สภาล่ม รัฐบาลร้าว เขย่าเก้าอี้ ‘บิ๊กตู่’

เหตุการณ์การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สะท้อนให้เห็นรอยร้าวภายในรัฐบาล
แม้ว่าเหตุการณ์บนผิวพื้นจะเสมือนความขัดแย้งระหว่างพรรคฝ่ายค้านกับพรรคฝ่ายรัฐบาล
เมื่อพรรคฝ่ายค้านเสนอญัตติด่วนให้ตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาผลกระทบจาก ม.44 แต่พรรคฝ่ายรัฐบาล    ไม่เห็นด้วย
สุดท้ายมีการโหวต
ผลการโหวตปรากฏว่าฝ่ายค้านที่สนับสนุนให้ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาได้เสียงสนับสนุน 236 เสียง ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลซึ่งไม่เห็นด้วยกับการตั้งคณะกรรมาธิการมีเสียงแค่ 231 เสียง
ฝ่ายรัฐบาลแพ้ไป 5 เสียง เท่ากับว่าญัตติด่วนดังกล่าวต้องเดินหน้า
แต่ นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปฝ่ายรัฐบาลเสนอให้นับคะแนนใหม่ ซึ่งพรรคฝ่ายค้านตีความว่า “ให้โหวตใหม่” จึงวอล์กเอาต์ทำให้องค์ประชุมสภาไม่เพียงพอ
และเมื่อสำรวจเสียงโหวต 236 เสียงที่สนับสนุนญัตติพบว่ามีสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทยรวมอยู่ด้วย
รอยร้าวของพรรคร่วมรัฐบาลจึงปรากฏ

ความจริงแล้วรอยร้าวระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว
ความขัดแย้งการทำงานและแนวทางการบริหารประเทศในรัฐบาลผสมนั้นถือว่าเป็นปกติ หากนายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้นำสามารถควบคุมสถานการณ์ได้
เช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรัฐบาลชุดปัจจุบัน
กรณีการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ รัฐบาลประสบปัญหาเรื่องเอกภาพ เพราะพรรคพลังประชารัฐนั้นดูแลกระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน
พรรคประชาธิปัตย์ดูแลกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนพรรคภูมิใจไทยดูแลกระทรวงคมนาคมและกระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬา
เมื่อปัญหาเศรษฐกิจที่ปรากฏนั้นรุมเร้า สังคมย่อมกดดันไปที่รัฐบาล โดยเฉพาะฝ่ายเศรษฐกิจ
ล่าสุดเมื่อกระทรวงการคลังนำเสนอแพคเกจฟื้นฟูเศรษฐกิจจำนวน 1.5 แสนล้านบาทที่ล้ำเส้นเข้าไปในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ
คำถามจากพรรคประชาธิปัตย์จึงดังขึ้น

ความเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์ในยามนี้จับโฟกัสไปที่ความเคลื่อนไหวของ นายเทพไท เสนพงศ์ นับตั้งแต่การสนับสนุนให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นประธานคณะกรรมาธิการศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
เรื่องนี้พรรคประชาธิปัตย์ได้ประชุม และมีมติออกมาก่อนหน้านี้
ทั้งนี้เพราะพรรคประชาธิปัตย์แถลงก่อนจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีว่า เสนอเงื่อนไขให้พรรคพลังประชารัฐในเรื่องการหาทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ
กระแสข่าวตอนนั้นระบุว่าพรรคพลังประชารัฐตอบรับเงื่อนไข
แต่เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ และพรรคพลังประชารัฐได้จัดตั้งรัฐบาล ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเงื่อนไขที่พรรคประชาธิปัตย์ประกาศต่อสาธารณะยังมืดมน
แม้แต่การเสนอชื่อนายอภิสิทธิ์เป็นประธานคณะกรรมาธิการศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคที่ออกตัวแรงมาคัดค้านตั้งแต่ต้นก็คือพรรคพลังประชารัฐ
นายวีระกร คำประกอบ จากพรรคพลังประชารัฐ แสดงความเห็นว่า พรรคแกนนำควรจะเป็นประธาน และมีชื่อผู้ที่เหมาะสมกับตำแหน่งดังกล่าวหลายคน
หลังจากนั้นไปสักพรรค พรรคประชาธิปัตย์ได้ประชุมและมีมติอีกครั้ง โดยยกเลิกมติเดิมที่เสนอชื่อนายอภิสิทธิ์เป็นคณะกรรมาธิการ และประธาน
เปลี่ยนไปเสนอชื่อสมาชิกพรรคคนอื่นไปแทน
สุดท้ายนายเทพไทออกมาเตือน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ที่เคยสัญญาไว้ว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ขอให้ทำตามสัญญา

