ไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ‘ยุติธรรมต้องไม่มีวันหยุด’

เป็นปรากฏการณ์ใหม่ของประธานศาลฎีกาที่ไม่ค่อยปรากฏในแวดวงตุลาการสำหรับการเปิดรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนก่อนจัดทำนโยบายแล้วประกาศให้ผู้พิพากษาทั่วประเทศได้รับทราบ
“นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์” ประธานศาลฎีกาคนที่ 45 ได้ทำให้ปรากฏ พร้อมเปิดใจกับ “มติชน” ถึงที่มาที่ไป

⦁ที่มาและจุดมุ่งหมายนโยบายที่ได้ประกาศออกไป
การส่งคำถามไปให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมและสิ่งสะท้อนกลับมา น่าดีใจมาก แสดงให้เห็นว่าสังคมไทยตื่นตัวกับการเรียกร้องความเป็นธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลที่จะอำนวยความยุติธรรม จากคำตอบของคำถามที่ส่งประชาชนตอบมาถึง 40% ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ในกระบวนการยุติธรรม 6% แสดงให้เห็นเลยว่าใครก็แล้วแต่ในอนาคตข้างหน้าที่จะเข้ามาบริหารต้องคำนึงถึงความรู้สึก ความต้องการประชาชนด้วย
ผมคิดว่ามิตินี้พวกเราในศาลยุติธรรมเริ่มเห็นแล้วว่า สิ่งนี้มีพลังที่จะทำงานต่อไป เป้าหมายสูงสุดศาลทุกประเทศรวมทั้งไทย คือการสร้างสถาบันศาลให้เป็นที่ยอมรับ เชื่อถือ และศรัทธา ว่าเป็นสถาบันเป็นที่พึ่งประชาชนได้ การรับฟังความคิดเห็นประชาชนคือตอบโจทย์ตรงนี้ ว่าเราสามารถนำปัญหาความรู้สึกนึกคิด ความเข้าใจประชาชนมาเป็นตัวที่ขับเคลื่อนศาล
ผมคิดว่าหน่วยงานอื่นๆ ในกระบวนการยุติธรรม สมควรอย่างยิ่งที่มาใช้แนวทางนี้ ผมเชื่อมั่นว่าผู้เป็นผู้บริหารศาลต่อในอนาคตจะเห็นพลังประชาชนตรงนี้ว่ามันมีคุณค่า และคงจะใช้นโยบายการมีส่วนร่วมประชาชนในการปรับปรุง ปฏิรูป ศาลยุติธรรมต่อไปในอนาคต
ที่ทำมา ได้คำตอบมาจัดลำดับความสำคัญว่าประชาชนเรียกร้องอะไรมากที่สุด เบื้องต้นเรื่องการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพโดยเฉพาะเรื่องการประกันตัว ประชาชนจำนวนหนึ่งบอกว่าโอกาสการได้รับประกันตัวในวันหยุดราชการเสาร์-อาทิตย์ เขาไม่มีโอกาสได้รับการพิจารณา แล้วบางครั้งมีที่ผู้ที่ดำเนินคดีเลือกวันศุกร์หรือวันก่อนวันหยุดเป็นวันแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดี แล้วเขาต้องประกันตัว โอกาสในการประกันตัวลำบากเพราะเป็นวันหยุด เป็นการบีบ โดยใช้โอกาสที่จะได้รับการพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวเป็นเครื่องมือบีบให้ยอมรับ ไม่ว่าจะบังคับชำระหนี้หรือบังคับให้ยอมคดี
สมมุติว่าเป็นวันศุกร์พอถูกแจ้งข้อกล่าวหา เขาหาหลักทรัพย์ไม่ทัน ต้องถูกขังระหว่างวันหยุด เรื่องนี้ประชาชนจำนวนมากแสดงความเห็นว่าต้องการให้ศาลให้โอกาสในการพิจารณาเรื่องการประกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่เราสามารถอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนได้ โดยการเปิดทำการศาลเพื่อสั่งประกัน สั่งปล่อยตัวชั่วคราวในวันหยุดทุกกรณี ไม่ได้หมายความว่าเราต้องปล่อย แต่ให้เขาได้รับการพิจารณาว่าเขาสมควรถูกขังหรือไม่
