วิพากษ์‘มันนี่ โพลิติก’ การเมืองไทยยุค4.0

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการกรณีพรรคเพื่อไทยออกมาตั้งกรรมการสอบสวน ส.ส.ของพรรคโหวตสวนมติพรรคกรณีตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาผลกระทบการใช้อำนาจของรัฐบาล คสช.และมาตรา 44 พร้อมวิจารณ์การเมืองถอยหลังย้อนอดีตไปเกือบ 40 ปี เป็น “มันนี่ โพลิติก” ใช้อำนาจอธรรมและเงินเป็นเครื่องมือทำให้ระบบรัฐสภาถอยหลัง

อัษฎางค์ ปาณิกบุตร
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์

“มันนี่โพลิติก” เป็นศัพท์ในทางรัฐศาสตร์การเมือง ถูกใช้มาตั้งแต่ในประเทศที่มีระบบทุนนิยมผูกขาด ทั้งการซื้อเสียง การแลกเปลี่ยนเพื่อให้ประโยชน์ชดเชย การตอบแทนส่วนใหญ่เป็นการใช้เงินสด ในยุคหนึ่งนักการเมืองบางรายพูดถึงเงิน 1 ล้านบาท จากธนบัตรใบละ 1,000 บาท จะมีน้ำหนัก 1.08 กิโลกรัม การเข้าสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีบางยุคต้องใช้เงินสดกี่กิโลกรัมคนวงในทราบดี วันนี้จึงไม่แปลกใจที่มีคำนี้โผล่มาอีกเพราะการทำงานการเมืองทุกระดับต้องใช้เงินทุน เพื่อนำไปสู่การใช้อำนาจรัฐ

Advertisement

แต่การซื้อตัวทางการเมืองโดยให้เงินตอบแทนเป็นเรื่องที่พิสูจน์ได้ยาก และในวงการของนักการเมืองทุกพรรคก็จะทราบกันดีว่าใครเป็นเสือหิว ใครต้องการอะไรแลกเปลี่ยน ไม่อย่างนั้นจะมีรัฐมนตรีออกมาพูดเรื่องแจกกล้วยเพื่อค้ำยันเสถียรภาพของรัฐบาลไปเพื่ออะไร ล่าสุดการปรากฏตัวของ 10 งูเห่า มาจากปัจจัยเรื่องอะไรเชื่อว่าประชาชนสามารถประเมินได้ เรื่องนี้ถ้าพรรคการเมืองต้นสังกัดมีความกล้าหาญ สอบสวนแล้วไล่ออกจากพรรคทันที ก็จะเห็นอะไรที่ชัดเจนมากกว่านี้

ต้องยอมรับยุคนี้มันนี่โพลิติกทำให้ผู้มีอำนาจหาทางฉ้อฉลได้แนบเนียนมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่เฉพาะแจกกล้วยอย่างเดียว แต่ยังมีวิธีการละเลย ประวิงเวลา ด้วยการตีความกฎหมายในบางเรื่องเพื่อประโยชน์ของพรรคพวกในสังกัด ที่สำคัญการนำอำนาจรัฐไปบวกกับอำนาจของทหารจากปลายกระบอกปืน ไปรวมกับกลุ่มอนุรักษนิยมที่มาจากชนชั้นนำ หลายปีที่ผ่านมาก็ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าบางเรื่องทำไมมี 2 มาตรฐาน เหมือนผมเคยบอกว่าตั้งแต่ปี 2475 เป็นต้นมาไม่เคยมีรัฐบาลชุดไหนมีอำนาจเบ็ดเสร็จเหมือนรัฐบาล คสช.ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แต่น่าเสียดายที่ทำอะไรไม่เป็น ทำให้ประเทศเสียโอกาสไปพอสมควร ทั้งที่เคยประกาศวิธีปฏิบัติไว้อีกแบบแต่ไม่มีผลงาน เอาเรื่องง่ายๆ เช่น ปัญหาการบุกรุกป่า การทุจริต เรื่องเหล่านี้หัวหน้า คสช.เคยสั่งให้ข้าราชการไปทำงานจริงจังบ้างหรือไม่ แล้วยังพยายามจะสืบทอดอำนาจด้วยการตั้งพรรคการเมืองใหม่ แต่เอานักการเมืองเก่าที่ตัวเองเคยกล่าวหาว่าทำชาติบ้านเมืองเสียหายมาร่วมอุดมการณ์แล้วก็ทำสำเร็จ เมื่อเข้ามาทำหน้าที่โดยเสียงทางการเมืองที่ไม่ห่างกันมาก ก็จำเป็นต้องทำทุกอย่างโดยไม่สนใจวิธีการ เสียงวิพากษ์วิจารณ์เพื่อความอยู่รอด ที่แย่กว่านั้นนักวิชาการบางคนยังถูกซื้อหรือมีการแลกเปลี่ยนด้วยเงื่อนไขบางเรื่องเพื่อให้ไปเป็นเครื่องมือในการทำงานการเมือง

