รายงานหน้า2 : นักวิชาการแนะ‘รบ.’ ใช้ยาแรงแก้‘ฝุ่น-ภัยแล้ง’

หมายเหตุนักวิชาการให้ความเห็นถึงแนวทางแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และภูมิภาคต่างๆ รวมถึงปัญหาภัยแล้งในหลายพื้นที่

 

สนธิ คชวัฒน์
ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย

มาตรการทั้ง 12 ข้อในการแก้ปัญหาฝุ่น ที่จะเสนอ ครม.วันที่ 21 มกราคม อยู่ในวาระแห่งชาติอยู่แล้ว โดยมีมติ ครม.ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 โดยมีระยะวิกฤตว่าใครต้องทำอะไรบ้าง ทั้งหน่วยงานหลักและหน่วยงานรอง แต่เอาเข้าจริงแล้วไม่มีคนทำ เมื่อจะทำก็บอกว่าไม่มีกฎหมายรองรับ ยกตัวอย่างเช่น กรุงเทพฯ (กทม.) จะไปสั่งห้ามก่อสร้างรถไฟฟ้า ก็ไม่กล้า เพราะอาจถูกฟ้องร้องได้เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับ หรือการที่กรมการขนส่งทางบก และตำรวจ จะสั่งไม่ให้รถเข้ากรุงเทพฯ ก็คงไม่กล้าสั่ง สุดท้ายกรมควบคุมมลพิษจึงต้องชงให้ ครม.เป็นผู้สั่ง ซึ่งส่วนตัวมองว่าไม่ถูกต้อง
โดยหลักการแล้ว หากประกาศเป็นวิกฤต หรือเหตุฉุกเฉิน จะต้องมีหน่วยงานหลักโดยเฉพาะที่จะสั่งการและจัดการปัญหาทั้งหมด เหมือนอย่างที่สหรัฐ จีน และเกาหลีก็ใช้วิธีการเช่นนี้ แต่ของเราพูดง่ายๆ ว่าไม่มีเจ้าภาพหลัก ฉะนั้น 12 มาตรการหลักที่เสนอเข้าไปก็เป็นเรื่องเดิม ถ้า ครม.สั่งก็ต้องทำ แต่มองว่าจะแก้ปัญหาได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ตอนนี้มีการเผาไร่อ้อย 57 จังหวัด รอบๆ กรุงเทพฯ เผากันอุตลุด ลมก็พัดเข้ากรุงเทพฯ เราบอกแต่ว่าในกรุงเทพฯ มีรถเยอะจึงมีปัญหาฝุ่น PM2.5 แต่เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมามีรถออกมาวิ่งค่อนข้างน้อยมาก แต่ฝุ่นยังคงสูงอยู่ เป็นเพราะมีควันจากการเผาไร่อ้อย รัฐบาลก็สั่งว่าไม่ให้เผาอ้อย แต่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลก็ยังมีมติว่าให้โรงงานน้ำตาลรับอ้อยเผาได้ร้อยละ 50 จึงเกิดปัญหาว่ามีมติออกมาแล้วแต่หน่วยงานไม่ปฏิบัติ จะทำอย่างไร
ทางออกในเวลานี้คือ เมื่อเรามีมติแล้ว ก็ต้องเข้มงวดเรื่องการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ต้องมีหน่วยงานที่คอยมอนิเตอร์ว่าสั่งแล้ว ใครไม่ทำก็ต้องดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ ดังนั้น กรมควบคุมมลพิษนอกจากจะเป็นผู้ประสานงาน และแจ้งข้อมูลข่าวสารแล้ว ต้องติดตามตรวจสอบ รวมทั้งประเมินผลด้วยว่าหน่วยงานต่างๆ ปฏิบัติตามแผนหรือไม่
ปีนี้เราค่อนข้างหย่อนยานอย่างมาก กทม.เมื่อปีที่แล้ว เกิดวิกฤต ทุกคนออกมาเต้น ออกมาต่อสู้กันหมด มีโดรนมาบินสเปรย์น้ำ หยุดการก่อสร้าง สั่งหยุดโรงเรียน และขอให้คนลดใช้รถยนต์ส่วนตัว หันมาใช้รถโดยสารรถสาธารณะ แต่ปีนี้ กทม.กลับเงียบ รัฐบาลก็เงียบ
หากดูจากปริมาณฝุ่นขณะนี้เกิน 75 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ตามมติบอกว่าถ้าเกิน 75 เมื่อไหร่ ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องสั่งควบคุมพื้นที่ หากเป็นปีที่แล้วฝุ่นมากขนาดนี้ต้องสั่งหยุดเรียน สั่งหยุดการก่อสร้างรถไฟฟ้าแล้ว แต่ปีนี้เงียบเฉย ไม่มีใครทำอะไร
ที่ผ่านมาเราไม่ทำจริงจัง ต่างคนต่างทำ ไม่มีการประสานงาน ไม่หาเจ้าภาพหลักที่จะสั่งการโดยตรง แต่เมื่อ ครม.มีมติออกมา 12 ข้อ ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ถ้าใครไม่ทำต้องลงโทษ โดยให้กรมควบคุมมลพิษคอยตรวจสอบและรายงานให้รัฐบาลจัดการต่อไป

