รายงาน : ร่างพ.ร.บ.งบประมาณ’63 กับคำถามวินัยการเงิน-การคลัง

หมายเหตุ – เป็นมุมมองของนักวิชาการต่อการอภิปรายเนื้อหาและกระบวนการจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 2

ยุทธพร อิสระชัย
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

การประเมินเพื่อให้คะแนนฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาลในการอภิปรายครั้งนี้ เชื่อว่าฝ่ายค้านอธิบายได้ดีกว่า พูดถึงงบประมาณในเชิงโครงสร้าง รายละเอียดต่างๆ ค่อนข้างเห็นภาพในเชิงรูปธรรม ปัญหาเชิงโครงสร้างระบบงบประมาณของไทยเป็นปัญหายืดยื้อเรื้อรังมานาน โดยเฉพาะปัญหาโครงสร้างรัฐรวมศูนย์ แม้จะมีการพัฒนาระบบที่มีความทันสมัย แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ และเป็นประเด็นที่ฝ่ายค้านได้หยิบยกมาในการอภิปราย ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลแทบจะไม่ได้เห็นเรื่องของการอธิบายในเชิงปัญหาที่ได้รับการแก้ไข ส่วนใหญ่เป็นอภิปรายเพื่อปกป้องงบประมาณที่ตัวเองนำเสนอ และในหลายส่วนยังมีคำถามที่ต้องการคำอธิบายจากสังคม เช่น เรื่องงบกลาง งบประมาณกระทรวงกลาโหม หรือแม้กระทั่งงบลับ ดังนั้นฝ่ายค้านน่าจะมีคะแนนที่มากกว่า คือเต็ม 10 อาจอยู่ที่ 7-8 คะแนน ขณะที่รัฐบาลอยู่ที่ 5-6 คะแนนเท่านั้น เพราะหลายประเด็นยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน

Advertisement

ปัญหาที่น่าสงสัยก็คือ บรรดางบลับและเงินนอกงบประมาณ ซึ่งยังไม่สามารถอธิบายที่ชัดเจน แม้จะมีข้อคำถามจากฝ่ายค้าน เช่น ในกรณีงบกระทรวงกลาโหมจะมีประเด็นสร้างภาระผูกพันจะดำเนินการอย่างไร หรือในส่วนของงบประมาณที่ว่าด้วยเรื่องของบลับนำไปใช้เพื่ออะไร ก็ยังไม่เห็นความชัดเจนจากการชี้แจงของรัฐบาล

ส่วนข้อสงสัย ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณอาจขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่ฝ่ายค้านจะหยิบมาตรวจสอบได้ ในแง่ของการที่รัฐบาลต้องได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎร มีทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางตรงก็คือ การอภิปรายไม่ไว้วางใจ การตั้งกระทู้ถาม การใช้ระบบคณะกรรมาธิการ ส่วนทางอ้อมก็คือ ติดตามการใช้เครื่องมือของรัฐบาลในการใช้งบประมาณ ช่องทางที่ฝ่ายค้านจะหยิบยกมาตรวจสอบจากรัฐธรรมนูญมาตรา 144 ก็สามารถส่งเรื่องศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ว่า กฎหมายงบประมาณขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถือว่าเป็นกลไกตรวจสอบปกติที่ฝ่ายค้านจะใช้สิทธิได้

กรณีนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ (กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ) ตั้งข้อสังเกต การกำหนดงบไม่สอดคล้องกับนโยบายพรรคร่วมรัฐบาล เพราะเป็นการทำงบที่ตั้งแต่สมัยรัฐบาลชุดที่แล้ว รวมทั้งเชื่อว่าโครงการที่ออกตามนโยบายพรรคการเมือง จะเป็นโครงการเพิ่มเติมตามมติ ครม. จะทำให้การใช้จ่ายงบผิดสัดส่วนในเรื่องวินัยการคลัง เช่น กองทัพได้รับงบสูง เรื่องนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐธรรมนูญมีข้อกำหนดเอาไว้ในเรื่องของการจัดทำงบประมาณที่จะต้องเป็นไปตามวินัยการเงินการคลัง มีบทบัญญัติลงโทษว่า ถ้าไม่ตามข้อกำหนดก็จะนำไปสู่การถอดถอนคณะรัฐมนตรีได้ทั้งหมด เพราะฉะนั้นงบประมาณเหล่านี้ที่ฝ่ายค้านมีข้อสงสัยรัฐบาลก็ต้องชี้แจง