แต่สุดท้ายหนทางที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศได้ ภาคประชาชนต้องให้ความสนใจ ช่วยกันตรวจสอบการทำหน้าที่ของนักการเมืองทุกฝ่าย อย่าอยู่แบบไทยเฉยเพื่อรอวันล่มสลาย

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การพูดถึงมันนี่โพลิติกกับกรณีของ 10 งูเห่า ฝ่ายค้านอาจมีบางส่วน แต่ไม่ใช่ทั้งหมด สำหรับสิ่งที่มีหัวหน้าพรรคการเมืองบางพรรคพูดถึงเรื่องนี้ก็ต้องการให้ประชาชนเห็นและตัดสินบุคคลเหล่านี้ เพราะอย่างน้อยในระบบการเมืองใหม่ที่เป็นอยู่ ก็จะเป็นระบบการเมืองที่พยายามที่จะกล่าวหากับนักการเมืองที่เกี่ยวข้องกับมันนี่โพลิติกตั้งแต่แรก ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องจริงระบบแบบนี้ก็จะอยู่ได้ด้วยมันนี่โพลิติก แล้วถ้าเทียบกับพรรคการเมืองบางพรรคพยายามใช้พลังดูด ส่วนตัวมองว่าคราวนี้คงไม่เหมือนกับยุคสมัยที่เป็นมันนี่โพลิติกจริงๆ เพราะระบบใหม่ยังมีสิ่งที่แตกต่าง หากจะเทียบว่าเหมือนจริงหรือไม่ ก็ขอให้ดูกรณีของ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ เพราะไม่ใช่เรื่องการใช้เงินอย่างเดียว แต่ยังมีวิธีการตีความทางกฎหมาย หรือเรื่องของคดีความต่างๆ ของนักการเมืองบางคนที่ต้องย้ายพรรค

ต้องยอมรับว่าการย้ายพรรคไม่ได้ดูดด้วยเงินเพียงอย่างเดียว แต่มีการดูดด้วยปัจจัยอื่น ที่สำคัญหลังมีวาทกรรมแจกกล้วย ต้องเข้าใจว่ารัฐบาลชุดนี้มีพรรคการเมืองเข้าไปร่วมจำนวนมาก โดยเฉพาะพรรคเล็กที่หลุดลอดมาได้ด้วยการตีความ สูตรการคำนวณ ทำให้มีระบบแบบนี้ขึ้นมาและจะได้เห็นกันต่อไปเรื่อยๆ เพราะรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ แต่เรื่องที่น่ากลัวกว่านี้ คือการยุบพรรคการเมืองฝ่ายค้านบางพรรค อาจทำให้เกมเปลี่ยนไปมากกว่านี้ ซึ่งต้องไปดูผลจากการคำนวณคะแนนใหม่และการย้ายพรรค

หลังจากนี้ก่อนถึงช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจ การจัดการกับงูเห่าต้องยอมรับว่ามีปัญหาในทางปฏิบัติ มาจากโครงสร้างการเมืองใหม่ กำหนดให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรค แต่เอื้อให้มีการย้ายพรรคไปอยู่ในซีกที่มีอำนาจได้ โดยไม่มีบทลงโทษ มติพรรคจึงไม่มีความหมาย ถ้า ส.ส.คนไหนถูกขับออกจากพรรคก็ถือว่าเข้าทาง เพราะช่วงการเปลี่ยนผ่านของการสืบทอดอำนาจเดิมที่อยู่มา 5 ปี รวมกับปัจจัยของการเลือกตั้งและอีกหลายสาเหตุ ที่ทำให้มันนี่โพลิติกซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิธีการเก่า แตกต่างจากของเดิม