กรณีนี้ต้องขอความร่วมมือ เจ้าหน้าที่ศาลต้อง
เสียสละเวลามาทำงานในวันหยุดเพื่อพิจารณาทั้งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาด้วย หมายความว่าทั้งระบบศาลยุติธรรมจะต้องทำงานในวันหยุด ผมเชื่อมั่นว่าผู้พิพากษาหรือเจ้าหน้าที่ศาลยุติธรรมเข้าใจว่าเป็นความเดือดร้อนประชาชน ที่ต้องยอม
สละเวลา
สิ่งที่ตามมาอีกคือต้องใช้งบประมาณ เพราะจะต้องให้บุคคลที่เกี่ยวข้องได้ค่าตอบแทนในวันหยุด จะเป็นค่าโอทีหรือค่าใช้จ่ายที่จำเป็น จะประสานงานกับสำนักงานศาลยุติธรรมให้จัดสรรงบเท่าที่มีอยู่ ทราบว่างบมีข้อจำกัด สำนักงานศาลยุติธรรมก็จัดสรรให้และจะพยายามจะของบจากรัฐบาลเพิ่มต่อไป คิดว่าโครงการนี้จะต่อเนื่องและยาวนาน
ที่ผมพูดไว้ความยุติธรรมไม่มีวันหยุด อันนี้ผมคิดว่ามันใช่ แต่ขณะเดียวกันศาลทำงานลำพังไม่ได้ ต้องประสานงาน ตำรวจ อัยการและราชทัณฑ์ ฉะนั้นต้องทำความเข้าใจกับหน่วยงานอื่นว่าจำเป็นต้องทำงาน วันหยุดเช่นเดียวกับเรา ต้องตรวจสอบเหมือนกันว่าเขามีความพร้อมด้านกำลังคนแล้วงบประมาณแค่ไหน ผมหวังว่ารัฐบาลจะสนับสนุนโครงการนี้ให้โอกาสประชาชนได้สิทธิเสรีภาพในการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี โครงการนี้จะทำทั้งประเทศเลย ส่วนระยะเวลาทำได้มากน้อยแค่ไหนงต้องประเมินกัน
ขณะนี้ทีมงานผมได้ยกร่างคำแนะนำทางปฏิบัติในการสั่งปล่อยตัวชั่วคราวว่าจะมีวิธีการทำอย่างไร ข้อสำคัญคือต้องสร้างความเข้าใจผู้พิพากษาด้วย เพราะ
ผู้พิพากษาจะรู้สึกว่า หากปล่อยจำเลย ผู้ต้องหามากขึ้นจะสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้เสียหายสร้างความไม่ปลอดภัยสังคมหรือไม่ จุดนี้ต้องสร้างหลักประกันให้กับสังคม เราอาจจะต้องมีวิธีการกำหนดเงื่อนไขในการปล่อยชั่วคราวให้มากขึ้น ปล่อยไปแล้วอาจต้องมารายงานตัวให้มากขึ้น หรือเมื่อได้รับการปล่อยชั่วคราวอาจจะต้องกำหนดให้อยู่ในความดูแลบุคคลที่อยู่ในฐานะจะดูแลได้
ตอนนี้เรามีกฎหมายเพิ่งประกาศใช้มีผลบังคับใช้แล้ว คือ พ.ร.บ.มาตรการในการควบคุมตัวผู้ได้รับการปล่อยชั่วคราวในระหว่างการปล่อยชั่วคราว จะขึ้นทะเบียนผู้ที่จะมาดูแลแทนเรา อย่างเช่นพื้นที่ห่างไกลในชนบท อาจจะเป็นฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่อยู่ในฐานะที่จะช่วยเราได้ขึ้นทะเบียนมา แล้วอาจมอบหมายให้จำเลยหรือผู้ต้องหาที่ได้รับการปล่อยชั่วคราวไปรายงานตัวผู้ดูแล แต่เรื่องนี้ต้องมีงบเช่นเดียวกัน เพราะเขาต้องสละเวลา