Advertisement

หากฝ่ายค้านจะไม่ยกมือให้ผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ เป็นเรื่องปกติที่ฝ่ายค้านสามารถทำได้ แต่เชื่อว่าคงไม่ถึงขั้นยกมือไม่ให้ผ่าน เนื่องจากมีการพิจารณาในชั้นแปรญัตติงบประมาณแล้ว แต่มีความเป็นไปได้ที่ฝ่ายค้านจะใช้วิธีงดออกเสียงเหมือนการลงมติในวาระที่ 1 และวันนี้ถ้าจะพิจารณาจากปัจจัยในการลงมติ จากภาวะรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำในช่วงนี้ก็แทบจะไม่มีแล้ว รัฐบาลมี 259 เสียง ขณะที่ฝ่ายค้านมี 240 เสียง ถือว่าต่างกันมาก

ประการต่อมา กระบวนการต่างๆ ที่จะมีการต่อรองก็ลดลงหลายส่วน ทั้งการต่อรองภายในพรรคร่วมรัฐบาล หรือการต่อรองภายในพรรคแกนนำหลักก็มีปรับโครงสร้างที่ดีขึ้น การต่อรองในเชิงยุทธศาสตร์ก็ได้เห็นการสลายขั้วของฝ่ายค้านอิสระ ทำให้ทุกอย่างปลดล็อก แต่ฝ่ายค้านอาจจะใช้สิทธิได้ในการลงมติไม่เห็นชอบหรืองดออกเสียงตามจุดยืน เชื่อว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณก็จะผ่านไปได้เรียบร้อย

เดชรัตน์ สุขกําเนิด
นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์

การอภิปรายงบครั้งนี้น่าสนใจ เพราะมีคำถามใหม่ๆ จากฝ่ายค้านที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะเดิมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีหน้าที่พิจารณาก่อนหน้านี้ อาจจะไม่ตั้งคำถามในเรื่องของประสิทธิภาพ ในการใช้งบประมาณ ทั้งที่ควรถามว่าการใช้งบจะมีประสิทธิภาพมากหรือน้อยกว่ากันเพียงใด มีการยกตัวเลขทั้งที่ดำเนินการไปแล้ว และเทียบเคียงกับทางเลือกอื่นที่ดีกว่า แต่ขณะนี้การอภิปรายเพิ่งผ่านไปไม่กี่หน่วยงาน สำหรับที่กระทรวงที่ต้องติดตามตรวจสอบน่าจะเป็นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ขณะเดียวกันข้อพิรุธในการจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ อาจจะมองต่างไปจากการกำหนดหลักเกณฑ์ในการใช้งบที่อาจจะนำไปสู่การวินิจฉัย แต่ในแง่ของวิชาการต้องให้ความสนใจเรื่องตัวชี้วัด หมายถึงการที่จะวัดว่าความสำเร็จจากการใช้งบจะวัดกันจากอะไร หลายกรณีมีการให้งบไปโดยที่ไม่สามารถจะวัดผลความสำเร็จได้ เช่น งบชายแดนใต้ที่จะจัดให้มีหน่วยข่าวกรองประจำหมู่บ้าน ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะประเมินความสำเร็จในการใช้แบบนี้อย่างไร หรือการจัดการฝุ่นละอองขนาดเล็กก็ได้งบน้อยมาก ไม่มีมิติใหม่ในการใช้งบทั้งที่ปัญหาเกิดมานานหลายปี ช่วงที่ผ่านมีการพูดถึงค่อนข้างมากในกระแสสังคม แต่การทำงานของภาครัฐก็ยังเหมือนเดิม รวมถึงภัยแล้งซึ่งเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า การใช้งบประมาณเมื่อเดือนสิงหาคม 2562 จ่ายไปแล้วประมาณหมื่นกว่าล้านบาทสุดท้ายแล้วเมื่องบนี้ไปอยู่ในงบปี 2563 ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทำให้ไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหา 2 เรื่องได้อย่างไร และเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงในระยะยาว

ส่วนการตั้งงบที่ไม่สอดคล้องกับนโยบายของพรรคร่วมรัฐบาลส่อให้เห็นว่า วิธีการจัดสรรงบกับนโยบายไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ยังใช้การแจกงบไปตามกระทรวง กรม กอง เหมือนเดิม เคยทำไว้อย่างไรก็ทำอย่างนั้น เมื่อร่าง พ.ร.บ.งบประมาณผ่านสภามีการนำงบประมาณไปใช้ เชื่อว่าคงไม่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจอะไรมากนัก อาจมีงบลงทุนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ไม่มีผลทำให้ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมจะดีขึ้น เพราะโดยส่วนใหญ่การใช้จ่ายภาครัฐก็มีไม่มากเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ทั้งหมด