เนื่องจากปัจจุบันการใช้อำนาจรัฐได้ผนึกอำนาจกับฝ่ายความมั่นคง และระบบการตีความกฎหมาย รวมทั้งผลงานขององค์กรอิสระที่จะต้องทำให้สังคมให้หายสงสัยข้อข้องใจบางเรื่องหลังจากมีการวินิจฉัย จึงเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงทัศนคติไม่ได้อยู่ที่ตัวเงินอย่างเดียว แต่เป็นรูปแบบของมันนี่โพลิติกลูกผสม ที่สำคัญการทำการเมืองแบบนี้ไม่ได้ตอบโจทย์การปฏิรูปการเมือง สิ่งที่ กปปส.พูดไว้ไม่เป็นความจริง เท่าที่เห็นเป็นแค่การสลับขั้วอำนาจ ไม่ได้สืบสานแนวทางการปฏิรูปการเมืองเหมือนบรรยากาศก่อนปี 2540 ทั้งที่ข้ออ้างของการยึดอำนาจแทบทุกครั้งต้องการทำให้บ้านเมืองดีขึ้น

สำหรับมาตรการของพรรคการเมืองที่จะมีความเด็ดขาดกับกลุ่มงูเห่า หากจะจริงต้องเรียกเปิดประชุมพรรคครั้งใหญ่ เพื่อเปิดโอกาสให้มีการทำประชาคมของพรรค จากนั้นให้ ส.ส.งูเห่าชี้แจงข้อเท็จจริงกับสมาชิกพรรค รวมทั้งประชาชนที่ลงคะแนนเลือกพรรคนั้นรับทราบและสอบถามได้เรื่องนี้ไม่ควรสอบสวนและตัดสินโดยกรรมการบริหารพรรคแบบเดิมๆ

ยุทธพร อิสรชัย
รศ.ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

เรื่องของการเมืองแบบธนกิจการเมือง (Money Politics) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานาน และครั้งนี้คือสภาพความเป็นจริงที่เกิดในการเมืองไทย ที่ผ่านมาเราพยายามมีบทบัญญัติทางกฎหมายและมาตรการต่างๆ แต่ก็ไม่สามารถขจัดการแก้ไขปัญหาเรื่องการเมืองที่ต้องใช้เงินได้ อันเนื่องมาจากการเมืองมีปัจจัยที่ซับซ้อนหลายประการ

ประการแรก คือ “ปัจจัยเชิงกฎหมาย” กติกาของการเมืองไม่ว่าจะรัฐธรรมนูญปี 2560 หรือกฎหมายพรรคการเมืองปี 2560 ล้วนแต่มีส่วนทำให้เกิดภาวะธนกิจการเมืองทั้งสิ้น ทั้ง 1.รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่กำหนดให้มีระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ซึ่งระบบนี้ทำพรรคการเมืองมุ่งหาคะแนนเสียงเข้าสู่สภา ไม่ว่าพรรคนั้นจะสอบได้หรือสอบตกในเขตเลือกตั้งทุกคะแนนจะถูกนำมาคิด เมื่อเป็นเช่นนี้จึงมีคนที่ไปจดจัดตั้งพรรคการเมืองจำนวนมาก จากที่มีพรรคการเมืองเดิมขนาดใหญ่และขนาดกลาง ก็เกิดพรรคเล็กพรรคจิ๋วมากมายเข้าสู่สภา โดยล้วนต้องเจอกับกติกานี้ เมื่อทุกคนล้วนอยากจดจัดตั้งพรรคการเมือง ทุนทางการเมืองจึงเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็น เพราะยิ่งส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งมากหรือส่งครบทั้ง 350 เขต โอกาสที่จะได้คะแนนเสียงทำให้ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อก็จะมีเพิ่มมากขึ้นไปด้วย

