รายงานหน้า2 : ‘นักวิชาการ’มองต่างมุม สเปก‘ปธ.-กมธ.’ศึกษารธน.

หมายเหตุ ความเห็นจากนักวิชาการถึงคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นประธานและคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

 

ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำเป็นต้องได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ต้องมีความเป็นกลาง หากดึงคนจากขั้วการเมืองใดขั้วหนึ่งมาเป็นประธาน ท้ายที่สุดก็จะเป็นอีกหนึ่งกลุ่มความขัดแย้ง
การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการปลดความขัดแย้ง การเมืองไทยอีกระดับหนึ่งที่สำคัญมาก ฉะนั้น ตัวประธานจะต้องได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย มีความรู้ในแง่กฎหมายในระดับใหญ่พอสมควร ต้องมีประสบการณ์ทางการเมืองด้วย ทั้งนี้ คู่ขัดแย้ง หรือผู้ที่เคยเห็นต่างทางการเมืองสามารถเข้าร่วมเป็นคณะกรรมาธิการได้ เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปอย่างราบรื่น
รัฐธรรมนูญ 2560 ถูกออกแบบให้การแก้ไขยาก ฉะนั้น หากเริ่มต้นด้วยการศึกษาย่อมก่อให้เกิดการยอมรับจากทุกฝ่าย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับกระบวนการศึกษาความเป็นไปได้ว่าจะขับเคลื่อนไปในทางไหน เพราะผลที่ออกมาต้องมีการรับฟังและศึกษาอย่างรอบด้าน ไม่อย่างนั้นก็จะเป็นตามที่กล่าวหาว่าเป็นการยื้อเวลาแก้รัฐธรรมนูญออกไป
อีกหนึ่งส่วนที่สามารถศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญควบคู่กันได้คือภาคประชาสังคม ทั้งสื่อมวลชน องค์กร แม้กระทั่งเวทีต่างๆ ในมหาวิทยาลัย สามารถทำเป็นเวทีคู่ขนาน จนกลายเป็นกระแสย้อนกลับไปทางระบบโครงสร้างสถาบันการเมืองได้ว่า ปัจจุบันนี้สังคมไทยคิดอย่างไรกับรัฐธรรมนูญ หากย้อนไปดูรัฐธรรมนูญ 2540 จะพบว่าตอนนั้นภาคประชาสังคมมีอิทธิพลมาก สังคมไทยจะเรียนรู้ตอนที่เราจัดทำรัฐธรรมนูญ 2540 ได้

Advertisement

 

อัษฎางค์ ปาณิกบุตร
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยรามคำแหง

