‘นักวิชาการ’ชำแหละ ‘49กมธ.’แก้ รธน.

หมายเหตุ ความเห็นนักวิชาการชำแหละรายชื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2560 จำนวน 49 คน

อัษฎางค์ ปาณิกบุตร
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์

ยังมองไม่เห็นอนาคตของกรรมาธิการชุดนี้ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ผมมองเป็นปาหี่ เป็นเกมการเมืองง่ายๆ เดินหมากตื้นเกินไป เพราะฝ่ายค้านกลัวว่าตัวเองจะว่างงาน ต้องเสนอแก้ไขเพราะเคยหาเสียงไว้ แต่วันนี้ยังไม่เห็นข้อเสนอเป็นทีเด็ดทำให้มีความหวังในฐานะที่เป็นนักรัฐธรรมนูญนิยม ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลก็ออกมาโยนหินถามทางบอกว่ายอมให้ตั้งกรรมาธิการแล้ว แต่ผู้มีอำนาจตัวจริงยังไม่ได้ยืนยันเจตนาที่ชัดเจน เพราะเมื่อดูมาตราที่จะต้องแก้ไขแล้วยอมรับว่ายุ่งยาก เหมือนกับการทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะฉะนั้นเชื่อว่ากรรมาธิการคงตกลงกันไม่ได้ว่าจะต้องร่างใหม่ทั้งหมด และผู้ริเริ่มแก้ไขบางส่วนต้องยอมรับว่าไม่ได้แก้เพื่อประโยชน์ของประชาชน แต่จะคิดว่าถ้าแก้ไขแล้ว พวกเราจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง ดังนั้น ทางออกที่ดีควรมอบหมายให้นักวิชาการที่เป็นกลาง คนที่ตั้งใจทำงานเพื่อสังคมไม่เข้าข้างฝ่ายใดไปช่วยกันร่าง ก็ผู้อำนาจไม่สนใจ เพราะเขาไม่ได้คิดว่าจะต้องร่างใหม่

Advertisement

ผมอยากเห็นกรรมาธิการเสนอวิธีแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อทำให้มีการปลดล็อก แต่เชื่อว่ากรรมาธิการซีกรัฐบาลคงไม่เอา เพราะกลัวจะลุกลามไปมาตราอื่นทำให้วิธีการสืบทอดอำนาจจะมีปัญหา และไม่ต้องไปหวังเสียงจากสมาชิกวุฒิสภา แล้วถ้าหากกรรมาธิการทำหน้าที่ครบ 4 เดือน ผมถามว่าถ้าไม่มีความคืบหน้า ใครจะต้องออกมารับผิดชอบรัฐบาลก็บอกว่าให้แก้แล้ว แต่ทำไม่ได้กันเอง

ผมมองว่า รัฐบาลนี้อาจจะต้องยุบสภาก่อนที่กรรมาธิการจะศึกษาเสร็จภายใน 4 เดือนด้วย ถามว่าจะอยู่กันยังไง แค่อยากอยู่ยาวจะต้องนัดเลี้ยงข้าวกันตลอด แล้วใช้เวลาไปรำวงจัดปาร์ตี้ ถามว่าประชาชนจะได้อะไร ขณะที่ต่างชาติมองการบังคับใช้กฎหมายหลายเรื่องที่มีการบริหารจัดการหลายมาตรฐาน แล้วหากในอนาคตแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้หรือส่งผลทำให้เกิดความขัดแย้งบานปลาย ก็จะมีผลกระทบซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจมากขึ้น

ขอฝากถึงกรรมาธิการว่าในที่สุดพวกคุณอาจทำได้แค่ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ หรือเสียค่าเบี้ยประชุมโดยไม่มีประโยชน์ ที่สำคัญต้องติดตามการประชุม เพราะต้องมีการถกเถียงระหว่างตัวแทนรัฐบาลกับฝ่ายค้าน ไม่ต่างจากเวทีแสดงความเห็นที่มีการพูดนอกห้องประชุม และส่วนตัวขอถามว่าการตั้งกรรมาธิการบางคนเข้าไปโดยไม่มีองค์ความรู้ที่แท้จริงจะเข้าไปทำไม เพราะต้องเข้าใจว่ารัฐธรรมนูญเป็นโครงสร้างของประเทศ การทำหน้าที่ต้องเผื่อแผ่ให้ประชาชนรับประโยชน์มากที่สุด ไม่ใช่เรื่องที่จะเข้าไปทำกันเล่นๆ

Advertisement

วันวิชิต บุญโปร่ง
คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต

ส่วนตัวมองว่า กมธ.ชุดนี้สามารถทำงานร่วมกันได้ ยังคุยกันได้ เพราะยังไม่คุยถึงรายละเอียดของการแก้ไขตัวเนื้อหา โดยเบื้องต้นน่าจะเป็นการพูดคุย เสนอวิธีการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าจะใช้รูปแบบอย่างไร จึงอาจยังไม่เห็นสีสันตรงนี้ เพราะแต่ละรายชื่อที่ปรากฏออกมาล้วนเป็นผู้ที่คร่ำหวอดและอยู่ในวงในการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว และยังมีอีกไม่น้อยที่สังคมรับรู้ว่าหนักไปทางด้านขยันแสดงความคิดเห็น