สำหรับบางฝ่ายมองว่าเป็นการเสียโอกาสของประชาชน จากการทำงบประมาณประจำปีล่าช้า แต่ในแง่วิชาการยังไม่เป็นปัญหาเท่ากับการจัดสรรงบแล้วไปถูกใช้ไม่ตรงตามเป้าหมายเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากกว่า

ดังนั้นการทำงบประมาณในปี 2564 จึงควรทบทวนวิธีการทำงบใหม่ทั้งหมด หรือควรพิจารณาว่าจะมีแนวทางอื่นในการจัดทำงบประมาณ ที่ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้มากขึ้นหรือไม่ อย่างไร

 


อัษฎางค์ ปาณิกบุตร
นักวิชาการรัฐศาสตร์

การอภิปรายงบประมาณครั้งนี้ยังไร้หลักฐานให้เห็นชัดว่าการจัดงบประมาณไร้ประสิทธิภาพ เพียงแต่มีการประเมินว่า มีการนำงบไปซื้อในสิ่งที่มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง หรือการซื้อสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ เช่น การจัดซื้อเรือดำน้ำ ฝ่ายค้านควรไปหาข้อมูลทางวิชาการจากผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงของกองทัพเรือ เพื่อมาอธิบายว่าไทยควรมีเรือดำน้ำแบบไหน ใช้ประโยชน์อย่างไร คุ้มค่าหรือไม่ จะเอาไปรบกับใคร เมื่อประชาชนรับฟังแล้วสามารถตัดสินใจได้ เพราะเดิมทราบว่ามีการศึกษาจากประเทศเยอรมนีสิบกว่าปี แต่วันนี้จะไปซื้อจากจีน ยอมรับว่าเรื่องนี้ไม่ทราบข้อเท็จจริง

การอภิปรายงบครั้งนี้ก็ดำเนินการไปตามวิธีการปฏิบัติปกติ เพราะเชื่อว่าจะผ่านความเห็นชอบจากเสียงข้างมากในสภา สำหรับฝ่ายค้านต้องหาข้อมูลที่มาอธิบายให้ประชาชนเห็นว่าการใช้งบมีประโยชน์หรือไม่ เปรียบเทียบให้เห็นว่าชาวนากำลังลำบากเรื่องน้ำ แทนที่จะใช้งบไปจัดซื้ออาวุธ และส่วนตัวไม่เห็นด้วยการซื้อเรือดำน้ำ เพราะไม่มีความจำเป็น ควรเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนดีกว่าการไปสร้างอาวุธ หรือกรณีงบลับก็มีมานานแล้ว แต่ไม่ควรเป็นงบลับ เพราะเป็นภาษีของประชาชน ควรให้ประชาชนรู้ว่าเอางบไปทำอะไร เหมาะสมหรือไม่ แต่เท่าที่ทราบพบว่า บางโครงการเอาไปใช้ในเรื่องที่ไม่เหมาะสม ไม่มีความจำเป็น เว้นแต่บางเรื่องเช่น การสืบราชการลับ ก็ทำได้แต่ต้องมีผลงานให้เห็น

การบริหารบ้านเมืองในวันนี้ ประชาชนต้องสนใจติดตามประสิทธิภาพการใช้งบประมาณ รัฐบาลต้องเปิดตัวชี้วัดให้เห็นว่า การทำงานประสบผลสำเร็จหรือไม่ การใช้เงินต้องประหยัด มีคุณค่า และได้ผลตามที่ต้องการ มีจุดบกพร่องน้อยที่สุด ผมมองว่าค่าหัวในการรักษาพยาบาลที่ใช้บัตรทองควรเพิ่มขึ้นหรือไม่ ยาที่ใช้ควรมีคุณภาพมากกว่าเดิม มีโอกาสเข้าถึงการบริการมากขึ้น ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนควรดีกว่านี้ หรือเรื่องรถไฟฟ้า เมื่อไรจะให้คนจนโดยสารได้ เคยถามรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมหลังจากเสนอแนวคิดว่า จะจัดทำโครงการรถเมล์เพื่อประชาชนให้ไปทำอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อแก้ปัญหารถติด การใช้รถส่วนตัว ลดการใช้พลังงาน

ผมเป็นนักวิชาการไม่ได้วิจารณ์อย่างเดียว แต่พยายามเสนอแนวทางที่เป็นไปได้มากที่สุด เพื่อทำให้ประชาชนมีความสุขจากการใช้งบประมาณแผ่นดินมากขึ้น มากกว่าการเอางบไปซื้อเรือดำน้ำ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image