Advertisement

 

ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ปัญหาฝุ่นพิษเกิดจากปัจจัยหลายประการ พื้นที่นอก กทม.สาเหตุมาจากการเผาไร่อ้อย และสารพัดเผา ขณะที่การแก้ไขต้องใช้กฎหมายเข้าไปจัดการ เพียงแต่หน่วยงานที่รับผิดชอบจะเอาจริงกันหรือไม่ ส่วนใน กทม. ต้นเหตุฝุ่นมาจากปัญหาการจราจร จากการเข้า กทม.ของรถบรรทุก รถกระบะที่มีควันดำ ดังนั้นรัฐต้องคุมการใช้รถที่อายุการใช้งานเกิน 10 ปีหรือไม่ ต้องออกกฎเพื่อควบคุมให้หยุดระบบการขนส่ง หรือหยุดการก่อสร้างช่วงที่มีวิกฤตฝุ่นหรือไม่
ผมเพิ่งกลับมาจากประเทศจีน มาตรการแก้ปัญหาที่ชัดเจนอย่างแรกคือเอาสายไฟฟ้าลงใต้ดินแล้วปลูกต้นไม้ขนาดใหญ่ ส่งเสริมให้ใช้รถไฟฟ้า จากนั้นควบคุมปริมาณการใช้รถโดยต้องซื้อป้ายทะเบียนรถกระบะที่ใช้เชื้อเพลิงดีเซล ที่มีราคาสูง และมีจำนวนจำกัด ขณะที่ในไทยเปิดเสรีให้จดทะเบียนไม่เคยจำกัดจำนวน
ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องรีบตัดสินใจ รีบทำความเข้าใจให้รอบด้าน เพื่อแก้ไขปัญหาให้ได้ระยะยาว ต้องลงทุนปลูกต้นไม้ นำพื้นที่ของทางราชการใน กทม.ปลูกต้นไม้เสริมให้มากขึ้น หรือใช้กฎเกณฑ์ที่ชัดเจน และเรื่องนี้ในระยะสั้น รัฐต้องไปคุมจำนวนรถที่มีควันดำ หยุดการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ชั่วคราว รัฐบาลไม่มีหนทางแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษโดยไม่มีผลกระทบใดๆ

Advertisement

 