ยังมีกรณีการผลักดันให้แบนสารเคมี 3 ชนิดของพรรคภูมิใจไทยที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ในฐานะรองนายกฯ สนับสนุนให้ นางมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ดำเนินการ
ผลักดันไปจนกระทั่งคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติแบน 3 สารเคมี ประกอบด้วย พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส มีกำหนด 1 ธันวาคม
แต่เมื่อมติครั้งนั้นปรากฏออกมา มีกระแสทักท้วงทั้งจากต่างประเทศ และทักท้วงจากสภาผู้แทนราษฎร และทักท้วงจากกระทรวงเกษตรฯ
กระทั่งสุดท้ายต้องประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายกันอีกครั้ง
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยืนยันว่าที่ประชุมมีมติยกเลิกการแบน        ไกลโฟเซต และให้ยืดระยะเวลาการแบนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ไปอีก 6 เดือน
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้คณะกรรมการบางคนลาออก
ขณะที่นายอนุทินส่งสัญญาณให้นางมนัญญาคืนกรมวิชาการเกษตรให้กับ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ และขอดูแลกรมชลประทานแทน
ความขัดแย้งดังกล่าวบางส่วนปรากฏอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์
อีกบางส่วนเป็นแรงกระเพื่อมภายใน กระทั่งเกิดเหตุสภาล่ม

Advertisement

ดังนั้น เหตุการณ์สภาล่มจึงไม่ใช่เรื่องเล็กๆ สำหรับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
คำกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ที่เรียกร้องให้พรรคร่วมรัฐบาลรักษาสัญญาที่ให้ไว้สะท้อนสภาพของปัญหา  “สภาล่ม” ออกมาได้ดี
สภาล่มเพราะองค์ประชุมไม่ครบ แสดงว่าฝ่ายรัฐบาลมีสมาชิกไม่เพียงพอที่จะทำให้การประชุมเดินหน้า
เสียงโหวตจากพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย ย่อมมีความหมายในการประชุมสภา
หากพรรคประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยไม่เล่นด้วย พรรคพลังประชารัฐคงจะผลักดันอะไรไม่ได้
นี่เป็นปัญหาที่พรรคพลังประชารัฐต้องคิด
ยิ่งกรณี “ขอโหวตใหม่” ในการตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาผลกระทบ ม.44 เป็นวาระที่พรรคฝ่ายค้านมิอาจยอมได้ ยิ่งทำให้เสียงจากพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยมีความสำคัญมากขึ้น
เมื่อพรรคพลังประชารัฐต้องการ ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทยอย่างไรก็ได้
อำนาจการต่อรองของพรรคพลังประชารัฐย่อมน้อยลง
อำนาจการต่อรองของ พล.อ.ประยุทธ์ก็น้อยลงด้วย

ขณะที่รัฐบาลผสมจำเป็นต้องมีนายกรัฐมนตรีที่ประสานกับพรรคร่วมรัฐบาลได้เป็นอย่างดี เพราะกระทรวงแต่ละกระทรวงประกอบด้วยรัฐมนตรีที่มาจากหลากหลายพรรค
เมื่อมีการทำงานร่วมกันหลายกระทรวง เมื่อมีการทำงานร่วมกันหลายพรรค
บทบาทของนายกรัฐมนตรีในการบริหารงานจึงสำคัญ
อาทิ การตั้งคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจขึ้นมา โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ก็เพื่อให้การทำงานของรัฐบาลในเรื่องเศรษฐกิจมีเอกภาพ
แต่หากพรรคร่วมรัฐบาลมีอำนาจต่อรองมากกว่าพรรคแกนนำรัฐบาล
ผลกระทบที่ตามมาย่อมพุ่งตรงมาที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้ารัฐบาล
กรณีสภาล่ม จึงไม่ใช่เรื่องเล็กๆ หากสาวลึกไปถึงสาเหตุของการล่มก็จะพบรอยร้าวภายในรัฐบาล
สภาล่มจึงเป็นสัญญาณร้ายของรัฐบาล
และเป็นสัญญาณเตือนภัยถึงภาวะผู้นำของ พล.อ.ประยุทธ์
เตือนว่าภาวะผู้นำเริ่มลดลงๆ
ระวังอย่าให้การบริหารงานภายในรัฐบาลเกิดบรรยากาศต่างคนต่างอยู่ต่างคนต่างทำ
อย่าให้อยู่ในบรรยากาศ “ไม่มีใครกลัวใคร”
เพราะหากเกิดสภาพเช่นนั้นขึ้น ตัวของ พล.อ.ประยุทธ์เองนั่นแหละจะแย่ เพราะสูญเสียภาวะผู้นำ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image