รายงาน : กลยุทธ์ ยอกย้อน ล่อ‘เสือ’ ออกจาก‘ถ้ำ’ จึงรู้ว่า มิใช่‘เสือ’

ไม่ว่าบรรยากาศ MEETING ณ สโมสรราชพฤกษ์ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ไม่ว่าบรรยากาศการปรากฏตัวของ “งูเห่า” ในที่ประชุมสภา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม

มากด้วยสีสัน

ทดลองพลิกหนังสือ “36 กลยุทธ์ แห่งชัยชนะในการสัประยุทธ์ทุกปริมณฑล” ก่อให้เกิดนัยประหวัดในทางความคิดมากมาย

ไม่ว่าจะมองจากด้าน “รัฐบาล” ไม่ว่าจะมองจากด้าน “ฝ่ายค้าน”

Advertisement

เริ่มตั้งแต่ปิดฟ้าข้ามทะเล ตามด้วยล้อมเว่ยช่วยจ้าว ส่งเสียงบูรพาฝ่าตีประจิม หรือแม้กระทั่งรอซ้ำยามเปลี้ย

หากจะแวะไปยัง “จูงแพะติดมือ” ก็ย่อมได้

ขณะเดียวกัน ยิ่งลงลึกไปยัง “ตีหญ้าให้งูตื่น” ประสานเข้ากับ “แสร้งจับเพื่อปล่อย” และ “โยนกระเบื้องล่อหยก” ก็ยิ่งเพิ่มความวิลิศมาหรา

Advertisement

แต่ในที่สุดก็ลงเอยที่ “ล่อเสือออกจากถ้ำ”

หากมองจากญัตติด่วนอันเสนอมาจาก นายปิยบุตร แสงกนกกุล และคณะ รวมถึงที่เสนอมาจาก นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย และคณะ

ก็จะค่อยๆ ประจักษ์

เริ่มจากฐานที่มาของ “คัมภีร์ อี้จิง” ที่รวบยอดความคิด “ไปยากก็ลวงให้มา” อธิบายเสริม “ความว่า ‘ยาก’ คือยากลำบาก อันตราย ณ เบื้องหน้า เห็นภัยก็หยุดนับได้ว่ารู้”

“มา” มีความหมายว่า เคลื่อนย้ายข้าศึก หรือให้ข้าศึกเคลื่อนที่

ในขณะที่ 2 ทัพประจันหน้า จักรุกเข้าตีข้าศึกที่มีการเตรียมพร้อมก็ให้ลำบากนัก การที่จะเข้าตีจุดแข็งของข้าศึกมิใช่แต่จะชนะได้ยาก

ซ้ำยังจะเป็นอันตรายแก่ตนอีกด้วย

“ล่อเสือออกจากถ้ำ” ก็คือ กลอุบายที่ล่อหลอกข้าศึกให้ออกมาจากที่ตั้งอันแข็งแกร่ง แล้วโจมตีทำลายเสีย

คำถามก็คือ ใครคือเสือ

แน่นอน เมื่อเป็นประกาศและคำสั่งอันเนื่องแต่ “รัฐประหาร” ไม่ว่าจะย้อนไปถึงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2534 ไม่ว่าจะย้อนไปถึงเดือนพฤษภาคม 2557

ความหมายแทบไม่แตกต่างกัน

ถามว่าใครคือหัวหน้าคณะรัฐประหาร ถามว่าใครเป็นคนลงนามในประกาศและคำสั่ง ถามว่าใครที่ใช้อำนาจตามมาตรา 44

นั่นหละน่าจะเข้าข่าย “เสือ”

แต่เอาเข้าจริงๆ บทบาทนับแต่วันที่ 5 มิถุนายน เป็นต้นมา ก็สามารถประเมินได้ว่าเป็นเสือ “จริง” หรือว่าเป็นเสือ “อย่างอื่น”

ยิ่งเมื่อถึงวันที่ 4 ธันวาคม ทุกคนก็เห็น

ที่คิดกันว่าน่าจะเป็น “เสือ” เมื่อผลอันถือได้ว่าเป็นชัยชนะจาก 1 องค์ประชุม กระทั่ง 1 การลงมติเพื่อตีให้ตกไปกลับกลายเป็น “งูเห่า”

เราเห็น 10 งูคลานยั้วเยี้ยออกมาปกป้อง “เสือ”

มองจากทางด้านของ 1 คสช. มองจากทางด้านของ 1 พรรคพลังประชารัฐ และมองจากทางด้านของ 1 พรรคร่วมรัฐบาล

อาจถือได้ว่าเป็นชัยชนะ

แต่หากมองไปถึง “เม็ดใน” อันเป็นรากฐานแห่งชัยชนะ รากฐานแห่งความสำเร็จ ก็เริ่มไม่แน่ใจเสียแล้วว่าเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่

ในเมื่อ “งูเห่า” ได้กลายเป็น “งูดิน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image