รายงานหน้า2 : นักวิชาการหนุน ตั้งกมธ.ศึกษาผล‘ม.44’ ติงรบ.เล่นเกม‘ชักเย่อ’

หมายเหตุความเห็นจากนักวิชาการกรณีญัตติการพิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำของประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 ที่สภาโหวตให้ตั้ง กมธ.แล้ว แต่ฝ่ายรัฐบาลขอนับคะแนนใหม่ ฝ่ายค้านจึงวอล์กเอาต์ ทำให้ไม่ครบองค์ประชุม ส่งผลให้สภาล่ม 2 ครั้งติด

 

อัษฎางค์ ปาณิกบุตร
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์

ส.ส.ซีกรัฐบาลต้องยอมรับผลการโหวตที่พ่ายแพ้ไปแล้ว เพราะไม่รับผิดชอบในญัตตินี้ เนื่องจากคิดไปล่วงหน้าว่าจะไม่แพ้ และอย่าเอาข้อบังคับมาอ้าง ขณะที่ฝ่ายค้านเชื่อว่าชนะโหวตในสภาแล้ว ปัญหาจึงไม่จบทำให้มีการตีรวนเมื่อมีการขอโหวตใหม่ เชื่อว่าการประชุมสภาครั้งต่อไปจะมีปัญหาในการเปิดประชุมอีก นอกจากตัวแทนทั้ง 2 ฝ่ายจะเจรจาเพื่อหาทางออก แต่มองดูแล้วไม่น่าเชื่อว่าจะมีทางออกให้ทุกอย่างเดินหน้าไปได้
ผมเป็นนักกีฬา แพ้ก็คือแพ้ ไม่มีตีรวนหรือพยายามใช้กติกาที่แปลกประหลาด ทุกคนต้องมีสปิริต มีน้ำใจนักกีฬา ที่สำคัญการตรวจสอบอำนาจจากการใช้มาตรา 44 ของ คสช.ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งสั่งปลดด่วนตัวแทนองค์กรอิสระและแต่งตั้งเจ้าหน้าที่รัฐ เชื่อว่าคนไทยทั่วประเทศไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดต้องการทราบหลักการและเหตุผล มีหลักธรรมาภิบาล ใช้อำนาจตามใจฉันหรือไม่ แต่เชื่อว่าเรื่องนี้หากนำมาตีแผ่หรือศึกษาเพิ่มเติมอาจจะบานปลาย
ผมได้รับคำสั่งให้ตรวจสอบการทุจริตการจัดสอบบรรจุข้าราชการท้องถิ่นในจังหวัดทางภาคอีสาน ทุกวันนี้ยังสงสัยการใช้อำนาจตามมาตรา 44
ออกคำสั่งเอาคนผิดไปเข้าคุก ส่วนคนทำผิดตัวการใหญ่ยังลอยนวล
ดังนั้นหากรัฐบาลปล่อยให้มีการตั้งกรรมาธิการขึ้นมาตรวจสอบแล้ว ผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือนายกฯ ในฐานะอดีตหัวหน้า คสช. ขณะที่พรรคฝ่ายค้านเห็นว่าเรื่องนี้เป็นหน้าที่ อย่ามองว่าต้องการเสนอญัตติเพราะอยากมีเรื่อง หรือพรรคการเมืองใดก็ตามที่ประกาศต่อต้านเผด็จการก็ต้องทำเพื่อหาเหตุตรวจสอบคนใช้อำนาจ ถ้าเป็นผมจะต้องหาเรื่องให้มากกว่านี้โดยเฉพาะการโกงกิน แต่วันนี้ต้องยอมรับว่าฝ่ายค้านบางพรรคยังไม่มีฝีมือเพียงพอที่จะไปหาข้อมูลใหม่ๆ มาเปิดโปง
เชื่อว่ารัฐบาลคงไม่ยอมให้มีการตั้งกรรมาธิการ เพราะต้องการปกป้องพวกเดียวกันให้ถึงที่สุด แล้วน่าสงสัยว่าทำไมแกนนำรัฐบาลไม่ไปพูดกับหัวหน้ารัฐบาลให้ยอมรับความจริง
ส่วนท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ที่ออกมาหนุนญัตติก็ต้องการแสดงให้เห็นว่าถ้าสนับสนุนรัฐบาลมากไปคงไม่ดี อยากสร้างชื่อเสียง มีการต่อรอง หรืองอแงเพราะไม่พอใจที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้เข้าไปทำหน้าที่ประธานกรรมาธิการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทุกทางเป็นไปได้หมด
สำหรับท่าทีของนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร คงทำตัวลำบากเพราะพรรคต้นสังกัดเต็มที่กับรัฐบาล แต่การทำงานในฐานะประธานสภาต้องวางตัวเป็นกลาง
ในอนาคตถ้าต้องการให้การทำงานของสภาเดินหน้าไปได้อย่างมีระบบ มีเกียรติ รัฐบาลต้องยอมเรื่องนี้แล้วไปเริ่มต้นใหม่เรื่องอื่น เพราะมีโอกาสทำงานนาน 4 ปี อย่าไปตีความตามกติกาที่บิดเบี้ยว หรือถ้าจะจบง่ายนายกฯต้องเปิดใจเพื่อแสดงความรับผิดชอบ มีสปิริตทางการเมืองให้ตรวจสอบการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ถ้าเป็นคนดีจริง เชื่อว่าจะไม่มีใครออกมาขับไล่ ต้องไม่แสดงอาการหวั่นไหว อย่ากลัว ทำตัวให้มี
คุณค่ามากขึ้น
เรื่องแบบนี้ถ้าบริสุทธิ์ใจต้องออกมาเผชิญหน้าท้าทายให้ตรวจสอบให้มีข้อยุติ วันนี้ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาประกาศว่าพร้อมให้กรรมาธิการตรวจสอบแล้ว ทุกอย่างจะจบทันที การทำงานของสภาก็เดินหน้าต่อไปได้