รัฐธรรมนูญ 2560 ร่างไว้เพื่อให้แก้ไขได้ยากมาก มีความซับซ้อน หรือตั้งใจไม่ให้แก้ไข ตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยเห็นแบบนี้ ยืนยันว่าไม่สามารถแก้ไขได้ง่ายๆ ฝืนไปก็เสียเวลาโดยเปล่า เพราะการแก้ไขจะต้องร่างใหม่ทั้งฉบับ แต่ปัจจุบันแค่เสนอแก้ไขมาตรา 256 ก็ยังแสดงความเห็นแตกต่างกันหลายทิศทาง ในที่สุดหากรัฐบาลไม่เอาด้วยก็จบ ขณะที่แกนนำของพรรครัฐบาลบางคนก็บอกไว้ชัดเจนแล้วว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไซน์มาเพื่อพวกเขา เว้นแต่บ้านเมืองนี้จะถูกบีบบังคับโดยประชาชนที่เห็นว่าประเทศน่าจะไปไม่ไหว จากวิกฤตรุมเร้าหลายด้าน
การแก้ไขรัฐธรรมนูญยังมีวิธีง่ายๆ ไม่มีความจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติม เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าในรัฐธรรมนูญมีอะไรซ่อนเร้นไว้บ้าง เพื่อให้การแก้ไขได้ข้อยุติ ฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ส.ว.ควรเสนอคนนอกที่มีความเชี่ยวชาญทั้งหมดไม่เกิน 30 คน เข้ามาทำหน้าที่ตามสัดส่วนและกรอบหรือแนวทางการแก้ไขของแต่ละพรรคการเมือง เพื่อร่างใหม่ทั้งหมด
เมื่อร่างเสร็จแล้วก็เสนอให้ประชาชนตัดสินใจอีกครั้ง เพราะอาจมีบางพรรคเอาแนวทางการร่างรัฐธรรมนูญไปตีกิน เอาดีใส่ตัวเอาชั่วให้คนอื่น ที่หนักกว่านั้นยังมีนักการเมืองบางคนไม่มีความรู้เรื่องรัฐธรรมนูญ แต่ต้องการเข้าไปมีตำแหน่งในกรรมาธิการ
ผู้มีอำนาจต้องแสดงความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญควบคู่ไปกับการฟื้นฟูประเทศ อย่าปากว่าตาขยิบ ไม่เช่นนั้นสิ่งที่จะทำไปจะเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ สิ้นเปลืองงบประมาณ เพราะฉะนั้นการตั้งคนนอกจึงเหมาะสม เมื่อมีการประกาศรายชื่อให้เป็นที่รับรู้ ก็จะทราบได้ทันทีว่าผู้ร่างชุดใหม่จะทำหน้าที่ไปในทิศทางใด จะร่างให้เป็นสากล หรือจะนำไปสู่ความขัดแย้งไม่จบไม่สิ้น
ล่าสุดเห็นได้จากเรื่องไม่เป็นเรื่อง เช่น การตั้งประธานกรรมาธิการก็นำมาขัดแย้งกันได้ เถียงกันไม่จบ ดังนั้นขอให้ทุกคนทำใจให้เป็นกลางแล้วจะมองอย่างมีสติ ที่สำคัญประชาชนส่วนใหญ่ห่วงปัญหาปากท้อง ยังไม่มีอารมณ์ร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าทำให้ประเทศเดินหน้าไปได้อย่างมั่นคง เชื่อว่าประชาชนจะมีส่วนร่วมมากขึ้น

Advertisement

 