คิดว่าสังคมต้องแลกเหมือนกันในเมื่อเราคิดว่าสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นเรื่องใหญ่ต้องมีกำลังคนที่จะต้องดูแล ตรงนี้น่าจะช่วยสังคมมีความมั่นใจมากขึ้นว่าคนที่ได้รับการปล่อยชั่วคราวจะไม่ไปคุกคามไปทำความผิดซ้ำหรือไปทำลายพยานหลักฐาน ซึ่งไม่ต้องลงทุนเยอะ เพราะเป็นบุคคลที่มีบทบาทรักษาความสงบเรียบร้อยอยู่แล้ว เพียงแต่เรามีแรงจูงใจเพื่อให้เขามาดูแลจำเลยผู้ต้องหา
อันนี้จะเป็นวิธีการที่เราให้โอกาสคนมีสิทธิเสรีภาพ โดยเหยื่อไม่เดือดร้อน ไม่ถูกคุมคาม สังคมก็ปลอดภัย ต้องคิดควบคู่กันไปสอดคล้องกับนโยบายที่ผมประกาศไปว่าจะเพิ่มโอกาสให้กับจำเลยหรือผู้ต้องหาในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว โดยคำนึงถึงเหยื่ออาชญากรรมแล้วก็คำนึงถึงความปลอดภัยของสังคมด้วย

⦁การที่ต้องมีผู้ดูแลแปลว่าปัจจุบันมีคนฝ่าฝืนเงื่อนไขศาลเยอะขึ้นหรือไม่
เดิมไม่มีเงื่อนไขเรื่องการควบคุม ให้เขามารายงานตัวที่ศาลหรือรายงานตัวพนักงานคุมประพฤติ ซึ่งก็ทำน้อยเพราะเจ้าหน้าที่ศาลไม่พอ แต่ถ้าเราเปิดกว้างไปสู่สาธารณะ กำลังผู้ใหญ่บ้าน กำนัน เยอะมาก เชื่อว่าเจ้าหน้าที่เหล่านี้หูตากว้างไกล เขาอยู่ในพื้นที่สัมผัสกับลูกบ้าน จำเลยหรือผู้ต้องหาได้ง่ายกว่า เชื่อว่าประสิทธิภาพในการกำกับดูแลจะมากกว่าเจ้าหน้าที่ศาล
นอกจากนี้ หากจะปล่อยตัวคนมากขึ้นอาจมีทางเลือกในการกำหนดเงื่อนไข เช่น เงื่อนไขในการคุ้มครองความปลอดภัยตามประมวลกฎหมายอาญา มีมาตรการรักษาความปลอดภัย เช่น ห้ามไม่ให้จำเลยหรือผู้ต้องหาเข้าไปในเขตพื้นที่ที่เขาอาจก่ออาชญากรรม ห้ามไม่ให้เที่ยวกลางคืน เพราะถ้าไปเที่ยวกลางคืนแล้วอาจดื่มสุรา โอกาสทำความผิดมากขึ้น จะกำหนดห้ามเข้าเขตพื้นที่บางพื้นที่ เรื่องนี้มีมาตั้งนานแล้ว แต่การให้ความสำคัญเปลี่ยนแปลงตามนโยบายของผู้บริหารแต่ละคน
ปัจจุบันนี้ข้อมูลข่าวสารจะช่วยให้มีความรู้สึกว่าประชาชนมาศาลด้วยความมั่นใจว่า เข้าใจข้อกฎหมายและขั้นตอน ถ้าเข้าใจแล้วจะไม่เอาเรื่องที่เข้าใจผิดมาเป็นคดีความให้รกโรงรกศาล การที่ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารโดยทางเว็บไซต์ หรือการประชาสัมพันธ์เจ้าหน้าที่หรือตามบอร์ดอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งปัจจุบันนี้ศาลเกือบทุกศาลมีและขึ้นข้อความเวลามาติดต่อศาล และอยากให้ศาลต่างๆ ทั่วประเทศขึ้นตัวเลขเลยว่าคดีประเภทนี้ ประกันต้องใช้หลักทรัพย์เท่าไหร่ หลายศาลขณะนี้ทำอยู่
สำหรับหลักทรัพย์ที่ใช้ในการประกันอาจจะมีคำถามอีกว่า แล้วคนจนไม่มีหลักทรัพย์จะทำยังไง เรื่องนี้ต้องมาดูกันว่าเงื่อนไขในการให้ประกัน ศาลสามารถจะให้ประกันโดยไม่มีหลักประกัน ไม่ต้องวางหลักทรัพย์ หรือกำหนดเงื่อนไขอื่นๆ ก็ได้ ถ้าเราวางทางเลือกไว้ให้กับผู้ที่มีอำนาจในการสั่งประกัน ให้เขาพิจารณาเงื่อนไขในการปล่อยชั่วคราวที่เหมาะสม คนจนน่าจะมีโอกาสมากขึ้น คนจนอาจจะไม่ต้องวางหลักทรัพย์ อาจจะมีบุคคลอื่นที่เป็นที่น่าเชื่อถือในสังคมมาเป็นผู้ค้ำประกันก็ได้