Advertisement

 

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

เห็นด้วย 100 เปอร์เซ็นต์ ที่ต้องตั้ง กมธ.วิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศและคำสั่ง คสช.และการใช้อำนาจหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 เพราะทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านหากยืนในหลักการประชาธิปไตยก็ไม่มีสิทธิปฏิเสธ กมธ.ชุดนี้
อย่าลืมว่าคำสั่งมาตรา 44 เป็นผลพวงของการใช้อำนาจแบบเผด็จการ เป็นธงมาจาก คสช. ซึ่งรัฐบาลชุดนี้อ้างธงว่าเป็นประชาธิปไตย โดยหลักการหากอ้างตนว่าเป็นประชาธิปไตยก็ไม่มีสิทธิที่จะไปรับกติกาหรือผลพวงของเผด็จการทั้งสิ้น จึงจำเป็นจะต้องศึกษาทบทวนเพื่อให้เห็นว่าผลพวงของการใช้อำนาจแบบเผด็จการว่าส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง และชี้ให้เห็นว่าการใช้กระบวนการประชาธิปไตยเข้าไปบริหารจัดการเป็นอย่างไร จะศึกษาผลกระทบอย่างไรเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาอันเป็นผลพวงอำนาจเผด็จการของ คสช.เมื่อปี 2557 เป็นต้นมา
ที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เห็นว่าไม่ควรตั้ง กมธ.ชุดนี้ เพราะ กมธ.สามัญแต่ละคณะสามารถยกขึ้นมาพิจารณาเป็นรายฉบับได้ และได้ผลดีกว่านั้น ส่วนตัวมองว่าคือเทคนิคทางกฎหมาย ที่นายวิษณุพยายามจะชี้ทางออกเพื่อไม่ให้ตั้ง กมธ.ชุดนี้ เป็นการพลิกเกมทางการเมือง โดยอาศัยการใช้เทคนิคทางกฎหมาย
ที่ผ่านมาเสียงข้างมากตัดสินแล้ว การปกครองแบบรัฐสภาต้องยอมรับมติเสียงข้างมาก ถ้าไม่ยอมรับเสียงข้างมากจะมีสภาไปเพื่ออะไร สภาไม่ใช่สนามเด็กเล่น สภาคือการรวมกันของเจตจำนงของตัวแทนประชาชน ตัวแทนประชาชนเกินกึ่งหนึ่งเห็นด้วยที่จะต้องศึกษาผลกระทบจากมาตรา 44 ก็ต้องเคารพ
เป็นความเสื่อมของสภา เป็นความเสื่อมของรัฐบาลและประธานสภาที่เล่นเกมการเมืองแบบนี้ ไม่ให้เกียรติและดูถูกประชาชนอย่างมาก รวมทั้งไม่ให้ความสำคัญกับ ส.ส.ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน
การใช้เทคนิคทางกฎหมายเพื่อพลิกเกมเป็นการทำลายระบบรัฐสภา การพยายามใช้กลเม็ดทางกฎหมาย เช่น เปิดช่องให้นับใหม่ ตามข้อบังคับการประชุม ข้อ 85 ซึ่งจะนับได้ก็ต่อเมื่อมีความไม่ชัดเจน แต่เจตจำนงเช่นนี้ถือว่าเสร็จสิ้น ครบถ้วนและจบลงแล้ว หากเจตนาการนับใหม่คือการไม่ยอมรับผลเสียงข้างมาก นั่นคือการพยายามบิดเจตนาเพื่อนำไปสู่การลงมติใหม่ เหมือนเด็กเล่นขายของ แพ้แล้วหาทางที่จะโหวตใหม่เพื่อให้ชนะ ซึ่งไม่ใช่ระบบรัฐสภา
หากตั้ง กมธ.ชุดนี้ไม่ได้ก็สามารถเกิดได้ 2 ทาง คือในแง่เกมการเมือง 1.มีการคุยกันในทางลับ ระหว่างวิปรัฐบาลและฝ่ายค้านเพื่อให้มีการโหวตใหม่ โดยอาจมีข้อต่อรองว่าหากพรรคฝ่ายค้านไม่ศึกษาผลกระทบมาตรา 44 จะให้มีการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญแลกเปลี่ยนกัน 2.รัฐบาลกำลังพยายามรวบรวมเสียงข้างมาก เพื่อเปิดประชุมสภาและพิจารณาใหม่ โดยพยายามหาเสียงข้างมากมาหนุน

