รายงาน : แล้งจัด รอบ 40 ปี แล้งทั่ว ทุกภาค งานหนัก รัฐบาล

6 มกราคม หน่วยงานด้านการบริหารจัดการน้ำ ได้แก่

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมอุตุนิยมวิทยา การประปานครหลวง ประชุมร่วมกันเพื่อวางมาตรการรับมือก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีตั้งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ รับมือวิกฤตน้ำแล้งในปี 2563

โดยทาง สทนช. เสนอให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบกรอบโครงสร้างศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจและแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาวิกฤตน้ำ เพื่อบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวกับการวิกฤตน้ำแล้ง

และตั้งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ติดตามวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ

Advertisement

โดยหากวิกฤตรุนแรงมากขึ้น จะยกระดับเป็นศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ

โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บัญชาการ

รายงานสถานการณ์ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำทั่วประเทศว่ามีอยู่ร้อยละ 60 รวม 49,591 ล้านลูกบาศก์เมตร

Advertisement

แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การร้อยละ 43 โดยเป็นแหล่งน้ำที่ต้องเฝ้าระวังน้ำน้อย 14 แห่ง ได้แก่

เขื่อนแม่กวง ภูมิพล สิริกิติ์ แม่มอก ทับเสลา กระเสียว จุฬาภรณ์ อุบลรัตน์ ลำพระเพลิง ลำแชะ ลำนางรอง ป่าสักฯ คลองสียัด และหนองปลาไหล

สถานการณ์แม่น้ำสายหลัก ในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อยถึงปกติ

โดยอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่มีการพูดถึงในที่ประชุม นอกจากภาวะภัยแล้งในหลายภูมิภาค คือ ปัญหาความเค็มของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งกระทบต่อการผลิตน้ำประปาของพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

เพราะค่าความเค็มของน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสำหรับการอุปโภคบริโภค บริเวณตั้งแต่ปากแม่น้ำจนถึงสถานีสำแล อ.เมือง จ.ปทุมธานี

สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน

นอกจากนั้น เลขาธิการ สทนช. กล่าวในที่ประชุมว่าได้รับแจ้งจากจีนว่า

จะมีการลดการระบายน้ำจากเขื่อนในจีนลงครึ่งหนึ่งจาก 1,200-1,300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และระดับน้ำในแม่น้ำโขงจะลดลงราว 30-60 เซนติเมตร หรืออาจจะมากกว่าเมื่อผ่านเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งใกล้กับแม่น้ำโขงในไทยที่ จ.เลย

ทั้งนี้ เลขาธิการ สทนช. เสนอให้ทางกรมทรัพยากรน้ำเป็นเจ้าภาพในการเก็บข้อมูลคุณภาพน้ำ ระดับน้ำ และปริมาณตะกอนในแม่น้ำโขง

เพื่อเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ในการแจ้ง สปป.ลาว ให้ทราบถึงภาวะแม่น้ำโขงในส่วนของประเทศไทย

ไม่แต่เพียงน้ำต้นทุนที่มีอยู่จะน้อยกว่าปกติ

แต่การคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำเพิ่มเติมที่จะเข้ามา ก็ยังน่าเป็นห่วง

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าประเทศไทยต้องเผชิญฝนแล้งยาวนานจนถึงเดือนมิถุนายน

โดยคาดว่าปริมาณฝนจะต่ำกว่าค่าปกติร้อยละ 3-5 ในพื้นที่แล้งซ้ำซาก ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ตอนบน

อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุด้วยว่า ปริมาณฝนน้อยใกล้เคียงกับปี 2522 แต่ปริมาณความต้องการการใช้น้ำปีนี้มากกว่าในอดีต

จากข้อมูลขณะนี้สถานการณ์การใช้น้ำและผลกระทบรุนแรงกว่าปี 2558 แล้ว

ภาวะภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี

ส่งผลกระทบให้กับประชาชนทั้งในภาคเกษตร และผู้ที่อยู่ในเมือง

และจะยิ่งทำให้ความฝืดเคืองของภาวะเศรษฐกิจของกลุ่มชนชั้นล่างรุนแรงยิ่งขึ้น

เป็นภาระหนักหน่วงของรัฐบาลปัจจุบัน ที่สืบทอดต่อเนื่องมาจากช่วงเวลา 5 ปีของรัฐบาลชุดก่อน

ที่ประกาศเสียงดังฟังชัดว่าจะเข้ามา “ปฏิรูป” การบริหารจัดการน้ำ

แต่ไม่ปรากฏว่ามีอะไรเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม

จนกระทั่ง “ภัยแล้ง” ย่างกรายเข้ามา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image