กติกาอีกส่วน คือ 2.กฎหมายพรรคการเมือง ปี 2560 ซึ่งเป็นฉบับที่ 7 นับจากอดีตที่มีกฎหมายพรรคการเมืองเกิดขึ้นฉบับแรก แทบจะทุกฉบับทำให้พรรคการเมืองถูกทำให้โตโดยผลของกฎหมาย แต่ไม่ได้โตโดยธรรมชาติ เช่น กำหนดให้มีเรื่องสาขาพรรคที่จะต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ให้มีสมาชิกตามที่กฎหมายกำหนด กำหนดให้กิจกรรมทางการเมืองต่างๆ เหล่านี้ ต้องใช้เงินทุนในการดำเนินงานทั้งสิ้น แม้ระยะหลังจะมีกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง แต่ในสภาพความเป็นจริงไม่เพียงพอ เนื่องจากพรรคการเมืองมีรายจ่ายทั้งที่บนดินและรายจ่ายใต้ดิน รายจ่ายบนดินอาจทำรายงานขอใช้เงินกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองได้ แต่รายจ่ายที่เกิดใต้ดินอย่างไม่เป็นทางการก็ยังมีอีกมาก

เมื่อพรรคการเมืองถูกทำให้โตด้วยกฎหมาย กฎหมายบังคับให้พรรคการเมืองต้องมีกิจกรรมเหล่านี้ จึงหนีไม่พ้นการมีผู้สนับสนุนหรือกลุ่มทุน โดยบรรดากลุ่มทุนเหล่านี้ก็สามารถชี้ทิศทางของพรรคการเมืองได้ ในทางกลับกัน ส.ส.พรรคเล็กพรรคจิ๋วที่ไม่มีกลุ่มทุนสนับสนุนก็ต้องใช้วิธีการต่อรองในสภาเพื่อให้ได้มาซึ่งผลตอบแทนทางการเมือง จึงเกิดปัญหางูเห่า เหล่านี้คือส่วนของปัจจัยจากกติกา

ส่วนปัจจัยที่ 2 คือ “ปัจจัยจากบริบททางการเมือง” สำคัญที่สุดคือ การมีสภาวะเสียงปริ่มน้ำในสภา เป็นบริบทที่ทำให้ทุกคะแนนเสียงสำคัญ หากเป็นอดีตการจะทำให้มีงูเห่า 10 เสียง ก็คงไม่ส่งผลอะไรทางการเมืองได้ แต่ครั้งนี้เนื่องด้วยเสียงปริ่มน้ำทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน เมื่อมีงูเห่าเพียง 5-10 เสียง ก็ส่งผลพลิกผันทางการเมืองได้ ดังนั้น เราจึงเห็นว่าเรื่องการมีงูเห่าเป็นเรื่องสำคัญ ยิ่งพรรคการเมืองใดพยายามแสดงสถานะของตนเองว่าไม่ได้อยู่ข้างใครเป็นพิเศษ อยู่ฝ่ายค้านก็จะไม่ค้านทุกเรื่อง อยู่รัฐบาลก็จะขอเป็นค้านอิสระบ้าง ก็ยิ่งทำให้เกิดการเรียกค่าตัวในสภากันอย่างกว้างขวาง เป็นส่วนที่ทำให้เกิดประเด็นปัญหาเรื่องธนกิจการเมืองเช่นเดียวกัน

ปัจจัยประการสุดท้าย คือ “วัฒนธรรมทางการเมืองของไทย” ที่ให้ความสำคัญกับการเมืองที่ไม่เป็นทางการ ไม่น้อยกว่าการเมืองที่เป็นทางการ เมื่อนิยมความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ ความเป็นพวกพ้อง การรู้จักมักคุ้นกันเป็นการส่วนตัว การเมืองบนโต๊ะอาหาร การเมืองนอกห้องประชุม หรือการตอบแทนบุญคุณซึ่งกันและกัน จึงนำมาซึ่งปัญหางูเห่าอย่างที่เราเห็น

เมื่อระบบนี้มีมานานและทุกวันนี้ยังแก้ไขไม่ได้จึงสะสมจนกระทั่งคนเกิดความไม่เชื่อมั่นในระบบรัฐสภา และทำให้ความชอบธรรมทางการเมืองในระบบตัวแทนที่จะนำไปสู่ความชอบธรรมทางการเมืองของระบอบประชาธิปไตยถูกตั้งคำถาม ส่งผลให้การพัฒนาประชาธิปไตยที่เข้มแข็งตั้งมั่นไม่สามารถเกิดได้ในเมืองไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image