Advertisement

 

ชัยธวัช เสาวพนธ์
นักวิชาการอิสระ จ.เชียงใหม่

เห็นด้วยกับการเสนอตั้ง กมธ.ศึกษาผลกระทบมาตรา 44 ของ คสช. เพราะมาตรา 44 บางเรื่องขัดต่อสิทธิเสรีภาพประชาชน ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการปกครองระบอบประชาธิปไตย การใช้อำนาจฟุ่มเฟือยหรือเกินความจำเป็น โดยอ้างเรื่องความมั่นคง เพื่อสืบทอดอำนาจของกลุ่มผู้มีอำนาจบางกลุ่มเท่านั้น
รวมทั้งการแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการที่ไม่เป็นธรรม เอื้อประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้อง เพื่อแสวงหาผลประโยชน์มิชอบจากอำนาจหน้าที่ ส่งผลให้ระบบราชการสั่นคลอน ไม่สร้างขวัญกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่อย่างแท้จริง เพราะมุ่งประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าประเทศชาติ
ต้องแก้มาตรา 44 ที่มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพประชาชนเป็นอันดับแรก ส่งเสริมการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยตามแนวทางสากลที่นานาชาติยอมรับ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนต่างชาติ ดังนั้นต้องพิจารณา ทบทวนและยกเลิกมาตรา 44
บางเรื่องที่ไม่มีผลกระทบต่อความมั่นคง
ส่วนทหาร ให้กลับเข้ากรมกองหรือที่ตั้ง ให้ไปทำหน้าที่ตามปกติ เพราะมีเจ้าหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยอยู่แล้ว เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดี ไม่ให้ประชาชนหวาดระแวงอีก โดยให้ประชาชนและนักวิชาการมีเวทีหรือพื้นที่แสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ ไม่จำกัดสิทธิเสรีภาพที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย พร้อมรับฟังความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะ เพื่อมีส่วนร่วมปฏิรูป หรือพัฒนาประเทศให้ดีกว่าเดิม

 

วันวิชิต บุญโปร่ง
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

การพิจารณาตั้ง กมธ.วิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศและคำสั่งของ คสช.และการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 ชี้ให้เห็นถึงการต่อสู้ 2 ด้านคือ 1.จะพบรอยปริแยกความสัมพันธ์ของการอยู่ร่วมกันของพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะ 6 ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ที่โหวตสวน ไปสนับสนุนแนวทางของพรรคฝ่ายค้าน นี่แสดงให้เห็นว่าหลายคนไม่พอใจคำสั่งหรืออำนาจของมาตรา 44 ที่นำไปสู่การสร้างพื้นที่ความได้เปรียบ เสียเปรียบ อีกทั้งยังสะท้อนถึงการจำกัดบทบาทการแสดงออกของพรรคการเมืองในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาด้วย ซึ่งก็คือการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์อย่างหนึ่ง
2.เป็นการยอมรับการนำหรือครรลองความชอบธรรม หรือการใช้อำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตหัวหน้า คสช.และคณะ คสช.ในอดีต จนผันตัวมาเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งจะต้องทำงานต่อเนื่องให้มีความชอบธรรมต่อไป ดังนั้น หากนำไปสู่การแก้ไขก็เท่ากับเป็นการกลับไปตบหน้ากฎหมายที่ คสช.เคยออกมาทั้งหมด นี่จึงเหมือนเกม “ชักเย่อ” ในการซื้อเวลาและอำนาจการต่อรองของกฎหมายอื่นๆ ที่จะตามมาในอนาคตด้วย
ส่วนตัวคิดว่าควรมี กมธ.ชุดดังกล่าว เพื่อชี้ให้เห็นว่าการใช้กฎหมายและอำนาจที่ผ่านมาอาจมีด้านที่ไม่เหมาะสม ไม่ถูกไม่ควร ควรได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ ปรับปรุงแก้ไขต่อไป หากจะใช้อำนาจมาตราพิเศษในฐานะที่จะเข้ามายึดอำนาจในอนาคต จะต้องพึงระมัดระวังว่าบริบททางสังคม อำนาจทางการเมือง รวมทั้งการจะไปกดทับต่างๆ ได้เปลี่ยนไปแล้ว
ดังนั้น เกมที่ฟังดูว่าจะใช้เวลาพอสมควร แต่หากพิจารณาให้ดีจะพบว่าคนที่ได้ประโยชน์สูงสุดคือพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง ด้านหนึ่งคือการที่พรรคประชาธิปัตย์มีสมาชิกส่วนน้อยเห็นด้วยกับการตั้ง กมธ.เนื่องจากไม่ยอมรับอำนาจมาตรา 44 แต่อีกด้านหนึ่งคือการวางตัวเรียบเฉย และยัง
ประคับประคองบทบาทของตัวเองให้อยู่ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image