ยุทธพร อิสรชัย
รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

รัฐธรรมนูญที่จะแก้ไข อาจหมดเวลาของคนนอกที่จะเข้ามาแก้แล้ว เพราะกติกาต้องเกิดจากทุกฝ่ายตกลงร่วมกัน จึงสนับสนุนว่าประธานกรรมาธิการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องมาจาก ส.ส. หรือมาจากคนที่พรรคเสนอเข้ามา ไม่ควรเอาบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ามา
แน่นอนว่ารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชนที่จะต้องเกี่ยวข้อง แต่ในแง่กระบวนการจัดทำ หากให้คนนอกเข้ามานั่งเป็นคนกลางเหมือนที่ผ่านมา อาจเกิดข้อท้วงติง ดังนั้น จุดตั้งต้นจึงต้องเริ่มจากการพูดคุยและตกลงกันให้ได้ว่าบุคคลที่เหมาะสมจะนั่งประธานเป็นใคร
การให้คนนอกเข้ามามีส่วนร่วมอาจเกิดขึ้นได้ในการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งควรมี 3 ส่วนผสมอย่างลงตัวคือ 1.การมีส่วนร่วมของประชาชน อาทิ การทำประชาพิจารณ์ 2.การมีส่วนร่วมจากสมาชิกรัฐสภา และ 3.การมีส่วนร่วมจากผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ที่จะเข้ามาช่วยเติมเต็ม ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นว่าทุกอย่างถูกร่างขึ้นมาโดยปราศจากหลักการรองรับ
ในเรื่องคุณสมบัติแบบพื้นฐานก็เพียงพอแล้ว เช่น มีจิตใจเป็นกลาง มีความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการเมือง กฎหมาย ระบบการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ และเรื่องรัฐธรรมนูญ ต้องร่างรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นกติกาในการแก้ปัญหาให้กับสังคมอย่างแท้จริง
ปัญหาเรื่องประธานคณะกรรมธิการ อาจทำให้การแก้รัฐธรรมนูญล่าช้าออกไป เสมือนการเล่นเกม ต้องผ่านทีละด่าน โดยด่านที่ 1 คือการเห็นพ้องต้องกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้สมควรจะแก้ไขหรือไม่ ด่านที่ 2 คือการเสนอชื่อประธานคณะกรรมาธิการ หากไม่ลงตัว โอกาสจะเดินต่อก็ล่าช้าออกไป พอถึงด่านที่ 3 จะเกิดปัญหาที่ซับซ้อนอีก พอไปด่านที่ 4 จะเป็นเรื่องรายละเอียดว่าจะมีเนื้อหาอย่างไร ในการแก้ไขจะซับซ้อนมากขึ้น
เงื่อนไขการแก้รัฐธรรมนูญ ต้องเกิดขึ้นจากการประนีประนอมและการมีฉันทานุมัติอย่างมาก เพราะในมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ เริ่มต้นจากการประชุมร่วมกันของ 2 สภา ต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ ที่เริ่มจาก ส.ส.ก่อน แล้วค่อยไปถึง ส.ว. เมื่อเริ่มจาก 2 สภา ต้องได้เสียงในวาระแรกไม่น้อยกว่า 376 จาก 750 เสียง เป็นจำนวนคร่าวๆ เพราะวันนี้อาจไม่ถึง 376 เนื่องจาก ส.ส.มีไม่ถึง 500 เต็ม และในนั้นต้องมีเสียง ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3
พอไปวาระที่ 2 ต้องพิจารณาเรียงมาตรา หากมีการเสนอแก้ไขบทบัญญัติจำนวนมากก็จะใช้เวลานาน วาระที่ 3 ต้องใช้เสียง 376 จาก 750 เช่นเดียวกัน และต้องมี ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 คือ 84 คน รวมทั้งเสียงจากฝ่ายค้านไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 หรือประมาณ 40-50 คน ซึ่งไม่ใช่น้อย
เท่ากับว่าทั้งรัฐบาล ฝ่ายค้าน และ ส.ว.ต้องเห็นฉันทามติร่วมกัน ถ้าไม่ใช้วิธีการประนีประนอม โอกาสแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็เป็นเรื่องยากมาก

 