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องของการรับฟังข้อมูล หรือทัศนคติในเบื้องต้นของ กมธ. ว่าทั้ง 49 คนที่เข้าไปด้วยการถูกแต่งตั้งนั้นจะมีทัศนคติ หรือความเห็นเชิงวิพากษ์ออกมาอย่างไรมากกว่า

ส่วนการศึกษาวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจจะใช้รูปแบบที่นำไปสู่การตั้งเวทีเสวนา ยังไม่ลงลึกถึงเนื้อหารายละเอียดของรัฐธรรมนูญว่าจะแก้ไขประเด็นใด มาตราใดบ้าง แต่จะเสวนาเพื่อเข้าถึงว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีจุดที่จะต้องทำความเข้าใจ หรือเปิดเวทีการวิพากษ์วิจารณ์ให้กับประชาชน และภาคประชาสังคม เข้ามามีส่วนร่วมมากน้อยหรือไม่ในเบื้องต้นก่อน โดยระยะเวลา 4 เดือน เมื่อได้บทสรุปที่มีความชัดเจนแล้ว อาจจะต้องนำไปสู่การพูดคุยอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม การจะศึกษาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่าลืมว่ายังมีคนที่ได้ประโยชน์และเห็นชอบกับรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 หากวันดีคืนดีมีภาคประชาสังคมที่รวมตัวออกมาคัดค้าน ไม่เห็นด้วยต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตรงนี้จะนำไปสู่การได้ประโยชน์ของกลุ่มการเมืองที่อยากจะยื้อ-ซื้อเวลาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เป็นได้

ดังนั้น ทางร่วมในท้ายที่สุดคือ จะต้องหารือ พูดคุยกันว่าจะนำไปสู่การทำประชามติก่อนที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพื่อนำไปสู่การสร้างความชอบธรรมของกระบวนการทั้งหมด

ส่วนตัวเสนอว่า คนที่เป็นประธาน ในเบื้องต้นอาจจะมีการนัดประชุมสัก 1-2 ครั้ง จากนั้นอาจให้แต่ละฝ่าย แต่ละสัดส่วนโควต้าของพรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้าน รัฐบาล และ ครม. ไปทำหนังสือ หรือเอกสารรูปแบบแนวทางการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญมาก่อน เพื่อจะได้นำมาเสนอ แยกแยะประเด็นที่ชอบหรือเห็นต่างร่วมกัน ซึ่งจะง่ายกว่าการนัดมาประชุมทุกสัปดาห์

ยิ่งนัดประชุม เจอกันบ่อย ความคิดเห็นก็อาจจะยิ่งแตกทาง หรืออาจจะนำพาไปไกลจากข้อเสนอเบื้องต้นร่วมกันได้ จึงแนะนำให้ไปทำเอกสารมาแจกแจงแบบเป็นประเด็น จะทำให้การประชุมคืบหน้า เพราะระยะเวลา 4 เดือนนิดเดียว แต่ก็เพียงพอและสมเหตุสมผล อย่างน้อยก็แสดงความจริงใจของทุกฝ่ายว่าไม่ต้องการยื้อเวลาเพราะยังเป็นเพียงประเด็นศึกษาเท่านั้น

ยุทธพร อิสรชัย
รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

กมธ.ชุดนี้มีทั้งจุดที่ดี และจุดที่จะเป็นอุปสรรคปัญหา จุดเด่นคือ มีความหลากหลาย เพราะมีทั้งคนที่สนับสนุนรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตั้งแต่การร่างและลงประชามติ ก็มีอยู่ในชุดนี้ หรือกระทั่งคนที่คัดค้าน วิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตั้งแต่ต้น ก็มีอยู่ในนี้เช่นเดียวกัน หรือกระทั่งคนกลางๆ ไม่ได้แสดงความเห็นต่อรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน ก็มีเช่นเดียวกัน กมธ.ชุดนี้จึงโดดเด่นที่ความหลากหลายทางความคิด และทัศนคติ ในขณะเดียวกันก็มีอุปสรรคปัญหาอันเนื่องมาจากจุดเด่นดังกล่าว เพราะความหลากหลายอาจทำให้การพูดคุยอย่างลงตัวเกิดขึ้นได้ยาก โดยหลักการแล้ว รัฐธรรมนูญคือการจัดวางความสัมพันธ์ทางอำนาจของผู้คนในสังคม และกระบวนการดังกล่าวจะนำไปสู่ข้อตกลงที่ทุกฝ่ายให้การยอมรับร่วมกัน ทั้งนี้ ถ้าความหลากหลายมีมากจนกระทั่งไม่สามารถหาจุดที่ลงตัวได้ โอกาสที่จะสำเร็จก็เป็นเรื่องยาก