วีระศักดิ์ เครือเทพ
นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษของรัฐบาลมาถูกทาง แต่ไม่มีมาตรการเข้มข้นที่ต้นทางของสาเหตุ ไม่ได้ทำอย่างเต็มที่ให้สุดทาง ที่สำคัญเริ่มแก้ปัญหาช้าเกินไป รัฐบาลควรให้ความสนใจการจำกัดการใช้รถยนต์ในเขตชุมชนเมือง เช่น จำกัดการซื้อ เหมือนประเทศญี่ปุ่น ถ้าไม่มีสถานที่จอดรถก็ไม่มีสิทธิซื้อ อย่าไปพูดแค่รถบรรทุกที่เข้ามาในเขตเมือง แต่ขอให้พูดถึงรถทุกประเภท
วันนี้ฝุ่นพิษเป็นปัญหาที่รุนแรงเกินกว่าการสร้างจิตสำนึก ถ้าจะแก้ไขให้ได้ผลต้องใช้ยาแรง โดยบังคับใช้กฎหมาย จุดไหนที่มีช่องว่างก็ออกระเบียบมาบังคับใช้ ยังไม่จำเป็นต้องลงทุนจำนวนมากในการสร้างเครื่องฟอกอากาศขนาดใหญ่
รัฐต้องมีวิธีการที่หลากหลายกว่าเดิม ภาครัฐไม่เคยเปิดเวทีระดมสมอง เนื่องจากผู้มีอำนาจจะรับฟังเฉพาะหน่วยข้าราชการ ถ้ามีผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมมานำเสนอ อาจจะได้เห็นวิธีการที่แปลกใหม่บ้าง
ส่วนปัญหาภัยแล้งหลายพื้นที่ รัฐบาลขยับช้า 3-4 เดือน และคิดใน กรอบเดิมๆ เนื่องจากรอให้เจอภัยแล้งแล้วคิดเรื่องขุดบ่อน้ำ รัฐบาลยังมองที่ปลายเหตุ ทั้งขุดบ่อ ขุดสระ ลอกห้วย เหมือนทุกปี ทำไมไม่วางแผนขนาดใหญ่ที่เป็นเมกะโปรเจ็กต์เพื่อบริหารจัดการที่ดี มีการวิเคราะห์ปัญหาอย่างเป็นระบบ เช่น พื้นที่เกษตร พื้นที่ครัวเรือนที่รับผลกระทบ ต้องการใช้น้ำเท่าไหร่ น้ำที่มีในแต่ละพื้นที่เพียงพอหรือไม่ รวมทั้งพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำอย่างต่อเนื่องให้เพียงพอ แต่เสียดายที่เรื่องนี้ไม่ได้ถูกนำมาขบคิด จึงมีแต่โครงการย่อยเป็นมิติทางการเมืองเพื่อนำงบลงพื้นที่เป็นหลัก
งบประมาณปี 2563 แก้ภัยแล้ง ไม่มีแผนอะไร ที่เขียนวิสัยทัศน์ มีตัวชี้วัด ให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แต่เมื่อถึงเวลาโครงการก็ทำแบบเดิมๆ ไม่มีอะไรที่จะสะท้อนว่าจะบรรลุวิสัยทัศน์ในการบริหารจัดการน้ำ เพราะการใช้งบมีการแยกส่วนของแต่ละหน่วยงาน ดังนั้นแผนแบบบูรณาการในระยะยาวอย่างเป็นเอกภาพจึงไม่มี

 

ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ
อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ปัญหาฝุ่น PM2.5 รุนแรงขึ้น แสดงว่าการแก้ไขไม่ประสบผลสำเร็จ รัฐต้องแยกแยะให้ได้ว่าแหล่งที่มาของฝุ่นมาจากไหนบ้าง ไม่ใช่เอากรุงเทพฯ เป็นตัวตั้ง แล้วเอาส่วนอื่นๆ มายำรวมกัน ปัญหาเรื่อง PM2.5 แต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกันอย่างกรุงเทพฯเป็นปัญหาเฉพาะ ในเรื่องของรถยนต์ ที่ปล่อยควันดำ แล้วมีโรงงานอีกกว่า 10,000 โรง อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งต้องควบคุมให้ได้
สำหรับภูมิภาค ส่วนใหญ่คือการเผา หลักๆ คือเผาอ้อย ทั้งภาคตะวันออก ตะวันตก ภาคกลาง ภาคเหนือและภาคอีสาน เรื่องนี้รัฐบาลไม่แตะเลย พูดเฉพาะเรื่องห้ามเผาในที่โล่ง ซึ่งกว้างมาก เวลาแก้ไขปัญหาต้องมีมาตรการชัดเจนออกมา
อย่างเรื่องอ้อย ที่รัฐบาลผ่อนผัน ให้ค่อยๆ ลดโควต้าซื้ออ้อยเผาให้น้อยลง และหมดไปในปี 2565 เราต้องทนอีก 2 ปี การเผาอ้อยเป็นเรื่องใหญ่มากในชนบท ขณะนี้ไม่ได้มีหลักประกันว่าจะลดการเผาอ้อยลง แค่เดือนมกราคม ก็เผากันในหลายพื้นที่ ไม่มีการตรวจสอบจำนวนอ้อยที่รับซื้อจากโรงงาน
ฝุ่น PM2.5 เคลื่อนที่ไปได้หลายร้อยกิโลเมตร การเผาอ้อยก็มีส่วนผสมปนเปไปกับปัญหาฝุ่นควันในกรุงเทพฯ จึงไม่ควรผ่อนผันให้โรงงานรับซื้ออ้อยจากการเผา รัฐบาลต้องเข้มงวด

