รายงานหน้า2 : ‘จุรินทร์’ควง‘เฉลิมชัย’แถลง โชว์แก้ราคายางพารา

หมายเหตุ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายสุนันท์ นวลพรหมสกุล รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จัดแถลงข่าว “การขายยาง เพิ่มปริมาณการส่งออก” ที่ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถนนราชดำเนินนอก กทม. เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน

 

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

หลังจากวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเรื่องการแก้ไขปัญหาเกษตรกร คือโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางและได้ดำเนินการไปแล้วอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลมีนโยบายในการรักษาเสถียรภาพและผลักดันราคายางให้สูงขึ้นโดยเน้นการลงมือทำได้ไวทำได้จริง นอกจากนโยบายประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางแล้วยังได้ให้นโยบายต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงพาณิชย์ ให้ทำงานอย่างบูรณาการและมีผลในการปฏิบัติอย่างเร่งด่วน
นอกจากนี้ กยท.ยังได้มีการเจรจาขายสินค้ายางพาราเพื่อเพิ่มศักยภาพในการส่งออก และให้บูรณาการร่วมกับกระทรวงพาณิชย์เดินหน้าทำงานเชิงรุกตามนโยบายอย่างเข้มข้น โดยปัจจุบัน
กระทรวงเกษตรฯสามารถเจรจาซื้อขายยางพาราระหว่างประเทศกับผู้ซื้อเบื้องต้นจำนวน 2 ราย คือ 1.บริษัทเอกชนจากจีน ซึ่งมีการลงนามบันทึกความร่วมมือ (เอ็มโอยู) รองรับ เพื่อซื้อยางแท่ง (เอสทีอาร์ 20) ปริมาณ 60,480 ตัน และ 2.บริษัทเอกชนจากฮ่องกง ซึ่งมีการลงนามเอ็มโอยูรองรับ เพื่อซื้อยางแท่ง (เอสทีอาร์ 20) ปริมาณ 100,000 ตัน และยางแผ่นรมควันชั้น 3 อัดก้อน 100,000 ตัน รวมล็อตนี้ 200,000 ตัน รวมปริมาณการซื้อขายรอบนี้ทั้งสิ้น 260,480 ตัน ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท
โดยยางที่นำมาขายเป็นยางที่รับซื้อผลผลิตยางจากเกษตรกร สถาบันเกษตรกรมาแปรรูป และบางส่วนเป็นยางแปรรูปจากเกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่มีมาตรฐานการผลิต เช่น มาตรฐานการผลิตผลิตภัณฑ์ (จีเอ็มพี) หรือมาตรฐานระบบบริหารงานคุณภาพ (ไอเอสโอ) เป็นต้น
ทั้งนี้ เชื่อว่าการเปิดตลาดยางพาราในต่างประเทศและมีการบันทึกข้อตกลงร่วมกันเพื่อซื้อขายยางทั้งหมดข้างต้นสามารถเชื่อมโยงโดยตรงกับเกษตรกรชาวสวนยางสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางและผู้ประกอบกิจการยางพาราทำให้รายได้ตกสู่เกษตรกรโดยตรง และทำให้เกิดการซื้อขายยางและดูดซับยางออกจากระบบได้ไม่น้อยกว่า 2.6 แสนตัน
รวมถึงจะส่งผลให้เกิดประโยชน์ต่อวงการยางพาราของไทย อาทิ ได้ขยายช่องทางการจำหน่ายไปต่างประเทศเพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้านการตลาดของ กยท.และเพิ่มอำนาจการต่อรองในเวทีโลก และทำให้เกิดการส่งออกภายใต้แบรนด์ กยท. ซึ่งเป็นที่ยอมรับในกลุ่มธุรกิจอย่างทั่วโลก เป็นต้น
นอกเหนือจากการเจรจาซื้อขายทันทีกับกระทรวงเกษตรฯในรอบนี้แล้ว ในวันที่ 15-19 พฤศจิกายน 2562 ทางกระทรวงพาณิชย์ โดยผมจะเดินทางไปทำหน้าที่เซลส์แมนในการนำยางพาราไปขายที่ประเทศตุรกีและเยอรมนี โดยจะนำภาครัฐ เอกชน ไปเจรจาและลงนามในแผนปฏิบัติงาน บิสิเนส เน็ตเวิร์กกิ้ง (Business Networking) ซึ่งทั้ง 2 ประเทศ ถือเป็นกลุ่มตลาดใหม่ที่ไทยต้องการดึงให้มาเป็นลูกค้าหลัก โดยตุรกีมีความต้องการใช้ยาง 60,000 ตันต่อปี แต่หลังจากมีการเจรจาซื้อ-ขายแล้ว ทั้ง 2 ประเทศ จะซื้อยางจากไทยเท่าไรนั้น ต้องติดตามผลต่อไป
นอกจากนั้น ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 ทางกระทรวงพาณิชย์โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจะมีกิจกรรมจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายยางพารา ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นยกระดับราคาและการเพิ่มศักยภาพตัวเลขการส่งออก
และในวันที่ 29-30 พฤศจิกายน 2562 จะเป็นการจัดงานเอ็กซ์โปยางพารา โดยรัฐบาลเป็นแม่งาน ที่อิมแพคอารีน่า เมืองทองธานี นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ซึ่งภายในงานจะมีการจับคู่ธุรกิจระหว่าง กยท.กับหน่วยงานภาครัฐกว่า 10 แห่ง ที่จะเข้าร่วมโครงการใช้ยางพาราในทุกผลิตภัณฑ์ตามนโยบายเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศ รวมทั้งจะมีความคืบหน้าการเจรจาซื้อขายยางพารากับภาคเอกชนเพิ่มเติมอีกด้วย
ส่วนในเรื่องของการประกันรายได้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หลังจากนี้จะมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนจะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายที่เกี่ยวกับข้าวโพด เพื่อจะนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