วันวิชิต บุญโปร่ง
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

ประธานคณะกรรมาธิการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญควรเป็นผู้มีความรู้ด้านกฎหมาย เป็นผู้เชี่ยวชาญ และมองเห็นปัญหารัฐธรรมนูญ ปี 2560 รวมทั้งรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ เพื่อให้เห็นพัฒนาการว่าจุดดี จุดด้อยของแต่ละฉบับเป็นอย่างไร ไม่ควรนำบุคคลที่มีส่วนได้ ส่วนเสีย โดยเฉพาะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2560 เข้ามาเป็นประธาน ไม่อย่างนั้นจะเป็นการประจานและยอมรับไปในตัวว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาจริง โดยที่ตัวเองเป็นคนร่าง กระทั่งสังคมตั้งคำถามเชิงสนเท่ห์มากมาย ส่งผลต่อน้ำหนักความเชื่อมั่น
ปกติแล้ว ส.ว. สามารถร่วมเป็นคณะกรรมาธิการได้ โดยเป็นผู้ทรงคุณวุฒิหรืออื่นๆ นำไปสู่ความรอบคอบ การรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ซึ่ง ส.ว.เองก็ถือเป็นผู้มีส่วนได้ ส่วนเสีย ในทางหนึ่งก็ถูกแรงกดดันจากสังคมซึ่งเชื่อว่าคณะกรรมาธิการจะนำมาปัดฝุ่นพูดคุยกันคือการลดอำนาจ ส.ว. ต้องติดตามว่าจะยอมลดราวาศอกหรือยืนฝืนกระแสสังคมได้หรือไม่ เพราะ ส.ว.ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ต่างจาก ส.ส.ที่ได้รับอำนาจจากประชาชน
กวาดสายตามองแล้วไม่มีใครกล้าอาสารับเผือกร้อน เพราะบุคคลซึ่งไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงต่างๆ ล้วนเคยเป็นผู้มีประสบการณ์ หรือเคยร่างรัฐธรรมนูญมาแล้วทั้งสิ้น กลายเป็นว่า หากบุคคลนี้กลับมารับผิดชอบอีกครั้งก็จะถูกมองว่าสิ่งที่ตัวเองทำมากับมือล้มเหลว คลอดออกมาแล้วไม่เติบโตในสภาพสมบูรณ์ ดังนั้น จึงไม่มีบุคคลที่อาจหาญกล้ารับสถานการณ์ในช่วงนี้
แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรค พปชร.จะต้องเชิญพรรคร่วมฝ่ายค้าน ส.ว. รวมทั้งภาคประชาชน ภาควิชาการเข้ามาระดม หารือก่อนว่าคุณสมบัติของบุคคลที่จะเป็นประธานและคณะกรรมาธิการควรเป็นอย่างไร ไม่ควรทอดเวลานาน

 

ธเนศวร์ เจริญเมือง
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ความเห็นขัดแย้งในเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญนั้น เป็นไปตามวิถีทางการเมือง ที่ชิงความได้เปรียบของรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน โดยฝ่ายรัฐบาลค่อนข้างชัดเจนว่าการเสนอบุคคลที่มีส่วนร่วมร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 อาทิ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ มาเป็นคณะกรรมาธิการศึกษาแก้รัฐธรรมนูญ ย่อมมีส่วนได้ส่วนเสีย
ส่วนข้อเสนอฝ่ายค้าน 7 พรรคที่เสนอให้แก้รัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่รัฐบาลแก้เกมโดยส่งคนของตัวเอง และผู้ที่มีส่วนได้เสียรัฐธรรมนูญ มาเป็นคณะกรรมาธิการ เพื่อชิงความได้เปรียบ ยื้อเวลา ที่รัฐบาลไม่อยากแก้รัฐธรรมนูญเพราะมี ส.ว. 250 คน หนุนอยู่แล้ว
หากต้องการแก้รัฐธรรมนูญจริง มี 2 วิธี คือตั้งคณะกรรมาธิการในสัดส่วนที่เท่ากัน แล้วออกเสียงข้างมากเลือกใครเป็นประธานคณะกรรมาธิการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือเชิญคนกลางที่ทุกฝ่ายยอมรับ มาเป็นประธานแทน เพื่อไกล่เกลี่ยปัญหา ออมชอม ขับเคลื่อนการแก้รัฐธรรมนูญได้
กรณีที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอนายอภิสิทธิ์เป็นประธานคณะกรรมาธิการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ผมมองว่าไม่เหมาะสม เพราะนายอภิสิทธิ์มีบทบาทล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และพลาดการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ผ่านมา ไม่ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จึงอยากหวนกลับมาสร้างบทบาทใหม่อีกครั้ง เพื่อรอเวลาและสร้างโอกาสเป็นนายกฯอีกครั้ง
ดังนั้นอยากให้สรรหาบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ และทุกฝ่ายยอมรับมาเป็นประธานคณะกรรมาธิการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญดีกว่า ไม่อยากให้วนเวียนเฉพาะนักการเมืองเพียงกลุ่มเดียว ที่แสวงหาอำนาจและผลประโยชน์มากกว่าประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศ ไม่สามารถก้าวข้ามความขัดแย้งได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image