สมัยหนึ่งศาลให้ใช้ตำแหน่ง ปัจจุบันก็ยอมอยู่แล้วที่ให้ใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการประกันตัวได้ ทีนี้เราก็อาจจะลงไปในรายละเอียดอีกว่า ในแต่ละตำแหน่ง หน้าที่การงานแต่ละคนจะให้ใครประกันได้บ้าง
ผมกำลังคิดไปถึงว่าน่าพิจารณาหรือไม่ให้ภาคเอกชนที่มีตำแหน่งหน้าที่การงานสามารถใช้ตำแหน่งเป็นหลักประกัน ไม่จำเป็นต้องเป็นข้าราชการ หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ ข้อกำหนดประธานศาลฎีกาเรื่องวางหลักทรัพย์นั้นวางไว้นานมาแล้วในขณะที่ค่าเงินลดลง

⦁นโยบายคุ้มครองสิทธิจะทำเพิ่มมีอะไรอีก
จะแยกห้องขังระหว่างคนที่ถูกฟ้องโดยที่ไม่เคยโดนจำคุกมาก่อน เพราะบางครั้งถ้าเอาจำเลยหรือผู้ต้องหาในความผิดร้ายแรงไปรวมกับข้อหาที่ไม่ร้ายแรง เช่น ความผิดเกี่ยวกับเช็ค มองว่าจะเป็นความผิดเกี่ยวกับทางแพ่งเสียด้วยซ้ำ แต่บังเอิญใช้กฎหมายอาญาในการบังคับด้วย บางทีถูกฟ้องทำผิดในข้อหาออกเช็คโดยไม่มีเจตนาที่จะใช้เงินตามเช็คแล้วเราเอาผู้ที่มีความผิดนี้ไปขังรวมกับนักโทษที่ลักทรัพย์ ฆ่าคน หรือที่มันรุนแรง จะเกิดความรู้สึกไม่ดี ยอมรับว่านโยบายนี้อยากทำมาก แต่ข้อจำกัดเรื่องอาคารสถานที่ไม่สามารถทำได้สมบูรณ์แบบตามที่คิด
แต่ขณะนี้ผมได้ให้นโยบายไปแล้วหลายหน่วยงานศาลในกรุงเทพฯได้เริ่มลงมือแล้ว เริ่มแบ่งแยกห้องแล้วว่าห้องไหนผิดร้ายแรง ห้องไหนความผิดที่ไม่ร้ายแรง สำหรับไม่ร้ายแรงอาจจะนั่งสบายๆ รอศาลเรียกฟังคำสั่งประกัน แต่ความผิดต้องขังคือต้องขังจริง อย่างที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองการออกแบบเดิมไม่ได้เตรียมรองรับไว้ แต่ปรากฏว่าต้องขังควบคุมตัวจำเลยทั้งหญิงและชาย ในห้องเดียวกัน ห้องน้ำก็มีห้องเดียว ตอนนี้ศาลฎีกาแก้ไขเป็นการเร่งด่วน ให้ออกแบบสร้างห้องสำหรับแยกผู้ต้องขังที่เป็นผู้หญิงออกต่างหาก ทำห้องน้ำแยก
เรื่องตรงนี้ไม่ใช่เพียงแค่มนุษยธรรมเท่านั้น เป็นการสนองนโยบายของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ
เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวง ราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ที่พระองค์ทรงเป็นผู้แทนประเทศไทยในยูเอ็น ดูแลคุ้มครองสิทธิเด็กและผู้หญิงลดการใช้ความรุนแรงต่างๆ ซึ่งพระองค์ทรงพยายามเข้าไปดูแลในทัณฑสถานหลายแห่งเพื่อให้จัดการแยกผู้ต้องขังแยกจำแนก เรื่องนี้สนองนโยบายพระองค์โดยตรงเลย

Advertisement

⦁วาระดำรงตำแหน่ง 1 ปี ฝากเรื่องไหนไว้เป็นผลงานบ้าง
เรื่องแรกผมเอาตัวให้รอด คือไม่สร้างความเสียหายให้เกิดในสถาบันศาลและไม่ให้สถาบันศาล ที่ตุลาการรุ่นพี่ๆ สร้างสะสมมาเกิดความเสื่อมเสีย หรือเสียหาย อย่างน้อยถ้ารักษามาตรฐานไว้ได้ ถือว่าผมสำเร็จแล้ว แต่สิ่งหนึ่งจะช่วยให้คนที่มาทำงานต่อไปได้ต่อยอด คือการจัดระบบศาลยุติธรรม