Advertisement

 

เฉลิมชัย ศรีอ่อน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ในส่วนของการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรฯ ได้คิกออฟโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางพาราระยะที่ 1 วงเงินประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาท โดยสามารถทำได้ไวทำได้จริงภายในเวลาเพียง 98 วัน หลังการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยเกษตรกรชาวสวนยางได้ขึ้นทะเบียนและแจ้งพื้นที่ปลูกยางกับ กยท.ก่อนวันที่ 12 สิงหาคม 2562 รายละไม่เกิน 25 ไร่ เป็นสวนยางอายุ 7 ปีขึ้นไป ที่เปิดกรีดแล้วราคาในโครงการประกันรายได้คือยางแผ่นดิบคุณภาพดี 60 บาทต่อกิโลกรัม น้ำยางสด 57 บาทต่อกิโลกรัม ยางก้อนถ้วย 23 บาทต่อกิโลกรัม
ทั้งนี้ ยังได้ให้สิทธิผู้ที่ถือบัตรประจำตัวเจ้าของสวนยาง ในที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ (บัตรสีชมพู) หากผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้ก็สามารถได้รับการประกันรายได้เช่นเดียวกัน
ขณะที่โครงการกำลังอยู่ในภาคปฏิบัติอย่างต่อเนื่องโดย กยท.กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทำหน้าที่โอนเงินให้กับเกษตรกรหลังจากตรวจสอบบัญชี และการปลูกจริงในพื้นที่เป็นการช่วยสร้างหลักประกันให้เกษตรกรชาวสวนยางทั้งเจ้าของสวนยาง ผู้เช่า ผู้ทำ และคนกรีดยาง ให้มีรายได้ที่แน่นอนมั่นคงและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ขณะนี้ มีเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลพื้นที่ปลูกยางกับ กยท.จำนวนกว่า 1.7 ล้านราย เป็นยางแผ่นดิบ จำนวน 1.5 แสนราย น้ำยางสด จำนวน 4.7 แสนราย และยางก้อนถ้วย จำนวน 7.9 แสนราย โดยโครงการนี้ได้เริ่มจ่ายเงินงวดแรกพร้อมกันทั่วประเทศไปแล้วเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม นอกจากโครงการประกันรายได้แล้ว กระทรวงเกษตรฯยังมีมาตรการเสริมและมาตรการคู่ขนาน ที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ โครงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อใช้ในการรวบรวมยาง วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท, โครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรเพื่อแปรรูปยางพาราวงเงิน 5 พันล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 1 กันยายน 2557 ถึง 31 ธันวาคม 2567 และโครงการบริหารจัดการรักษาเสถียรภาพราคายางพาราของสถาบันเกษตรกร โดยให้ใช้สินเชื่อจากสภาพคล่อง ธ.ก.ส.ในวงเงิน 5 พันล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปี ระยะเวลาโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2561 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2563
นอกจากนี้ ยังได้เตรียมโครงการส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อมุ่งผลักดันนโยบายการเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศกำหนดให้หน่วยงานภาครัฐใช้วัตถุดิบยางพาราจากเกษตรกรชาวสวนยาง และสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2562 มีหน่วยงานภาครัฐ 10 แห่งเข้าร่วมโครงการ ได้แก่ กระทรวงคมนาคม, กระทรวงกลาโหม, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, กระทรวงยุติธรรม, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงศึกษาธิการ และกรุงเทพมหานคร ดำเนินการใช้ยางพารา ได้แก่ ผลิตภัณฑ์, วัสดุ, ครุภัณฑ์, สิ่งก่อสร้าง อาทิ สระน้ำ, บล็อกยางปูพื้นภายนอกอาคาร, เครื่องนอน, ถนนงานยางพารา คอนกรีตและถนนงานดินซีเมนต์ผสมยางพารารวมปริมาณความต้องการใช้ยาง คิดเป็นน้ำยางสดเกือบ 1.7 แสนตัน วงเงินงบประมาณรวมกว่า 4.30 หมื่นล้านบาท

