บทนำวันพุธที่4ธันวาคม2562 : แชร์ข่าวปลอม

การเผยแพร่ข่าวปลอมเป็นปัญหาน่าห่วง ในการประชุมวุฒิสภา เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ที่รัฐสภา มีการพิจารณากระทู้ถาม เรื่อง นโยบายการแก้ไขปัญหาข่าวปลอมที่เผยแพร่ในสังคมออนไลน์ นายจเด็จ อินสว่าง ส.ว. ผู้ตั้งกระทู้ถาม กล่าวว่า ปัจจุบันมีการเผยแพร่ข่าวปลอมจำนวนมาก มาตรการกฎหมายที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อการจัดการปัญหา การตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหรือดีอีเอส เป็นเรื่องถูกต้อง แต่ภาครัฐควรมีมาตรการดำเนินคดีและระงับการแพร่กระจาย จึงขอถามว่ากระทรวงดิจิทัลฯมีมาตรการในการแก้ไขปัญหาอย่างไร ตัวเลขจาก กสทช.ระบุว่าปัจจุบันระบบออนไลน์ครอบคลุมกว่า 90% ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ร้อยกว่าล้านเลขหมาย การใช้งานเชื่อมต่อข้อมูลต่อบุคคลมากถึง 2.45 กิกะไบต์ และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้น ซึ่งการรณรงค์จากหน่วยงานภาครัฐเพื่อเตือนภัยให้กับประชาชนยังมีไม่มากนัก

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดีอีเอส ชี้แจงว่า คนไทยเข้าถึงระบบออนไลน์ถึง 80% การทำงานในเรื่องนี้ไม่ง่าย เพราะถูกกล่าวหาว่าเป็นไปเพื่อปกป้องรัฐบาล ขณะนี้ตรวจสอบพบว่ามีประมาณ 5 แสนข้อความที่มีความเสี่ยงว่าจะเป็นข่าวปลอม เมื่อตรวจสอบแล้วจะคัดกรองและส่งไปให้ตรวจสอบว่าข่าวที่ออกมานั้นเป็นข่าวจริงหรือไม่ โดยพบว่ากลุ่มคนที่มีการแชร์ข่าวไม่ถูกต้องมากที่สุด คือ กลุ่มคนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นการแชร์ข่าวด้วยความเป็นห่วงเพื่อนฝูง ที่ผ่านมามีการตรวจสอบผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์หลอกลวงประชาชนตลอดเวลา และพยายามทำงานให้เร็วขึ้นเพื่อให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายในทางปฏิบัติ และทำงานให้เกิดความรัดกุมต่อไป

ข้อมูลที่น่าสนใจ ก็คือการที่พบว่ากลุ่มคนที่มีการแชร์ข่าวไม่ถูกต้องมากที่สุด คือ กลุ่มคนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป น่าจะเป็นอีกโจทย์ที่กระทรวงดิจิทัลฯน่าจะตรวจสอบเพิ่มเติมว่า สาเหตุในการแชร์ข่าวต่อไปมาจากอะไร เพื่อจะได้หาทางรณรงค์แก้ไขได้อย่างถูกต้อง ในเบื้องต้น อาจเป็นเพราะผู้ที่อยู่ในช่วงอายุดังกล่าว ไม่เชี่ยวชาญในการใช้ระบบออนไลน์ในการเสาะหาข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ มาเปรียบเทียบ เพื่อตรวจสอบว่าข่าวสารที่แชร์ไปนั้นถูกต้องหรือไม่ ซึ่งถือเป็นการบ้านที่กระทรวงดีอีเอสจะต้องดำเนินการต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image