นของเราด้วย ไม่ใช่ของคนที่ร่างแผนให้เรา เราอาจต้องสนใจเรื่องการยอมรับมาตรฐานการแก้ปัญหาโดยพื้นฐานความชอบธรรมใหม่ โดยไม่ต้องอิงว่าชอบธรรมตามกฎหมายเป็นอย่างไร ทว่า สาระสำคัญอยู่ที่เราต้องทำงานร่วมกันมากขึ้น เคารพในเจตนารมณ์ที่สัญญาว่าเราจะไปข้างหน้าร่วมกัน

เราเชื่อตรงกันว่าต้องพัฒนาคนในแง่สังคม ในแง่อยู่ร่วมกันหลายประเทศ มีคนอยากได้ประโยชน์จากระบบเยอะ แต่คนที่อยากช่วยกำกับดูแลระบบมีน้อย นี่คือปัญหาของโลกปัจจุบันนี้ ซึ่งการกำกับจะต้องเคารพคนอื่นด้วย ดังนั้น หลักพื้นฐานที่สุดคือทุกคนต้องมีสำนึกตรงนี้ ต้องระเบิดจากภายใน โจทย์ที่สำคัญที่สุดคือปัญหาที่เราเผชิญอยู่ในปัจจุบันไม่มีเครื่องมือสำเร็จรูป โครงสร้างอำนาจรัฐไม่พอที่จะจัดการปัญหาที่รัฐเผชิญอยู่ อาเซียนก็ทำอะไรไม่ได้ถ้ายังปล่อยให้ปัญหาโรฮีนจาเป็นแบบนี้ แบบนี้อาเซียนก็ขาดความชอบธรรมในโลก

ดังนั้น จึงต้องช่วยกันสร้าง และสิ่งสำคัญของประชาธิปไตยคือประชาธิปไตยเชิงกระบวนการ ไม่ใช่ยุติกันแค่ถกเรื่องโครงสร้างแล้วจบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image