Advertisement

 

สุนันท์ นวลพรหมสกุล
รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)

ในส่วนของสถานการณ์ยางพาราปี 2562 โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดการณ์ว่าไทยมีเนื้อที่กรีดยางได้ 20.45 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 0.43 ล้านไร่ หรือ 2.16% จากปี 2561 ที่มีจำนวน 20.02 ล้านไร่ เนื่องจากการขยายพื้นที่ปลูกใหม่ในปี 2556 ซึ่งเริ่มกรีดยางได้ในปีนี้โดยราคาที่เกษตรกรขายได้ในปี 2556 สำหรับผลผลิตต่อไร่มีปริมาณเพิ่มขึ้นเนื่องจากปริมาณน้ำฝนเพียงพอ รวมทั้งส่วนใหญ่เนื้อที่กรีดได้เป็นต้นยางพาราซึ่งอยู่ในช่วงอายุที่ให้ผลผลิตสูง
ส่วนราคายางแผ่นดิบ ในขณะนี้ อยู่ประมาณ 40 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนเรื่องที่จะมีการซื้อขายระหว่างประเทศนั้น กยท.จะเป็นต้นทางในการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร โดยจะให้ราคาที่สูงกว่าตามท้องตลาดแต่จะไม่ให้ราคาสูงเกินไปจนกระทบต่อตลาดในภาพรวม ตอนนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนของการคำนวณว่าราคาที่จะรับซื้อจากเกษตรกรจะมีราคาเท่าไร
ส่วนการซื้อขายกับจีนและฮ่องกงนั้น เชื่อว่าจะสามารถระบายยางออกจากสต๊อกได้กว่า 1.5 หมื่นตัน นอกจากนี้ บริษัท สยามมิชลิน จำกัด ที่มีการตั้งโรงงานผลิตยางที่ภาคใต้ ยังมีความต้องการใช้ยางเพิ่มอีก 1 หมื่นตันอีกด้วย ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีของตลาดยางพาราเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของความเคลื่อนไหวเรื่องราคายางพารามีการปรับตัวสูงขึ้นจากสัปดาห์ก่อนเนื่องจากราคาได้ปรับตัวตามตลาดล่วงหน้าต่างประเทศ ที่กรุงโตเกียว จากการอ่อนค่าของเงินเยนและราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น
ประกอบกับปริมาณผลผลิตยางออกสู่ตลาดลดลง สาเหตุจากบริเวณภาคใต้ซึ่งเป็นแหล่งปลูกยางสำคัญของไทยยังคงมีฝนตกอย่างต่อเนื่องส่งผลให้เป็นอุปสรรคต่อการกรีดยางของเกษตรกร ช่วงที่ยางพาราออกสู่ตลาดคือตลอดทั้งปีและออกมากในเดือนธันวาคมถึงมกราคม แหล่งผลิตที่สำคัญ คือ จ.สุราษฎร์ธานี สงขลา นครศรีธรรมราช ตรัง และ จ.ยะลา
สำหรับมูลค่าการส่งออกเมื่อเดือนกันยายน 2562 คือ 1.2 แสนล้านบาท ตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ จีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น อเมริกา และเกาหลีใต้ ส่วนคู่แข่งที่สำคัญ คือ ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม
สำหรับในปี 2561 มีปริมาณการส่งออกรวม 4.15 ล้านตัน และในจำนวนนี้ส่งออกไปยังประเทศจีนคิดเป็น 59.7% ของปริมาณส่งออกทั้งหมด ส่วนสถานการณ์ในปี 2562 กำลังอยู่ระหว่างการเร่งผลักดันการส่งออกนอกโควต้า ข้อตกลงหรือเอ็มโอยูเดิม ทั้งนี้ เพื่อเป็นการผลักดันราคายางพาราและรองรับการช่วยเหลือเกษตรกรตามนโยบายของรัฐบาล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image