อันที่จริงโจทย์ใหญ่ของ กมธ.ชุดนี้ มีอยู่เพียงแค่ 2 เรื่องใหญ่ คือ 1.รัฐธรรมนูญควรจะต้องได้รับการแก้ไขหรือไม่ และโจทย์ที่ 2.ถ้าจะได้รับการแก้ไข ควรจะแก้โดยวิธีการใดและอย่างไร แม้จะมีโจทย์ไม่มากนัก แต่การจะหาความลงตัวก็ไม่ใช่เรื่องง่ายหากเห็นหน้าตาที่หลากหลายเช่นนี้

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า กมธ.ชุดนี้จะสามารถบรรลุเป้าหมายได้ เพราะกรอบระยะเวลา 120 วัน กับโจทย์ใหญ่เพียง 2 ข้อ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากนัก

เพราะโจทย์ข้อ 1 ที่ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ควรได้รับการแก้ไขหรือไม่ วันนี้ค่อนข้างที่จะตกผลึกอยู่แล้ว ไม่ว่าจะในสภาผู้แทนราษฎรก็ดี นอกสภา หรือในสังคมก็ดี ล้วนเห็นตรงกันว่ารัฐธรรมนูญควรได้รับการแก้ไข ซึ่งสะท้อนออกมาจากผลโหวตญัตติศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ท่วมท้นถึง 445 เสียง ข้อที่ 1 จึงไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาอยู่ที่ข้อ 2 จะแก้ด้วยวิธีการอย่างไร ซึ่งต้องไปตกลงกันใน กมธ.ว่าจะใช้วิธีการไหน โดยแนวทางยังคงหลากหลาย บางฝ่ายก็บอกว่าต้องการแก้ทั้งฉบับ ในขณะที่อีกฝ่ายบอกว่าต้องการแก้รายมาตรา เอาเฉพาะที่มีปัญหามาแก้ ในขณะที่อีกฝ่ายบอกว่า แก้โดยกลไก มาตรา 256 ตามอุดมคติ กล่าวคือใช้กลไกรัฐสภาผ่าน ส.ส. และ ส.ว. ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งบอกว่า ต้องตั้ง ส.ส.ร. หรือสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา โจทย์ข้อ 2 จึงเป็นงานที่ยากขึ้นอีกลำดับ และหากไม่สามารถสร้างความลงตัวได้ ก็จะเป็นปัญหาที่สืบเนื่องไปยังชั้นพิจารณาต่อสภาผู้แทนราษฎร นอกจากนี้ เมื่อ กมธ.มีความเห็นไม่ว่าจะทางหนึ่งทางใด สุดท้ายการตัดสินใจก็ต้องอยู่ที่สภาผู้แทนราษฎรอยู่ดีว่าจะเห็นด้วยกับข้อเสนอของ กมธ.หรือไม่ และจะมีข้อเสนอเพิ่มเติมอย่างไร

ทั้งนี้ ทางที่จะเป็นไปได้มากที่สุด คือ 1.การแก้ไขรายมาตรา และ 2.แก้ไขโดยใช้กลไกรัฐสภา ตามมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญปี 2560

แม้จะเป็นไปได้ แต่ไม่ใช่ทางที่ดีที่สุด เพราะสุดท้ายรัฐธรรมนูญมีความเชื่อมโยงกันทั้งระบบ ฉะนั้น การแก้รายมาตราอย่างเดียวคงไม่ช่วยให้เกิดการแก้ปัญหาใดๆ และการแก้ดังกล่าวหากใช้กลไกรัฐสภาก็จะเป็นปัญหาในชั้น ส.ว.ว่าจะเอาด้วยหรือไม่หรือหากมีกระบวนการไปสู่ด่านต่อไป พูดถึงรายละเอียด มติมีการเสนอว่าให้ยุบ ส.ว.ออก เหลือเพียงสภาเดียว รับรองว่า ส.ว.ไม่เอาด้วยอย่างแน่นอน หรือหากใช้สมาชิกรัฐสภาเป็นผู้ดำเนินการ ก็จะขาดการมีส่วนร่วมจากพี่น้องประชาชน

ดังนั้น การใช้ ส.ส.ร. จึงสำคัญมากกว่า ในการทำให้ประชาชนสานต่อสู่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญได้ นี่คือทางที่ดีกว่า แต่เรียนว่าเป็นไปได้ยาก ถ้าบอกว่ารื้อทั้งฉบับ บางฝ่ายก็คงไม่ยอมรับ หรือหากใช้กลไกพิเศษตั้ง ส.ส.ร. ก็อาจจะเกิดปัญหาตามมาอีกว่า ส.ส.ร.จะมีที่มาอย่างไร ฝ่ายหนึ่งบอกว่ามาจากการสรรหา อีกฝ่ายบอกต้องการให้มาจากการเลือกตั้งดีกว่า ทางที่จะเกิดขึ้นได้ง่าย คือ คงต้องใช้การประนีประนอม จะเห็นว่าโครงสร้างของการแก้ไขมาตรา 256 อย่างไรก็ต้องประนีประนอมกัน ระหว่าง ส.ส.รัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน รวมไปถึง ส.ว. ทุกอย่างจึงจะเดินหน้าได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image