ผมมองในระบบมากกว่าตัวบุคคล เพราะเชื่อว่าปัจจุบันระบบคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) งานบุคคลนั้นเข้มแข็ง การสกรีน ตรวจสอบ การให้คุณให้โทษทางวินัย ก.ต.มีความเข้มแข็งเพียงพอที่จะดูแลได้ แต่จะทำอย่างไรให้คนที่มีศักยภาพเหล่านี้มาทำงานเชิงระบบให้ศาลพัฒนาไปข้างหน้า เช่น ผมวางระบบประกันตัววันหยุด คิดในเชิงระบบสร้างกฎเกณฑ์ให้เขามีเครื่องมือ มีทางเลือก
อีกเรื่องหนึ่ง คือศาลจะต้องมีเครื่องมือประเมินตัวเอง เพราะประชาชนประเมินศาลจากความรู้สึกอยู่แล้ว แต่ศาลต้องมีเครื่องมือประเมินตัวเอง ซึ่งได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา มีเป้าหมายคือจะทำอย่างไรให้ศาลยุติธรรมประเทศไทย เป็นศาลทำงานยุติธรรมได้อย่างเป็นเลิศ (Court Excellence) สร้างแบบประเมินตัวเองทุกด้าน ทั้งการบริหารงานศาล การให้บริการประชาชน กระบวนการทำงานในการพิจารณาคดี ระยะเวลาพิจารณาคดี พูดง่ายๆ ว่าทุกเรื่องควรจะประเมินได้
ถามว่าเอาความคิดนี้มาจากไหน ความจริงคือตอนนี้มีหลายประเทศในโลกรวมกลุ่มกันสร้างแบบประเมินขึ้นมา แบบนี้เรียกว่า The International Framework for Court Excellence คือเขามาช่วยนักคิดว่าศาลควรพัฒนาเรื่องอะไรบ้าง ค่านิยมหลักที่ศาลต้องมี อาทิ ความเป็นอิสระ เป็นกลาง เป็นธรรม รวดเร็ว ตอบสนองต่อการฟ้องคดี หรือการเรียกร้องได้รวดเร็ว คือเป็นค่านิยมหลัก แล้วมาหาเครื่องมือจะมาวัดแล้วให้บรรลุสู่เป้าหมายอันนี้ เสร็จแล้วเมื่อได้เครื่องมือ เรียกว่า Court Excellence Consortium ในยุโรป อมริกา ในเอเชียมี สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย พอได้แบบกลางแต่ละประเทศก็เอาไปพัฒนาตัวเอง
ไทยอาจได้เปรียบที่ทำทีหลัง ได้มาประยุกต์กับของเรา ถ้าเราพัฒนาต่อยอดไปเรื่อยๆ ต่อไปทุกศาลในประเทศจะรู้ว่ามีเครื่องมืออยู่จุดไหนของสเกลที่พัฒนาต่อ

⦁สิ่งที่ตั้งใจจะพัฒนาและเปลี่ยนแปลงคืออะไร
การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพต้องจริงจัง ผมอยากให้คำพิพากษาคดีของศาลคือโปรดักส์ (ผลิตผล) ต้องมีคุณภาพ มีความยุติธรรม ผมต้องการตรงนี้ ถ้าผมได้เดินไปข้างหน้าจุดนี้ แล้วผู้บริหารศาลต่อไป ได้ต่อยอดตรงนี้ไปจนเข้มแข็ง ผมคิดว่าประโยชน์จะตกกับประชาชนมหาศาล
ผมไม่อยากบอกว่าเป็นมรดกของผม เพราะเรานั่งในจุดนี้ถ้าเราจุดประกายให้มีการทำงานในส่วนนี้ต่อไปแล้ว ในวันที่ผมและผู้พิพากษาทุกคนต้องถอดเครื่องแบบเป็นประชาชน ถ้าไม่ได้ทำอะไร ในขณะที่ตัวเองมีโอกาส แล้ววันหนึ่ง ใครจะไปรู้ว่าอุบัติเหตุที่เข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรม แล้วตัวเองจะเรียกร้องความยุติธรรม แล้วไม่ได้ในสิ่งที่ตัวเองอยากจะได้ จงคิดเหมือนประชาชนว่าเขาอยากได้อะไร เพราะถ้าผู้พิพากษาเข้าใจจุดนี้ว่าวันหนึ่งต้องกลับไปเป็นประชาชนเช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image