 

ชาญชัย แสงชโยสวัสดิ์
อาจารย์ภาควิชาพืชศาสตร์และปฐพีศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สําหรับปัญหาภัยแล้ง สิ่งสำคัญ ชุมชนต้องเข้ามาช่วยกัน ทั้งนักวิชาการและเกษตรกรต้องร่วมมือกัน เกษตรกรที่มีปัญหามาร่วมกันตัดสินใจว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรบนพื้นฐานที่มีข้อมูลร่วมกัน กระทรวง เกษตรฯต้องบอกว่าภัยแล้งจะเกิดตรงไหน รุนแรงขนาดไหน เพราะเกษตรกรเขาไม่รู้ว่ามีน้ำมากน้อยแค่ไหน ดังนั้นกรมส่งเสริมการเกษตร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องเอาข้อมูลไปช่วยเกษตรกร
ถ้าไม่มีน้ำอย่าบอกว่าห้ามใช้น้ำ ไม่ให้ปลูกข้าว ซึ่งไม่ใช่ทางออก ถ้าไม่ให้ปลูกแล้วจะให้ทำอะไร จะให้ปลูกอะไรแล้วจะต้องหาตลาดให้ เกษตรกรเขาต้องปลูกข้าว เพราะไม่มีอะไรให้ทำ ต้องไปเชื่อมโยงข้อมูลให้เขารู้ ต้องบอกได้ว่าจะแล้งเมื่อใด จุดไหน พื้นที่ไหน หน่วยงานที่ลงไปส่งเสริมต้องคุยกับเกษตรกรให้เข้าใจ มีทางเลือกให้
ความจริงเกษตรกรเขาก็รู้ว่าต้องทำอย่างไร แต่เขาเลือกสิ่งที่ง่ายที่สุดสำหรับเขา นั่นก็คือการปลูกข้าว จะมาประกาศห้ามปลูกข้าวทั้งประเทศไม่ได้ เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีน้ำและไม่มีน้ำต่างกัน ในเมื่อพื้นที่เขามีน้ำ เขาก็ปลูก จะไปห้ามเหมือนกันหมดได้อย่างไร เพราะเขาไม่ได้ขาดน้ำทั้งประเทศ ต้องมีข้อมูลว่าจะปลูกพืชอะไร และต้องหาตลาดมารองรับ เกษตรกรเขาไม่รู้ว่าต้องเอาไปขายที่ไหน ก็ต้องหาให้เขา
สิ่งที่กล่าวว่าทำคนเดียวไม่ได้ต้องร่วมมือกันทำ รัฐบาลต้องบอกให้ได้ว่าน้ำขาดวันเวลาไหน ต้องแม่นในข้อมูล ทุกวันนี้ข้อมูลเยอะแต่ไม่แม่น ชลประทาน กรมต่างๆ ต้องบอกได้ว่าน้ำใต้ดิน น้ำบาดาลมีหรือไม่ อยู่ตรงไหนบ้างให้ชัดเจนทั่วประเทศ เพื่อจะได้แยกพื้นที่ และบอกว่าเกษตรกรต้องทำอะไรบ้าง ทางเลือกมีเยอะ แต่รัฐบาลไม่ได้หยิบมาใช้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image